ประเพณีบุญกฐิน


           เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด ได้ร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ณ วัดสิงห์ทอง(บ้านหนองแซง) ตำบลโพนงาม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นครปฐม สำหรับประเพณีการทำบุญทอดกฐินนั้นกล่าวได้ว่าเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติเป็นประจำทุกปีภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว โดยกล่าวกันว่าผู้ที่ได้ทำบุญทอดกฐินนั้นจะได้รับอานิสงส์มากมายเพราะกฐินเป็นพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้าผืนใหม่ตามกาลที่เหมาะสม เป็นพุทธานุญาตพิเศษในเรื่องการรับผ้าของภิกษุในพุทธศาสนา เพราะปกติแล้วพระบรมพุทธานุญาตในการจัดหาผ้าของพระภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับและใช้ผ้าใหม่ ให้ใช้ผ้าเก่าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว หรือผ้าห่อศพ เรียกว่า“ผ้าบังสุกุล” แต่เมื่อมีกรณีที่จําเป็นดังเรื่องภิกษุจากปาไฐยรัฐที่เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระศาสดา ด้วยระยะทางที่ไกลจึงต้องพักจําพรรษาในป่าตลอดฤดูฝนระหว่างทาง เมื่อออกพรรษาก็รีบเดินทางไม่สามารถหาผ้าบังสุกุลปกติได้ ทําให้จีวรเก่าและขาด เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทรงเห็น จึงเห็นควรต้องอนุญาตพิเศษ ว่าหลังออกพรรษาภายใน 1 เดือน ให้พระภิกษุรับผ้าผืนใหม่ที่ทายกถวายได้ และเรียกว่า “ผ้ากฐิน”(วิ.มหา (ภาษาไทย) 5/95/193) 

              ในสังคมไทยประเพณีการทอดกฐินคงเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏและชี้ชัดที่สุดของการทอดกฐินในประเทศไทยคือศิลาจารึกสมัยสุโขทัย กล่าวว่ามีการทําบุญต่างๆ ในช่วงเข้าพรรษา และมีการทอดกฐินหลังออกพรรษาในปัจจุบันนี้ การทอดกฐินได้เปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อหา วัตถุประสงค์และรูปแบบ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการปรับและเปลี่ยนแปลงเนื้อหา และรูปแบบไปมากในสังคมไทย กล่าวคือ 1. ด้านเนื้อหา การทอดกฐินไม่ใช่เป็นการถวายผ้าให้พระภิกษุเพียงอย่างเดียวแต่เป็นถวายปัจจัย 4 หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมกับพระภิกษุ และมิใช่เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายผ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อการใดการหนึ่ง เช่น การก่อสร้างถาวรวัตถุ เป็นการรวมพลังของสังคมหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่ต้องรองบประมาณช่วยเหลือจากแหล่งทุนใด ๆ แต่อาศัยประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงความไว้วางใจระหว่างกันของชุมชน พระสงฆ์ สร้างสรรค์ขึ้นมา 2. ด้านรูปแบบ การทอดกฐินได้เปลี่ยนรูปแบบไปตามการให้ความหมายและวัตถุประสงค์ แม้การทอดจะมีพระบรมพุทธานุญาตเป็นการเฉพาะว่าต้องสําเร็จอย่างไร ไม่ได้จําแนกรูปแบบหลายแบบ ไม่มีกฐินราษฎร์ กฐินหลวง มหากฐิน จุลกฐิน แต่เมื่อได้รับการปรับแต่งตามบริบทชุมชน ทําให้เกิดก็มีรูปแบบการทอดกฐินหลายลักษณะ (สุชาติ พิมพ์พันธ์. (2557).รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาการทอดพระกฐินพระราชทาน วัดมะรุม ตําบลพลสงคราม อําเภอโนสูง จังหวัดนครราชสีมา,มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา : 56) 

                อย่างไรก็ตามประเพณีกฐินนี้ มีแนวโน้มไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เป็นไปตามหลักพระวินัยทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพุทธานุญาตไว้ว่า “ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงไปก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” ในปัจจุบันนี้งานกฐินกลายเป็นงานบุญประเพณีทั่วไปของสังคม โดยเฉพาะที่ทำกันในยุคสมัยปัจจุบันนี้จากที่เป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงบางแง่บางอย่างไปก็ยังมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ คือ บุคคลของสังคม แต่ประเพณีการทอดกฐิน รูปแบบการทอดกฐินก็ยังรักษาไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธอยู่ ดังนั้นคุณค่าในด้านต่าง ๆ จึงเป็นความคิด ความเชื่อของบุคคล ที่ได้พิจารณาตัดสินและประเมินค่าสภาพของสิ่งของ หรือ ประเพณีอื่นมีประโยชน์แก่ตนและสังคมมากน้อยเพียงใด หากแต่ความคิด ความเชื่อ ที่แอบแฝงอยู่ในสิ่งนั้น หรือ พฤติกรรมสังคมนั้น ๆ ต่างหากที่จะนำไปสู่การแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพฤติกรรมสังคมที่กำหนด และเมื่อพฤติกรรมของมนุษย์มีความถี่มากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมที่จะแสดงคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมนุษย์มองเห็นคุณค่าหรือพฤติกรรมของสังคมสิ่งเหล่านั้นหรือพฤติกรรมเหล่านั้นก็จะกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมได้ในที่สุด และพฤติกรรมที่เราจะสามารถนำมาวัดให้ความสำคัญในคุณค่าในที่สุด (ศิรินทร มุขสาร.รูปแบบการจัดงานทอดกฐินที่พึงประสงค์ในพุทธศตวรรษที่ 26.วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 57 ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560) : 56-57)

หมายเลขบันทึก: 671240เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2019 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2019 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท