วิจัยมัดย้อมสีธรรมชาติจากน้ำทะเล ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต


การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของบ้านหินลูกเดียว 

อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

The development of Tie- Dye fabric products from the natural color of

Baan Hin Luk Deaw, Thalang District, Phuket Province

ดร.ธีรกานต์  โพธิ์แก้ว dr.Theerakan  Pokaew,  นางสาว กัลยานี  วิจิตร Ms. Kalayanee  Vijit

นาย ทศพร  ยันนี Mr. Thossaporn  Yannee, นางสาว ธัญญาภรณ์  รินโยธา Ms. Thanyapon  Rinyota, นาย วรพงศ์  เลี่ยวตระกูล Mr. Worapong  Leawtrakoon, นางสาว อารียา  ห่าหอ   Ms. Areeya Hahor

สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, [email protected]

                                                                                         

บทคัดย่อ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของการผลิตผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ บ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อทราบแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ บ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  โดยการสำรวจ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การประชุมกลุ่มผู้ปฏิบัติจำนวน 10 คน สัมภาษณ์ผู้นำ จำนวน 4 คน และสัมภาษณ์ผู้บริโภค จำนวน 30 คน  ผลวิจัยพบว่าบ้านหินลูกเดียวเดิมเป็นชาวเลมอเกล็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีวิถีชีวิตดำรงอยู่แบบชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากประสบภัยสินามิทางจังหวัดภูเก็ตจึงจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ชาวเลมอเกล็นกลุ่มเล็กๆ ได้มาอยู่อาศัยในพื้นที่ด้านเหนือในพื้นที่เขตตำบลท่าฉัตรชัย และตั้งชื่อใหม่ว่าหมู่บ้านหินลูกเดียว โดยการดูแลด้านการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมทางชุมชนได้รับการดูแลจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต  การพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจึงได้รับการส่งเสริมด้านอาชีพ เป็นการนำเสนออาชีพใหม่สู่การเรียนรู้ภายใต้ทุนทางธรรมชาติของชุมชน

สำหรับการออกแบบลายผ้ามัดย้อมของกลุ่มผ้ามัดย้อมชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ยังไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น  ผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นที่ต้องการในตลาด  การพัฒนาต้องมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ความคงทนของสียัง ไม่ติดทนนาน สีไม่เด่นชัด เวลาซักทำให้สีธรรมชาติหลุดออกได้ง่าย  สีอ่อนไม่สวยงาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีการนำน้ำทะเล และน้ำด่างเข้ามาช่วยประสานให้สีเด่นชัดยิ่งขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีสีที่สวยขึ้น  แนวทางการพัฒนาควรมีการการสร้างเอกลักษณ์  สร้างเรื่องราวบนผลิตภัณฑ์ เพื่อทำสินค้าโดดเด่นเป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการในท้องตลาดมากขึ้น

 คำสำคัญ :  ความเป็นมา, ปัญหา,  แนวทางการพัฒนา, ผลิตภัณฑ์,  ผ้ามัดย้อม, สีธรรมชาติ

Abstract

The development of tie- dye fabric products from the natural color of Baan Hin Luk Deaw, Thalang District, Phuket Province  Objective to study he history of tie- dye fabric production from natural colors. Baan Hin Luk Deaw, Thalang District, Phuket Province To study the problems and obstacles in the production of tie dye fabric from Baan Hin Luk Deaw, Thalang district, Phuket province To know the guidelines for the development of tie- dye fabric products from natural colors, . Baan Hin Luk Deaw, Thalang District, Phuket Province by exploring participatory observation, The meeting of 10 practitioners, interviewing 4 leaders and interviewing 30 consumers  The research found

that the original design of the tie dye fabric of the tie dye fabric group, Baan Hin Luk Deaw, Thalang District, Phuket Province Still has no unique identity The product is not yet needed in the market. Development must focus on product design and development. To be more interesting Color fastness is not long lasting, the color is not clear when washing, causing the natural color to fall off easily. Light color is not beautiful Product development with seawater navigation And the alkaline water comes to help coordinate the color more clearly Make the product look more beautiful Along with creating a unique story on the product Make products that are needed to consumers and become more desirable in the market.

Keywords : development, Products, Tie- Dye, natural color

บทนำ

ปัจจุบันประเทศชาติกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนในทุกระดับประสบปัญหาต่างๆ และอีกปัญหาหนึ่ง

ที่ประชาชนระดับรากหญ้าต้องเผชิญ คือ ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลจึงได้ประกาศสงครามกับความยากจน โดยแถลงต่อรัฐสภาว่า จะจัดให้มีโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้แต่ละชุมชได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โดยภาครัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ และการบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการพึ่งตนเอง โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการสร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากรภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ (สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่. 2556)

 ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ดํารงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในรูปแบบ และสีสัน คือ เส้นใยฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ รูปแบบที่เรียบง่ายที่เกิดจากกระบวนการ การออกแบบลวดลาย และสีสันจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของผ้ามัดย้อมสี ธรรมชาติที่ได้ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นต่อ ๆมา แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของความเรียบง่ายนี้ ไม่ได้โดนใจคนไทยหรือทําให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิแต่อย่างไร แต่กลับไปถูกใจ ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นแทน คนไทยในยุคหลังๆ ยังดูความงามจากผ้าย้อมสีธรรมชาติไม่เป็น กลับเห็นว่าความมืด ความทึม ความทึบ เป็นความล้าสมัย ( กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. 2540 )  ในปัจจุบันศิลปะมัดย้อมดังกล่าวจึงกำลังดูเหมือนจะลดหายไปจากสังคม และถูกมองอย่างไร้คุณค่า เพราะว่ากระแสแฟชั่นสมัยใหม่สีสันสดใสมาแรง หาซื้อได้ง่าย และตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว สีเคมีสามารถเสกสรรค์ได้ทันใจ ในทุกรูปแบบ  อีกทั้งคนยุคปัจจุบันไม่ยอมรับการถ่ายทอดเกี่ยวกับด้านความรู้สึก ความภาคภูมิใจ หรือ รสนิยมเพื่อสืบสานต่อจากบรรพบุรุษ ประกอบกับการได้รับอารยธรรมจากตะวันตกในยุคหลัง ที่คนไทยเลียนแบบฝรั่ง จึงมีรสนิยมเป็นแบบฝรั่งเพราะคิดว่าทันสมัย คือ การใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันสะดุดตา ตราบใดที่กระแสโลกาภิวัตน์ยังคิดเป็นเช่นนี้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติคงจะเริ่มเลือนหายไปในที่สุด จะทําอย่างไรให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติยังคงอยู่ ได้ต่อไป

การมัดย้อมสีธรรมชาติจึงจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่ง ไม่ใช่สิ่งแปลก หรือสิ่งที่พึ่งจะค้นพบนวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด แต่ความรู้ภูมิปัญญาดังกล่าวได้ถูกค้นพบ ปฏิบัติและถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกทั้งหลายก็ใช้ผ้าบังสุกุลสีขาวที่ใช้สำหรับห่อศพมาซักแล้วก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติเพื่อเป็นผ้าจีวรนุ่งห่มเหมือนกัน ภูมิปัญญาการเอาผ้าแล้วมาย้อมด้วยสีธรรมชาติไม่ใช่ภูมิปัญญาชาวของบ้านธรรมดาๆ แต่เป็นภูมิปัญญาที่มาจากแนวคิดของพระพุทธเจ้า และชาวบ้านก็ได้สืบสานกันมาเป็นการย้อมผ้าสวมใส่จากสีธรรมชาติ จากการย้อมสีพื้นธรรมดามาเป็นการย้อมลายต่างๆรวมทั้งมัดหมี่มัดย้อม ซึ่งการเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวเหมือนกับเราได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรมะไปด้วย เช่น เราจะได้สมาธิจากการดึงปมชายผ้า หรือการพึงพาธรรมชาติและพึ่งพาตัวเอง หรือการไม่ตามกระแสของสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น การทำผ้ามัดย้อมใช้เอง เป็นความภาคภูมิใจของคนทำและคนที่จะสวมใส่ ด้วย ที่สำคัญสีที่ได้จากธรรมชาติจะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บไปในตัวด้วย เช่น ผ้าย้อมคราม ย้อมฝางแดง เป็นต้น พร้อมกันนั้น ยังมีการย้อม สวิง แห ตาข่ายยอ อุปกรณ์จับปลา ด้วยลูกตะโกเพื่อความคงทนและได้สีที่หลอกตาสัตว์น้ำ (Tohrib aleekasem. 2556)

การย้อมสีธรรมชาติไม่ได้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ เพราะขบวนการย้อมสีธรรมชาติเป็นกระบวนการที่พึ่งพิงกับวัสดุธรรมชาติ เป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้ผู้ย้อมสีธรรมชาติเห็นคุณค่าและผูกพันกับธรรมชาติ การใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำการย้อมสีธรรมชาติ จึงไม่ใช่ประโยชน์อย่างเดียว แต่เป็นการอนุรักษ์ รักษาต้นไม้ และการปลูกเพิ่มเติม เพื่อการเพิ่มขึ้นของปัจจัยในการย้อมสีธรรมชาติ ในปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยต้องสั่งซื้อสีเคมีจากต่างประเทศหลายสิบล้านบาทเพื่อใช้ในการย้อมสีผ้า แต่การย้อมสีผ้าด้วยธรรมชาติไม่ต้องลงทุนมาก ทำให้ชุมชนประหยัดต้นทุนในการซื้อสีเพื่อการผลิต ซึ่งสีธรรมชาติยังสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชุมชนผู้ย้อมสี  ปัจจุบันกลุ่มสตรีและกลุ่มแม่บ้านหลายแห่งได้รวมกลุ่มกันผลิตงานหัตถกรรมผ้าย้อมสีธรรมชาติขึ้น เป็นรายได้เสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำสวน ทำไร่ ทำนา ถึงแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากมาย แต่เป็นรายได้ที่สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย

ชุมชนบ้านหินลูกเดียว เป็นชุมชนชาวเลที่มีวิถีชีวิตอยู่ติดกับทะเล  อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  สมัยก่อนสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านค่อนข้างเสื่อมโทรม จนกระทั่งประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ “สินามิ” ภายหลังจึงได้รับความช่วยเหลือจากทางจังหวัดภูเก็ตให้มีการร่วมพัฒนาจัดสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่  ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชาวเล ซึ่งจัดว่าเป็นเสน่ห์ของจังหวัดอีกพื้นที่หนึ่ง  เพราะชาวเลจะเป็นชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ การส่งเสริมพัฒนาอาชีพจึงมุ่งเน้นอาชีพที่ไม่ซับซ้อน และไม่ส่งผลเสียต่อระบบธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลต่อวัฒนธรรม และความปลอดภัยของสมาชิกภายในชุมชน จากการลงศึกษาพื้นที่ ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียวเป็นชุมชนชาวเลที่มีขนาดเล็ก เหมาะแก่การพัฒนาองค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการมัดย้อมสีธรรมชาติ 

คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาวิจัยถึงความเป็นมาของการผลิตผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ  ปัญหาและอุปสรรค์ในการผลิตผ้ามัดย้อม และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของกลุ่มชาวเลบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  เพื่อที่จะส่งเสริมให้ชาวเลได้มีอาชีพที่มั่นคง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ให้เป็นที่น่าสนใจ พัฒนา ลวดลายสีสันให้ดูสวยงาม ทันสมัย ให้เป็นจุดสนใจของผู้คน และเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวเลได้อีกด้วย

2. วัตถุประสงค์

            2.1 เพื่อศึกษาความเป็นมาของการผลิตผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชาวเลบ้านหินลูกเดียว อ.ถลางจ.ภูเก็ต

            2.2 เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชาวเลบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

            2.3 เพื่อทราบแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของกลุ่มชาวเลบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

3. วิธีการศึกษา

   3.1  วิธีดำเนินการวิจัย

           การวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของบ้านหินลูกเดียว  อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีระเบียบวิธีวิจัยดังต่อไปนี้

   3.2  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

 3.2.1  ประชากรคือ ประชาชนในเขตพื้นที่บ้านท่าฉัตรไชย หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  มีจำนวนประชากรทั้งหมด 187 คน เป็นชาย 97 คน เป็นหญิง 90 คน 

  3..2.2 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 44 คน

                        3.2.2.1 กลุ่มผู้นำจำนวน 4 คน ข้อมูลได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เป็นรายนามที่สมาชิกในชุมชนแจ้งในที่ประชุมแผนการวิจัย  ประกอบด้วย

                                    ประธานชุมชนบ้านหินลูกเดียว

                                    ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม

                                    ปราชญ์ชุมชน

                                    คุณครู กศน.

                        3.2.2.2 กลุ่มผู้ปฏิบัติจำนวน 10 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจงเป็นกลุ่มสตรีชาเลในหมู่บ้าน     หินลูกเดียวที่พร้อมจะเข้าร่วมในโครงการวิจัยในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพของชุมชน

                        3.2.2.3 กลุ่มผู้บริโภคจำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มโดยบังเอิญ เฉพาะผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต    

    3.3  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  เครื่องมือใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลแนวทางการพัฒนาผ้ามัดย้อม มีเครื่องมือ ดังนี้

              3.3.1 แบบสำรวจ คือ ผู้วิจัยมีการใช้เทคนิคและกระบวนการสำรวจ คือ การเก็บรายระเอียดทั่วไป โดยมีหลักการสังเกต เพื่อให้ได้ข้อมูลจากประเด็นปัญหาที่สนใจศึกษา โดยผู้วิจัยได้ทำการสำรวจสภาพบริบททั่วไปของพื้นที่บ้านหินลูกเดียว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัด ภูเก็ต

             3.3.2 การสังเกต คือ ผู้วิจัยมีการใช้เทคนิคและกระบวนการในการสังเกตแบบมีส่วนร่วม คือ การสังเกตที่ผู้สังเกตเข้าไปร่วมเรียนรู้การทำผ้ามัดยอมกับกลุ่มมอร์แกนจนกระทั้งเข้าใจในขั้นตอนกระบวนการผลิตผ้ามัดย้อมและสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ผลตามปรากฏการณ์ที่ผู้วิจัยสังเกตพบ

             3.3.3 แบบสัมภาษณ์ คือ เป็นวิธีเก็บข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้วิธีการสนทนากับผู้ตอบประกอบด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มผู้นำ 4 คนและกลุ่มผู้บริโภค 30 คน ในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นการเจาะลึกถึงประเด็นต่างๆ ที่ผู้วิจัยสนใจ อาจจะใช้วิธีในการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลหรือเป็นรายกลุ่มก็ได้ การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ผู้วิจัยใช้แบบสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือในการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลแลคำตอบตามวัตถุประสงค์งานวิจัยดังนี้

                        เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาผ้ามัดยอมกลุ่มมอร์แกน บ้านหินลูกเดียว ตำบลไม้ขาว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยผู้วิจัยใช้แบบสัมภาษณ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

                        3.3.3.1 การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยได้กำหนดโครงสร้างและคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนการไปเก็บข้อมูล  และไปสัมภาษณ์กับผู้ให้ข้อมูลตามโครงสร้างคำถามที่กำหนดไว้

                        3.3.3.2 การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างเป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยไม่ได้กำหนดโครงสร้างและคำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าแต่จะอาศัยไปตั้งคำถามเฉพาะหน้ากับผู้ให้ข้อมูลแทนซึ่งจะพูดคุยสักถามประเด็นไดก็ได้โดยผู้วิจัยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริบทชุมชน สภาพแวดล้อม กลุ่มผ้ามัดย้อมของชุมชน และสัมภาษณ์ ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มผ้ามัดย้อม ว่ามีส่วนในการจัดทำการพัฒนาผ้ามัดยอมให้เป็นสินค้าในชุมชนอย่างไรโดยผู้วิจัยใช้แบบสัมภาษณ์ เทปบันทึกเสียงและภาพและกล้องถ่ายภาพร่วมกัน

                        3.3.3.3 การประชุมกลุ่ม เพื่อทราบถึงเทคนิคกระบวนการผลิต และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติชุมชนบ้านหินลูกเดียว

   3.4  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

  มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากข้อมูลแบบปฐมภูมิและข้อมูลแบบทุติยภูมิ โดยใช้เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสำรวจ แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์กลุ่ม แบบสอบถามและวิเคราะห์เนื้อหา จากเอกสารดังนี้

               3.4.1  ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data)  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อความ ตัวเลข สิ่งพิมพ์ จากเอกสารในหมู่บ้านของกลุ่มเป้าหมายและข้อมูลทางการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นที่ บริบททั่วไป แผนที่ชุมชน ตลอดจนการค้นคว้างานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกัน

                                    1.1 จากเอกสาร วารสาร บทความ งานวิจัย

                                    1.2 จากหนังสือและตำราเรียน

                                    1.3 จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

            3.4.2 ข้อมูลปฐมภูมิ หมายถึงข้อมูลที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาภาคสนามโดยใช้

                    3.4.2.1 การสำรวจ ผู้วิจัยใช้เครื่องการสำรวจข้อมูลจากประธานชุมชนบ้านหินลูกเดียวเพื่อให้ได้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของชุมชน แผนที่และที่ตั้งของชุมชน ประชากร สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ให้สอดคล้องกับประเด็นที่ศึกษา

                     3.4.2.2 การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ผู้วิจัยใช้การสังเกตแบบทางตรง เป็นการสังเกตการณ์ที่ผู้สังเกตการณ์สัมผัสกับเหตุการณที่เกิดขึ้นโดยตรงด้วยตนเอง โดยการสังเกตผู้ปฏิบัติในการจัดเตรียมอุปกรณ์ผลิตผ้ามัดย้อมและขั้นตอนในการผลิตผ้ามัดย้อม โดยผู้วิจัยมีส่วนร่วมในการเรียนรู้การผลิตผ้ามัดย้อม เพื่อให้ได้ข้อมูลการจัดเตรียมอุปกรณ์การผลิต การออกแบบลวดลายและเทคนิคการลงสี ขั้นตอนการผลิตผ้ามัดย้อมของกลุ่มมอร์แกนให้สอดคล้องกับประเด็นที่ศึกษา 

                    3.4.2.3 การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง โดยการสัมภาษณ์มีการจัดเตรียมข้อมูลไว้สำหรับผู้สัมภาษณ์ จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากผู้รู้โดยตรง ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยกำหนดประเด็นในการจัดเก็บข้อมูล เกี่ยวกับความเป็นมาของการผลิตผ้ามัดย้อม ให้เป็นสินค้าประจำตำบลของชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

 ปัญหาและอุปสรรคการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต และแนวทางการพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างจะสัมภาษณ์ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ดำเนินโครงการจัดประชุมส่งเสริมอาชีพผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติของชุมชนชาวเลมอร์แกลนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

                  3.4.2.4 การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไม่มีการจัดเตรียมคำถาม หรือโครงสร้างคำถามไว้  แต่คณะวิจัยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลังจากมีการสรุปผลการสัมภาษณ์จากแบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้าง เป็นการเก็บประเด็นข้อมูลสำคัญที่ตกหล่น และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่คณะวิจัยเห็นว่าจะช่วยเติมเต็มให้ผลงานวิจัยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

   3.5  วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล

           ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้นำข้อมูลจากการสำรวจ การสังเกต และการสัมภาษณ์ ตลอดจนการศึกษาบริบททั่วไปของหมู่บ้านมาวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหา โดยใช้กรอบแนวคิดวิจัยที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการพัฒนาผ้ามัดย้อมให้เป็นสินค้าประจำชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงประเด็นและชัดเจน จัดเนื้อหาตามหมวดหมู่ของเนื้อหาอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลที่รวบรวมโดยมีการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆให้เป็นเรื่องเดียวกันมาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันตามประเด็นต่างๆที่ต้องศึกษาดังนี้ หลังจากนั้นจัดพิมพ์และทำเป็นรูปเล่มเอกสารงานวิจัยตามรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตขอบเขตของการวิจัย

4. ผลการศึกษา

การศึกษาวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ผู้วิจัยได้รายงานผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์และเครื่องมือเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้

            4.1 ความเป็นมาของการผลิตผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

      บ้านหินลูกเดียวเดิมเป็นชาวเลมอเกล็น ซึ่งมีวิถีชีวิตดำรงอยู่แบบชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากประสบภัยสินามิทางจังหวัดภูเก็ตจึงจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ชาวเลมอเกล็นกลุ่มเล็กๆ ได้มาอยู่อาศัยในพื้นที่ด้านเหนือในพื้นที่เขตตำบลท่าฉัตรชัย และตั้งชื่อใหม่ว่าหมู่บ้านหินลูกเดียว โดยการดูแลด้านการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมทางชุมชนได้รับการดูแลจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต  การพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจึงได้รับการส่งเสริมด้านอาชีพ เป็นการนำเสนออาชีพใหม่สู่การเรียนรู้ภายใต้ทุนทางธรรมชาติของชุมชน

            กลุ่มผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติชุมชนบ้านหินลูกเดียวเกิดจากการก่อตั้ง โดยอาจารย์ลักขณา  เฉลิมขวัญเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกศน. ในตำบลไม้ขาว โดยมีชาวบ้านในชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียวไปศึกษาที่โรงเรียนกศน. อาจารย์ลักขณา เฉลิมขวัญ  จึงได้สอบถามถึงความสนใจของชาวบ้านเกี่ยวกับอยากให้ช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพในด้านใดบ้าง ทั้งเรื่องการส่งเสริมพัฒนาอาชีพประมง และการพัฒนาอาชีพกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ส่วนใหญ่สมาชิกกลุ่มเป็นผู้หญิง จึงสนใจเรื่องผ้ามัดย้อม จึงได้เริ่มมีการจัดทำโครงการสอนทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2560  (รุ่งทิพย์ จิสา : ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อม, สัมภาษณ์ : 2561)

ภาพที่ 1 สัมภาษณ์ตัวแทนชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว

            เมื่อเริ่มดำเนินโครงการผ้ามัดย้อม ทาง กศน. จึงได้ติดต่อปราชญ์ชุมชนจากบ้านคอเอน เพราะปราชญ์ชุมชนบ้านคอเอนนั้นมีประสบการณ์ในการผลิตผ้าบาติกฝีมือดี ช่วงหลังปราชญ์ชุมชนได้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับผ้าบาติกและผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ  โดยปราชญ์ชุมชนให้ความเห็นว่า “ในอดีตกลุ่มชุมชนบ้านคอเอนจะมีการผลิตผ้าบาติกจากสารเคมีอยู่  ซึ่งทำมานานแล้วประมาณ 30 กว่าปี แต่ว่าหลัง ๆ พวกสีเคมีมักมีผลต่อสุขภาพของเรา และต่อสิ่งแวดล้อม เลยสนใจเรื่องสีธรรมชาติ เพราะไปออกงานบ่อย ๆ แล้วเห็นกลุ่มอื่น ๆ เขาได้ทำเรื่องสีธรรมชาติ เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจก็ลองมาทำดู ประมาณสัก 2-3ปี ที่เริ่มมาสนใจเรื่องพวกนี้ แต่ด้วยว่าเรายังขาดประสบการณ์ ขาดผู้รู้ ก็ถือว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฎมีอาจารย์ ที่เชี่ยวชาญเรื่อง   สีธรรมชาติงาน  ซึ่งงานผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติอาจจะดูเป็นงานใหม่ในพื้นที่อันดามัน  แต่เป็นผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับการส่งเสริมให้เป็นอาชีพชุมชน  แต่คงต้องค่อยๆ เรียนรู้  ส่งเสริมและเริ่มลองทำดู ในเบื้องต้นเราก็ลองทำสีในท้องถิ่น เช่น ใบไม้ ดอกไม้ ต้นโกงกาง แต่ลักษณะสีมันจะไม่นิ่ง ไม่ติดทน มันก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาสนใจงานพวกนี้ มันก็จะเหมาะกับกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งกลุ่มพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจับจ่าย เช่น นักท่องเที่ยว หรือไม่ก็ตลาดระดับกลางขึ้นบน (นายมาร์ดี เครือยศ. ปราชญ์ชุมชนบ้านคอเอน. สัมภาษณ์ : 2561)

            เมื่อได้ศึกษาเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ปรึกษาผู้รู้แล้วจึงได้นำความความรู้เรื่องสีที่ได้ศึกษาและได้ทำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนบ้านหินลูกเดียว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนบ้านหินลูกเดียว ซึ่งชุมชนแห่งนี้ส่วนน้อยที่ได้รับการศึกษา ไม่มีรายได้ที่มั่นคง จึงได้จัดทำเป็นผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้วัสดุในชุมชน เช่น เปลือกหอย กะลามะพร้าว ขมิ้น โคลน โกงกาง แสม และโปร่งแดง นำมาทำสีธรรมชาติสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับชุมชน (มาดี  เครือยศ :ปราชญ์ชุมชน)

  ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการย้อมแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของส่วนประกอบ ส่วนที่นำมาเป็นสีย้อม โดยตัวทำปฏิกิริยาใน   การมอร์แดนซ์ในกระบวนการย้อม ได้แก่

  1. 1. น้ำด่าง ได้จากการนำเปลือกหอยมาเผาให้ไหม้กรอบ แล้วนำมาตำให้เป็นผง ใช้กระชอนกรองให้เป็นผง

ละเอียดมาผสมให้ละลายกับน้ำประมาณ 10 - 15 ลิตร ใน ภาชนะ เช่น ถังน้ำ หรือ แกลลอน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ประมาณ 1 - 2 วัน หลังจากนั้นค่อย ๆ กรองเอาน้ำที่ใส ๆ ที่ได้  เป็นต้น

ภาพประกอบที่ 2 การเผาเปลือกหอยทะเล       ภาพประกอบที่ 3 ตำเปลือกหอยทะเลที่เผาแล้วให้เป็นผงละเอียด

                        2. น้ำสารส้ม ได้จากการนำสารส้มที่เป็นก้อนมาแกว่งให้ละลายกับน้ำ แล้วกรองหรือตักเอาน้ำใช้เลยก็ได้ น้ำสารส้มจะใส และไม่มีกลิ่น

                        3. น้ำปูนแดง ได้จากการนำปูนแดงเคี้ยวหมากขนาดเท่าหัวแม่มือ มาละลายกับน้ำ 1 ถัง (ประมาณ 15 - 20 ลิตร) ทิ้งไว้ให้ ตกตะกอนรินเอาเฉพาะบ้าที่ใสๆ เท่านั้น น้าปูนใสที่ก็จะใส และไม่มีกลิ่น

                        4. น้ำสนิม ได้จากการนำเศษเหล็ก ตะปู หรือ สังกะสีที่เป็นสนิม นาลงไปแช่น้า ทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนหมั่น ตรวจดูและเติมน้าให้เต็มเสมอ เพราะเมื่อเรานำไปตั้งกลางแดด น้ำจะระเหยกลายเป็นไอ เราจึงต้องเติมน้ำอยู่เสมอ เมื่อจะใช้ให้ กรองเอาเฉพาะน้ำที่แช่เหล็กระวังเศษเหล็กจะผสมมากับน้ำ เพราะ อาจจะเกิดอันตรายได้ น้าสนิมมีสีขุ่น มีกลิ่นค่อนข้าง เหม็น ปริมาณใช้น่าสนิมครึ่งขวดลิตร ต่อน้ำ 1 ถัง (ประมาณ 15 – 20 ลิตร)

            สีธรรมชาติที่ได้จากวัสดุในท้องถิ่นชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว

  1. 1.  สีเทาได้จากโคลน โดยทำให้เป็นผงก่อนนำไปใช้ วิธีทำคือ ตั้งไฟประมาณ 100 องศาเซลเซียส นำขี้โคลนสะอาดใส่

ถังปี๊ป ใส่น้ำทะเลให้โคลนจมประมาณ 1 นิ้ว ต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นเอามาตากแดด 3-4 แดด แล้วนำโคลนที่ตากแดดมาตำให้เป็นผง

            ภาพประกอบที่ 4 โคลนทะเลธรรมชาติ                        ภาพประกอบที่ 5 โคลนแห้งและบดละเอียดแล้ว

  1. 2. สีดำได้จากกะลามะพร้าว โดยทำให้เป็นผงก่อนนำไปใช้ วิธีทำคือ นำกะลามะพร้าวมาเผาให้เป็นถ่าน และมาตำให้เป็นผง นำกระชอนมากรองให้เป็นผงละเอียด

               ภาพประกอบที่  6 นำกะลาที่เผาแล้วมาตำให้เป็นผง       ภาพประกอบที่ 7 กะลามะพร้าวผง

           

สีเหลืองได้จากขมิ้น  โดยวิธีการทำ คือ นำขมิ้นสดมาตากจนแห้งสนิทประมาน 2-3 แดด แล้วนำมาบดให้ละเอียด

            ภาพประกอบที่ 8 ขมิ้นตากแห้ง                                  ภาพประกอบที่ 9 ผงขมิ้น

สีส้มได้จากแสม  โดยการปอกเอาเปลือกไม้แสม นำเปลือกไม้แสมมาตากให้แห้ง แล้วนำมาเปลือกต้มกับน้ำ แล้วกรองเอาเปลือกไม้ออก

ภาพประกอบที่ 10 เปลือกแสมตากแห้ง                        ภาพประกอบที่ 11 สีส้มจากเปลือกแสม

สีน้ำตาลออกส้มได้จากโกงกาง

                        โดยการปอกเอาเปลือกไม้โกงกาง นำเปลือกไม้มาตากให้แห้ง และนำมาแช่ในน้ำ 3 วัน หลังจากนั้นนำน้ำที่ได้มาต้มให้เดือด

ภาพประกอบที่ 12  เปลือกโกงกางตากแห้ง    ภาพประกอบที่ 13 สีน้ำตากลอกส้มจากเปลือกโกงกาง

            การย้อมสีจากสีที่ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาตินับเป็นภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดกันมาแต่อดีต แม้ว่ากระบวนการย้อมจะยุ่งยาก สีที่ย้อมได้ซีดจางง่าย ไม่คงทนต่อแสงและการซัก แต่ความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีธรรมชาติกลับเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ ทำให้ผู้สวมใส่ไม่เกิดอาการแพ้และของเสียที่เกิดขึ้นไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

  4.2 ปัญหาและอุปสรรคการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบว่า

                        4.2.1  ปัญหา

                        วัตถุดิบที่ค่อนข้างจะหายาก บางพื้นที่ที่มีความต้องการที่จะผลิตผ้ามัดย้อมธรรมชาติมาก แต่ก็ขาดวัตถุดิบที่จะผลิตในจำนวนมากได้ เช่น สีเด่นของพื้นที่คือสีธรรมชาติจากเปลือกแสม แต่ปัจจุบันต้นแสมค่อนข้างหายาก อยู่ในป่าลึก ส่วนที่อยู่ใกล้ๆ จะเป็นใบโกงกาง แต่ใบโกงกางให้สีค่อนข้างอ่อน มีการยึดติดสีค่อนข้างน้อย กลุ่มผู้ผลิต และชุมชนในพื้นที่แถบ    อันดามันยังขาดองค์รู้ในการพัฒนาสีธรรมชาติให้โดดเด่น  ยังไม่มีสถาบันที่จะให้ความรู้เรื่องสีธรรมชาติโดยตรง กระบวนการผลิตค่อนข้างละเอียด มีขั้นตอนเยอะ ใช้เวลานานต่างกับการผลิตผ้าจากสีเคมี การมัดย้อมเรื่องสีธรรมชาติจึงนดูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเทคนิคเฉพาะที่จะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เรื่องของความคงทนของสีธรรมชาติ  ยังไม่นิ่ง ไม่ติดทนนาน สีไม่เด่นชัด เวลาซักอาจจะทำให้สีหลุดออกมาแล้วทำให้ผ้าดูไม่สวยงาม สำหรับปัญหาในการจะประกอบธุรกิจผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ  ถ้าชุมชนจะต่อยอดเป็นอาชีพหลักค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้การมีส่วนร่วมและความสามัคคีในการผลิต  บางทีสมาชิกในกลุ่มว่างไม่ค่อยตรงกัน  สำหรับผู้ประกอบการใหม่อาจจะทำได้  แต่การจะเป็นผู้ประกอบการด้านนี้  ผู้ประกอบการจะต้องรักในงานนี้  เป็นผู้ที่ชื่นชอบในหัตถกรรม ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ถ้าเกิดว่าไม่ชอบหรือไม่ใส่ใจจริง ๆ ก็จะยากในการพัฒนา การพัฒนางานมัดย้อมสีธรรมชาติในชุมชนจึงจะต้องมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดขึ้นได้จริง

4.2.2 อุปสรรค 

                        คนที่เข้าใจเรื่องสีธรรมชาติตรงนี้บางพื้นที่เขตอันดามันมีน้อยมาก การผลิตสีธรรมชาติจะต้องมีสีที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจ  บางสีในพื้นที่ไม่มี  ชุมชนจะต้องอาศัยวัสดุสีธรรมชาติจากที่อื่น  และบางทีจะต้องรอสีธรรมชาติจากผัก ผลไม้ ซึ่งจะมีเป็นฤดูกาล  สำหรับการทำงานด้านการส่งเสริมการตลาดยังถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสินค้าใหม่  เดิมจังหวัดภูเก็ตจะเน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกที่มีสีฉูดฉาด จึงเน้นไปส่งเสริมด้านสีเคมีสังเคราะห์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

  4.3 แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

                        ผ้ามัดย้อมก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งการพัฒนาก็คิดว่าน่าจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ในเรื่องของการพัฒนาสี การพัฒนาลวดลายเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ ของพื้นที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นวัตถุดิบหรืออัตลักษณ์นั้นเกิดจากตัวโครงสร้างของท้องถิ่นเป็นหลักซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนา ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงานที่ตำบลท่าฉัตรไชย ซึ่งตำบลท่าฉัตรไชยเคยวางแผนที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชนในเขตตำบล  ในแผนอนาคตมองว่าอาจจะมีการเชิญกลุ่มชาวเลให้นำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติไปจัดจำหน่ายสินค้าแถวด่าน หรือประตูเมืองทางเข้าจังหวัดภูเก็ต เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ  น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจในผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมในชุมชนชาวแลบ้านหินลูกเดียว และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะเดิมมัดย้อมจากสีธรรมชาติโดยตรงยังไม่มีใครรู้จักมากนัก   สำหรับผ้ามัดย้อมในจังหวัดภูเก็ตเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น  มีการพัฒนาในรูปแบบของการทำลวดลายใหม่ก็คือลายสายแร่  มีการพัฒนาโดยการรวมกลุ่มชาวบ้านก็เพิ่งจะเริ่มอันนี้ก็ต้องมีเรื่องราว ในการที่จะผูกเรื่องในการสร้างงาน ซึ่งของที่ระลึกหรือของฝากจะต้องมีอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นความเป็นชุมชน ฉะนั้นมัดย้อมเองโดยชุมชนหินลูกเดียวก็จะมีโครงสร้างที่จะตอบรับอยู่ในเรื่องตัวของวัตถุดิบและก็ในเรื่องของอัตลักษณ์ซึ่งตรงนี้หินลูกเดียวเองมีอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชนความเป็นพื้นที่ที่อยู่ชายฝั่งซึ่งมีวัตถุดิบบางตัวที่จะเอามาทำเป็นวัตถุดิบในการย้อมได้เพราะนั้นก็จะเป็นโอกาสดีของท้องถิ่นถ้าหากว่ามีการสนับสนุนส่งเสริมต่อเนื่องจากภาครัฐและองค์กรชุมชนที่มีงบประมาณเพื่อที่จะเข้ามาพัฒนาก็คิดว่างานมัดย้อมก็คล้ายๆ งานอาชีพอื่นที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง และก็มีองค์ความรู้เรื่องการตลาดและก็เรื่องของการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อันนี้ก็จะเป็นช่องทางใหม่ๆในการพัฒนาตัวสินค้าท้องถิ่นอีกอย่างก็คือตอนนี้ภาครัฐก็จะมีโครงการนวัตวิถีก็จะเป็นโครงการหนึ่งที่ภาครัฐเองก็นำมาพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เป็นรายได้และเกิดรายได้เสริมในชุมชน”(มาดี  เครือยศ:ปราชญ์ชุมชน)

            “น่าจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องลวดลาย  และกระบวนการพัฒนาสีจากธรรมชาติที่ดีขึ้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัย ควรจะหาจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์นั้นอาจจะเป็นการใส่เรื่องราวของชุมชนเรา ให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เช่นเรื่องราวเกี่ยวกับท้องทะเล เกี่ยวกับวิถีชุมชนชาวเล เพื่อให้รู้ว่ามาจากชุมชนเราเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ลูกค้าสนใจและกลับมาซื้อของเราอีกการพัฒนาผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติอยากให้ภาครัฐและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมเกี่ยวกับอาชีพนี้อย่างจริงจังเอให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริมมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น” (ดวงจิต ปราบสมุทร : ประธานชุมชน)

            “ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติประเภท เสื้อ กระเป๋า กระโปรง กางเกง ชุดสำเร็จ เสื้อยืด เสื้อแฟชั่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอซื้อเป็นของฝาก ราคาเป็นที่จับต้องได้ เป็นศิลปะสีสันที่สวยงาม มีความแปลกตา ใส่แล้วเบาสบาย เอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นแตกต่างไม่ซ้ำใคร ราคาที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมเริ่มต้นตั้งแต่ 100-300บาท” (ผู้บริโภค. สัมภาษณ์ : 2562 )

ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติเลือกซื้อได้จาก  สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดนัด ถนนคนเดิน แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ร้านค้าออนไลน์ งานสินค้า OTOP กลุ่มผ้ามัดย้อม แหล่งขายผลิตภัณฑ์ OTOP หมู่บ้านคีรีวงศ์ จ.นครศรีธรรมราช ภาคเหนือ และห้างสรรพสินค้า กระบวนการในการจัดการสินค้า การบริการควรมีการจัดโปรโมชั่น มีส่วนลดถ้าหากซื้อในปริมาณมากหรือมีของแถม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อผลิตภัณฑ์นั้นอีกครั้งสถานที่จัดจำหน่ายปัจจุบันผ้ามัดย้อมสามารถหาซื้อได้ง่าย และสะดวก ไม่ว่าจะทางร้านค้าออนไลน์ เพจในเฟชบุ๊ค Instagram แหล่งขายสินค้า OTOP เป็นต้นโดยรวมแล้วผู้บริโภคพึงพอใจในระดับนึงกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม สีสันสันที่สวยงามจากธรรมชาติโดยเฉพาะสีคราม แต่ก็ควรมีการออกบูธขายสินค้า และมีวิทยากรมาอธิบายกระบวนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการทำ หรือให้ผู้บริโภคได้ทำลายผ้ามัดย้อมขึ้นเอง เพื่อเป็นความมรู้ให้แก่ผู้บริโภค เป็นต้น

            สำหรับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับผู้บริโภค

            “ในด้านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ควรจัดทำผลิตภัณฑ์เป็นเสื้อ กระเป๋า และผ้าพันคอ  ราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นราคาทั่วไปตามท้องตลาด 100 – 300 บาท ดูตามเนื้อผ้ากับผลงานของสินค้า เป็นราคาที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ และสมกับคุณค่าที่จะได้รับ การจัดจำหน่ายหรือช่องทางการจัดจำหน่ายเช่นร้านค้าออนไลน์ ร้านค้าใกล้ชุมชน ถนนคนเดิน หรือจุดเช็คอิน สถานที่ท่องเที่ยวแถวสะพานสารสินหรือสนามบิน  การส่งเสริมการขายมีหลายวิธีอาจจะเป็นการประชาสัมพันธ์และการทำโบว์ชัวร์การออกบูธตามงานต่างๆ  สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาลูกค้า  เช่น สิ  ควรจะมีสีสันที่สวยงงาม รูปร่าง แพคเกจ ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่น่าสนใจแก่ ผู้บริโภค  เช่นลายหินลูกเดียว ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของชุมชน” ในด้านกระบวนการในการจัดการตลาด ด้านการบริการ ที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ หากลูกค้าซื้อในปริมาณมากก็จะมีของแถม หรือให้ส่วนลด หากเป็นการสั่งซื้ออนไลน์อาจจะให้บริการส่งฟรี      

ช่องทางการจัดจำหน่าย

ภาพประกอบที่ 14 เพจผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

5. วิจารณ์และสรุปผล

        5.1 การออกแบบลวดลายผ้ามัดย้อมของกลุ่มผ้ามัดย้อมชุมชนบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ยังไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นพอสมควร ผลิตภัณฑ์ยังไม่ลงตัว ยังไม่เป็นที่ต้องการในท้องตลาดและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ต้องมุ่งเน้นในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่น่าสนใจ สอดคล้องกับงานวิจัยของ (ชนาธินาถ ไชยภู. 2556 :  4 ) การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ่ายมัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกสะตอ กรณีศึกษากลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวงศ์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาวิเคราะห์กระบวนการมัด ย้อมผ้าฝ่ายด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกสะตอ ในประเด็น รูปแบบผลิตภัณฑ์เทคนิคและวัสดุที่ใช้ใน การผลิต จากนั้นนำผลที่ได้มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าฝ่ายมัดย้อมสีธรรมชาติประเภท กระเป๋า จากนั้นสร้างแบบประเมินความพึงพอใจที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถเป็นแนวทาง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายมัดย้อมใน รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมแก่การเป็นของที่ระลึกและเป็นองค์ความรู้ด้านการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ จากเปลือกเปลือกสะตอ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และการ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็นองค์ความรู้ด้านการมัดย้อมและการออกแบบกระเป๋าผ้าต่อไป ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน และ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าฝ่ายมัดย้อมสีธรรมชาติ และสามารถเป็นแนวทางในการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ ชุมชน

        5.2 ปัญหาและอุปสรรคของกลุ่มความคงทนของสีอาจจะไม่นิ่ง ไม่ติดทนนาน สีไม่เด่นชัด เวลาซักอาจจะทำให้สีหลุดออกมาแล้วทำให้ผ้าดูไม่สวยงาม ระยะเวลาในการจัดเก็บสีธรรมชาติ เป็นการสกัดสีธรรมชาติสดๆ มีระยะเวลาค่อนข้างสั้น สอดคล้องกับงานวิจัยของ (ผ่องศรี รอดโพธิ์ทอง. 2551:  1) ได้วิจัยเรื่อง การศึกษาวิธีการย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยเปลือกต้นโปร่ง  ผลการวิเคราะห์ ผ้าฝ้ายที่ไม่แช่และแช่น้ำถั่วเหลืองย้อมด้วยสีจากเปลือกต้นโปร่งแดง โดยใช้สารช่วยติดต่างชนิดกัน พบว่า ผ้าฝ้ายที่ไม่แช่น้ำถั่วเหลืองที่ไม่ใช้และใช้สารช่วยติด สีที่ย้อมได้จะมีสีน้ำตาลออกเหลือง สีค่อนข้างสว่าง ส่วนผ้าฝ้ายที่แช่น้ำถั่วเหลืองที่ไม่ใช้และสารช่วยติด สีที่ย้อมได้จะมีสีน้ำตาลแดงออกคล้ำ สีผ้าเข้มกว่าผ้าที่ไม่แช่น้ำถั่วเหลือง เนื่องมาจากการปรับสภาพผ้าฝ้ายโดยการแช่ผ้าฝ้ายด้วยน้ำถั่วเหลืองซึ่งเป็นการเพิ่มโปรตีนให้กับเส้นใย ทำให้ผ้าฝ้ายติดสีดีขึ้น

  5.2.3 แนวทางในการพัฒนาของกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์ดูสวยขึ้น สร้างเอกลักษณ์มีเรื่องราวลวดลายบนผลิตภัณฑ์ ทำสินค้าให้เป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการในท้องตลาด การจัดทำเป็นกระเป๋า เสื้อ ผ้าพันคอ สอดคล้องกับงานวิจัยของ (ภัทรานิษฐ์ สิทธินพพันธ์ และคณะ. 2557:  81) ได้วิจัยเรื่อง การพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้ามัดย้อมด้วยการย้อมจากสีธรรมชาติ พัฒนากระบวนการย้อมสีผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อ ออกแบบและพัฒนาลวดลายการมัดย้อม เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้ามัดย้อมด้วยการย้อมจากสีธรรมชาติเป็น การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และปลูกจิตสํานึกในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทดลองย้อมสีธรรมชาติจำนวน 5 เฉดสี ได้แก่ สีแดงจากครั่ง สีเขียวจากใบหูกวาง สีน้ำเงิน จากคราม สีเหลืองส้มจากเมล็ดคําแสด และสีเทาดําจากผลมะเกลือ โดยในการทดลองย้อมจะใช้สารช่วยติดสี (mordant) จาก ธรรมชาติ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำปูนใส โคลน และน้ำขี้เถ้า ซึ่งสารช่วยติดสีแต่ละชนิดจะทําให้ได้เฉดของสีออกมาต่าง ๆ กันไป ในการทดสอบสมบัติการย้อมจากการเก็บตัวอย่าง 24 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบด้านความคงทนของสีต่อการชักและความคงทน ของสีต่อเหงื่อ พบว่า ด้านความคงทนของสีต่อการซัก ผ้ามัดย้อมส่วนใหญ่มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงสีในที่มีระดับ 4.0 ขึ้นไป กล่าวคือ เมื่อทดสอบความคงทนของสีต่อการซักแล้วสีไม่เปลี่ยน ได้แก่ กลุ่มสีน้าเงินจากคราม กลุ่มสีเทาดํา จากผลมะเกลือ มอร์แดนซ์ด้วยโคลน กลุ่มสีแดงจากครั่ง มอร์แดนซ์ด้วยน้ำปูน ผ้ามัดย้อมส่วนใหญ่มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงสี ในที่มีระดับ 3.0 ขึ้นไป กล่าวคือเมื่อทดสอบความ คงทนของสีต่อการซักแล้วสีเปลี่ยนเล็กน้อย ได้แก่ กลุ่มสีเขียวจากใบหูกวาง คือ ย้อมใบหูกวางไม่ใช้สารช่วยติดสี ย้อมใบหูกวางมอร์แดนซ์ด้วยโคลน และย้อมใบหูกวางมอร์แดนซ์ด้วยน้ำขี้เถ้า สำหรับการผลิตสีธรรชาติ และการย้อมสีธรรมชาติจะมีการเลือกใช้ตัวประสานสีที่มีความเหมาะสมกับสีธรรมชาตินั้นๆ เพื่อให้สีดูสวย สดใส  คงทน 

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

            1. ควรมีการศึกษาพัฒนาสีธรรมชาติให้มีความหลากหลาย  และมีการพัฒนาในเชิงนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น การทำสีผงไว้ใช้ในช่วงขาดแคลน

            2. ควรมีการศึกษาการผลิตผ้ามัดย้อมในกลุ่มชาเลอื่น ๆ  ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อันดามัน เพื่อนำผลการวิจัยมาเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของการพัฒนา

6. กิตติกรรมประกาศ

            คณะผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย   ราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โครงการปั้นฝันเดอะบัณฑิตที่สนับสนุนโดย ทปอ. มูลนิธิรากแก้ว  มูลนิธิปิดทองหลังพระ  ช่อง Now 26 ทำให้เกิดโครงการดีๆ ในการส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว ซึ่งส่งผลให้เกิดงานวิจัยต่อเนื่องในการดำเนินงาน และขอกราบขอบพระคุณมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่เปิดโอกาสให้คณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้

7. อ้างอิง

ชนาธินาถ ไชยภู. (2556) การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ่ายมัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกสะตอ กรณีศึกษากลุ่มย้อมสี

  ธรรมชาติบ้านคีรีวงศ์ อําเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช.ปริญญานิพนธ์: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ :

  กรุงเทพฯ.

ผ่องศรี รอดโพธิ์ทอง. (2551) การศึกษาวิธีการย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยเปลือกต้นโปร่ง. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี

  พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง : กรุงเทพฯ.

ภัทรานิษฐ์ สิทธินพพันธ์ และคณะ. (2557) การพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้ามัดย้อมด้วยการย้อมจากสีธรรมชาติ

              สาขาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ. กรุงเทพฯ

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. (2561) รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 

  โครงการมัดสีเติมฝันสร้างสรรค์ชุมชน.  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต : ภูเก็ต.

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่. (2556) การยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการตลาดเชิงรุก.

              เชียงใหม่ : สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต.(2559). วิถีชีวิตชาวเลชุมชนบ้านหินลูกเดียว จังหวัดภูเก็ต.  เอกสารเผยแพร่ลำดับที่ 9/2559

            กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

Tohrib aleekasem. (2556)  สีสันผ้าจากธรรมชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 จาก

                http://tohmeenoil.blogspot.com/p/blog-page.html

หมายเลขบันทึก: 671919เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2019 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2019 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท