ชีวิตที่พอเพียง 3550. ชีวิตที่เต็มไปด้วยโอกาสสร้างสรรค์



วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมกลุ่มสามพราน ที่มีการนำเสนอเรื่องการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน    ซึ่งผมฟังแล้วเกิดความคิดตามชื่อบันทึกนี้

ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของโรงพยาบาลชุมชนในช่วงเวลา ๔๐ ปีแล้ว    เห็นชัดเจนว่ามีพัฒนาการมาไกลมาก    ไม่ใช่แค่เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยเท่านั้น    ตรงตามเป้าหมายลึกๆ ของทีมผลักดัน สามท่าน คือ อ. หมอประเวศ วะสี   นพ. อมร นนทสุต  และ นพ. ดำรง บุญยืน (ผู้ล่วงลับ) ที่ต้องการใช้บุคลากรสุขภาพที่ไปทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นกลไกพัฒนาชนบท   

อ. หมอประเวศเล่าว่า การเอาแพทย์ไปทำงานในชนบท เท่ากับเอาแพทย์ไปอยู่กับฐานทางปัญญา คือความเป็นจริงในแผ่นดินไทย    คนมีปัญญาและความดี เมื่อไปอยู่ที่ไหน ก็จะเรียนรู้ และหาทางสร้างสรรค์   

มองง่ายๆ การกระจายโรงพยาบาล  เท่ากับเป็นการกระจายแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข    เป็นกลไกสำคัญของการกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ   

แต่กระจายเฉยๆ ไม่พอ  ต้องมีการเรียนรู้และสร้างสรรค์ด้วย

เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว เกิดการพัฒนาครั้งใหญ่ของ รพช.   เกิดการริเริ่มระบบ DHS (District Health System)   ตามมาด้วย DHML (District Health Management Learning)    จนรัฐบาลที่แล้วออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (๑)    เปลี่ยน DHS ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่เป็นทางการ เป็น พชอ. (คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ) ที่เป็นทางการ   

วันที่ ๑๓ กันยายน ผมได้ฟัง พญ. ดวงดาว ศรียากูล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจปฐมภูมิ รพ. เพชรบูรณ์ เล่าเรื่อง integrated people-centered primary care system และ value-based health care    มีการริเริ่มใหม่ๆ ใน รพช. หลายแห่ง    คลินิกหมอครอบครัวหลายแห่ง    ได้ฟัง พญ. สมพิศ จำปาเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอู่ทอง (สุพรรณบุรี)  และประธานชมรม รพช. เล่าการทำงานเพื่อสร้างโรงพยาบาล    สู่เครือข่ายสุขภาพอำเภออู่ทอง ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง   

เรื่องฮือฮาด้านการระดมทุน ที่นำมาเสนอคือ ขุนหาญโมเดล ที่โรงพยาบาลขุนหาญ จ. ศรีสะเกษ ที่ พญ. รัชดาพร เป็นผู้อำนวยการ   ใช้พลัง พชอ. ขุนหาญ ระดมทุนจากภายในอำเภอเอง  ของจังหวัดที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ    เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์และพัฒนาระบบบริการ    ตั้งเป้าไว้ ๔๐ ล้านบาท  ได้เกิน ๔๐ ล้านภายใน ๑๐ เดือน    สะท้อนให้เห็นพลังเครือข่ายของการทำงานเพื่อชุมชนที่ประชาชนศรัทธา   

ผศ. ดร. นพ. ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล  ไปร่วมประชุมด้วย เพื่อหาทางร่วมมือทำงานทางวิชาการ

นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร พี่ใหญ่ที่ทำงานใน รพช. มาตลอดชีวิตการทำงาน  จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๖๒ นี้    ได้กล่าวแรงบันดาลใจและความฝัน กระตุ้นรุ่นน้องให้มุ่งมั่นต่อ 

ทำให้ที่ประชุมกลุ่มสามพราน ที่วันนี้มีคนหนุ่มสาวมาประชุมกันคับคั่งกว่าครั้งก่อนๆ    อบอวลไปด้วยโอกาสทำงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม    โดยทำกันเป็นเครือข่าย INNE  

วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๖๒    


หมายเลขบันทึก: 671694เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2019 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2019 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัจจุบันมองเห็นคุณหมอที่มีจิตเมตตา ทำเพื่อประชาชนมากขึ้นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท