๗๔. โคกหนองนา..บ้านหนองผือ...


“เมื่อมีน้ำเราจะทำอะไรก็ได้ โคกคือที่ดินที่เราจะปลูกสร้างบ้าน รอบบ้านจะมีไม้ที่ปลูกไว้กิน ไว้ใช้สอย และไม้ยืนต้น หนองก็คือสระที่เป็นหัวใจของทุกสิ่ง ส่วนนาคือส่วนที่เราเว้นไว้หนึ่งส่วน ไม่ต้องไปทำอะไร ยกคันให้กว้างและสูงก็พอเอาไว้ปลูกผักสวนครัว”

        สี่ทุ่มกว่าเกือบจะห้าทุ่ม ผมเดินดุ่มๆอยู่บนคันดินข้างถนน ไม่ไกลจากแปลงดินขนาดใหญ่ที่รถไถยังไม่ได้ปรับแต่ง ส่วนลูกชายอยู่บนคันคลองยืนมองรถแบ๊คโฮที่กำลังขุดสระ..

    ห้าวันที่ผ่านมา..ไม่ได้เป็นแบบนี้ ผู้รับเหมาและคนขับรถแบ๊คโฮ รถบรรทุกและรถไถ กลับตั้งแต่ห้าโมงเย็น แต่คืนนี้เขาบอกจะทำให้เสร็จ เพราะพรุ่งนี้มีงานต้องไปขุดที่อื่น

    ผมกับลูกชายเป็นกังวลว่าการทำงานกลางคืน ผลงานน่าจะไม่เรียบร้อย          

        ผมคว้าเสื่อลงมาจากรถ ปูราบไปบนคันคลองที่กว้างสองเมตร รู้สึกง่วงแล้วแต่ไม่อยากนอน ทั้งที่อากาศก็เย็นสบาย พระจันทร์ขึ้นช้าและไม่เต็มดวง แต่ก็พอมองเห็นท้องทุ่งได้เป็นอย่างดี

        ลูกชายเดินมาหาผม ปากก็บ่นพึมพำ “เขาไม่น่าทำแบบนี้เลย งานกำลังไปได้สวย พรุ่งนี้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้”

        ผมเข้าใจความรู้สึกของลูกชาย ที่ริเริ่มโมเดล”โคกหนองนา”ในที่ดินของผม เขาวาดฝันจะให้เป็นบ้านสวนหลังเกษียณ แต่ผมคงทำไม่ไหวหรอก จึงบอกลูกชายว่าคิดอะไรได้ก็ทำเลย พ่อจะสนับสนุนแต่ต้องบอกก่อนว่าพ่อไม่มีความรู้เรื่องนี้จริงๆ

        เมื่อวานลูกชายนำแผนผังที่วาดเป็นโครงสร้างระบายสีมาให้ผมดู เราเดินไปดูไปบนเนินดินที่รถแบ๊คโฮปรับแต่งไปบ้างแล้ว ยังคงเหลือแต่ความลึกของสระ การแต่งผิวดินบนโคกและถนนทางเข้าที่ดิน

        “โคกหนองนา” เพื่อการจัดการน้ำแบบยั่งยืนในที่ดินของตนเอง ซึ่งผมเคยได้ยินในทีวี แต่ผมก็ยังสงสัย “เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไงล่ะลูก” ผมถาม

“พ่อศึกษาโครงการพระราชดำริมาก็เยอะ ยังไม่เคยอ่านทฤษฎีนี้”

        “ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดไว้นานแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์พระราชา ที่ว่าด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ นักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านนำมาประยุกต์ โดยคำนึงถึงหลักการภูมิสังคมที่พระองค์ท่านตรัสไว้”

        “ทำไมขุดสระแล้วลูกยังต้องขุดคลองอีก และทำไมคันคลองรวมถึงคันนาต้องสูงและกว้างด้วย พ่อเห็นพื้นที่ปลูกบ้านกว้างใหญ่ทั้งที่ตัวบ้านเองก็ไม่น่าจะใหญ่มากมาย”

        ลูกชายพับแผนผังเก็บใส่กระเป๋าเสื้อ อธิบายด้วยการชี้ให้เห็นทุกแง่มุมของพื้นที่อย่างละเอียดและชัดเจน

        “ในฤดูฝนที่มีน้ำหลาก น้ำจะไหลเข้ามาในคลองไส้ไก่ที่มีความลึก ๓ เมตร จากนั้นจะไหลไปลงสระที่มีความลึก ๖ เมตร เพื่อกักเก็บไว้ใช้ ที่ต้องขุดลึกเพราะในหลวงบอกว่าน้ำจะระเหยทุกวัน..ถ้าขุดไม่ลึกพอ ตอนหน้าแล้งจะลำบาก”

        “บริหารจัดการน้ำก็พอเข้าใจ แต่ทำไมต้องเรียกโคกหนองนา” ผมถาม

        “เมื่อมีน้ำเราจะทำอะไรก็ได้ โคกคือที่ดินที่เราจะปลูกสร้างบ้าน รอบบ้านจะมีไม้ที่ปลูกไว้กิน ไว้ใช้สอย และไม้ยืนต้น หนองก็คือสระที่เป็นหัวใจของทุกสิ่ง ส่วนนาคือส่วนที่เราเว้นไว้หนึ่งส่วน ไม่ต้องไปทำอะไร ยกคันให้กว้างและสูงก็พอเอาไว้ปลูกผักสวนครัว”

        “คันนาคันคลองและคันรอบๆสระ เห็นลูกบอกให้เขายกสูงและทำให้กว้างเหมือนกันหมดเลย มันจะพังลงมาไหม?”

        ผมจะปลูกหญ้าแฝกน่าจะไม่พังง่ายๆ คันคลองไส้ไก่ผมจะปลูกยางนา ประดู่ มะค่า กับต้นพยูง ถ้าดูแลดีๆอาจเป็นคันนาทองคำก็ได้นะพ่อ”

        คืนนี้..ลูกชายไม่ยอมนั่งพัก เดินไปเดินมาตาจับจ้องรถแบ๊คโฮตักดินใส่รถบรรทุกเพื่อนำไปใส่ถนนตลอดแนวทางเข้าโคกหนองนา ผมคิดว่าในความมืดก็น่าเป็นห่วงความกว้างยาวของถนนและขนาดสัดส่วนของสระที่ลูกชายเรียกว่าหนองอยู่เหมือนกัน..

        วันนี้..ในช่วงสาย นัดหมายส่งมอบงานและจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ ลูกชายกับผมไปแต่เช้าแต่ก็ช้ากว่ารถไถที่กำลังปรับแต่งโคกที่มีความกว้างหนึ่งไร่ แต่งขอบดูเรียบร้อยสวยงาม ถนนทางเข้ากว้างยาวได้ตามขนาดดูเหมาะสมกลมกลืน ภาพหน้างานสวยงามสมความตั้งใจของลูกชาย ซึ่งผมเองก็รู้สึกพึงพอใจที่เห็นที่ดินได้รับการปรับปรุง

        ลูกชายจ่ายเงินพร้อมกล่าวขอบคุณ ผู้รับเหมารับเงินและบอกว่า น่าจะเป็นที่แรกที่ขุดแบบนี้..ลูกชายยิ้มๆ แต่ผมกลับคิดว่า..หางตาที่ผู้คนมากมายมองดูเรา เหมือนแปลกใจว่าเราขุดทำไม และคิดอะไรผิดเพี้ยนไม่เหมือนชาวบ้าน..

        ช่างเถอะ..โคกหนองนา ต้องนำพาให้อดทน กาลเวลาจะช่วยพิสูจน์คนว่าไม่ใช่แค่คิด แต่ลูกชายจะลงมือทำจริง...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๗  พฤศจิกายน  ๒๕๖๒


       

       

       

หมายเลขบันทึก: 673238เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2019 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2019 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท