คนแต้จิ๋ว​ คนจีนโพ้นทะเล​ (ตอนที่10)


         อาอึ้ม​ถูกส่งตัวมาแต่งงานที่เมืองไทย

อาอึ้ม​(หมายถึงป้า)​ บ้านอยู่ตรงข้ามกับผู้เขียนบันทึก เล่าให้ฟังว่า

ตอนอายุได้​ 15​ ปี​ ถูกส่งให้มาเมืองไทย​โดยมีคนรู้จักพามา​  ​มาตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้มาแต่งงานกับอาแป๊ะ(สามี)​ ที่เมืองไทย​ อาแป๊ะเป็นคนดี​  เคยมีภรรยามาแล้ว​ แต่ภรรยาเสียชีวิต​หลังจากคลอดลูกชายได้ไม่นาน 

อาอึ้มมาอยู่กับอาแป๊ะที่ศรีย่าน​  ซึ่งอาศัยอยู่กับครอบครัวคนรู้จัก​กัน​  อาแป๊ะเป็นคนมีฝีมือเรื่องทำอาหาร​  นอกจากอาอึ้มจะดูแลลูกชายอาแป๊ะแล้ว​ อาแป๊ะยังทำกุนเชียงให้ไปขายที่ตลาดศรีย่าน​  ตอนนั้นอาอึ้มยังพูดและฟังภาษาไทยไม่ค่อยได้​ และไม่เคยค้าขายมาก่อน​  เลยขายไม่ค่อยเป็น

ชีวิตตอนนั้นลำบากมาก  หากินค่อนข้างยาก  ครอบครัวที่อาศัยอยู่เป็นคนดีมากให้การช่วยเหลือทุกอย่าง​  ช่วยเลี้ยงดูลูกให้ยามที่ไม่อยู่บ้าน

ที่ศรีย่านอาอึ้มได้ลูกสาวหนึ่งคน​ ลูกชายหนึ่งคน​ รวมเป็น​ 3 คน

อาแป๊ะตัดสินใจย้ายมาแก่งคอย​   ตามคำชวนของญาติที่มาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

มาถึงที่นี่ก็เริ่มจากอาชีพรับจ้างทั่วไป​ อาอึ้มต้องช่วยอาแป๊ะทำงาน​  เคยแบกน้ำแข็งมาส่งร้านค้า​  น้ำแข็งตอนนั้นเป็นก้อนใหญ่​ แล้วมาเลื่อยเป็นมือเล็กๆ  หนึ่งก้อนใหญ่เลื่อยได้ประมาณ 5ื​ มือเล็ก  น้ำแข็งจะถูกหุ้มห่อด้วยถุง​กระสอบ​ข้าวสารที่ทอจากปอกระเจา ทบอีกชั้นด้วยขี้เลื้อย​ไม้​ ทำเป็นชั้นๆป้องกันไม่ให้ละลาย​ หนักมากเวลาขน

เมื่อมีเงินเก็บเป็นทุนได้​  อาแป๊ะเริ่มทำธุรกิจตนเอง​ โดยการหาบของ​ไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านที่อยู่ตามตำบลที่ไกลออกไป​  หรือชาวบ้านที่อยู่ด้านหลังเขา​ ที่ไม่สะดวกที่จะออกมาตลาดเหมือนชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ​ที่มากับเรือได้ 

ในหาบ​จะมี ขนม  ของเล่นเด็ก​ เสื้อผ้า​  น้ำตาล​ น้ำปลา​ วุ้นเส้น​และของใช้อื่นๆ เดินข้ามเขาตัดเข้าไปยังหมู่บ้าน​ เชิญชวนให้ชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

สินค้าที่ชาวบ้านนำมาแลกจะเป็นของในไร่ เช่น ข้าว​ ข้าวโพด​ ละหุ่ง​  ผลไม้​ และของป่าอื่นๆ

การแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นไปตามความพอใจที่ตกลงกันเอง แล้วนำสินค้าที่ได้มาขายต่อที่ตลาดแก่งคอย

ทำได้ไม่นานตลาดแก่งคอยก็ถูกไฟไห้มเผาผลาญ​หมด​ในสงครามโลกครั้งที่​ 2

ตลาดใหม่เริ่มเกิดขึ้นมา​แทน​  มีทหารมาประจำการอยู่ที่นี่จำนวนมากมาย​ อาแป๊ะมองเห็นโอกาสหาอาชีพใหม่

อาแป๊ะเริ่มชีวิตใหม่โดยเปิดร้านขายอาหารไทย  ต้มยำ​  ต้มเปื่อย​ ต้มแซบ ลาบเลือด​และอื่นๆ​   เรียนรู้การทำอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากลูกค้าที่มากิน​อาหารแนะนำให้

ชีวิตกำลังดูจะดีขึ้น​  แต่น่าเสียดายที่ไม่นานต่อมาอาแป๊ะต้องเสียชีวิตลงด้วยถูกงูพิษกัด​ตาย 

ต่อมาอีกไม่นานลูกชายคนเล็กก็เสียชีวิตตาม​ด้วยอาการไข้สูงตัวร้อนจัด  ตอนนั้นยังไม่มีหมอรักษา​ ไม่มีสุขศาลาและอนามัย

อาอึ้มต้องรับหน้าที่ทำแทน​ทุกอย่าง อาหารขายดี​  แต่เก็บเงินไม่ค่อยได้ เพราะลูกค้าที่มากินส่วนใหญ่เป็นทหารและชาวบ้านต่างถิ่นที่เดินทางมา​  มีการโต้เถียง​กันระหว่างกินอาหาร​ บางครั้งถึงกับล้มโต๊ะให้กระจัดกระจาย​ แล้วถือโอกาสเดินจากไปโดยไม่จ่ายเงินค่าอาหาร​  เหตุการณ์​เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยจนดูเหมือนว่าตั้งใจให้เกิดเพื่อไม่ต้องจ่ายเงิน

ผู้บันทึกจำได้ว่า​

ตอนเด็กๆจะเห็นคนตีกันที่ร้านอาอึ้มประจำ

ผู้บันทึกชอบเอาหัวมัน  หัวเผือก​ เม็ด​ขนุน​ เม็ดมะขาม​​  มะกรูด​  มาอบไว้ใต้เตาถ่านที่ร้านอาหารอาอึ้ม ทิ้งไว้นานพอควรให้สุกแล้วเอามากินกัน

มะกรูดเอามาสระผม สมัยนั้นใช้แต่มะกรูดแทนยาสระผมโดยนำมาเผาก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บันทึกจำได้​ ตอนนั้นยังเด็กมาก​ ชอบมานั่งเล่นใต้โต๊ะอาหารลูกค้า​ เล่นคนเดียว​ตามจินตนาการเด็กๆ​ เห็นกระดาษสีแดงสวยๆหล่นอยู่ใต้โต๊ะ​  ก็นำมาพับเล่น​   พับได้สวยพอแล้วก็วิ่งเอากลับมาให้แม่​ ​(ผู้บันทึก)​ ดู  แม่ตกใจมากซักว่าเอามาจากไหน​ เป็นแบงก์​ร้อย​  อาอึ้มบอกว่าน่าจะเป็นของลูกค้าทำหล่น​ไว้​  เมื่อไม่มีเจ้าของมาถามคืน​ ก็ตกลงกันว่าจะเอาไปทำบุญแทน

อาอึ้มเหนื่อยจากการทำอาหารขาย​  ที่เกิดการโต้เถียงกันขึ้นบ่อยๆของลูกค้าแล้วเดินออกไปโดยไม่จ่ายเงิน​  ด้วยเห็นว่าอาอึ้มเป็นผู้หญิงและเป็นคนจีนด้วย​  (คนจีนจะมีความกลัวทหาร)​

อาอึ้มเลิกขายอาหารเปลี่ยนมาขายเสื้อผ้า​สำเร็จรูปแทน​ ​โดยมีลูกสาวโตพอที่จะช่วยค้าขายได้​และเรียนการตัดเย็บเสื้อผ้า​พร้อมกับรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้า

อาอื้มเคยนั่งรถไฟไปซื้อของที่กรุงเทพฯขากลับนั่งรถไฟผิดขบวนเพราะอ่านหนังสือไทยไม่ออก รถไฟแยกจากภาชี​ ไปสายเหนือ​  โชคดีที่คนนั่งข้างมาด้วยเป็นคนบ้านหมอ​ แนะนำให้

อาอื้มลงบ้านหมอ​  ช่วยเป็นธุระให้จนขึ้นรถสายเหนือมาลงภาชี​ และยังฝากคนตัดตั๋วช่วยเป็นธุระต่อ จนมาถึงแก่งคอยเช้าวันรุ่งขึ้น​  อาอื้มบอกผู้บันทึกว่าคิดถึงคนที่อยู่บ้านหมอมาก​  ถ้าเขาได้ช่วยก็คงหาทางกลับไม่ถูก

ชีวิตอาอึ้มเริ่มสบายขึ้น​ มีเวลาว่างก็จะสวดมนต์ไห้วพระ​  ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก​ แต่ใช้วิธีจำเอาเป็นหลัก   จำจนสวดได้คล่อง​และสวดตลอดทั้งวันเมื่อมีเวลาว่าง

อาอึ้มได้พบกับความสุขในบั้นปลายของชีวิต​ได้ลูกสะใภ้ดีคอยดูแลในยามแก่เฒ่า​

สำหร​ับผู้บันทึก..

อาอึ้มเป็นคนซื่อและใจดีมาก​ชอบสวดมนต์​ไห้วพระ  ​ ลูกสาวอาอึ้มอายุแก่กว่าผูับันทึก​ 1 รอบปี​  ครอบครัวเราทั้งสองสนิทกันมากและยังติดต่อกันตลอด โดยเริ่มจาก

รุ่นแรก​   รุ่นพ่อแม่ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล

รุ่นสอง​   รุ่นลูกสาวอาอึ้มกับผู้เขียนบันทึก

รุ่นสาม​   รุ่นลูกของเราทั้งคู่

เราติดต่อกันมา 3 รุ่น​แล้า ไปมาหาสู่กันตลอดและหวังว่าจะมีรุ่นต่อๆไปสืบทอดต่ออีก

สุนีย์​   สุวรรณตระกูล​ ผู้บันทึก

หมายเลขบันทึก: 672389เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท