คนแต้จิ๋ว​ คนจีนโพ้นทะเล​ (ตอนที่​ 11)


#อาแป๊ะผู้สอนภาษาจีนให้ลูกด้วยหนังสือสามก๊กฉบับภาษาจีน#

อาแป๊ะ(หมายถึงลุง)​ เจ้าของร้านเตียจิ่นกี่​ ที่มีฐานะร่ำรวย​คนหนึ่งในตลาดแก่งคอย​ เป็นคนแซ่เตีย​ ที่มาจากตำบลเฉี่ยะเลี้ยว​ เมืองแต้จิ๋ว​ ประเทศจีน

อาแป๊ะกำพร้าพ่อแม่​ตั้งแต่อายุ​ 8​ ปีครอบครัวที่อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีการค้าขายสืบทอดกันในเครือญาติ(กงสี)​ต่อกันมาหลายรุ่น เมื่อขาดพ่อแม่ดูแล​ ขาดการเอาใจใส่จากเครือญาติ ก็ต้องช่วยเหลือตนเอง​ เป็นคนโตที่ต้องดูแลน้องชาย​ 3 คน​ น้องสาว​ 1 คน​ไม่มีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ​อย่างเต็มที่​ ต้องออกมาทำงานที่ร้านขายยา​จีนตั้งแต่ยังเด็ก

ด้วยความขยันและไหวพริบดี​ จึงมีความรู้เรื่องยาจีนดีเยี่ยม​คนหนึ่ง และเรียนรู้ภาษาจีนจากการเขียนใบยา

ที่ร้านยาจีนนี้​ นอกจากขายยาแล้ว​ยังทำหน้าที่เป็นโพยก๊วนรับส่งเงินจากเมืองไทยมายังครอบครัวในเมืองจีน

อาแป๊ะจึงรู้จักคนจีนในเมืองไทยจำนวนหนึ่ง​ที่เป็นลูกค้าของโพยก๊วน​ หนึ่งในจำนวนนั้นคือเจ้าของร้าน​ เตียไท้เซ้ง ที่สระบุรีและเคยมาพบกันที่ร้านขายยา​นี้ ชักชวนให้อาแป๊ะมาทำการค้าที่สระบุรี

อาแป๊ะเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติมด้วยตนเอง​ จากความขยันอ่าน​ เขียน​ และ ถามจากผู้รู้​ืืืื​ ตั้งใจทำงานและเก็บเงินเพื่อเป็นทุนมาหากินที่เมืองไทย

เมื่อเงินเก็บได้​ 15​ เหรียญเป็นค่าโดยสารเรือ​แล้ว​ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมอาม่า​(ย่า)​เพื่อบอกกล่าว​ แต่อาม่าขอเงินไว้​ อาแป๊ะจำใจต้องให้​ ทั้งที่ยังเสียดายอยู่​ ต้องเริ่มหาเงินเก็บใหม่อีกครั้ง

เมื่ออายุ​ได้ 19​ ปีได้เดินทางมาด้วยเรือกลไฟไอน้ำใช้เวลาประมาณ​ 1 สัปดาห์​ ก็ถึงกรุงเทพ​ฯ ต่อรถไฟมาถึงสระบุรี​ ทำงานที่ร้านค้าของคุณยายโอทึ้ง​ หรือร้านซุ่ยฮงจั่น​ ในตลาดสระบุรี​ โดยได้เงินเดือนครั้งแรก 4 บาทต่อเดือน​ ด้วยความขยันขันแข็ง​เงินเดือนจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ​ จนได้​ 20​ บาท​ต่อเดือน ในขณะนั้นราคาทองบาทละ​ 20​ บาท

อาแป๊ะทำงานอยู่ที่สระบุรี​นาน​ 15​ ปี​ ได้รู้จักเถ้าแก่ร้านค้าหลายร้าน​ในสระบุรี​ ร้านมุ้ยน่ำ​ ร้านชัยพร และเถ้าแก่โรงสีฮ่งเอี๊ยะเซ้ง​ ได้เรียนรู้การค้าขายเป็นแนวทางไว้ล่วงหน้า​ ​เก็บเงินทุนไว้พอสมควรก่อนที่จะมาเริ่มเปิดกิจการตนเองที่แก่งคอย​ ภายใต้ชื่อร้านเตียจิ่นกี่​ หลังสถานีรถไฟแก่งคอย​ ใกล้แม่น้ำป่าสัก

ที่แก่งคอย​ ธุรกิจการค้าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากขายเสื้อผ้า​ของใช้เบ็ดเตล็ด​ทุกชนิด​ สินค้าจากสำเพ็งถูกส่งมากับรถตู้สินค้าของรถไฟ​ ฐานะการเงินอาแป๊ะดีมาก​ ลูกค้าส่วนใหญ่มาทางเรือจากเพชรบูรณ์​ หล่มสัก​ฯลฯ

อาแป๊ะมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองจีน​หลายครั้ง มีเงินพอที่จะสร้างบ้านหลังใหญ่ไว้ที่นั่น​ โดยให้น้องสาวดูแลไว้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาที่นี่

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน​ การ

ปฎิวัติวัฒนธรรม​ทำให้ บ้านหลังใหญ่ถูกรัฐบาลยึด​ไว้ น้องสาวผู้ดูแลบ้านถูกทำร้ายร่างกายในฐานะนายทุนผู้ร่ำรวย​ โดยถูกมัดด้วยเชือก ​แล้วนำไปแขวนไว้บนขื่อบ้านจนสลบไป​

รัฐบาลต่อมาต้องการให้เจ้าของบ้านนำหลักฐานไปยืนยัน​การครอบครอง อาแป๊ะอยู่เมืองไทยไม่สามารถนำหลักฐานไปยืนยันได้​ สุดท้ายอาแป๊ะต้องสูญเสียบ้านหลังนี้ไปและไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ตามที่ตั้งใจไว้

อาแป๊ะเป็นคนชาตินิยม​ รักความเป็นจีนมาก​ ลูกทุกคนจะต้องพูดภาษาจีนในบ้านโดยให้เหตุผลว่า​ ภาษาจีนถ้าไม่ใช้ในบ้านนานไปก็จะลืม​ ภาษาไทยเมื่อออกนอกบ้านก็ต้องใช้ตลอดอยู่แล้ว

อาแป๊ะมีหนังสือสามก๊กเป็นภาษาจีน​ 1 ชุดไว้สอนลูกให้อ่านภาษาจีน​ เพื่อดึงดูดใจให้ลูกๆอ่านอย่างสนุก​ เป็นการฝึกอ่านภาษาจีนไปด้วย​ สอนให้ลูกวิเคราะห์​ตัวละครในสามก๊กแต่ละคนโดยตั้งคำถามและอธิบายเหตุผล​เช่น

"ทำไมขงเบ้ง​ถึงอายุสั้น​"

ขงเบ้งเป็นคนเก่งในการวางยุทธศาสตร์​การรบ​ แต่การรบทุกครั้งทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมาก​ เป็นกรรมที่ก่อ​ เป็นบาปที่ทำให้อายุสั้น

"ทำไมเล่าปี่​ไม่ได้เป็นกษัตริย์​"

เล่าปี่เป็นคนเก่งในการเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน​ ลิโป้เคยช่วยชีวิตเล่าปี่ไว้​ แต่เล่าปี่กลับสั่งประหารชีวิตลิโป้ด้วยเหตุผลว่า​ ลิโป้ฆ่าพ่อเลี้ยงของตนเองได้​ ​ไฉนจะไว้ใจให้อยู่ร่วมกันได้ มองเห็นว่าเล่าปี่ขาดสำนึกในบุญคุณคน​ ทำให้ไม่มีบุญวาสนาที่จะเป็นกษัตริย์​ได้

อาแป๊ะเลี้ยงดูลูกอย่างมีวินัย​ ทุกวันหลังอาหารเย็น​ประมาณหนึ่งทุ่ม​ อาแป๊ะจะเริ่มสอนหนังสือให้ลูกๆ​ เริ่มจากการคุยเรื่องทั่วไปของชาวจีน​ ชีวิตการเป็นอยู่ของอาแป๊ะที่เมืองจีน​ ตามด้วยการอ่านเรื่องสามก๊กให้ลูกฟังและวิเคราะห์​ด้้วยเหตุผล

อาแป๊ะเขียนบันทึกประวัติตัวเองไว้​ 1 เล่มเล่าเหตุการณ์​ต่างๆในชีวิตที่ผ่านมา​ น่าเสียดายที่บันทึกฉบับนี้ถูกเผาไหม้ไป

ตอนเกิดอัคคีภัย​ เมื่อวันศุกร์ที่​ 13​ มกราคม​ 2560

อาแป๊ะผู้ประสบความสำเร็จ จนสร้างฐานะที่มั่นคงให้ลูกหลานและเครืือญาติ​ สมกับคำกล่าวที่ว่า

#คังชิ้วเซ้ง#

คังชิ้ว​ หมายถึงมือเปล่า

เซ้ง​ หมายถึง​ ประสบความสำเร็จ

คือผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะด้วยมือเปล่า

------------------------

สุนีย์​ สุวรรณตระกูล​ ผู้เขียนบันทึก

อรุณรัตน์​ เยาวลักษณ์​ ชัยฤทธิ์​ ชัยวัฒน์

ผู้ให้ข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 672390เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท