อ่านหนังสือ #ชีวิตของประเทศ# บันทึกเสียงเพื่อคนตาบอด 9


  อาจารย์วิษณุ  เครืองาม  เล่าเรื่องการวางเครื่องเทียบเสวยในสมัยรัชกาลที่ 2 ไว้ในหนังสือ "ชีวิตของประเทศ"  ว่า รัชกาลที่ 2 ทรงใช้เวลาเสวยนาน เพราะทรงพระอักษรไปด้วย  ถ้าเทียบเต็มยศก็เทียบถึง 8 เครื่อง 9 เครื่อง  โดย

     เครื่องที่ 1 เป็นพระกระยาหาร คือข้าว แต่ใช้ข้าวนา ไม่ใช่ข้าวสวน ข้าวไร่  หุงให้เป็นตัวเฉพาะหม้อ ไม่ปะปนกับของคนอื่น พอสุกก็คดลงชามลายทอง ปิดฝารองพานเงิน ปิดตราด้วยขี้ผึ้ง

    เครื่องที่ 2 เป็นเครื่องคาวจัดลงจานเชิงลายทอง ตั้งบนโต๊ะเงินเข้าถุงตีตราเรียกว่าเครื่องต้น มักจะเป็นพวกผักพวกทอดชิ้นเล็กๆ เสวยพอคำ

    เครื่องที่ 3 เป็นเครื่องเคียงเเกง โดยมากเป็นแกงเผ็ด แกงกะทิหมูผัด แกงส้มปลาแห้งกับผลอุลิต ฉู่ฉี่ปลา พะแนง

     เครื่องที่ 4 เป็นเครื่องเคียงแขก จำพวกมัสมั่น ไก่ผัดผงกะหรี่ อาจาด ลุดตี่ หรือไม่ก็สลับกับเครื่องเคียงจีนพวกแฮกึ๊น หูฉลาม ผักกาดเค็ม บาทสกุณา หมูสามชั้นต้มเค็ม

    เครื่องที่ 5 เป็นพวกเครื่องเคียงจิ้ม จำพวกหลน 

น้ำพริกพล่ากุ้ง ไตปลา แสร้งว่าผักจิ้ม กะปิคั่ว

    เครื่องที่ 6 เป็นเกาเหลาไว้ซดน้ำ อย่างพวกรังนก แกงร้อน แกงลูกรอก ไข่ตุ๋น

     เครื่องที่ 7 เป็นเครื่องหวานแห้ง พวกข้าวเหนียวหน้าต่างๆ และขนมหวานพวกทองหยิบ ทองหยอด  จ่ามงกุฎ ช่อม่วง ดอกลำเจียก

    เครื่องที่ 8 เป็นเครื่องหวานน้ำ อย่างบัวลอยไข่หวาน ปลากริมไข่เต่า ซ่าหริ่ม ลอดช่อง

    เครื่องที่ 9 เป็นเครื่องเคียงผลไม้ แต่ต้องปอกแช่อิ่มฤาริ้ว ฤาคว้าน ฤาสลักเสลาด้วย เช่น ผลชิด ลูกตาล มะม่วง มะปราง มะเฟือง เงาะ ลิ้นจี่ต่างฤดู ส้มฉุน ลอยแก้ว จัดลงโถแก้ว อบดอกมะลิ ฤากลีบกระดังงาลนไฟ

    โดยแต่ละเครื่องแยกออกเป็นหลายสำรับ เช่น เครื่องหวานแห้ง เครื่องหวานน้ำ  เวลาเทียบก็วางบนพระสุจหนี่ปูบนโต๊ะเท้าสิงห์  ตั้งขันน้ำทองคำเล็กใช้บ้วนพระโอษฐ์ ถมตะทองขนาดกลางใส่น้ำลอยผิวมะกรูด ไว้ชำระพระหัตถ์ รวมทั้งมีกลักกระแจะโถน้ำปรุงด้วย

     เวลาเทียบก็ค่อยเลื่อนเข้าไปทีละเครื่อง  พระกระยาตั้งคู่กับเครื่องต้น  เชิญเครื่องต้นออกก็เลื่อนเครื่องที่ 3 เครื่องที่ 4 เข้าไปแทนเป็นลำดับ  เสร็จก็เชิญออก แล้วเลื่อนเครื่องใหม่เข้าไปจนครบ

     เดิมเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดปรุงมาปรนนิบัติ เปรี้ยวหวานมันเค็ม ทรงปรุงมาอย่างไร ร.2 ไม่เคยทรงติทรงเติม ถ้าไม่ใช่ก็จะทรงจำได้ว่าไม่ใช่ฝีมือเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  แต่ภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ทรงงอนเรื่องเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เลยไม่ปรุงถวาย ทางพระที่นั่งจึงต้องพึ่งเจ้าคุณเรียม เจ้าคุณข้างในให้ว่ากันไป  บางทีพวกห้องเครื่องหลวงก็แอบมาขอตำราขอเคล็ดที่ห้องเครื่องพระตำหนักแดงของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด

เรื่องการงอนกันนานๆของพระมเหสีบุญรอด กับ ร.2 ช่างเหมือนกับพระมเหสีนาคกับ ร.1 จริงๆ ในบั้นปลายขนาดมีคนมาทูลว่า ร.2 ประชวรหนักก็ยังไม่มาดูดำดูดี จนกระทั่งพระมเหสีนาคมาบังคับจึงยอมไปเยี่ยม แต่เมื่อไปถึง ร.2 ก็ใกล้สวรรคต ไม่รู้ความกระไรแล้ว และเมื่อพระองค์สวรรคตจริงๆ ก็มีคนเห็นมเหสีบุญรอดและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี(คู่กรณี) ไปนั่งร้องไห้และกอดกันที่โคนเสาแห่งหนึ่ง

โอ้หนอ..ช่างเหมือนอิเหนา จินตหรา กับ บุษบาจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 670593เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท