ประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๓. หนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking : What It Means in School


บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอนนี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

OECD เผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนา OECD project on fostering and assessing students’ creativity and critical thinking   โดยเปิดตัวหนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking : What It Means in School (2)  ในวันแรกของการประชุม

Andreas Schleicher, OECD Director for Education and Skills เขียนในคำนำของหนังสือว่า    ในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ทักษะด้าน creativity และ critical thinking มีความสำคัญยิ่งขึ้น    โดยที่ความรู้เชิงสาระและเชิงวิธีการยังคงมีความสำคัญ     หนังสือเล่มนี้มุ่งสื่อสารต่อผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ว่าควรสนับสนุนครูอย่างไร ให้เด็กได้รับประโยชน์ในการปลูกฝังความสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ    เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากการทำงาน ๕ ปี    โดยมีประสบการณ์การทดลองใน ๑๑ ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ๒ ปีการศึกษา   

  หนังสือหนา ๒๘๖ หน้า  มี ๘ บท   โดบบทที่ ๘ เป็นบันทึกสรุปกิจกรรมในแต่ละประเทศที่เข้าร่วม   ของไทยอยู่ที่หน้า ๒๔๕ – ๒๕๐   หากโอกาสอำนวยผมจะอ่านและตีความหนังสือนี้ลง บล็อก เป็นตอนๆ    ในบันทึกนี้ขอจับความย่อๆ มาลงไว้ก่อน

เป้าหมายของการเรียนรู้ในสมัยปัจจุบันและอนาคตคือ ทักษะสร้างนวัตกรรม   ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่ซ้อนเหลื่อมกัน ๓ องค์ประกอบ คือ  (๑) ทักษะด้านเทคนิค  (๒) ทักษะด้านพฤติกรรมและสังคม  (๓) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ และมีวิจารณญาณ   กระบวนการเรียนรู้ที่ดีจะส่งผลให้เกิดการพัฒนามิติทั้งสามในตัวเด็กไปพร้อมๆ กัน จนเกิด “นิสัยช่างคิด” (habit of mind) ขึ้นในตัวเด็ก    นี่คืออุดมคติของการศึกษาสมัยใหม่   

ทั้ง creativity และ critical thinking เป็นกระบวนการทางสมองขั้นสูง ที่เรียกว่า higher order cognitive skills   ที่ตามปกติสมองมักหลีกเลี่ยง เพราะใช้พลังงานมาก    ต้องมีการฝึกอย่างจริงจังและถูกต้อง คนเราจึงจะมีและใช้ทักษะทั้งสองจนเป็นนิสัย    ทักษะทั้งสองนี้เป็นคนละทักษะแยกกันชัดเจน แต่สัมพันธ์กัน    

ความสร้างสรรค์หมายถึงการมีความคิดหรือวิธีแก้ปัญหาในแนวทางใหม่    เกิดผลงานที่มีนวภาพ (novel) และมีคุณค่า    ที่ว่ามีนวภาพ หมายถึงฉีกแนวไปจากระบบเดิมๆ  ที่เรียกว่า คิดนอกกรอบ (think out of the box)    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า    ผมเคยบรรยายไว้ว่า การคิดนอกกรอบไม่มี   มีแต่การคิดในกรอบใหม่ (๓)    ผมจึงคิดว่าความสร้างสรรค์เกิดจากกล้าเสี่ยงและมีทักษะสร้างกรอบใหม่    OECD บอกว่า การคิดสร้างสรรค์มี ๒ องค์ประกอบ คือ คิดฟุ้ง (divergent thinking)  กับคิดสรุป (convergent thinking) 

ความสร้างสรรค์มีระดับที่หลากหลายตั้งแต่ระดับอ่อนๆ ไปจนถึงสร้างสรรค์สุดๆ    โดยที่มนุษย์ธรรมดาๆ ทุกคนสามารถมีความสร้างสรรค์ได้    และที่สำคัญสอนและเรียนได้     ประกอบด้วยทักษะย่อย ๔ ทักษะ    คือ (๑) สงสัย (inquiring) ซึ่งต้องสงสัยอย่างจริงจังและมีข้อมูลหรือความรู้ประกอบ    ในหลายกรณีต้องค้นคว้าหาความรู้มาทำให้ข้อสงสัยชัดเจนและเป็นเรื่องเป็นราว    ผมขอเพิ่มเติมว่า ความสงสัยในชีวิตประจำวันของคนเราไม่ใช่ทักษะข้อนี้    เพราะเราไม่ได้สงสัยจริงจังหรืออย่างถึงขนาด    ในยุคปัจจุบันเราต้องช่วยกันทำให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นนักสงสัยอย่างถึงขนาด เช่น กำหนดปัญหาได้ชัดเจน  มองเห็นช่องว่างของความรู้ หรือความรู้ที่ยังไม่มี   (๒) จินตนาการ(imagining) เป็นทักษะเล่นและทดลองในใจ    เป็นกลไกให้ฉีกแนวไปจากความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ    และคิดเรื่องราว วิธีการ และผลลัพธ์ใหม่ขึ้น     จากภาพอนาคตใหม่ที่สร้างขึ้นในใจ    โดยที่ความคิดทั้งหมดนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน    แต่จินตนาการในที่นี้ไม่ใช่จินตนาการเพ้อฝัน  เป็นจินตนาการที่มีเป้าหมาย (intentionality) ตามข้อสงสัยที่กำหนดขึ้น     (๓) ปฏิบัติ(doing) เป็นการลงมือสร้างสิ่งของหรือวิธีการใหม่    โดยที่การปฏิบัตินี้ทำตามแรงผลักดันจากทักษะย่อยอีก ๓ ทักษะ   และเป็นกระบวนการที่เป็นวงจร ที่อาจเรียกว่าการลองผิดลองถูก   ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยเปลี่ยนความคิดและวิธีการใหม่    จนในที่สุดพบสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ที่ได้ผลและมีนวภาพ    และกระบวนการปฏิบัติ ตามด้วยการเก็บข้อมูลผลของการปฏิบัติ นำไปสู่การ   (๔) สะท้อนคิด หรือใคร่วญสะท้อนคิด (reflecting) จากกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด    เป็น feedback loop เพื่อกระบวนการสร้างสรรค์นั้น    รวมทั้งเพื่อตกผลึกเป็นความรู้ และทักษะระดับลึก สั่งสมไว้ใช้ในโอกาสต่อไป    เอกสารไม่ได้ย้ำว่าการสะท้อนคิดไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ    ผมจึงขอเพิ่มเติมว่า การสะท้อนคิดเป็นการสะท้อนคิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนอื่นๆ    เป็นการดึงจินตนาการสู่ความเป็นจริง    จะเห็นว่ากระบวนการสร้างสรรค์เป็นวงจรเชื่อมต่อระหว่างจินตนาการหรือความฝัน กับความจริง  

มีผู้คิดกระบวนการที่เรียกว่า design thinking  ขึ้นใช้อธิบายกระบวนการในย่อหน้าบน    และหนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking นำมาลงไว้ในบทที่ ๓ 

  นักจิตวิทยาเรืองนามแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Csikszentmihalyi บอกว่าคนที่มีความสร้างสรรค์สูง มีบุคลิก ๑๐ ประการคือ (๑) เป็นคนคล่องแคล่ว  (๒) ฉลาดและใสซื่อ  (๓) ขี้เล่นและรับผิดชอบ  (๔) เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการแต่ก็ยึดโยงอยู่กับสภาพจริง  (๕) ทั้งเก็บตัวและชอบสังคม  (๖) ถ่อมตัวและภูมิใจในตนเอง  (๗) มีเหตุผลและไม่เหยียดเพศ  (๘) ทั้งอนุรักษ์นิยมและกบฏ  (๙) ทั้งคลั่งใคล้ใหลหลงและมีเป้าหมายต่องาน  (๑๐) ทั้งสุขและทุกข์จากงานมากกว่าคนอื่นๆ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) หมายถึงการตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ ทฤษฎี หรือแนวความคิด ผ่านการตรวจสอบมุมมอง (perspective)   หรืออาจกล่าวว่า เป็นการตรวจสอบจุดยืนที่ต่างกันเพื่อหาจุดที่เป็นไปได้    ซึ่งผมเรียกว่า การเถียงตัวเอง    ในสมัยกรีกโบราณเรียกว่าการคิดแบบ dialectic   และ John Dewey เรียกว่า reflective thinking  

การคิดอย่างมีวิจารณญาณเริ่มจากไม่เชื่อ  ตั้งข้อสงสัย  ทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนขึ้น    ก่อนที่จะเสนอทางออก    เป็นการคิดแบบเชื่องช้า (slow thinking)  ตามที่เสนอโดย Kahneman    ตรงกันข้ามกับการคิดแบบฉับพลัน (fast thinking) ซึ่งเป็นการคิดตามปกติธรรมดาของคนทั่วไป    อาจกล่าวว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นการคิดใคร่ครวญและวิเคราะห์เจาะลึก   

กล่าวอย่างสั้นที่สุด การคิดอย่างมีวิจาณญาณ เป็น “ทักษะมองหลายมุม”   เพื่อหาทางเลือกมุมที่ดีที่สุดต่อสถานการณ์นั้นๆ    คนที่มีคุณสมบัตินี้ต้องกล้าท้าทายความเชื่อเดิมๆ    นอกจากคิดใคร่ครวญและวิเคราะห์เจาะลึกแล้ว ยังต้อง (๑) มองเห็นมุมมองที่หลากหลาย  (๒) ตระหนักว่าแต่ละมุมมองมีข้อสมมติ (assumption) อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งเป็นข้อสมมติที่มีข้อจำกัด (limitation)       

การคิดอย่างมีวิจารณญาณมี ๔ ทักษะย่อยเหมือนกันกับความสร้างสรรค์   คือ (๑) สงสัย  (๒) จินตนาการ  (๓) ปฏิบัติ  (๔) สะท้อนคิด    โดยการคิดอย่างมีวิจารณญาณอยู่บนฐานใจว่าเรื่องนั้นๆ มองได้หลายแบบ    อยู่บนฐานของความไม่เชื่อง่ายๆ     

ความสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณต่างกันที่เป้าหมาย    ความสร้างสรรค์เน้นหาสิ่งที่มีนวภาพและคุณค่า    การคิดอย่างมีวิจารณญาณเน้นเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย    มีทักษะย่อย ๔ ทักษะเหมือนกัน   และต้องการสภาพจิตที่เหมือนกัน ๒ อย่างคือ ใจที่เปิดรับ (openness)  และความใคร่รู้ (curiosity)   

มีข้อถกเถียงกันมานาน ว่าความสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีลักษณะจำเพาะต่อศาสตร์แต่ละด้าน (domain-specific)   หรือหากใครมีทักษะทั้งสองก็จะเก่งในทุกศาสตร์ (domain-general)    เวลานี้ตกลงกันได้แล้วว่าคุณลักษณะทั้งสองนั้นมีความจำเพาะต่อศาสตร์   เช่นคนเก่งวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเก่งศิลปะ เป็นต้น  

เครื่องมือ rubric

ประดิษฐกรรมที่มีคุณค่ายิ่งที่ได้จากโครงการ OECD project on fostering and assessing students’ creativity and critical thinking    และระบุรายละเอียดไว้ในหนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking : What It Means in School (2)  คือ rubrics สำหรับใช้ยกระดับการสอน (teaching)  การเรียน (learning)  และการประเมิน (assessment)    โดยที่ทั้งหมดเป็น conceptual rubric   คือบอกหลักการ ผู้ใช้ต้องนำไปตีความและประยุกต์ใช้ตามบริบทของตน

สุดยอดวิธีจัดการเรียนรู้ ๑๑ แบบ

บทที่ ๓ ว่าด้วย eleven signature pedagogies สำหรับใช้พัฒนาความสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ได้แก่

  1. 1. Creative Partnerships (ใช้ได้กับทุกสาขาวิชา)
  2. 2. Design Thinking (ใช้ได้กับทุกสาขาวิชา)
  3. 3. Dialogic teaching (ใช้ได้กับทุกสาขาวิชา)
  4. 4. Metacognitive pedagogy (ใช้ในคณิตศาสตร์ศึกษา  และใช้ได้กับทุกสาขาวิชา) : CREATE
  5. 5. Modern band movement (ใช้ในดนตรีศึกษา)
  6. 6. Montessori (ใช้ได้กับทุกสาขาวิชา)
  7. 7. Orff Schulwerk (ใช้ในดนตรีศึกษา)
  8. 8. Project-Based Learning (ใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์  และใช้ได้กับทุกสาขาวิชา)
  9. 9. Research-based learning (ใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์)
  10. 10. Studio Thinking (ใช้ในการศึกษาด้านทัศนศิลป์)
  11. 11. Thinking for Artistic Behavior (ใช้ในการศึกษาด้านทัศนศิลป์)

เป้าชัด เปลี่ยนวิธีการ ได้ผลดี

เป้าหมายในที่นี้คือ การศึกษาที่ปลูกฝังพัฒนาความสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ    วิธีการเสนอไว้ใน conceptual rubrics สำหรับการสอน การเรียน และการประเมิน    โดยที่ทั้งครูและนักเรียนต้องเปลี่ยนบทบาท    หน้าที่สำคัญที่สุดของครูคือตั้งคำถาม    หน้าที่ของนักเรียนคือทำกิจกรรม ๔ อย่างในทักษะย่อยของความสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ    ได้แก่ สงสัย  จินตนาการ  ปฏิบัติ  และ สะท้อนคิด

ผลดีจากการเปลี่ยนวิธีการสอน และวิธีการเรียน   เกิดผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครู  ระหว่างครูกับนักเรียน  และระหว่างครูกับครูใหญ่   รวมทั้งระหว่างโรงเรียนกับผู้กำหนดนโยบาย  

มีเครื่องมือหนุนการทำงานของครู

เครื่องมือดังกล่าวได้แก่ การฝึกอบรมครู    การติดตามไปให้คำแนะนำปรึกษาทุกเดือน     การมีชุมชนเรียนรู้ในกลุ่มครู (PLC – Professional Learning Community)   ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า peer dialogue   และที่สำคัญที่สุดคือ เครื่องมือ rubrics     


วิจารณ์ พานิช

๒๙ กันยายน ๒๕๖๒ 

     

หมายเลขบันทึก: 672106เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2019 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2019 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท