หมออยู่เวร


รู้ไหมครับ ว่าความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เกิดขี้นส่วนหนึ่งนั้นมาจากความง่วง เหนื่อย และเพลีย

เมื่อวาน ผมได้อ่านข้อความของลูกศิษย์ในเฟซบุ้ค เค้าบอกว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เค้าต้องอยู่เวรในโรงพยาบาลถึง ๒๙ เวร นั่นคือการอยู่เวรในวอร์ด ๒๐ เวร และอยู่ประจำห้องฉุกเฉิน ๙ เวร!

มันหมายความว่าอะไร?

ผมจะลองพยายามใช้สมองอันน้อยนิดคำนวณดูว่า ลูกศิษย์ผมเจออะไรบ้าง

หากนับการอยู่เวรว่าวันหยุดนั้นนับเป็น ๒ หรือ ๓ เวร (ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลนั้นนับกะเวรเป็น ๘ หรือ ๑๒ ชั่วโมง) และเธออยู่เวรในวันหยุดทุกสัปดาห์ ไม่เสาร์ก็อาทิตย์ รวมๆ ๔ วันก็จะเป็น ๘ หรือ ๑๒ เวร นั่นคือการทำงานตั้งแต่ ๘ โมงครึ่งของวันเสาร์ จนถึง ๘ โมงครึ่งตอนเช้าของวันอาทิตย์ เหลืออีก ๘-๑๒ เวรก็มาอยู่วันธรรมดาตั้งแต่ ๔ โมงครึ่งถึง ๘ โมงครึ่งในเช้าอีกวัน ถัวๆ ก็ ๒-๓ วันต่อสัปดาห์

และลองมารวมกับเวรประจำห้องฉุกเฉิน ๙ เวร ซึ่งเดาว่าน่าจะต้องติดวันเสาร์หรืออาทิตย์ด้วย เอาเป็นว่า ๒ วัน คือ ๔-๖ เวร 
เดี๋ยวๆ นั่นแสดงว่า ต้องมีบางสัปดาห์ที่เธอจะต้องอยู่เวรติดกันถึง ๔๘ ชั่วโมง หรือถ้าจะเอากันให้บ้าจนถึงที่สุด ก็อาจจะ ๗๒ ชั่วโมง แล้วมารวมกับอีก ๓-๕ เวรที่เหลือ ก็เกลี่ยไปสัปดาห์ละวัน ดังนั้นในทุกสัปดาห์ เธอจะอยู่เวรในวันปกติถึง ๓-๔ วันใน ๕ วันทำการ

หึหึ ในวันธรรมดาช่วงกลางวัน เธอยังคงต้องทำงานตามปกติด้วยนะครับ ราวนด์วอร์ด ตรวจคนไข้ที่โอพีดี บางวอร์ดต้องช่วยผ่าตัด บันทึกเวชระเบียน สรุปแฟ้มคนไข้ และอื่นๆอีกมากมาย

บ้าไปแล้ว!

คำถามที่สำคัญคือ 

แล้วเธอจะเอาสติที่ไหนมาทำงาน 

เราลองจินตนาการนะครับ ว่าหากเราเองต้องหลับๆตื่นๆ ที่ทำให้การนอนมันไร้ซึ่งคุณภาพ เป็นติดต่อกัน ๒๔ ชั่วโมง เช้าวันรุ่งขึ้นจะเกิดอะไรบ้าง
อย่างแรก หน้าเป็นศพ หัวฟู ตาช้ำ หนังหน้าและเสื้อยับพอกัน โทรมสุดชีวิต ก็คนมันไม่ได้นอนไง
ต่อมาคือ สติไม่มี การรวบรวมเรียบเรียงความคิดก็ไม่สมบูรณ์ โกรธง่าย ด่าคนง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมจะแย่ลง การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญจะไม่ดี

แล้วผลกระทบเกิดกับใครล่ะ

อย่างแรกก็คือหมอเอง เธอจะแก่เร็ว เธอจะหยุดสวย เธอจะป่วยง่าย เธอจะหลับใน อันสุดท้ายนี่สำคัญ เพราะการตายของพี่ๆน้องๆหมอของผม ส่วนหนึ่งคือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ พวกเค้าหลับใน

อีกผลกระทบที่สำคัญมากๆ คือต่อคนไข้เอง เพราะพวกเขาจะได้รับการดูแลจากคนที่ไม่พร้อมทำงาน และพร้อมที่จะหยิบยื่นความผิดพลาดมาให้ได้ตลอดเวลา

แพทยสภาพยายามกำกับเรื่องเวลาทำงานแบบนี้ แต่มันไม่ได้มีมาตรการที่ออกมารองรับ ทำให้หมอรุ่นน้องๆ ที่จบมาใหม่ๆจึงยังคงต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ และพวกเราก็จะได้ยินข่าวความผิดพลาดและความสูญเสียเกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ ที่มันจะดีขึ้นกว่านี้
เมื่อไหร่ที่ระบบทราบว่า หมอทำงานติดต่อกันมานานเกิน ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ต้องห้ามปฏิบัติงานทันที ใครฝ่าฝืนให้ติดคุก เพราะประมาท เพราะไม่ใส่ใจในความปลอดภัยของคนไข้

เมื่อไหร่ที่หมอจะถูกกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน ๑๖๐ ชั่วโมงต่อเดือน หรือ ๑,๙๐๐ ชั่วโมงต่อปี เมื่อครบเวลา ต้องถูกบังคับให้หยุด ไปเที่ยว ไปพักผ่อนโดยไม่ถือเป็นวันลา ใครฝ่าฝืนให้ติดคุก เพราะประมาท เพราะไม่ใส่ใจในความปลอดภัยของคนไข้

เชี่ยแล้วไหม? 

แล้วจะให้ใครทำงาน หมอในระบบมันมีไม่พอ โรงพยาบาลเล็กๆก็มีหมออยู่แค่ไม่กี่คน หากบังคับให้คนที่อยู่เวรมาไปพัก แล้วคนไข้ที่โอพีดีใครจะมาช่วยตรวจ

จะทำยังไงกันดี 
ให้ผมตอบไหม

“ไม่รู้” ผมแค่พล่าม ที่สำคัญผมคิดเชิงบริหารไม่เก่ง

จบข่าว ๕๕๕

ง่วง เมื่อคืนนอนดูหนังกับเมียเพลินไปหน่อย ทั้งเพลีย ทั้งเหนื่อย ขอนอนก่อนนะครับ 

ธนพันธ์ ชูบุญยังอยู่เวรนะครับ (แต่น้อยมาก)
๑ สค ๖๒

คำสำคัญ (Tags): #หมอ#เวร#แพทย์เวร
หมายเลขบันทึก: 673131เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท