ชีวิตที่พอเพียง 3511. พลังของภาษา



ในการประชุมสภา มช. เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มีวาระเสนอแผนปฏิบัติงาน ระยะ ๔ ปี ของผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศ. ดร. สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์   สะกิดให้ผมเขียนบันทึกนี้    โดยที่ในเอกสารระบุปัญหานักศึกษาไม่สนใจฝึกฝนทักษะด้านภาษา     ผมจึงมองว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างความตระหนักให้แก่นักศึกษาว่า    ความคล่องแคล่วด้านภาษา (ทั้งภาษาไทยและภาษาที่สองและที่สาม) มีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างไร

หนังสือ Through the Language Glass : Why the World Looks Different in Other Languages (2010) (2)  เขียนโดย Guy Deutscher   บอกว่า ภาษาที่เราพูด ทั้งสะท้อน และมีผลต่อมุมมองของเราต่อโลก    ภาษาที่ต่างกันทำให้คนพูดมีมุมมองต่อสิ่งเดียวกันแตกต่างกัน      

หนังสือ The Language Instinct : How the Mind Creates Language (1994) (1)  เขียนโดย Steven Pinker ศาตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด    บอกว่าการเรียนรู้ภาษาเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์  หรือเป็นคุณสมบัติของสมองมนุษย์ และบอกว่า ความเชื่อว่าภาษามีอิทธิพลต่อมุมมองของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ผิด    เป็นวิธีมองภาษาตามแนว Whorfian Hypothesis ที่เสนอโดย Benjamin Whorf    

Steven Pinker บอกว่า หลักการเกี่ยวกับภาษาของมนุษย์มี ๒ ประการ  (๑) หลักไร้เหตุผล (arbitrariness) หรือจำต่อๆ กันมา  (๒) ภาษามีการใช้สื่อที่มีจำกัด (finite media) ด้วยวิธีใช้ที่ไม่จำกัด (infinite use)    และเครื่องมือที่ทำให้เกิดวิธีใช้คำ หรือเรียงคำได้อย่างไม่จำกัด คือไวยากรณ์  

ความเข้าใจภาษาพูดกับถาษาเขียนใช้กลไกต่างกัน    เขาบอกว่าเราอ่านออกเพราะเราเป็นนักแยกแยะชิ้นส่วน ซึ่งหมายถึงวิเคราะห์คำ อย่างชำนาญ    นักภาษาศาสตร์บอกว่ามีวิธีวิเคราะห์คำ ๒ แบบ คือ (๑) เน้นความหมายของแต่ละคำ เอามาต่อกัน (breadth-first search)   (๒) เน้นความหมายของทั้งประโยคหรือทั้งย่อหน้า (depth-first search)    ผมตีความว่า วิธีที่สองคือวิธีอ่านหนังสือเร็ว จับความได้เร็ว      ส่วนวิธีแรกเป็นวิธีอ่านเอาสุนทรียทางภาษา     ผมใช้ทั้งสองวิธี แต่ใช้วิธีหลังมากกว่า     และในหลายกรณีใช้วิธี “อ่านเลยบรรทัด”    คือเอาประสบการณ์ของตัวเอง หรือข้อความรู้จากแหล่งอื่นเอามาเถียงหรือเปรียบเทียบ หรือตั้งคำถาม    สำหรับเอามาใช้ “อ่านระหว่างบรรทัด”     เพื่อค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่    ทำให้ผมสนุกสนานกับการอ่าน    การอ่านเป็นความบันเทิงใจ สำหรับผม    ยิ่งอ่านแล้วเขียนสะท้อนคิด (อย่างที่กำลังทำอยู่นี้)     กลายเป็นกิจกรรมบันเทิงของผม       

ผมชอบมาก ที่เขาบอกว่า ไวยากรณ์มี ๒ กติกา    คือ “กติกาหลักการ” (prescriptive rules)  กับ “กติกาหลักกู” (descriptive rules)    ผมตีความว่า เป็นไวยากรณ์ตามกระบวนท่า  กับไวยากรณ์ไร้กระบวนท่า     ซึ่งจะไร้กระบวนท่าได้อย่างงดงาม ต้องเชี่ยวชาญกระบวนท่า    ในลักษณะ “สูงสุดสู่สามัญ” (mastery)    คือก่อนจะ “ไร้กระบวนท่า” ได้    ต้อง “เชี่ยวชาญกระบวนท่า” ก่อน

หนังสือ The Brain Sell : When Science Meets Shopping (2013) (3)  เขียนโดย David Lewis     บอกว่า หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ทั้งแก่นักการตลาด สำหรับใช้ขายของ    และแก่คนทั่วไป สำหรับให้รู้เท่าทันภาษาของนักขายของ     อ่านแล้วผมตีความว่า  สมองมนุษย์มีไว้ทั้งเพื่อไม่ถูกหลอก และเพื่อถูกหลอกในเวลาเดียวกัน     คืสมองมนุษย์ไม่สมบูรณ์  ตกอยู่ใต้อคติได้ง่าย     ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองช่วยเปิดเผยจุดอ่อนนั้น    และหนังสือเล่มนี้เอามาแนะนำนักการตลาด

ผมเข้าใจว่า ภาษาเป็นทั้ง output และ input     ที่เป็น output หมายความว่า เพื่อใช้ในการสื่อสาร    แต่ผมเชื่อว่า ภาษาเป็น input เข้าไปกระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม เกิดการสร้างเครือข่ายใยประสาทที่กว้างขวางและแข็งแรง     อาจกล่าวได้ว่า ภาษาเป็นปุ๋ยบำรุงสมอง     ผมยังหาหนังสือที่เสนอประเด็นนี้ไม่พบ  

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 667259เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2019 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2019 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I suggest that many Internet websites can provide language learning aids – “free” (if we can find free wifi ;-) for examples Duolingo.org can help with learning to read, write, listen and talk languages (English, Vietnamese etc.); Google Translate can help to learn ‘listening’ in many languages; many online/offline dictionaries now come to PCs, phones and tablets with “pronunciation”…

Thai dictionaries with pronunciation? Perhaps ‘one day’ the Royal Institute will see why Thai pronunciation is also important. We can help to make this happen now. Write to the Royal Institute and ask them!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท