จิ๋มหมู มดลูกหย่อน และยายพร้อย


สำหรับคนเรียนหมอ ก่อนจะได้ออกไปดูแลเย็บแผลคนไข้จริงๆ มันจะดีแค่ไหนที่จะมาฝึกหัดเย็บกับอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่แผลของคนไข้จริงๆให้เก่งเสียก่อน และในฐานะหมอสูติฯ เรื่องเย็บแผลที่ว่าก็คงไม่พ้น “แผลที่ฝีเย็บ” 

“แผลฝีเย็บคืออะไรวะ” คงมีคนคิดในใจ
แผลฝีเย็บคือ รอยกรีดตัดที่ปากช่องคลอดขณะคลอดลูกไงครับ 
เมื่อหัวของเด็กเคลื่อนตัวลงมาในช่องคลอดของแม่ตามการกดบีบรัดตัวของมดลูก ในท้ายที่สุดมันก็จะดันลงมาจนตุงที่บริเวณปากช่องคลอด หัวของเด็กจะดันลงมาจนเนื้อเยื่อบริเวณนี้บางเฉียบ ถ้าคนทำคลอดสามารถพยุงปากช่องคลอดนี้ไว้ดีๆ เด็กก็จะคลอดออกมาได้โดยไม่เกิดการฉีกขาด หรือไม่ก็ฉีดขาดเพียงเล็กน้อย
แต่หลายๆครั้ง มันมีความจำเป็นต้องกรีดตัดเนื้อเยื่อบริเวณฝีเย็บตรงนี้ เพื่อให้ช่องทางคลอดมันกว้างขึ้น เด็กจะได้ออกมาง่ายขึ้นไงครับ

และเมื่อมีการกรีด หรือตัด หรือฉีกขาด มันก็ต้องได้รับการเย็บเพื่อซ่อมแซม

มันจึงเป็นที่มาของการให้นักเรียนแพทย์ได้ฝึกเย็บแผลบริเวณฝีเย็บหลังคลอดนั่นเอง

เอาล่ะ ผมจะถามบ้าง

ทายดูซิ ว่าพวกผมเอาอะไรมาสอนให้ลูกศิษย์ได้ฝึกเย็บ?

ผมยังไม่เฉลยนะครับ แต่ยังอยากจะเล่าต่อ

สมัยก่อน พวกเรามักจะได้รับการสอนมาว่า การคลอดกับหมอบ้าน หมอตำแย เมื่อมีการฉีกขาดของฝีเย็บเกิดขึ้น จะไม่ได้รับการเย็บซ่อมแซม เพราะหมอบ้านเย็บแผลไม่เป็น ทำให้ผู้หญิงที่คลอดลูกเหล่านั้นมีปัญหามดลูกหย่อนเมื่อมีอายุมากขึ้น

เราก็เชื่อไปเพราะครูสอน แต่เมื่อได้เรียนและอ่านหนังสือมากขึ้น กลับพบว่ามันไม่จริง

การหย่อนคล้อยของช่องคลอด การมีมดลูกโผล่ รวมถึงการฉี่เล็ดเวลาไอจามนั้น มันไม่ได้เกิดจากการถูกทำคลอดโดยหมอบ้าน แต่มันเป็นเพราะเธอเหล่านั้นเป็นผู้หญิง เธอมีมดลูก เธอต้องตั้งท้อง เธอต้องเบ่งต้องคลอดลูก และท้ายที่สุดคือ เธอต้องแก่ ต้องมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อของร่างกาย มันจึงจะหย่อนได้

พวกผู้ชายคงไม่อินสิครับ พวกเราไม่ต้องตั้งท้อง ไม่ต้องเบ่งคลอดนี่นา แต่จะว่าไป ของพวกเรามันโผล่และห้อยมาตั้งแต่เกิดแล้วมั้ย 

หึหึ ดังนั้น เราควรจะชิน!

................
“ยายครับ ไอ้ที่มันโผล่ออกมานั้นคือมดลูกและช่องคลอดมันหย่อนลงมาครับ” ผมบอกยายพร้อย สตรีอารมณ์ดีร่างเล็กวัยชราอายุกว่า ๘๐ ที่มารับการตรวจ

“แล้วมันโผล่มาได้พรือนั้น” สำเนียงใต้แบบซื่อที่แปลได้ว่า โผล่มาได้อย่างไร เป็นคำถามที่ผมต้องตอบแก

“ก็ยายคลอดลูกมาตั้ง ๕ คน และยายก็แก่แล้วด้วย โรคนี้น่ะ ไม่แก่ไม่ได้เป็นนะยาย จงภูมิใจ” ผมแซวยายพร้อย

“ยายไม่อยากผ่าตัด หมอจะทำพรือหล่าว” แกอยากรู้ว่าผมจะรักษาแกยังไง

“ถ้าไม่ผ่าตัดเอามดลูกออก ไม่เย็บช่องคลอดใหม่ (หลายคนเรียกรีแพร์) ก็ต้องหาอะไรไปใส่ยันไว้ในช่องคลอดแหละยาย” ผมสาธยายให้ยายพร้อยฟังถึงทางเลือกในการรักษา

“เธอช่วยเดินข้ามถนนหน้าโรงพยาบาลเข้าไปในห้างนั้น แล้วซื้อปิงปองมาลูกหนึ่ง” ผมบอกหลานสาวยายพร้อยให้ทำงานสำคัญ เธอทำหน้างง เพราะยายของเธอมาหาผมด้วยมดลูกโผล่ออกมา แต่หมอดันใช้ให้ไปหาซื้อลูกปิงปอง

“เอาเหอะ ไปซื้อมา เดี๋ยวจัดการรักษาให้” ผมบอก

กว่าสิบปีก่อนนู้น เมื่อพูดถึงเรื่อง “หาอะไรไปใส่ยันไว้ในช่องคลอด” เราแทบไม่มีทางเลือกอื่นเลย เพราะมันไม่มีไอ้อุปกรณ์ที่ว่านั่น ต่างจากตอนนี้ที่เรามีกำไลทางการแพทย์ที่ผลิตจากวัสดุอย่างดีมากมายออกมาขาย เพื่อใช้ใส่พยุงในช่องคลอดทำให้มดลูกไม่โผล่

ใช่แล้ว ผมใช้ลูกปิงปองใส่เข้าไปในช่องคลอดของยายพร้อย มันดันให้มดลูกกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม และก็ยันไว้อยู่อย่างนั้น

นั่นคือการรักษาที่ลูกทุ่งที่สุด เพราะเมืองไทยยังไม่นำเข้ากำไลพยุงข่องคลอด

“ดีไหมยาย” ผมประเมินการรักษาหลังจากจับลูกปิงปองยัดใส่เข้าไปในช่องคลอดแก

“ดีค่ะลูกหมอ ไม่รู้สึกอะไรเลย แล้วเมื่อกี้ลูกหมอใส่มันเข้าไปแล้วเหรอ” แน่ะ..พอสบายแล้วเรียกเราว่าลูกเชียว

ผมสอนวิธีการใส่และถอดปิงปองออกมาเพื่อล้างทำความสะอาด ยังไงเสีย มันก็คือสิ่งแปลกปลอม ใส่นานๆไม่ได้ ต้องเอาออกมาล้าง 
“ไม่ถอด เดี๋ยวจิ๋มเหม็น” ผมบอกแก

แล้วยายพร้อยก็เดินอารมณ์ดีตัวปลิวออกไป

ราวเดือนหนึ่งหลังจากนั้น แกก็มาตรวจติดตามการรักษาตามที่ผมนัด

“พรือบ้างยาย สบายดีม้าย” ผมทักทายออกไปด้วยสำเนียงใต้

“ก็สบายดีแหละ แต่ไม่เอาแล้ว หมอผ่าตัดให้ยายดีหวา” สำเนียงใต้ส่อถึงความผิดหวัง

“เล่าให้หมอฟังหน่อย ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง” ผมหวังว่าการใส่ลูกปิงปองเข้าไปในช่องคลอดนั้น จะทำให้แกสบาย ไม่ปวด และฉี่คล่อง

“ตอนที่ใส่มันก็สบายดีหรอก” แกยิ้มฟันหลอ แต่หน้าตายังมีเค้าคนอารมณ์ดีสไตล์ยายพร้อย

“แต่วันก่อน เป็นวันพระ ยายก็ไปวัดตามปกติ” แกหยุดนิดหนึ่งเพื่อเช็ดน้ำลาย ฟันแกหลอไปเกือบหมดปาก น้ำลายจึงเอ่อออกมาที่มุมปากง่ายหน่อย
“ยายกำลังจะไปประเคนถวายข้าวให้เจ้าอาวาส แล้วพอเดินไปถึงท่าน ต้องก้มตัวยกปิ่นโต” แกหยุดอีกรอบ แล้วหัวเราะขึ้นมาเองจนน้ำตาเล็ด

“ปิงปองมันหลุดออกมาจากปิ๊ หล่นลงพื้น กระดอนดัง ป๊อก ป๊อก ป๊อก ยายต้องทิ้งปิ่นโตแล้ววิ่งไปเก็บปิงปอง” แกยังคงหยุดหัวเราะไม่ได้
“ท่านเจ้าอาวาสแกก็คงจะงง ถามยายว่า โยมพร้อยเล่นอะไร” 

“แล้วยายตอบว่ายังไง” คราวนี้ผมร่วมหัวเราะน้ำตาเล็ดด้วย

“ยายไม่กล้าตอบท่าน แค่กราบท่าน เก็บปิ่นโต เก็บลูกปิงปอง เดินกลับบ้านเลย วันนั้นไม่ต้องทำมันแล้ว บุญเบิญอะไรยายไม่เอาแล้ว มันบัดสี” 

จากวันนั้นผมก็นัดผ่าตัดให้แกไป 
“รู้อย่างนี้ ผ่าตั้งนานแล้ว” แกบอกผมในวันที่มาตรวจแผลหลังผ่าตัด

ถ้ายายพร้อยยังอยู่ ป่านนี้แกคงจะอายุเฉียดร้อยเต็มที
........................

ค่ำวันนี้ ผมขับรถกลับบ้าน 
ที่คลินิกมีคนไข้มาใส่กำไลในช่องคลอดคนหนึ่ง (อันที่จริง ค่ำนี้ก็มีคนไข้คนนี้เพียงคนเดียวนั่นแหละ ฮ่าๆ)

ขับรถไปก็นึกถึงบทเรียนที่สอนลูกศิษย์เย็บแผลฝีเย็บในวันนี้ กำลังคิดว่า การสอนให้อีกกลุ่มในสัปดาห์หน้าจะปรับปรุงอย่างไร 

ขับรถเพลินๆ ก็ได้ยินเสียงสปอตโฆษณาอย่างหนึ่งแล้วมันเอะใจ

“สปอร์ตแอนด์ชูส์แล็บ” เค้ากำลังพูดถึง Sport and shoes lab

มันคือร้านของหมอรุ่นน้องคนหนึ่งที่เขาหันมาเอาดีทางด้านการดูแลส้นตีน เขาเก่งด้านนี้และให้บริการวิเคราะห์เท้าของคนที่กำลังหาซื้อรองเท้าเพื่อการออกกำลงกาย

“โห” ผมรำพึงในใจ ว่าเดี๋ยวนี้ การจะหาซื้อรองเท้ากีฬาดีๆสักคู่ มันไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วสักแต่จะซื้อรองเท้าแพงๆมาใส่นะ มันควรจะต้องวิเคราะห์เท้าและส้นตีนด้วย วิ่งแบบไหน รูปเท้าเป็นอย่างไร วิ่งเอาส้นตีนลงหรือตีนส่วนครึ่งหน้าลง แล้วเค้าจะได้แนะนำรองเท้ารุ่นที่เหมาะกับตีนเราให้ใช้เพื่อลดการบาดเจ็บและเสริมสมรรถภาพของการออกกำลังกาย

ทึ่งสิครับ

คราวนี้ก็ต้องหันมาดูตัวเองบ้าง

แล้วผมมีอะไรเป็นจุดขาย นึกไม่ออก

แต่เอ๊ะ..”หึหึ” ผมหัวเราะออกมาในลำคอเบาๆให้พอน่าตบ

มีสิ ทำไมจะไม่มี ผมเป็นหมอสูติที่ดูแลช่องคลอดเชียวนะ เห็นไหม อย่างหน้าที่การงานวันนี้ ผมต้องสอนนักเรียนแพทย์ให้ฝึกหัดเย็บช่องคลอดบริเวณฝีเย็บอยู่เลย ผมมีอุปกรณ์พิเศษในการฝึกหัดด้วย มันก็คือ “ห้องแล็บ” ดีๆนี่เอง

แล้วผมจะต้องตั้งชื่อห้องแล็บสำหรับฝึกเย็บจิ๋มหมูของผมว่าอะไรดี

คิดสิคิด

ธนพันธ์ ชูบุญแอนด์เฟรนด์ส จิมส์แล็บ
๘ พค ๖๒



หมายเลขบันทึก: 673113เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท