หน้าที่ของโรงเรียนในยุคปัจจุบัน ในมุมมองของ Yuval Harari



Yuval Harari (1) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของอิสเรล ได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งยุค    เขียนหนังสือเล่มแรกคือ Sapiens ออกมาเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ก็โด่งดังทันที    ตามมาด้วย Homo Deus   และเล่มหลังสุดคือ 21 Lessons for the 21st Century    

 หนังสือ 21 Lessons for the 21st Century บทที่ ๑๙ ว่าด้วยการศึกษา    ที่ครูและนักการศึกษาควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง เขาบอกว่า การศึกษาในยุคปัจจุบันมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีชีวิตที่ดีไปอีก ๕๐ - ๘๐ ปี    ที่ไม่รู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร    ตัวเป้าหมายหลักของการเรียนจึงไม่ใช่ความรู้    แต่เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจับผิดความรู้    เพราะยุคนี้เป็นยุค misinformation    คนเราจะมีชีวิตที่ดีได้ต้องรู้เท่าทันสารสนเทศ หรือข่าวลวง   

นั่นคือ ยุคนี้ต้องเน้นเรียนเพื่อพัฒนา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)     ซึ่งไม่ใช้เรียนแบบเชื่อความรู้ (ที่มีอยู่เดิม)  ต้องเรียนแบบท้าทายความรู้ (ทั้งเชื่อและไม่เชื่อ)     วิธีท้าทายความรู้ที่ทำได้ง่ายที่สุด คือการเอาความรู้ไปปฏิบัติ หรือใช้งาน    การเรียนในยุคปัจจุบันและอนาคตจึงต้องเน้นเรียนโดยการปฏิบัติ ตามด้วยการคิด (ใคร่ครวญสะท้อนคิด – reflection)    ซึ่งจะช่วยให้ได้สมรรถนะสำคัญอีกหลายตัวไปพร้อมๆ กัน    เช่น ความสร้างสรรค์ (creativity)  การสื่อสาร (communication)  การร่วมมือ (collaboration) และอื่นๆ    ซึ่งตรงกับ 4C ที่ระบุในหนังสือ  

กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า โรงเรียนในยุคนี้ต้องลดความสำคัญของทักษะด้านเทคนิคลง  หันไปเน้นทักษะชีวิตมากขึ้น    แต่ไม่ใช่ทิ้งเรื่องความรู้และทักษะทางเทคนิคนะครับ    เพราะมันยังมีความสำคัญ เพียงแต่ทักษะชีวิต (คุณลักษณะ) สำคัญกว่า     และการศึกษาในยุคปัจจุบันมักละเลย    เพราะมันมีความเป็นนามธรรมสูง   

หัวใจคือการเปลี่ยนแปลง  มนุษย์ในอนาคตต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง    โออีซีดี จึงบอกว่า การศึกษาในยุคปัจจุบันต้องฝึกให้เด็กมี Transformative Competencies  ซึ่งประกอบด้วยสมรรถนะย่อย ๓ ตัวคือ (๑) คิดและทำนอกกรอบ ทำร่วมกับคนอื่น  (๒) อยู่กับความเห็นแย้ง ขั้วตรงกันข้าม   ความอึดอัดขัดข้อง  (๓) ดำรงความรับผิดชอบ ต่อความดีงาม  ต่อผลประโยชน์ส่วนรวม และต่อการกระทำของตน

กลับมาที่ Yuval Harari  ท่านบอกว่า แนวโน้มของมนุษย์ยุคปัจจุบันคือ ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มั่นใจในตนเอง     จึงง่ายต่อการถูกปั่นหัว โฆษณาชวนเชื่อ    ทำให้ผมนึกถึงหลักการ Seven Vectors of Identity Development ของ Chickering (2) ที่ผมคิดว่า ต้องส่งเสริมการพัฒนาตั้งแต่เด็ก ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย    

เรียนให้เกิดการพัฒนาตัวตน  มีอัตลักษณ์  มีความมั่นใจในตนเอง  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  และเคารพผู้อื่น    คือเป้าหมายการเรียนรู้ที่ถูกต้องในทุกยุคทุกสมัย  

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 673944เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2019 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2019 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท