อิทธิพลของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตต่อสังคมไทย



อิทธิพลหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโตที่มีต่อสังคมไทย                                  

                  อิทธิพลหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่มีต่อพุทธศาสนิกชนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นศิษยานุศิษย์ของท่านและชาวพุทธทั่วไป มีในหลายด้านโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่สืบทอดมาจากผู้ให้กำเนิดนิกายคือวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ ๔ ขณะผนวชเป็นพระภิกษุ) และหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บูรพาจารย์ของพระสงฆ์สายธรรมยุตในภาคอีสานทั้งหมด และการปฏิบัติตนตามแบบอย่างพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ที่เน้นการดำรงตนอย่างสมถะ การปฏิบัติตนเพื่อขูดเกลากิเลส และการสงเคราะห์ประชาชนด้วยธรรมที่ถูกต้องทำให้พระสงฆ์ในภาคอีสานและภาคเหนือ ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด ด้วยการปลุกกระแสแห่งการปฏิบัติธรรมของท่าน และส่งผลให้ชาวพุทธในสังคมไทยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมและการดำเนินชีวิตออย่างพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้เห็นอิทธิพลของท่านที่มีต่อพระสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และคนในสังคมไทย ผู้วิจัยจึงขอนำเสนอบทวิเคราะห์อิทธิพลของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตในด้านการปฏิบัติธรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการดำเนินชีวิตของชาวพุทธดังต่อไปนี้                                                           

          

๑.อิทธิพลด้านการปฏิบัติธรรม                                                                             

                 อิทธิพลด้านการปฏิบัติธรรม หมายถึง พลังแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติธรรมตามแนวทางการเจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างเข้มงวดในกลุ่มศิษยานุศิษย์ ซึ่งเกิดจากการที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเป็นผู้บุกเบิก เป็นแรงบันดาลใจ เป็นสักขีพยาน และเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรม กลุ่มของพระสงฆ์ที่เป็นศิษยานุศิษย์ของท่านมีทั้งที่เข้ามาแสดงตนเป็นศิษย์ท่านโดยตรง และพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ต่อจากอาจารย์ของตนอีกทอดหนึ่ง วัตรปฏิบัติ ความสำเร็จในการบรรลุธรรม และคำสอนของท่านมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่กระตุ้นความสนใจ ความเข้มงวดในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เพราะเห็นอานิสงค์ของการบวชในพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในปัจจุบัน โดยการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้นไปจากจิตสันดานของตนได้ ท่านจะเน้นหนักในกลุ่มของศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์ให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากกว่าฆราวาส เพราะสภาวะและเป้าหมายการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ดังที่หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส กล่าวไว้ว่า                   

                 “ท่านอยากให้พวกเรานี้มั่นคง ท่านถือว่า พระองค์หนึ่ง ถ้าจิตมั่นคงในจริยธรรมจริง ๆ แล้วมีความเชื่อมั่นในศีลธรรมจริง ๆ สามารถเผยแผ่พระศาสนาแก่ลูกแก่หลานแก่ปวงชนได้เป็นล้านเป็นแสน ถ้าพระเณรของเราไม่มีธรรม ไม่มีวินัยแล้วไปสั่งสอนคนอื่นก็ไม่มีประโยชน์ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเน้นหนักเรื่องพระเรื่องเจ้า  เรื่องญาติเรื่องโยมท่านไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่หรอก พวกญาติโยมนั้นจะเป็นหญิงเป็นชายก็ตาม เขาได้เพียงศีล ๕ ก็บุญหัวเขาแล้ว เพราะเขามีภาระมาก ถ้าเสียสละรักษาศีล ๕ ตลอดชีวิตนี้ ถือว่าเป็นกุศลของเขามหันต์แล้ว”                                                                                              

                จากหลักการนี้ทำให้เห็นว่าธรรมปฏิบัติและหลักการสอนของท่านที่มีต่อศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์ และฆราวาสนั้นแตกต่างกัน เพราะพระสงฆ์นอกจากจะปฏิบัติตนเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตนแล้ว ยังต้องเน้นให้บรรดาศิษย์ของท่านประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ของตน เพื่อป้องกันมิให้การติเตียนที่จะเกิดตามมาในภายหลัง หรืออาจจะเป็นเหตุแห่งความลังเลสงสัย ความไม่มั่นใจในครูอาจารย์ของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุแห่งความวิบัติทั้งในส่วนตนและส่วนรวมได้อย่างมากมาย เพราะพระอาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญ เป็นบุคคลที่มีบทบาทต่อการปฏิบัติของศิษย์ อาจจะนำพาศิษย์ไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ดังที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม กล่าวไว้ว่า                                             

                “พระอาจารย์มั่นจะให้โอวาทเสมอว่า การเป็นอาจารย์คนนั้นสำคัญมากจึงควรต้องระมัดระวังตน อาจารย์ผิดเพียงคนเดียวอาจทำให้คนอื่น ๆ ผิดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก และในทำนองเดียวกัน ถ้าอาจารย์ทำถูกต้องเพียงคนเดียว ก็จะสามารถพาดำเนินให้คนอื่นปฏิบัติถูกปฏิบัติชอบตามไปได้โดยไม่มีประมาณด้วยเช่นกัน”                                                                                                                           

                 เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติตนหรือปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สิ่งที่มีอิทธิพลต่อศิษย์มากที่สุดคือการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์ ด้วยการปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย การปฏิบัติธรรมทั้งสมถะและวิปัสสนาภาวนาอย่างสม่ำเสมอ การปลีกวิเวกด้วยการจาริกแสวงหาที่สงบสงัด ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ไม่ยึดติดในลาภสักการะ การเอาใจใส่ต่อการเทศนา การแนะนำ การสั่งสอน ตลอดจนการเข้มงวดต่อการปฏิบัติธรรมของศิษย์ ซึ่งหลักการปฏิบัติตนเหล่านี้ เรียกได้ว่า เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ประจำในตัวท่าน ทำให้ท่านได้รับการยอมรับจากศิษย์และมีอิทธิพลต่อศิษย์ทั้งหลาย จึงสามารถเป็นคุณธรรมเบื้องต้น ๕ ประการ                  

                   ๑.ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างสม่ำเสมอ                                                              

                   ๒. ปฏิปทาในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ที่มุ่งอรรถมุ่งธรรม (สาระสำคัญ)เป็นหลัก ไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือพิธีกรรมแต่อย่างใด  

                   ๓.การสั่งสอนที่ตรงกับจริต ตรงกับอัธยาศัย หรือตรงกับปัญหาที่ศิษย์กำลังเผชิญอยู่                     

                  ๔.ความแตกฉานในปริยัติและปฏิบัติ ทำให้การสอน การอธิบายธรรมของท่านเป็นไปอย่างละเอียดลึกซึ้ง

                  ๕.ความสงบสำรวมในอินทรีย์และจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา                                                    

                 คุณธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้มีผลทำให้ศิษยานุศิษย์ของท่าน ทั้งมหานิกายและธรรมยุต มีวัตรปฏิบัติที่สอดคล้องกัน คือ                                                                                                        

                ๑.เป็นผู้ปฏิบัติรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด                                                                    

                ๒.การปฏิบัติธุดงควัตร เช่น การบิณฑบาตเป็นวัตร การฉันในบาตรเป็นวัตร การฉันหนเดียวเป็นวัตร การอยู่ป่าเป็นวัตร การจาริกแสวงวิเวกในป่า เป็นต้น                                                                   

                ๓.การทำวินัยกรรมตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เช่น การลงอุโบสถฟังพระปาติโมกข์ทุกวันเพ็ญกึ่งเดือนและสิ้นเดือน การตัดเย็บย้อมจีวรสบงใช้เอง การใช้ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง)เป็นต้น

                ๔.การทำวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำวัตรเช้า-ค่ำ การปัดกวาดเสนาสนะที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาความสะอาดบริเวณวัดอย่างสม่ำเสมอและพร้อมเพียง

                 ๕.การเจริญภาวนา (นั่งสมาธิ) เดินจงกรม อยู่ในที่สงบสงัด ไม่คลุกคลีกับญาติโยม การสำรวมระมัดระวังในทุกอิริยาบถ                                                                                                 

           หลักการปฏิบัติที่ศิษย์ของหลวงปู่มั่นถืออย่างเคร่งครัดและเป็นอย่างเดียวกันนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่เป็นสายหลวงปู่มั่นไม่ว่าจะเป็นธรรมยุตหรือมหานิกายได้รับการยอมรับ ได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดียิ่ง เพราะความมีจริยาวัตรที่ดีงามน่าเลื่อมใสและความมีศรัทธาในหลวงปู่มั่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ การปฏิบัติธรรมในทรรศนะของหลวงปู่มั่นนั้น ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนิกายแต่อย่างใด เพราะเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน เห็นได้จากคำพูดที่ท่านได้กล่าวกับหลวงพ่อชา สุภัทโทที่ถวายตัวเป็นศิษย์รุ่นแรกของท่าน ซึ่งตามปกติของศิษย์ทั้งหลายไม่ว่ามาจากนิกายใด จะต้องญัตติ (สวดญัตติเปลี่ยนนิกาย) เป็นนิกายธรรมยุตเช่นเดียวกันกับท่านเพื่อให้มีสังวาสเสมอกันว่า                               

           “การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้วก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องญัตติเข้าธรรมยุติกนิกายตามที่นิยมกัน อีกประการหนึ่ง ทางมหานิกายก็จำเป็นต้องมีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นเดียวกัน”

            การกล่าวเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ท่านไม่ยึดติดกับความแตกต่างระหว่างนิกาย ท่านมีจิตใจที่กว้างขวาง ไม่ยึดติดในรูปแบบและพิธีการ แต่ท่านมุ่งสาระที่จะได้รับจาการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นประการสำคัญ และยังชี้ให้เห็นว่าในขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เป็นมหานิกาย ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง นอกจากการเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามศาสนพิธีในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามปกติเท่านั้น ไม่มีพระสงฆ์รูปใดที่สนใจในด้านวิปัสสนาธุระจนเชี่ยวชาญในระดับที่สามารถเป็นผู้สอนวิปัสสนากรรมฐานได้ จนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำในการบำเพ็ญธุระด้านการปฏิบัติในท้องถิ่นเลย โดยเฉพาะในภาคอีสาน เมื่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตได้เคลื่อนกองทัพธรรมโดยจาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความวิเวก และเพื่อเผยแผ่หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องของพระสงฆ์ในสายปฏิบัติจนท่านกลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพระภิกษุสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทำให้มีพระสงฆ์ทั้งหลายได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านจำนวนมาก และพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งหลายก็ได้กลายเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้นำในการปฏิบัติธรรมและสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ดำรงตนอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างดีในท้องถิ่นของตน ซึ่งพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์รูปสำคัญของท่านทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น                                             สรุปว่าอิทธิพลด้านการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีผลทำให้พระสงฆ์ในภาคอีสานและภาคเหนือได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านเป็นจำนวนมาก ท่านได้ปลุกกระแสแห่งความสนใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในกลุ่มพระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ทำให้พระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านได้เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังตามแบบอย่างของท่าน ได้จาริกแสวงหาที่วิเวกในการปฏิบัติธรรม ได้เผยแผ่หลักการปฏิบัติของท่าน และไปตั้งสำนักสงฆ์หรือวัดกระจายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ โดยเฉพาะมีพระสงฆ์ในมหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน คือหลวงพ่อชา สุภัทโท ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระสงฆ์จากมหานิกายที่ได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ท่าน และต่อมาได้กลายเป็นพระมหาเถระที่มีศิษยานุศิษย์มากที่สุดในประเทศไทย และเป็นลุกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศมากที่สุดรูปหนึ่งในบรรดาศิษย์ของท่าน                                                                                                   

                   ความสำเร็จในด้านการปฏิบัติธรรมที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวท่านเอง และความศรัทธาเชื่อมั่นต่อท่านของกลุ่มศิษย์ ทำให้ศิษย์แต่ละรูปยึดถือหลักการปฏิบัติปฏิปทาและหลักคำสอนที่ท่านได้วางไว้และได้ขยายผลไปยังศิษย์ของตนอีกทอดหนึ่ง ทำให้พระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตในประเทศไทยทั้งหมดให้ความเคารพนับถือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะเป็นบูรพาจารย์และในฐานะเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ความเคารพนับถือในลักษณะนี้ปรากฏได้อย่างชัดเจนในวัดของฝ่ายธรรมยุตไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางและภูมิภาค จะพบเห็นรูปถ่ายของท่านตั้งอยู่ในพระอุโบสถ ในวิหาร หรือสถานที่สำคัญของวัดสำหรับสักการะบูชาของพระภิกษุสามเณรในวัดนั้น ๆ ควบคู่ไปกับพระพุทธรูปที่สำคัญของวัด ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ทั้งหลายยกย่องท่านว่า เป็นพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโดยไม่ต้องสงสัย ท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในก่อนสมัยกึ่งพุทธกาลคือก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ และท่านได้เป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาศิษย์ได้เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด เพื่อบรรลุมรรคผลในปัจจุบันชาติ และเน้นการดำเนินชีวิตอย่างพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล โดยไม่ตกเป็นทาสของกิเลสอาสวะทั้งหลายและไม่ไหลไปตามกระแสของโลกที่มีความไม่แน่นอน                                                                              

             

๒.อิทธิพลด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา                                                                            

               อิทธิพลด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หมายถึง ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเผยแผ่ การสั่งสอน หรือการถ่ายทอดพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นองค์ประกอบที่สำคัญชื่อเสียงของท่านเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ โดยเฉพาะในกลุ่มของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต และเป็นเหตุให้มีพระสงฆ์เข้ามาถวายตัว เป็นศิษย์ของท่านเป็นจำนวนมาก เพราะความตั้งใจจริงในการทำหน้าที่ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเผยแผ่หลักการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องให้พระสงฆ์ในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างพระสงฆ์สมัยพุทธกาล

              การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตต่อศิษย์นั้น ท่านมีความต้องการหรือมีเป้าหมายสูงสุดคือให้พระสงฆ์ทุกรูปตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายสามารถบรรลุความเป็นพระอริยบุคคลจนถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดเป้าหมายเพียงแค่ดำรงตนอยู่ในศีลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องให้พยายามบำเพ็ญในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาให้บริบูรณ์ด้วย ดังความที่พระญาณวิริยาจารย์ (วิริยังค์) ได้กล่าวไว้ว่า                                                                                                 

              “หลวงปู่มั่นได้กล่าวไว้ว่า เราต้องการสอนคนให้เข้าถึงอริยสัจธรรม ถึงความเป็นอริยบุคคล มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ำถึงความจริงข้อนี้ให้เป็นหน้าที่ที่ดีที่สุด เพราะถ้าไม่เข้าใจถึงความจริงแห่งความเชื่อนี้แล้ว จะเป็นการกั้นหนทางที่จะเข้าสู่ความจริงเป็นอริยะเสีย เราทุกคนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปรารถนาพระนิพพาน แม้การบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ก็กล่าวกันว่า “นิพฺพานปจฺจโย โหตุ  ขอให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเถิด” แม้ว่าเราจะพึงทราบผู้ใดผู้หนึ่งทรงความเป็นอริยบุคคล เราก็ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าคุณธรรมอันสูงคือความเป็นอริยะนี้เป็นยอดปรารถนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน     องค์ประกอบที่มีผลต่อความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านคือความเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และความเป็นผู้ชำนาญในด้านปริยัติและปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ทำให้ท่านสามารถเผยแผ่หลักการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมที่ถูกต้องได้ด้วยดี เพราะศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือและศรัทธาต่อตัวท่านโดยไม่ต้องสงสัย ทั้งในด้านปฏิปทาส่วนตัวและความรู้ความสามารถในการแสดงธรรมในการอธิบายหลักการปฏิบัติธรรมและการแก้ปัญหาที่เกิดจากใจของศิษย์ได้อย่างสอดคล้องตรงกับความต้องการและปัญหาของศิษย์ที่เผชิญอยู่เพื่อให้เห็นอิทธิพลด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยพิจารณาจากคุณลักษณะที่โดดเด่น ๒ ประการ ดังนี้                                                                                  

๑) ความเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ                                                                          

               จากการศึกษาปฏิปทาของท่านพบว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด การเจริญสมาธิภาวนา สมาทานธุดงควัตรเป็นประจำ และเอาใจใส่ในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงสุด กลายเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งในกลุ่มศิษยานุศิษย์ของท่านเชื่ออย่างสนิทใจว่า ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้สรุปถึงธุดงค์ ๗ ข้อที่หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโตสมาทานปฏิบัติอยู่ประจำจนกลายเป็นนิสัย ได้แก่ การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร การบิณฑบาตเป็นประจำ การไม่รับอาหารที่ตามมาส่งทีหลัง การฉันมื้อเดียว การฉันเฉพาะในบาตร การอยู่ป่าเป็นวัตร และการถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร และคุณลักษณะของท่านเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจากศิษย์มายังศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เห็นได้จากพระธรรมเทศนาที่สั่งสอนบรรดาศิษย์อยู่เป็นประจำ เพื่อพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านมีคุณสมบัติสมบูรณ์ทั้งศีลและวัตร มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีมารยาทคือความประพฤติอันดีงามว่า                                                            

                   “ขนบคือแบบอย่างที่พระควรประพฤติในกาล กิจและบุคคล อันนี้เรียกว่าวัตร พระที่เอาใจใส่ไม่นิ่งดูดาย พยายามประพฤติวัตรนั้น ๆ ให้บริบูรณ์ได้ชื่อว่า อาจารสัมปันโน คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมารยาทหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง วัตตสัมปันโน คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร สีลสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถ้าศิษย์เข้ามาขอนิสัยแล้ว ปฏิบัติได้อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านสรรเสริญไว้ในพระธรรมวินัย” 

                    จากพระธรรมเทศนานี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ท่านให้ความสำคัญต่อการประพฤติตนเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศีลคือพระวินัยและวัตรคือความประพฤติที่ดีงาม                   ตามแบบแผนประเพณีของพระสงฆ์ ที่จะต้องเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยและวัตรที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ โดยการย้ำให้บรรดาศิษย์ของท่านดำรงตนเป็นพระสงฆ์ที่ดี ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย และหมั่นฝึกตนเองด้วยการเจริญสมาธิภาวนาและจาริกธุดงค์แสวงหาความวิเวกอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าตนเองเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมสามารถสั่งสอนบรรดาศิษย์ได้อย่างสนิทใจ ได้ผลดีและไม่ต้องวิตกกังวลหรือกลัวการถูกตำหนิจากคนอื่น และแม้แต่ศิษย์เองเมื่อได้ฟังคำสอนจากครูอาจารย์แล้วก็ต้องปฏิบัติธรรมนั้นด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงของหลักการนั้นและย่อมเข้าถึงธรรมะนั้นได้โดยมีความศรัทธาคือความเชื่อเป็นฐานรองรับ ดังที่ท่านกล่าวไว้กับพระอาจารย์วัน อุตตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถระ เจ้าอาวาสวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร) ว่า”ธรรมทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้ว ถึงจะมีความเชื่อมั่นก็ตาม หาได้เป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ไม่ ต้องปฏิบัติให้มีความรู้เห็นเป็นไปด้วยตนเองเสียก่อน ถึงจะเป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ได้”

                  จากบทเทศนานี้ ทำให้เห็นว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสงฆ์นักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง โดยเน้นการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ไม่ได้เน้นเพียงแต่ความเชื่อความศรัทธาหรือการฟังคำสอนจากบุคคลอื่นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหลักการนี้ทำให้เห็นว่า การเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเกิดขึ้นด้วยการดำรงมั่นในพระวินัยมีผู้แนะนำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและมีการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ด้วยการสมาทานธุดงควัตรเป็นประจำพร้อมทั้งการบำเพ็ญเพียรทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดกิเลสภายในจิตใจให้หมดไป และเพื่อเป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชน ดังที่หลวงปู่มหาสนั่น จนฺทปชฺโชโต ได้กล่าวถึงปฏิปทาของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโตว่า

                     “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตมีปฏิปทาในการรักษาธรรมวินัย และการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะความเคร่งครัดในพระวินัย หรือศีล ๒๒๗ จะให้ขาดตกบกพร่องหรือด่างพร้อยแม้เพียงน้อยนิดมิได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจะสอนย้ำอยู่เสมอว่า “ถ้าศีลด่างพร้อยแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง การปฏิบัติธรรมจะไม่ขึ้นหรือถึงขึ้นก็งอกงามได้ยาก เพราะศีลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมอย่างสำคัญยิ่ง เช่นเดียวกับเนื้อดินเป็นพื้นที่สำคัญของการเพาะปลูก ถ้าดินดีน้ำพร้อมและอากาศอำนวย พืชพันธ์ก็เจริญงอกงาม แต่ถ้าดินไม่ดีมีลักษณะเค็มจัด หรือเต็มไปด้วยกรดด่างเป็นต้น พืชก็ขึ้นไม่ได้หรือถึงขั้นก็ไม่เจริญงอกงาม ฉันนั้น”

                 การที่หลวงปู่มั่นเน้นความเคร่งครัดในพระวินัยของท่านและบรรดาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์เช่นนี้ ย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างได้ผล เพราะจะทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่พระสงฆ์เดินทางเข้าไปเผยแผ่หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่พบเห็น เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของพระสงฆ์สายป่า ซึ่งสามารถพบเห็นปรากฎการณ์นี้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อพระสงฆ์ในสายของท่านเดินทางไปยังหมู่บ้านใด ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นจะให้การต้อนรับด้วยการถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ อย่างดียิ่ง เพราะเห็นวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสของพระสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากพระสงฆ์ที่อยู่ตามวัดประจำหมู่บ้านที่เป็นพระฝ่ายมหานิกายจนดูเหมือนว่า พระสงฆ์ในสายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตได้รับการอุปถัมภ์จากชาวพุทธทั่วไปมากกว่าพระสงฆ์สังกัดมหานิกาย หรือพระสงฆ์ธรรมยุติทั่วไปที่ไม่ใช่ศิษย์ของท่าน ดังนั้น พระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตเกือบทั้งหมดหรือแม้กระทั่งพระปฏิบัติกรรมฐานในฝ่ายมหานิกาย มักจะนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองในฐานะที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของตนเองกับหลวงปู่มั่นในฐานะที่เป็นบูรพาจารย์ ผู้ได้รับการสักการบูชาในฐานะที่เป็นบูรพาจารย์ ผู้ได้รับการสสักการบูชาในฐานะที่เป็นพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเพราะความเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย สมาทานธุดงควัตรสม่ำเสมอ และปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจนสามารถบรรลุธรรม เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นผู้ที่ควรเคารพสักการะของศิษยานุศิษย์ทั้งพระสงฆ์ และฆราวาสทั่วทั้งประเทศและชาวพุทธในต่างประเทศด้วย                   


๒) ความเป็นผู้ชำนาญในด้านปริยัติและปฏิบัติ                                                                 

                ความเป็นผู้ชำนาญในด้านปริยัติและปฏิบัติ หมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจในหลักการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แล้วสามารถนำมาแสดงนำมาอธิบายให้แก่คนอื่นเข้าใจและกระตุ้นให้อยากปฏิบัติตาม จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัตินั้นตามกำลังความสามารถของตนด้วยตนเอง จนกล่าวได้ว่า ท่านมีปาฏิหาริย์คือมีฤทธิ์ในด้านการสอนปุถุชนคนธรรมดาให้เป็นพระอริยบุคคล ที่เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะมีความสามารถในสอนบรรดาศิษย์ให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติตามอย่างได้ผล ถือว่าเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของท่าน แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นมหาเปรียญ แต่ท่านเป็นผู้ฝักใฝ่ในการแสวงหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ การฟังพระธรรมเทศนา และการอบรมภาควิชาการด้านปริยัติ และปฏิบัติจากเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)  ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และความรู้ด้านปริยัติของท่านจะเน้นความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นประการสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการแต่งหนังสือที่อธิบายแนวการปฏิบัติที่ลึกซึ้ง เรื่อง ขันธะวิมุตติสะมังคีธรรม ที่อธิบายถึงความประชุมพร้อมแห่งธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากขันธ์ทั้งหลาย โดยการตั้งประเด็นคำถามและตอบเป็นข้อ ๆ และการเทศนาหลักการปฏิบัติแก่ศิษย์ทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้ง ทำให้บรรดาศิษย์ที่ฟังพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเข้าใจโดยปราศจากความสงสัยและเป็นที่ชื่นชมของศิษย์มาก ดังที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้กล่าวถึงความประทับใจที่ตนได้มีโอกาสสอบถามหัวข้อธรรมะจากท่านว่า                                                                                                                          

                      “ท่านอาจารย์มั่นท่านสั่งสอนปฏิปทาเครื่องดำเนินแก่บรรดาศิษย์ทั้งภายในภายนอก ละเอียดลออมาก และสั่งสอนอย่างมีเหตุผลซาบซึ้งจับใจในธรรมทุกขั้นและเครื่องดำเนินทุกแขนง ผู้ได้รับการอบรมจากท่านพอสมควร ต้องการจะเร่งความเพียรจำเพาะตน ก็นมัสการกราบลาท่านออกแสวงหาที่วิเวกสงัดเป็นแห่ง ๆ ไปตามนิสัยที่ชอบในสถานที่ใดก็ไปยังสถานที่นั้น ๆ ...” 

                      จากข้อความนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า หลวงปู่มั่นมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถอธิบายหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วยังสามารถกระตุ้น โน้มน้าวหรือเร่งเร้าให้ศิษย์ทั้งหลายมีแรงจูงใจ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อพิสูจน์สัจธรรมนั้นด้วยตนเอง ไม่ได้ให้ยินดีอยู่กับการฟังพระธรรมเทศนาอย่างเดียว โดยไม่ลงมือปฏิบัติ เพราะการสั่งสอนของท่านนั้น นอกจากจะเน้นการอธิบายให้เข้าใจในหลักปฏิบัติตามประเด็นที่ยกขึ้นแสดงแล้ว จะเน้นการปฏิบัติธุดงควัตรหรือการสมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งเพื่อขูดเกลากิเลสออกจากจิตควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านจะเน้นเป็นพิเศษ เพราะการอยู่ในป่า ในภูเขา ถ้ำหรือเงื้อมผาที่เปลี่ยวปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ จะช่วยทำให้จิตสงบเป็นสมาธิเร็วกว่าการอยู่ในที่พลุกพล่านหรือในที่ใกล้ชุมชน                                                                                                  

                    ความเป็นผู้ชำนาญในปริยัติและปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ยังปรากฎอยู่ในเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งท่านแก้ความสงสัยในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ขณะจำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่เขาพระงาม จังหวัดลพบุรีพร้อมกัน เพราะในคืนหนึ่งขณะที่ท่านพิจารณากฎของปฏิจจสมุปบาทอยู่ ได้เกิดความสงสัยขึ้นในประเด็นที่สังขารมีในนามรูปแล้ว เหตุไฉนจึงมีสังขารและวิญญาณเฉพาะต่างหากอีก เมื่อพิจารณามาถึงประเด็นนี้ท่านเกิดความสงสัยไม่สามารถเข้าใจได้จึงยุติการพิจารณา ในวันต่อมาเมื่อหลวงปู่มั่นได้พบกับท่านแล้วได้แจ้งถึงประเด็นที่ท่านสงสัย แล้วได้อธิบายจนท่านเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหลังจากกลับวัดถึงวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้ประกาศยืนยันถึงความสามารถของหลวงปู่มั่นท่ามกลางที่ประชุมของพระภิกษุสามเณรทั้งหลายในวัดว่า                                                                

                   “ท่านอาจารย์มั่นเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้ว จงไปศึกษากับท่านอาจารย์เถิดเธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านอาจารย์มั่น"                                                                                                                   

                    การประกาศรับรองในความสามารถของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ทำให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรผู้ปรารถนาจะศึกษาเรียนรู้หลักการปฏิบัติธรรมและการปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่างมีความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของท่าน และได้เข้ามาปวารณาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน แม้เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เองก็ไว้ใจหลวงปู่มั่นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านได้เดินทางขึ้นไปดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือทั้งหมดในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ได้นำหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในฐานะพระฐานานุกรมของท่านไปด้วย และได้มอบหมายให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ท่านปกครองอบรมให้ความรู้ด้านปริยัติและปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรและเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยอุปนิสัยที่ชอบวิเวก ไม่อยากคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดแล้วแสวงหาความวิเวกด้วยการจาริกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นต่อไป จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ความเป็นผู้ชำนาญในปริยัตินั้น เป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งในการช่วยให้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง เพราะในพระพุทธศาสนานั้น การบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดคือการบรรลุมรรค ผล นิพพานนั้นเป็นสิ่งที่พระสงฆ์สาวกทั้งหลายจะต้องพากเพียรพยายาม แม้อาจจะมีปัญหาอุปสรรคมากน้อยเพียงใดก็ตาม เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว จึงเร่งบำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง และสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทั้งหลายให้เร่งทำความเพียรด้วยตนเองเช่นเดียวกัน              

๓.อิทธิพลต่อพุทธศาสนิกชน                                                                     

          อิทธิพลด้านการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน หมายถึง ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อพุทธศาสนิกชนที่เป็นฆราวาส คือ อุบาสกอุบาสิกาของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต โดยจากการศึกษาปฏิปทาและคำสอนของท่านที่เกี่ยวกับอุบาสกอุบาสิกา พบว่า สิ่งที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการสอนญาติโยมคือการใช้ภาษาง่าย ๆ ในการอธิบายหลักธรรมเพื่อสื่อสารกับผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านทั่วไป และเน้นหนักหลักการดำเนินชีวิตตามหลักบุญกิริยาวัตถุ คือ การทำบุญ ๓ อย่าง ได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติตามความเหมาะสมของแต่ละคน ดังคำกล่าวที่ท่านกล่าวกับญาติโยมที่ติดตามมาดูอาการท่านในช่วงที่กำลังเดินทางไปจังหวัดสกลนครว่า                         

          “พวกญาติโยมพากกันมามาก มาดูพระเฒ่าป่วย ดูหน้าตาสิ เป็นอย่างนี้ละญาติโยมเอ๋ย ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้ สุดท้ายก็คือตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็จงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้วก็แก่เจ็บตาย แต่ก่อนจะตายทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่รักษาก็ให้รักษาเสีย ภาวนายังไม่เจริญก็ให้เจริญให้พอเสีย จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน เท่านี้แหละพูดมากก็เหนื่อย”                                      

          จากหลักธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า นอกจากท่านจะเน้นหลักการดำเนินชีวิตด้วยการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานของชาวพุทธทั่วไปแล้ว ท่านยังได้พยายามสอดแทรกธรรมขั้นสูง คือ การพิจารณาไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะแห่งสังขารทั้งหลายที่เหมือนกันคือ ความเป็นของไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน บังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจของตนเองไม่ได้ แต่ท่านไม่ได้พูดถึงชื่อของธรรมเป็นภาษาบาลีที่อาจจะเข้าใจยากสำหรับชาวบ้านทั่วไป การสื่อสารด้วยภาษาพูดธรรมดาทำให้ชาวบ้านฟังได้และเข้าใจอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยอีกถือว่าเป็นลักษณะเด่นของท่าน เมื่อแสดงธรรมทั้งแก่ชาวบ้านและพระสงฆ์ ดังนั้นเมื่อท่านไปจำพรรษาหรือพักปฏิบัติธรรมอยู่ในสถานที่แห่งใดจึงมีพระสงฆ์และชาวบ้านต่างช่วยกันปรนนิบัติอุปัฏฐากท่านเป็นอย่างดี และท่านก็ไม่ละเลยหน้าที่สำคัญของพระสงฆ์ที่พึงมีต่ออุบาสกอุบาสิกาคือการแสดงธรรม ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ตั้งแต่ธรรมขั้นต้นไปจนขั้นสูงสุด ซึ่งหลวงปู่ฟั่น อาจาโร ได้กล่าวถึงการแสดงธรรมของท่านว่า                               

             “ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ท่านได้แสดงธรรมเทศนาสั่งสอนเริ่มตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล ตลอดถึงการภาวนาว่ามีอานิสงค์มาก แต่การที่ผู้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ฟังธรรม กระทำเจริญกรรมฐานการภาวนาที่ไม่ได้อานิสงค์มากขึ้น เพราะพวกเรายังมีความเห็นผิด มีความนับถือและเชื่อถือผิดจากทางธรรมที่พระพุทธองค์นำพาสาวกประพฤติปฏิบัติมา เช่น ชาวบ้านยังบวงสรวงนับถือบูชาหอทะดาอารักษ์ ภูต ผี ปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ ผีสางนางไม้...โดยเข้าใจว่าของเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาล... จากนั้นพระอาจารย์มั่น ท่านได้กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยคือคุณของพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมและคุณพระสงฆ์ แล้วกราบไหว้บูชาทุกวันทุกเวลา อย่างนี้เราพึ่งได้...เราทำบุญให้ทานการกุศลใด ๆ ย่อมได้ผลอานิสงค์มาก...”                         

             จะเห็นว่า หลักคำสอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา และการนับถือพระรัตนตรัย เป็นหลักการปฏิบัติที่ท่านเน้นให้ชาวบ้านถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการรักษาศีลเป็นสิ่งที่ท่านเน้นเป็นพิเศษเพราะศีลถือว่าเป็นหลักมนุษยธรรมเบื้องต้นแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ดังคำกล่าวสุดท้ายที่ท่านกล่าวกับชาวบ้านหนองผือในวาระสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครว่า 

               “...ให้พากันประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่อาตมาเคยพาประพฤติปฏิบัติ อย่าลืมนะให้พากันรักษาศีลห้า ผู้ใดรักษาศีลได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดเท่านี้แหละ” อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลวงปู่มั่นจะพายามปรับทัศนะของชาวบ้านจากการนับถือภูตผีปีศาจมาเป็นการนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแทน แต่ก็ได้เพียงบางส่วนและมีความเคร่งครัด เฉพาะในสมัยของท่านเท่านั้น เพราะหลังจากที่ท่านมรณภาพจนกระทั่งถึงปัจจุบัน วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านยังคงเกี่ยวพันกับการนับถือพุทธ ดังคำกล่าวของพระครูสุทธธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตวนาราม (วัดป่าหนองผือ) ว่า “การสอนของหลวงปู่มั่น เน้นการปฏิบัติโดยดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ โดยเน้นให้ชาวบ้านเลิกนับถือผีและการบายศรีสู่ขวัญ แต่ปัจจุบันก็มีการเลี้ยงผีภายในหมู่บ้าน อบายมุขเริ่มแพร่กระจายอยู่ในชุมชนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในปัจจุบัน”

                   จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า แม้ว่าอิทธิพลของหลวงปู่มั่นที่มีต่อการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชนจะประสบความสำเร็จในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ท่านเดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภภาคเหนือคือทำให้การดำเนินชีวิตของชาวพุทธเป็นไปตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาดำรงมั่นอยู่ในทาน ศีล และภาวนาเป็นอย่างดี แต่ค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มของชาวพุทธที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ในกลุ่มของชาวพุทธที่ศรัทธาต่อพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตผู้อยู่ใกล้ชิดกับวัดและพระสงฆ์เท่านั้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ว่าจะเป็นในสังคมเมืองและชนบท ยังคงดำเนินชีวิตไปตามวิถีปกติของชาวโลก คือ ไม่ยึดมั่นในทาน ศีล ภาวนาอย่างจริงจัง มีการละเมิดต่อศีล ๕ มีอยู่แพร่หลาย แม้จะมีการสมาทานศีลอยู่เป็นประจำก็เป็นเพียงองค์ประกอบของศาสนพิธีอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผลในการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของชาวพุทธทั่วไปยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะการรักษาศีลและการเจริญภาวนาเพื่อบรรลุ มรรค ผลนิพพานนั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่หลวงปู่มั่นเน้นย้ำมาโดยตลอด เพื่อให้ชาวพุทธจำนวนมากไปกราบสักการะสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับท่าน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร วัดป่าบ้านผือ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนครหรือที่เจดีย์สำคัญ ๆ ของพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านที่มีกระจายอยู่ตามเกือบทั่วประเทศก็ตาม สถานที่เหล่านั้นได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธสำหรับไปเยี่ยมชม บันทึกภาพและอ้อนวอนขอพรจากท่านมากกว่าที่จะเป็นที่บำเพ็ญเพียร เจริญรอยตามแบบอย่างที่ท่านเคยปฏิบัติมาอย่างจริงจัง                                                                                                                    

                  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีฆราวาสเข้ามาปฏิบัติธรรมทั้งวัดที่ท่านเคยอยู่หรือวัดของศิษยานุศิษย์เพิ่มขึ้นกว่าในสมัยที่ท่านยังมีชีวิต แต่มักจะเน้นการเข้าร่วมในด้านพิธีกรรม เช่น การให้ทาน การสมาทานศีล การทำวัตรสวดมนต์ การร่วมงานบูรพาจารย์ เป็นต้น โดยไม่ได้เน้นการปฏิบัติเพื่อขูดเกลากิเลสออกจากจิตและเพื่อให้บรรลุถึงสัจธรรมให้บรรลุถึงอิสรภาพที่แท้จริง แต่ยังยึดติดในครูอาจารย์อย่างเหนียวแน่น ในฐานะที่เป็นบูรพาจารย์ของตน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่โดยทั่วไปในกลุ่มของชาวพุทธนักปฏิบัติธรรมของไทย ทำให้กลุ่มของนักปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็นหลายสาย หลายกลุ่ม เช่น สายพุทโธของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สายยุบหนอ-พองหนอ ของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร สายธรรมกาย (สัมมาอะระหัง) ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น                    

                 สรุปว่า อิทธิพลหรือพลังแห่งความสำเร็จของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่มีต่อสังคมไทย สามารถแบ่งออกได้ ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการปฏิบัติธรรม ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทย ซึ่งในแต่ละด้านมีความสำเร็จ เพราะความเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและความเป็นผู้ชำนาญในด้านปริยัติและการปฏิบัติ ตลอดจนการเทศนาสั่งสอนศิษยานุศิษย์ด้วยความจริงจัง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่หวัง ทำให้ท่านได้รับความสำเร็จในการเผยแผ่หลักการปฏิบัติกรรมฐานในสายของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ จนได้รับการยอมรับว่า เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาของพระสงฆ์สายปฏิบัติทั่วประเทศ แม้ว่าท่านจะเน้นการสอนพระสงฆ์เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ละเลยการสอนฆราวาสเสียทีเดียว โดยท่านได้เน้นการดำเนินชีวิตด้วยการยึดมั่นใน ๓ หลักคือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้ก่อนจะมรณภาพท่านก็เน้นย้ำให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นในทาน ศีล ภาวนานี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต                                                                

หมายเลขบันทึก: 670994เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2019 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2019 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความนี้เป็นบทสรุปการวิเคราะห์ผลการวิจัยในบทที่ 4 ของโครงการวิจัย เรื่อง “พุทธจริยศาสตร์ : หลักการ คำสอนและแนวการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” โดยผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเป็นเวลา 1 ปี จนได้รับอนุมัติปิดโครงการวิจัย เมื่อปี 2561 โดยโครงการวิจัยนี้เกิดจากแรงบันดาลและแรงศรัทธาต่อคำสอนและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระธุดงค์กรรมฐานที่ได้พลิกฟื้นพระพุทธศาสนาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทย เรื่องราวเกี่ยวกับข้อวัตรของพระธุดงค์กรรมฐานที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริททัตโตนั้น เหมือนกับพระพระอริยสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น เพื่อบรรลุพระนิพพานอย่างแท้จริง นี้จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้เขียนทำวิจัยเรื่องนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท