ชีวิตที่พอเพียง 3558. ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง : ๖. องค์ประกอบจำเป็นของระบบจัดการความรู้ตัวที่หก การสนับสนุน


The International Organization for Standardization (ISO) เผยแพร่ ISO 30401 : 2018 – Knowledge management systems – Requirement (๑)  เมื่อปี ๒๕๖๑   เสนอมุมมอง และวิธีการเชิงระบบ ต่อการจัดการความรู้    และ เว็บไซต์ของ สวทช. เสนอภาพรวม หรือข้อสรุป เป็นภาษาไทย ที่ดีมาก ไว้ที่ https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/knowledge-management/12481-iso-30401

ในบันทึกชุด ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง นี้ ผมตีความ (และบางครั้งเพิ่มเติมความเห็นของผมเอง หรือเถียง ISO) นำมาเสนอเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย    ในการประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ เพื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลังจากการทำงาน    เกิดมาตรฐานการทำงานที่ได้ประโยชน์สามต่อ คือ (๑) ผลงานคุณภาพสูง มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา    (๒) การทำงานเป็นเครื่องมือพัฒนาคนที่ทรงพลังที่สุด  และ (๓) ประสบการณ์และความรู้ที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นตัวสร้างองค์กร ให้เป็นองค์กรเรียนรู้   

สาระหลักของ ISO 30401 เรียกว่า องค์ประกอบที่จำเป็น (requirement) ของการจัดการความรู้  มี ๑๐ องค์ประกอบ    ในบันทึกที่ ๖ นี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบที่ ๗  Support

๑. ทรัพยากร

องค์กรพึงระบุ และจัดหาทรัพยากรสนับสนุน (เช่น คน  งบประมาณ  เทคโนโลยี  การจัดการ) สำหรับใช้ใน การจัดตั้ง  การดำเนินการ  การบำรุงรักษา  การวัด  การรายงาน  และการพัฒนาต่อเนื่อง ของระบบจัดการความรู้     

๒. สมรรถนะ (competence)

องค์กรพึง

  • กำหนดสมรรถนะในการปฏิบัติงานของพนักงาน   ที่ส่งผลต่อสมรรถนะในการใช้ความรู้ขององค์กร  
  • กำหนดสมรรถนะของพนักงานหลากหลายประเภท  รวมทั้ง
  • (ก) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบจัดการความรู้ และการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในด้าน การออกแบบ  การดำเนินการ  และการพัฒนาต่อเนื่อง 
  • (ข) ผู้มีส่วนรับผิดรับชอบในระบบจัดการความรู้   ตามที่ระบุในบันทึกที่ ๓  หัวข้อ ๔.๓  
  • (ค) ผู้ผูกพันกับระบบจัดการความรู้ และใช้ระบบจัดการความรู้ช่วยให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในงานของตน
  • จัดให้พนักงานได้มีการศึกษา  การฝึกอบรม  และประสบการณ์ เหมาะสม เพื่อมีสมรรถนะในการทำงาน
  • ดำเนินการให้พนักงานได้เพิ่มเติมสมรรถนะอย่างเหมาะสม  และมีการประเมินผลของการดำเนินการดังกล่าว
  • จัดให้มีสารสนเทศที่เป็นเอกสาร เป็นหลักฐานแสดงสมรรถนะ

ตัวอย่างของการดำเนินการ เช่น การฝึกอบรม  mentoring   การหมุนเวียนงาน   การจ้างผู้มีสมรรถนะมาร่วมงาน

๓. ความตระหนัก (awareness)

พนักงานขององค์กร  และผู้มีส่วนได้เสีย พึงตระหนักใน

  • นโยบายการจัดการความรู้
  • บทบาท และความรับผิดรับชอบของตน ต่อประสิทธิผลของระบบจัดการความรู้    รวมทั้งตระหนักในผลดีที่จะเกิดขึ้นหากสมรรถนะด้านความรู้ (knowledge performance) พัฒนาขึ้นกว่าเดิม
  • ผลที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามองค์ประกอบที่จำเป็นต่อระบบจัดการความรู้

๔. การสื่อสาร

องค์กรพึงกำหนดการสื่อสารภายใน และการสื่อสารภายนอก ที่จำเป็นต่อระบบจัดการความรู้  รวมทั้งประเด็น

  • สื่อสารอะไร
  • สื่อสารเมื่อไร
  • สื่อสารต่อใคร
  • สื่อสารอย่างไร

การสื่อสารมีความจำเป็นต่อการจัดการความรู้ในทุกขั้นตอน  

การสื่อสารต้องครบวงจร  คือ สื่อออก  รับฟัง  ทำความเข้าใจ  ใคร่ครวญสะท้อนคิด  และให้คำแนะนำป้อนกลับ

รูปแบบของการสื่อสารที่ทรงคุณค่าคือ constructive dialogue   ทั้งที่เป็นการสื่อสารด้วยวาจา   และที่ใช้อวัจนะภาษา  

ผมขอเพิ่มเติมข้อสังเกตว่า   เป้าหมายที่แท้จริงของการสื่อสารไม่ใช่การบอก หรือประชาสัมพันธ์    แต่เป็นการเรียนรู้    การสื่อสารในที่นี้จึงต้องเน้นการสื่อสารสองทาง    ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว

๕. สารสนเทศในรูปเอกสาร

  • ประเด็นทั่วไป   

ระบบจัดการความรู้ขององค์กรพึงรวมถึง

  • (ก) สารสนเทศในรูปของเอกสารตามที่ระบุในเอกสาร ISO 30401 : 2018 นี้
  • (ข) สารสนเทศในรูปของเอกสารตามที่องค์กรกำหนด เพื่อประสิทธิผลของระบบจัดการความรู้

ขอบเขตของสารสนเทศในรูปของเอกสารแตกต่างกันในต่างองค์กร  เนื่องจาก

  • o ลักษณะขององค์กรในด้าน ขนาด  กิจกรรม  กระบวนการ  ผลิตภัณฑ์  และบริการ
  • o ความซับซ้อนของกระบวนการ และปฏิสัมพันธ์ภายในกระบวนการ
  • o สมรรถนะของบุคคล
  • การสร้าง และปรับปรุง

ในการสร้างและพัฒนาสารสนเทศในรูปของเอกสารขององค์กร  พึงคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้

  • o ลักษณะเฉพาะสำหรับใช้อ้างอิง เช่น ชื่อ วันที่ออก ผู้เขียน หมายเลขเอกสาร
  • o รูปแบบ เช่นภาษา  รุ่นของซอฟท์แวร์ที่ใช้  การใช้กราฟิก   ชนิดของสื่อ เช่น ใช้กระดาษ  หรืออยู่ในรูปดิจิตัล
  • o การตรวจสอบทบทวน เพื่อความครบถ้วนเหมาะสม
  • การควบคุมสารสนเทศในรูปของเอกสาร

ต้องมีการควบคุมสารสนเทศในรูปของเอกสารตามที่ระบุโดยระบบจัดการความรู้ และที่ระบุในเอกสาร ISO 30401 : 2018 นี้   เพื่อให้มั่นใจว่า

  • (ก) พร้อมและเหมาะสมต่อการใช้เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้
  • (ข) มีการปกป้องอย่างเพียงพอ  จากการล้วงความลับ  การใช้อย่างไม่เหมาะสม  และจากความไม่น่าเชื่อถือ

องค์กรพึงดำเนินการต่อไปนี้ เพื่อควบคุมสารสนเทศในรูปของเอกสาร

  • o เผยแพร่  เข้าถึง  ค้นหา  และใช้
  • o เก็บและรักษา รวมทั้งทำให้อ่านเข้าใจง่าย
  • o ควบคุมการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เช่นจัดเอกสารเป็น version ต่างๆ
  • o การรักษาไว้ และการทิ้งไป (เมื่อความรู้นั้นกลายเป็นขยะ)

ต้องมีการเสาะหาสารสนเทศในรูปเอกสารจากภายนอกองค์กร ที่มีประโยชน์ต่อการวางแผน และต่อการดำเนินการจัดการความรู้ และนำมาควบคุมดูแล

ผมขอเพิ่มเติมว่า การดำเนินการนี้ต้องให้พอดี    พึงระวังไม่ให้มีเอกสารรกรุงรัง เต็มไปด้วยเอกสารที่ไม่ใช้งาน    ทำให้หาเอกสารที่ต้องการใช้งานได้ยาก 

การควบคุมการเข้าถึงเอกสาร อาจหมายถึงการมีข้อกำหนดว่า ใครบ้างมีสิทธิ์เข้าถึงเอกสารชั้นใด   ใครบ้างมีสิทธิ์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเอกสาร    เอกสารใดเข้าไปอ่านได้ แต่เอาออกไปไม่ได้   

วิจารณ์ พานิช

 ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒

บนรถแล่นบนทางด่วนไปประชุมที่ สกอ.

หมายเลขบันทึก: 672581เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2019 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2019 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท