#สยามยุคใหม่ในสมัย ร.5#


     อาจารย์วิษณุ  เครืองาม  ได้เขียน"บทส่งท้าย"ไว้ในหนังสือ "ชีวิตของประเทศ เล่ม2"  ความตอนหนึ่งว่า
  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  บ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การเลิกทาส การเลิกไพร่ การยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้าภายหลังการทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  และเปลี่ยนธรรมเนียมมาเป็นการตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารแทน  การยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี สมุหนายก สมุหพระกลาโหมที่มีมานับร้อยๆปี ภายหลังการถึงพิราลัยของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฯ  แล้วเปลี่ยนเป็นการตั้งกระทรวงและมีเสนาบดีว่าการ มีปลัดทูลฉลองเป็นผู้ช่วยราชการ การรวมอำนาจที่เป็นเสมือนการดึงสายป่านสาวเอาอำนาจที่เคยเปรียบว่าอยู่สุดสายป่าน ไม่ว่าจะหัวเมืองหรือจากขุนนางใหญ่น้อย จนเข้ามาอยู่ในมือคือส่วนกลางได้ โดยที่หัวบ้านหัวเมืองไม่แยกแตกสลายออกไป สยามได้ชื่อว่าเป็น"รัฐ"ตามความหมายสากลในคราวนั้นเอง
   ต่อมาพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนิน เยือนยุโรป มีการส่งพระราชโอรสไปศึกษาในต่างประเทศ มีสตรีชั้นสมเด็จพระนางเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดังที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฯ เคยเป็นรีเยนต์เมื่อต้นแผ่นดิน  มีโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร และมีโรงเรียนฝึกข้าราชการ โรงเรียนสอนนายร้อยทหารและนายร้อยตำรวจ โรงเรียนกฎหมาย มีมหาวิทยาลัยสอนวิชาที่มนุษย์จะพึงเรียนรู้ รวมทั้งสถานศึกษาของพระภิกษุทั้ง 2 นิกาย มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย หมอฝรั่งเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง  มีการเดินรถไฟ ไปรษณีย์ โทรศัพท์ มีวิทยุ ต่อไปยังจะมีการเดินเรือเดินสมุทร มีอากาศยาน และมีสะพานที่เปิดปิดได้เชื่อมฝั่งกรุงเทพฯกับธนบุรี

หมายเลขบันทึก: 671656เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2019 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2019 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท