ระบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในระบบงานวิจัยไทย โดย ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร



บรรยายวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

ผมขออนุญาต ท่านอดีตรัฐมนตรี ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นำต้นฉบับปาฐกถาพิเศษของท่าน เรื่อง ระบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในระบบงานวิจัยไทย ในการประชุม  Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  จัดโดย สกสว. และภาคี เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒   มาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในวงกว้างของสังคม    เพราะผมเห็นว่า เป็นปาฐกถาที่ลึกซึ้ง ชี้ให้เห็นมุมมองที่กว้างขวางเชื่อมโยงต่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในระบบงานวิจัยไทย” ผมมีความยินดีที่ได้มาปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบงานวิจยัเพื่อท้องถิ่นในระบบงานวิจัยไทย การประชุม Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในวันนี้ ความสนใจเรื่องท้องถิ่นของไทย ซึ่งในภาพหลักท้องถิ่นหมายถึงชนบท เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีมาแล้ว มีการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทั้งสังคมและกายภาพได้แก่ การอนามัยและสาธารณสุข การศึกษา การปกครอง ระบบชลประทาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม ทศวรรษกว่าผ่านไป มีแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมฉบับที่หนึ่งในปี 2504 เห็นการผนึก (consolidate) อย่างเป็นระบบของโครงสร้างพื้นฐานสังคมกับ โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ ทั้งนี้เน้นโครงสร้างกายภาพในเบื้องต้น เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา คมนาคม และการมีงานทำ    ต่อมาเนื่องจากประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกิดนโยบายส่งเสริมการลงทุน เพื่อทดแทน การนำเข้าและตามมาด้วยการส่งออก   ทั้งนี้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและการมีงานทำ    ให้น้ำหนักแก่การเกิดงานในพื้นที่ที่มีโครงสร้างกายภาพและโครงสร้างสังคมพร้อม    พื้นที่เมืองจึงเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกิดตามมา    เกิดการจ้างงานในเมือง ภายในสิบกว่าปีหลังการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปลายทศวรรษ 2510 เราจึงเห็นเมืองขยายตัว การแออัดของเมือง คุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ต่ำของเมือง การอพยพของกำลังงาน เข้าเมือง หมู่บ้านชนบทถูกทิ้ง คนวัยฉกรรจ์คนมีการศึกษาออกจากชนบทเข้าเมือง หมู่บ้านชนบทเหลือแต่คนแก่ และเด็ก เป็นเชื้อของสงครามอุดมการณ์และสงครามประชาชนในทศวรรษ 2510 ในทศวรรษ 2510 -2520 หนึ่งถึงสองทศวรรษหลังการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทชัดเจนขึ้น แนวคิดการพัฒนาโดยซึมซับจากด้านบนสู่ด้านล่าง(trickling/ trickledown effect) ไม่เกิดขึ้น ความคิดที่เคยเชื่อว่าความมั่งคั่งจะซึมแพร่จากด้านบนสู่เบื้องล่าง จากผู้มีรายได้สูงด้านบน สู่ผู้มีรายได้ต่ำเบื้องล่าง จากเมืองที่มีความมั่งคั่งสู่ชนบทที่ยากจน จึงไม่จริง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นกลายเป็น ปัญหาโครงสร้างต่อมา นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางการศึกษา ทางการเข้าถึงทุน วนเวียนตอกย้ำความ เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างนี้สังคมไทยเห็นความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร จากการพัฒนาที่ขาดการคำนึงถึงความยั่งยืน ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ความขัดแย้งเรื่องการใช้ทรัพยากรยังเกิดต่อเนื่องถึงปัจจุบันและรุนแรงขึ้น การศึกษาทางสังคมวิทยารวมถึงการศึกษาเรื่องชนบทไทยท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่าเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ สองในช่วงทศวรรษ 2500 เมื่อมหาวิทยาลัยไทยมีนักวิชาการด้านสังคมวิทยาเพิ่มขึ้น อาทิเช่น มีการศึกษาทางสังคม วิทยาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจาก นั้นเมื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคช่วงปลายทศวรรษ 2500 มหาวิทยาลัยภูมิภาคได้เริ่มงานศึกษาด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ที่ให้ความสำคัญแก่ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีภาษาถิ่น และชาติพันธุ์ ภายในสิบปีหลังการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศูนย์วิจัยชาวเขา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา มีสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นต้น แม้สถาบันเหล่านี้ไม่ได้วางน้ำหนักการศึกษาวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ แต่เป็นการศึกษาเชิงลึก ด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา แต่สิ่งเหล่านี้คือรากฐานของการสะสมนักวิชาการ ความรู้พื้นฐาน และการวางหัวใจของ นักวิชาการไว้กับโจทย์ชนบท ที่จะทำให้เกิดระบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในสองทศวรรษต่อมา ในส่วนภาครัฐแม้ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาชนบทมาหลายทศวรรษ แต่มีขีดจำกัดที่งานส่วนมากเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดว่าเมื่อเกิดโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การผลิตและการตลาดจะตามมา แต่พบว่าไม่เป็นจริง   ขีดจำกัดของการพัฒนาโดยภาครัฐคือ สั่งการจากด้านบน มีรูปแบบตายตัวและเหมือนกัน (One size fits all) แม้ บริบทและพื้นที่ต่างกัน    

นอกจากภาครัฐ ในทศวรรษ 2510 สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เริ่มบทบาทการพัฒนาชนบท ผ่านโครงการหลวง โครงการพัฒนาตามพระราชดำริตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เราเห็นการพัฒนาชนบทผ่านแนวคิดของ ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้ง first generation CSR activities เช่น งานของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน    ทั้งนี้งานพัฒนาพื้นที่ที่กล่าวมาเหล่านี้เน้นผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการศึกษาวิจัยเชิงระบบเรื่องคน ชุมชน ความรู้ ในคนและชุมชน กลไกหรือกระบวนการทำงานของคนและชุมชน ที่นำมาสู่ผลลัพธ์

20 ปีมาแล้วที่ สกสว.หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  หรือ สกว. เดิม ได้มีการริเริ่มสนับสนุนทุนวิจัย แนวใหม่ ที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” (Community Based Research : CBR) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2541 ได้สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการสนับสนุนงานวิจัย โดยกำหนดให้คนในชุมชน ท้องถิ่น ได้มีส่วนในการทำวิจัย เพื่อนำไปสู่  การสร้างความรู้และนำไปสู่การจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง อย่างเหมาะสม เมื่อทำหลายๆชุมชน ก็จะสั่งสมความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นก่อให้เกิดการ พัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ของการทำงานที่ให้น้ำหนักคน ความรู้ กระบวนการ ระบบนิเวศที่เอื้อ ต่อความสำเร็จ นอกจากผลสำเร็จเท่านั้น เป้าหมายและหลักการของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

 เป้าหมายของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น   เป็นการสร้างเสริมพลังให้คนในท้องถิ่น โดยกระบวนการวิจัยได้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ

1) การเสริมสร้างให้คนในท้องถิ่นได้เกิดการเรียนรู้ ดึงศักยภาพ ภูมิปัญญาและทุนในท้องถิ่นมาใช้ ในการจัดการปัญหาและชีวิตของตนเองได้   เกิดทักษะและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ของสังคมในอนาคต โดยที่ “คน” และ “กลุ่มคน” ที่ผ่านกระบวนการวิจัย เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจ

2) การสร้างความรู้ที่ชุมชนร่วมกันค้นหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ในการค้นหาเหตุแห่งปัญหาและ อุปสรรคในการดำเนินชีวิต การค้นหาทุนความรู้และประสบการณ์จากภายในท้องถิ่น รวมถึงทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี ทุนทรัพยากร และการแสวงหาความรู้จากภายนอกมาผสานเพื่อนำมา วิเคราะห์ และแสวงหาทางเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่ชุมชนจะแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคม     เป็นการผสาน ความรู้และปัญญาเดิมกับความรู้และปัญญาภายนอก ขณะที่งานพัฒนาของรัฐส่วนมากเป็นการใช้ความรู้ และปัญญาภายนอก เป็นสาเหตุของความไม่สำเร็จ ความไม่ยั่งยืน เพราะขาดการมีส่วนร่วม และการเป็น เจ้าของ

3) การสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ทีมวิจัยได้ร่วมกันคิดใคร่ครวญและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุและผล จากข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยเพื่อนำสู่การมาปฏิบัติการ และการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของ ชุมชนท้องถิ่น

 หลักการการวิจัยเพื่อท้องถิ่นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้ความสำคัญกับกระบวนการวิจัย โดยยึด หลักการที่สำคัญ 3 ประการคือ

 1) เรื่องที่ทำวิจัย เป็นเรื่องที่ชุมชนหรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาต้องการ

2) มีคนในชุมชนหรือเจ้าของเรื่อง เข้าร่วมในการทำงานวิจัยอย่างเข้มข้น

3) งานวิจัยนั้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้เป็นรูปธรรมกับผู้เข้าร่วมงานวิจัยและชุมชน

ฐานคิด วิธีวิทยาของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นงานวิจัยที่มีรากฐานวิธีคิด วิธีการวิจัย ที่แตกต่างจากการวิจัยกระแสหลักทั่วไป แนวคิดในการออกแบบและการหาความรู้ของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีความต่างจากวิธีหาความรู้แบบ ดั้งเดิมที่เชื่อว่าความรู้ ความจริงนั้นแยกออกจากวิธีคิดของมนุษย์ วิธีการจึงใช้วิธีการค้นหาความจริง โดย นักวิจัยต้องเป็นกลาง ปราศจากอคติ และเป็นผู้เชี่ยวชาญจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือในการค้นหาความรู้ แต่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีสมมติฐานว่า ความ จริงทางกายภาพอาจแยกจากความคิดมนุษย์ แต่ความรู้มักมองผ่านฐานทางวัฒนธรรม มนุษย์ไม่สามารถ เข้าถึงความเป็นจริงได้ ถ้าปราศจากการพูดคุยในความหมายที่ลุ่มลึกกว่า “dialogue” แต่เป็นการสัมผัสผ่าน ประสาทรับรู้ต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจว่าโลก มนุษย์ และสรรพสิ่ง กระทำอยู่ซึ่งกัน และกัน (interact)    ดังนั้นความรู้เป็นผลิตผลของการปฏิบัติการ ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติ(Know-how) และประสบการณ์   การตีความหมายเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ ที่มีความรู้จากภายในท้องถิ่นและภูมิปัญญา (local and indigenous knowledge) ที่ผลิตสร้างขึ้นภายใต้บริบทของท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ที่เป็นความรู้ ผสมผสานในการอธิบาย และตอบคำถามให้กับการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีโอกาสผลิตสร้างและได้ประโยชน์จากความรู้จากการวิจัยและใช้ ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและมีสิทธิมีเสียงในเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนเอง     ผมเทียบข้อสังเกตดังกล่าวนี้จากมุมมองของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เมื่อก่อนคริสตศตวรรษ 1900 เราเคยเชื่อว่าความจริงทางธรรมชาติแยกจากความรู้สึก (หรือสัมผัสของมนุษย์)   ความจริงเป็นภววิสัย ไม่ใช่อัตวิสัย แต่ปัจจุบันความรู้ทางฟิสิกส์ควอนตัมแสดงว่า การรับรู้ต้องทำผ่านการวัด ซึ่งมีการสัมผัส ระหว่างปรากฏการณ์ทางธรรมชาติกับเรา ซึ่งเป็นตัวผู้วัด และพบว่าผลการวัดซึ่งแสดงสถานะ (state) ของ ธรรมชาติ ขึ้นกับการวัดหรือสัมผัสของมนุษย์ คล้ายกับที่กล่าวมาว่า มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้ถ้าปราศจากการพูดคุยและสร้างความเข้าใจว่าโลกและมนุษย์และสรรพสิ่งกระทำอยู่    ดังนั้นความรู้จึง เป็นผลิตผลของการปฏิบัติการ ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติ (Know-how) และประสบการณ์ ผลการวัดเป็นความจริง (fact)    สิ่งที่ปรากฏหรือสิ่งที่วัดได้(evidence) ไม่ใช่สัจจธรรม (truth)     วิธีการค้นหาความรู้แบบใหม่นี้ทำให้เกิดความสมดุลของอำนาจระหว่างนักวิจัยกับคนในชุมชน เพิ่มความสามารถและทำให้คนในชุมชนสามารถตัดสินชะตาชีวิตในอนาคตของตนได้ ดังนั้นกระบวนการ วิจัยจึงมีความสำคัญเท่าเทียมกับผลการวิจัย ที่สามารถพัฒนาความสามารถให้สมาชิกในชุมชนมีทักษะใน การวิจัยที่จะระบุปัญหาของตนเอง ตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์และตัดสินใจใช้ข้อมูลในการจัดการกับปัญหาของชุมชนเอง  

 ดังนั้นคุณค่าของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงแฝงด้วยคุณค่าอย่างน้อยสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การจัดการสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของตัวเองและชุมชน และอีกด้านหนึ่งเป็นคุณค่าด้านข้อมูลความรู้ที่เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองกับกลไกอำนาจ กลไกทุน กลไกระบบ    กลไกทั้งสามเป็นกลไก ที่ชุมชนเข้าถึงยาก อำนาจในการต่อรองเป็นพลังสำคัญในสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เนื่องจากเป็นการ เปิดพื้นที่ให้ความรู้ที่ชุมชนเป็นผู้สร้างได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความรู้ โดยการนำความรู้ใหม่เข้ามาบูรณาการกับความรู้เดิมของชุมชนที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ และ เป็นการสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงการวิจัยในประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหา ของกลุ่มชุมชน    วิธีวิทยา (methodology) จึงให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ร่วมปฏิบัติการวิจัย (learning through action) จากการสะท้อนประสบการณ์และสถานการณ์จริงของคน ความรู้ที่สร้างขึ้นเป็นความรู้ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ในชีวิต ไม่ต้องนำไปสู่การ Translation อีกรอบ   

ผมอยากเรียกงานวิจัย เพื่อระบบท้องถิ่นนี้ว่า translation-embedded research   ในขณะที่งานวิจัยกระแสหลักตามปรกติยังต้องการ translational research เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ การออกแบบการสนับสนุนการวิจัย    งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยชุมชนเป็นผู้สร้างและผู้ใช้ความรู้กลุ่มเป้าหมายจึง มีความหลากหลายทั้งระดับการศึกษา อายุ เพศ วัย กลุ่มอาชีพ กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาถิ่น ฯ ดังนั้นการ ออกแบบการบริหารจัดการงานวิจัย จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากการวิจัยทั่ว ๆ ไป    การออกแบบงานวิจัยเน้นการเสริมสร้างพลัง (empowerment research) กับผู้เข้าร่วมในกระบวน การวิจัย ผ่านศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือเรียก node และชุดประสานงานที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนและบริหารจัดการงานวิจัย    

ปัจจุบันภายใต้โครงการ ABC มีศูนย์ประสานงาน 40 ศูนย์ พี่เลี้ยง สนับสนุนจำนวน 150 คน ทำงานระดับทั่วประเทศทั้งภาค 4 ภูมิภาค (ข้อมูล เดือน มกราคม 2562) บทบาทของกลไกเหล่านี้ มีหน้าที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ (learning facilitator) เป็นที่ปรึกษา (coach) และเป็นผู้ฝึกอบรม (trainer) สนับสนุนกระบวนการวิจัย หนุนเสริมและติดตามเป็นระยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ทั้งในเชิงกระบวนการวิจัยและในเชิงเนื้อหาให้สามารถดำเนินโครงการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นที่น่ายินดีที่ผลการดำเนินงานมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ชุมชนท้องถิ่น ใช้ความรู้แก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนสู่การพัฒนาใหม่ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายใน ประเทศไทย    ขณะที่รัฐบาลได้มีนโยบายและให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว    ซึ่งกลไกในการพัฒนาประเทศได้มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ ให้เกิด ความรู้และการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงตามความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสามารถผลักดันให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ต้องการกำหนดทิศทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งปรับปรุงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ    ตลอดจนกำกับและติดตามการบริหารจัดการการจัดสรรงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินการ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการวิจัยของประเทศและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)    สกว. ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ เป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) การออกแบบ แผนด้าน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ของประเทศ    ระบบวิจยัประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลง    เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น สนับสนุนการพัฒนาประเทศสู่อนาคตได้ จริง ที่มีกรอบยุทธศาสตร์สี่ยุทธศาสตร์คือ 1. ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

2. ยุทธศาสตร์การสร้างคนและสถาบันความรู้

3. ยุทธศาสตร์การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม   

หน่วยงานในระบบวิจัยจะต้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based Empowerment) เป็นวาระสำคัญของระบบ ววน.     สกสว. มีการดำเนินงานด้านการจัดทำแผนเพื่อชุมชนและ พื้นที่อยู่ในโครงสร้างการดำเนินงานด้านแผน ววน.    หากจะมองเรื่องของ “ระบบงานวิจยัเพื่อท้องถิ่นใน ระบบงานวิจัยไทย”    งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนับเป็นส่วนส าคัญของระบบวิจัยที่จะช่วยพัฒนาด้านความรู้ของ ชุมชนท้องถิ่น แต่ต้องมีการยกระดับการทำงาน ระดับความของความรู้ เพื่อเท่าทันโลกในอนาคตได้ อย่างไร   นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจำเป็นจะต้องนำและปรับความรู้ชุดใหม่ นวัตกรรมยุคใหม่ เข้าร่วมกับ ความรู้ภูมิปัญญาเดิม    ระบบวิจัยแบบใหม่ของประเทศไทยจะต้องทำให้ความรู้ที่ยังแยกส่วนกันนี้เชื่อมต่อถึงกัน เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมมีข้อสังเกตส่วนบุคคลว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านมาส่วนมากมีโจทย์ระดับชุมชนหรือ พื้นที่หรือระดับไมโคร  ทำปัญหาที่เสนอมาจากชุมชน เช่น เรื่องปากท้อง การจัดการทรัพยากร โจทย์ต่อไปอาจเป็นการจัดการในเชิงพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น หรือระดับเมโส(meso) เช่น อำเภอ  พื้นที่ในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด นอกจากเรื่องปาก ท้อง การจัดการทรัพยากร เราควรทำหรือไม่ในเรื่องอื่น เช่น ด้านการเสริมสร้างพลังของพลเมือง (civic empowerment) อาทิเช่น การจัดการศึกษาการเรียนรู้ การฝึกอาชีพ (up-skill, reskill) สำหรับกำลังงานในชุมชน  โดยเฉพาะกำลังงานภาคเกษตรและการประกอบอาชีพอิสระ การจัดการสุขภาวะชุมชนและสังคมสูงวัย การสื่อสารและ ความฉลาดรู้ (literacy) ของคนและชุมชนในยุคดิจิตัล ประเด็นเหล่านี้ผมเห็นว่าแม้มองผ่านๆ อาจเป็นเป็นเรื่องที่ห่าง ตัว หรือเป็นเรื่องนามธรรมกว่าปากท้อง แต่เป็นประเด็นจริงประเด็นซับซ้อนที่คนและชุมชน immerse อยู่ เผชิญอยู่ และจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เราควรสร้างความตื่นตัวให้เพียงพอจากระดับชุมชน ชวนชุมชนคิดหรือไม่ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในวันนี้ จะให้ทุกท่านที่มาร่วม ได้เห็นและยังคงตระหนักถึง ความสำคัญของระบบวิจัยกับการพัฒนาประเทศ และผมขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการสนับสนุน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ และขอบคุณแขกผู้มีเกียรติ ทุกท่านที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้”

๖ ก.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 669635เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2019 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2019 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท