ชีวิตที่พอเพียง 3518. National Health R2R Forum : Meta R2R to Value Based Healthcare



งาน National Health R2R Forum : Meta R2R to Value Based Healthcare  ปี ๒๕๖๒ ที่โรงแรมพุลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด วันที่ ๓๑ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒    ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เราเรียกการประชุมนี้อย่างง่ายๆ ว่า R2R ประเทศไทย    โดยมีองค์กรเจ้าภาพร่วม ๘ องค์กร    และแน่นอนว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก    และปีนี้จัดแยกจากงานเลี้ยงขอบคุณข้าราชการเกษียณ    จึงทำให้การประชุมปีนี้เน้นคุณภาพของผลงานวิขาการเป็นหลัก    ผู้เข้าร่วม (กว่าพันคน) บอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้งานมีคุณภาพวิชาการสูงกว่าปีก่อนๆ    และกลายเป็นการวางมาตรฐานวิชาการของการประชุมของกระทรวงสาธารณสุขให้สูงขึ้น  

แน่นอนว่า คุณภาพงานเกิดจากการทำงานหลังฉาก ไม่มีคนเห็น    คือคณะทำงานคัดเลือกผลงาน R2R ดีเด่น   สำหรับทำโปสเตอร์ นำมาจัดแสดง และนำเสนอผลงานในห้อง KM    รวมทั้งเจ้าของผลงานไปรับรางวัล (เป็นโล่และประกาศนียบัตร)

รายการชูโรงวันแรก การอภิปรายเรื่อง รู้ทันกัญชา เดินหน้าเพื่อประชาชน    ได้เล่าแล้วในบันทึกวันที่ ๑๐ สิงหาคม 

เช้าวันที่สองของงาน (๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) มีรายการ R2R ตีแตก   หรือ R2R สู่นวัตกรรม    ที่ทีมงานคัดเลือกผลงาน R2R ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ๒ ผลงาน    ให้มานำเสนอ แล้วมีทีมผู้เชี่ยวชาญ ๓ คน มาร่วมกันให้คำแนะนำ     ทีมผู้เชี่ยวชาญนี้ เป็นทีมเดียวกันกับทีมของปีที่แล้ว ()    ที่ให้คำแนะนำแก่คุณปรีชา มโนยศ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผ้าพันศีรษะฉุกเฉินจนปัจจุบันคุณปรีชามีบริษัทของตนเอง   ใช้ผ้า zinc oxide ยกระดับคุณภาพให้สูงยิ่งขึ้น (๒)    

สองผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้มานำเสนอคือ  (๑) Continuous Bladder Irrigate Self Service Alarm  ของ นส. สโรชา เทพรักษ์  พยาบาล โรงพยาบาลศิริราช  (๒) Moist Chamber ป้องกันตาแห้ง ของ นายสุรเดช โพธิ์ศรีชัย  แผนกตา  โรงพยาบาลศิริราช   

ผลงานชิ้นแรก ใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในการล้างกระเพาะปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง    คือเป็นเครื่องช่วยเตือนเมื่อน้ำเกลือที่ใช้ล้างใกล้หมด    เตือนให้เปลี่ยนขวดน้ำเกลือ    ผู้เชี่ยวชาญแนะให้รีบไปจดสิทธิบัตร   และหาทางปรับปรุงเครื่องให้กะทัดรัดขึ้น   รวมจากมีสองชิ้นให้เป็นชิ้นเดียว    เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกว้างขวาง    และใช้ได้ในหลากหลายเป้าหมายการใช้งาน

รายการที่สอง จดสิทธิบัตรแล้ว    และวางจำหน่ายแล้ว ๔ ชิ้น ราคา ๔๐ บาท    คำแนะนำคือต้องพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องเพื่อหนีของเลียนแบบ    เพราะผลิตภัณฑ์นี้ เลียนแบบง่ายมาก  

จะเห็นว่า หากมีการจัดการสนับสนุนที่ดี    โจทย์หน้างาน อาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ที่นอกจากมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้ว   ยังอาจเป็นเส้นทางให้คนหน้างานกลายเป็นผู้ประกอบการได้ด้วย    ดังกรณีคุณปรีชา มโนยศ  

ช่วงบ่ายมีห้องย่อยถึง ๖ ห้อง    ในวันที่ ๑ สิงหาคม ผมไปฟังคุณบดินทร์ วิจารณ์ พูดเรื่อง การเตรียมบุคคลเพื่ออนาคต  ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (disrupted change)    ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อองค์กรคือคน    ท่านเตือนว่าการเตรียมคนโดยใช้ข้อมูลในระดับองค์กรเท่านั้น ไม่พอ    ต้องคำนึงถึง ecosystems   และคำนึงถึงอนาคตด้วย    โดยที่องค์กรต้องเน้นที่ customer experience 

ช่วงเช้าวันสุดท้าย (๒ สิงหาคม) เป็นการเสวนากึ่งนำเสนอโดย ๒ วิทยากร คือ ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  กับคุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ จากบริษัท ซีพีออลล์    โดยมี ดร. ณัฏฐญา พัฒนะวาณิชนันท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  โต้โผใหญ่ของงาน เป็นผู้ดำเนินรายการ   

ศ. นพ. ประสิทธิ์ บอกว่า ผู้บริหาร หรือผู้ใหญ่  มีส่วนส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมจากฐานราก หรือคนหน้างานโดย

  • ฟัง เพื่อสื่อสารการให้เกียรติ (respect)  และให้ความไว้วางใจ (trust)
  • ใช้หลัก 4P Innovation : Product, Process, Profit, Policy
  • Disruptive innovation  ส่วนใหญ่เป็น process innovation
  • Service behavior มาก่อน service mind   ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำพูดที่แหลมคมมาก    ผมตีความว่า พฤติกรรมกำกับและหล่อหลอมความคิด   การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำพฤติกรรมหนึ่งซ้ำๆ    ในที่สุดความคิดจะเปลี่ยน     

คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ บอกว่า การสร้างนวัตกรรม เป็นการต่อชิ้นส่วน    คือมักไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งคิดขึ้นมาเองทั้งหมด    แต่เป็นการเอาไอเดียหลายๆ ไอเดียมาต่อหรือประกอบเข้าด้วยกัน เป็นผลิตภัณฑ์ หรือเป็นกระบวนการ ที่ใหม่สด    การหล่อเลี้ยงหรือส่งเสริม Start-up  และ SME จึงเป็นเครื่องมือหรือ platform ในการส่งเสริมนวัตกรรมให้แก่ประเทศ    ท่านแนะนำโครงการ Thailand Synergy Project ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๘ แล้ว 

เนื่องจากเครื่องบินออกเวลาเที่ยงครึ่ง ผมจึงไม่ได้อยู่ร่วมงานจนจบ    แต่ก็ได้ความรู้สึกดีๆ กลับบ้าน    ว่ากิจกรรม R2R ประเทศไทยน่าจะยั้งไม่อยู่   ที่จะต้องหาทางทำให้เป็นกิจกรรมสำคัญในระบบ ววน. (วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม) ของประเทศ    ที่จะมีส่วนขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย ๔.๐ 

 วิจารณ์ พานิช

๒ ส.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 668048เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2019 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2019 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท