ประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๒. ความหมายของ CCT ในมุมมองด้านวิทยาศาสตร์



บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอนนี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

Keynote แรกเสนอโดย ศาสตราจารย์ Carl Wieman,  Professor of Physics and Education, Stanford University, United States ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 2001  จากผลงานวิจัยด้าน Bose-Einstein condensation    และเขียนหนังสือ Improving How Universities Teach Science : Lessons from the Science Education Initiative (2)    ท่านเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ PhET interactive simulation เพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (๓)ที่มีผู้ใช้แพร่หลายมาก 

ประเด็นของ keynote ที่ระบุในเอกสารได้แก่ What is creativity and critical thinking in science, how does it relate to scientific expertise, and what does it imply for education and higher education?     แต่วิทยากรทำให้ง่ายขึ้นด้วยโจทย์ว่า ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์คืออะไร  สัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ และความคิดอย่างมีวิจารณญาณทางวิทยาศาสตร์ อย่างไร   

ท่านบอกว่าความสนใจของท่านในเรื่องการเรียนรู้คือ ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ (scientific expertise)    ท่านอยากรู้ว่ามันคืออะไร สอนอย่างไร    สนใจมา ๓๐ ปี   ท่านทำวิจัยเรื่องการเรียนรู้หรือการสอนวิทยาศาสตร์คู่ขนานกับการวิจัยด้านฟิสิกส์ที่ด้านได้รับรางวัลโนเบล    มีผลงานวิจัยด้านการศึกษาตีพิมพ์กว่า ๑๐๐ ชิ้น      

ท่านบอกว่า คนเราเรียนเพื่อเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ    และเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ความรู้และวิธีคิดโดยใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (scientific reasoning) ในการตัดสินใจอย่างเหมาะสม (good decision)     และให้นิยามว่า good decision หมายถึงตัดสินใจอย่างผู้เชี่ยวชาญ (expert)    ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป   

ผมตีความต่อ ว่าคนเราเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และมีทักษะใช้ความรู้นั้นในการตัดสินใจผ่านการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์    นี่คือการศึกษาสำหรับคนทั่วไปนะครับ    ไม่ใช่สำหรับคนเรียนสายวิทย์ หรือเรียนไปเป็นนักวิทยาศาสตร์      

ทีมวิจัยของท่านทำวิจัยเพื่อให้เข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาของผู้เชี่ยวชาญ (expert problem-solving) สามกลุ่มคือ นักวิทยาศาสตร์  วิศวกร และแพทย์    พบว่าแต่ละอาชีพมีวิธีคิดต่างกัน แต่ได้คำตอบเดียวกัน    สรุป predictive framework  ของการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ได้ตามรูปที่ ๑   จะเห็นว่า ประกอบด้วย ๘ ขั้นตอนที่มีการตรวจสอบป้อนกลับ กลับไปกลับมาอย่างซับซ้อน   

ปัญหาที่ทีมวิจัยของท่านสนใจเป็นปัญหาจริง (authentic) ที่นักวิทยาศาสตร์เผชิญในการทำงานประจำ    ซึ่งมีลักษณะ (๑) มีความซับซ้อน  (๒) ต้องแก้ปัญหาหลายปัญหา  (๓) ต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ   

สรุปได้ว่า ไม่พบความแตกต่างระหว่าง critical thinking กับ scientific problem-solving    โดยผู้เชี่ยวชาญใช้ predictive framework อย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหา (รูปที่ ๕)    และสรุปได้ว่าการเรียนวิทยาศาสตร์คือการฝึกตัดสินใจแก้ปัญหา     กระบวนการนี้เอาไปใช้ในวิชาอื่นๆ ได้น้อย    ผมตีความต่อว่า การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการฝึกคิดอย่างจริงจัง (critical thinking) รูปแบบหนึ่ง    โดยมีการคิดอย่างจริงจังในรูปแบบอื่นๆ อีก    คนเราต้องฝึกคิดแบบ critical thinking หลายๆ แบบ   

รูปที่ ๗ สรุปเรื่อง creativity   คำที่รุนแรงคือ การเรียนการสอนในรูปแบบปัจจุบันมีผล anti-creativity   หากจะให้นักเรียนฝึกความสร้างสรรค์ ต้องส่งเสริมให้นักเรียนเสนอคำตอบที่ต่างจากคำตอบของครู และต่างจากคำตอบของคนอื่น  

ในรูปที่ ๘ สรุปว่า critical thinking มีลักษณะ discipline-specific หรือ domain-specific   และผมถียงว่า น่าจะมี general, non-discipline specific critical thinking ด้วย    ส่วนเรื่อง creativity ท่านสรุปว่า เป็นเรื่องของความแปลกใหม่ (novelty) และคุณค่า (value)  

จากการนำเสนอโดยวิทยากรอีกหลายท่าน  สรุปเรื่อง CCT (creativity & critical thinking) ได้ว่า     มีลักษณะจำเพาะต่อกิจกรรมแต่ละด้าน (domain-specific) ตรงกับที่ Carl Wieman เสนอ    ผมจึงสรุปต่อว่า หากจะพัฒนาเยาวชนให้มี CCT ต้องให้โอกาสเขาทำกิจกรรมหลายๆ แบบ    เพื่อพัฒนา CCT หลายด้าน   ทั้งด้านศิลปะ และด้านวิทยาศาสตร์     หรือทั้งด้านที่เน้นอารมณ์  และด้านที่เน้นเหตุผล    

ส่งเสริม CCT ด้านวิทยาศาสตร์ในอุดมศึกษา   

บ่ายวันที่ ๒๕ มีรายการ ส่งเสริม CCT ในอุดมศึกษา  มีวิทยากรนำเสนอ ๓ ท่านในเวลา ๑ ชั่วโมง     Carl Wieman เสนอเรื่อง ส่งเสริม CCT ด้านวิทยาศาสตร์ในอุดมศึกษา    โดยเล่าผลงานวิจัยของทีมงานของท่าน    สรุปได้ว่าต้องเปลี่ยนวิธีสอนวิทยาศาสตร์ จากเน้นบรรยาย ไปเป็นเน้นสอนแบบ interactive    ผมค้นใน Google ด้วยคำว่า Carl Wieman Science Education พบเว็บไซต์นี้ (๔) น่าสนใจมาก     

ตัวอย่างการสอนแบบ interactive ที่ท่านฉายสไลด์ให้ดู อยู่ในรูปที่ ๙   จะเห็นว่า ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ต้องเตรียมตัวมาก่อนเข้าชั้นเรียน    ในชั้นเรียนประกอบด้วย ๓ ส่วนของกิจกรรมคือ introduction, activity, feedback   

คำอธิบายความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์เก่า กับกระบวนทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้ อยู่ในรูปที่ ๑๐    โดยที่กระบวนทัศน์เก่าน่าจะเรียกว่าเป็น fixed mindset    มองว่าเด็กแต่ละคนมีสมองที่แตกต่างกัน    คนที่จะเรียนได้ดีต้องเกิดมามีสมองดี    แต่กระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งน่าจะเรียกว่า growth mindset  เชื่อว่าสมองของคนทุกคนเปลี่ยนแปลงได้    กระบวนการเรียนรู้ที่ดี ทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง (transformation)    

งานวิจัยของ Carl Wieman ทำในนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่หลักการที่ได้ ใช้ได้ในเด็กทุกวัย    คือการเรียนรู้ต้อง interactive และเรียนเป็นทีม จึงจะเกิดผลการเรียนรู้ที่แท้จริง   

วิจารณ์ พานิช

๒๕ กันยายน ๒๕๖๒

ห้อง 344   โรงแรม Hilton London Bankside  

ปรับปรุงเพิ่มเติม ๒๙ กันยายน ๒๕๖๒  ที่บ้าน  



     

1 Predictive framework ในกระบวนการแก้ปัญหา

2 เชื่อมโยง P framework กับ critical thinking

3 อีกจุดเชื่อมโยง

4 สรุปว่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่าง critical thinking กับ scientific problem-solving

5 mental model ของผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างแก้ปัญหา

6 ข้อสรุปความหมายของการเรียนวิทยาศาสตร์

7 ข้อสรุปเรื่อง creativity

8 ข้อสรุป

9

10

หมายเลขบันทึก: 672029เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2019 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2019 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท