สินไซยังไม่ตาย สินไซเฟสติวัล


วันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปร่วมให้กำลังใจผู้จัดกิจกรรมรวมพลคนรักสินไซ “สินไซเฟสติวัล” ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมืองขอนแก่น จากการชวนของพี่หน่อย สุมาลี สุวรรณกร แต่ในช่วงเช้าผมติดภารกิจโครงการที่เป็นผู้รับผิดชอบเอง เมื่อเสร็จกิจก็รีบขับรถไปหาคนรักสินไซ ที่รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่วัดไชยศรี ทั้งเด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว เยาวชน คนสูงวัย และปราชญ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ “สินไซ”  ความเป็นมา เป็นไป และการดำรงอยู่ในหลากหลายมิติ ไม่เฉพาะเรื่องวรรณกรรมหรือเรื่องเล่า หากแต่สินไซ ได้ทำหน้าที่ในทุกอิริยาบถ ทั้งกิน เดิน นั่ง นอน เล่น กระโจนทะยาน หรือแม้แต่สอนปริศนาธรรม ร่วมกับจัวละครเอกอื่น ๆ และที่สำคัญคือการดำรงอยู่ของสินไซ ในการเป็นหลักยึดใจของชุมชนเพื่อค้ำสังคมอยู่คงอยู่อย่างมั่นคง ในแบบวิถีของสินไซ

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลึกซึ้งเรื่องสินไซนัก แต่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสแบบผิวเผินจากการไปร่วมงานกิจกรรมในวาระโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการไปชมผนังสิมที่แต้มฮูปสินไซไว้เป็นปริศนาธรรมจากวรรณกรรมของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเคยค้นหาเรื่องย่อใน Google มาอ่านอยู่หนหนึ่ง เพื่อให้พอเห็นเค้าลางของสินไซ เมืองเป็งจาน และตัวละครอื่นในเรื่อง

อ.บี ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ และ พี่หน่อย สุมาลี สุวรรณกร พร้อมทีมงาน ได้จัดกิจกรรมรวมพลคนรักสินไซ “สินไซเฟสติวัล” และได้จัดแจงแต่งเติมเรื่องราวของสินไซ เพื่อเป็นกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของ “บวร”  บ้าน วัด โรงเรียน(+มหาวิทยาลัย) ที่ได้นำพาทั้งคนในชุมชนสาวะถี และคนต่างพื้นที่มาเรียนรู้เรื่องราวของสินไซ โดยใช้ลานวัด เป็นลานใจ ผสานให้เกิดลานปัญญาร่วมกันในสินไซเฟสติวัล  แม้จะจัดงานเพียงวันเดียว แต่การตระเตรียมงานก็หลายวัน เพื่อแต่งแต้มเติมต่อลายเส้นของวรรณกรรมสินไซให้เข้มชัดขึ้น แม้สีเส้นฮูปแต้มที่สิมจะจืดจางซีดไปตามกาลก็ตาม

ผมจึงมีโอกาสโฉบไปอย่างผิวเผินให้พอได้เสพสินไซในแบบผม คือการเสพแบบไม่ลึกซึ้ง แต่อิ่มใจจากเรื่องราวที่พบเห็น แม้ในเวลาเพียงชั่วโมง ทั้งการได้พบปราชญ์และกัลยาณมิตรน้อยใหญ่ ได้เข้าไปกราบพระในสิม เดินชมฮูปแต้มแบบเร่งรัด แล้วก็ต้องตัดใจเดินทางต่อไปที่อำเภอเวียงเก่าอีกภารกิจที่วัดถ้ำกวาง

เดินเคียงข้างผู้รู้ "สินไซ" ลมหายใจของสังคม ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์
วัดไชยศรี ดูครึ้กครื้นด้วยกิจกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่พี่หน่อย สุมาลี และ อ.บี ทรงวิทย์ จัดสรรค์ให้เกิดขึ้นกับภาคีเครือข่าย โดยใช้วรรณกรรม "สินไซ" เป็นต้นเค้า เล่าเรื่องราวผ่านมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งอดีตและร่วมสมัย....
เวลามีคนถามผมว่าสินไซคืออะไร? ผมก็จะร้องบท "สินไซเดินดงดั้นป่า ไปตามเอาอากลับเมืองเป็งจาน

ผศ.ชอบ ดีสวนโคกปราชญ์เดินดินถิ่นอีสาน ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมค้ำจุนโลก ผู้คักแนในทางปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรม
ตอน อ.ชอบ เป็นผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มข. ผมเป็นนักศึกษา ได้ปรึกษาท่านว่าจะพาน้องใหม่รุ่น 42 ไหว้ตราสัญลักษณ์ มข. (พระธาตุพนม) จะสวดบทไหนดี ท่านก็กรุณาเขียนให้ในเวลาไม่ถึงห้านาที ก็เป็นบทสวดทั่วไปผนวกเข้ากับ มข. อันมีวิทยา จริยา และปัญญาเป็นที่ตั้ง เลยทำให้ได้เรียนรู้ว่า เวลาจะไหว้พระธาตุพนม จะมีหลักในการไหว้ทั้งหกทิศ
ปุริมายะ ทิสายะ...............

เมื่อสองปราชญ์มาเจอกัน
ผศ.ดร.บัญชา เกียรติจรุงพันธ์ และ ผศ.ชอบ ดีสวนโคก
เป็นภาพในจังหวะที่ท่านสองคนทักทายกันอย่างอบอุ่น ถามทุกข์ สุขกัน ก่อนที่จะปุจฉา วิสัชนา ปรัชญา ศาสนา และแนวคิดเรื่องสินไซ

เมื่อ 3 ปราชญ์ มาเจอกัน "สินไซ" ผู้เดินดง ก็สนุกสนานมากกว่านิทานวรรณกรรม แต่พรั่งพรูด้วยภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา
ผศ.ชอบ ดีสวนโคก ผศ.ดร.บัญชา เกียรติจรุงพันธ์ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพกรรณ์

ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพกรรณ์อดีตผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มข.ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระผู้ยังคงทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของสินไซในทุกแง่มุม แม้แต่ "ปื้้ม" ที่ท่านถืออยู่ ท่านก็ยังเล่าเรื่องราวของ "สินไซ" จากปาฐกถาของผู้นำประเทศ สปป.ลาว เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ที่มีเรื่องราวของสินไซปรากฏอยู่ตั้งแต่ชื่อหนังสือตลอดจน "เนื้อใน"
ตอนท่าน อ.บี เป็นผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มข. ผมก็ได้มีโอกาสช่วยเหลือภารกิจอยู่สม่ำเสมอ ได้เรียนรู้การทำงานเรื่องภาคีเครือข่ายวัฒนธรรม และทุก ๆ ครั้งที่เราพบกัน เรามักจะได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกันเรื่องชุมชน และการจัดการวัฒนธรรมเปรียบเทียบ ในท้องที่ต่าง ๆ
ท่าน อ.บี ทำให้ "สินไซ" ยังคงมีชีวิตอยู่

แม่หน่อย (ของคุณพฤกษ์) นักจัดการ
พี่หน่อย สุมาลี สุวรรณกร ผู้ทำหน้าที่หลายบทบาท ทั้งในฐานะสื่อมวลชน นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ นักวิชาการวัฒนธรรม ที่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดี ๆ ในพื้นที่ขอนแก่นและมหาสารคาม มาอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งผมก็ได้อานิสงส์จากการช่วยงานพี่หน่อยหรือแอบไป "ซอมเบิ่ง" แล้วได้เรียนรู้เรื่องราวของศิลปะ วัฒนธรรม และคววามเป็นไปของชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบท พร้อมทั้งการพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนตามบริบทและความต่างในเชิงพื้นที่ โดยการใช้ "วัด" มา "ฟื้นใจเมือง" เพราะในอดีตนั้น "วัด " ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน พี่หน่อยและทีมงานจึงต้อง "ฟื้นใจเมือง" โดยการใช้วัดเป็นฐานในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ไม่ใช่เรื่องยากอะไรหากจะทำพอฉาบฉวย มาแล้วก็ไป แต่ทีมนี้ไม่ใช่ หากแต่ทำแบบกัดไม่ปล่อย ทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังว่าจะยั่งยืน ดั่งวรรณกรรมเรื่องสินไซ ที่ยังคงทำหน้าที่เป็นหลักใจให้ใครหลาย ๆ คน

กว่าสิบปีที่รู้จักคุณ AUTO
มีไม่กี่ครั้งที่จะมีรูปคู่กัน และรูปนี้ก็เพิ่งเห็นตะกี้ว่าเจ้าคุณอ้วนแอบถ่ายไว้ในกล้อง
ออโต้ ผู้เหมือนแมวโดเรม่อน แต่ตั้งชื่อเฟสบุ๊คว่าโนบิตะ ผู้ที่ทำงานบัญชีแล้วเหมือนมีเวลาว่าง ท่องเที่ยวทั่วไทยไปกับกล้องถ่ายรูป แล้วยังมีเวลาตามติดชีวิต คุณแม่หน่อย สุมาลี ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนและวัฒนธรรม จนทำให้แม่หน่อยชื่นใจและชื้นใจทุกครั้งไป เพราะแม่หน่อยจะมีรูปงาม ๆ นำไปใช้ประโยชน์
คิดถึงตอนเราเป็นเด็ก(วัยรุ่น)ด้วยกัน แล้วเราก็แก่ไปด้วยกันตามเวลาที่ล่วงเลย แต่ก็ดีใจที่ยังมีน้อง ทำหน้าที่ "จิตอาสา" ช่วยภารกิจแม่หน่อยมิขาด ทั้งที่ร้องขอหรือไม่ก็ตาม

เรื่องราวของสินไซ ก็คงงดงามในใจหลาย ๆ คนที่ได้เรียนรู้ แต่เชื่อว่าสำหรับผู้จัดงานอย่าง อ.บี ทรงวิทย์ และพี่หน่อย สุมาลี คงอิ่มใจไม่น้อย แม้จะต้องเหนื่อยอ่อนเพลียกำลังจากการเป็นผู้จัดการงานสร้างสรรค์ชุมชน เพื่อสร้างคนให้สมบูรณ์ โดยมีสินไซเป็นพระเอกตลอดกาล

ณ  มอดินแดง

14 กันยายน 2562 แต้มคำเพิ่ม 25 กันยายน 2562



หมายเลขบันทึก: 669268เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2019 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2019 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท