หน้าที่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (มหาภารตยุทธ์)


            หลักการนี้เป็นปรัชญาที่มาจากคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แทรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตยุทธ์ ถือว่าเป็นคำสอนที่สำคัญอันว่าด้วยเรื่อง "นิสกามกรรม" ประเด็นของแนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่ออรชุน หนึ่งในพี่น้องปาณฑพปฏิเสธที่จะทำสงครามกับฝ่ายเการพ เพราะอรชุนมองไปที่กองทัพของฝ่ายเการพแล้วก็จำได้ว่าบรรดาแม่ทัพล้วนมีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องและครูบาอาจารย์ของฝ่ายปาณฑพทั้งนั้น อรชุนจึงยืนยันกับพระกฤษณะว่าจะไม่ยอมทำสงครามครั้งนี้เป็นอันขาด พระกฤษณะจึงกล่าวสอนอรชุนว่าด้วยปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิตตามหลักการที่ว่า "นิสกามกรรม" นั่นคือการกระทำหน้าที่โดยปราศจากความต้องการ ปรัชญานี้สอนว่าหน้าที่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุคคลไม่สามารถที่จะปฏิเสธการทำหน้าที่ได้ และทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ ดังนั้นจึงไม่ต้องไปสนใจว่าทำหน้าที่แล้วจะได้ผลอะไรตอบแทน เพราะการทำหน้าที่นั้นคือเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกันกับในกรณีของอรชุน พระกฤษณะสอนว่า อรชุนไม่ต้องไปสนใจว่าศัตรูจะเป็นใคร หน้าที่ของกษัตริย์คือการทำสงครามที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม ถ้าอรชุนรบชนะอรชุนก็จะได้ครอบครองแผ่นดิน แต่ถ้าอรชุนพ่ายแพ้ถูกสังหารอรชุนก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้นการทำหน้าที่จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนที่ปฏิเสธการทำหน้าที่ก็จะได้รับแต่ผลร้ายในชีวิต ในขณะเดียวกันท่านพุทธทาสภิกขุก็สอนว่า การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ นอกจากนั้นในปรัชญาของเอ็มมานูเอล ค้านท์ (Emmanuel Kant) ก็มีหลักการทางจริยศาสตร์ที่เรียกว่า "กรณียธรรม" คือ ให้ถือว่าการทำความดีคือการทำตามหน้าที่ คนที่ทำตามหน้าที่เท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หน้าที่เป็นตัวตัดสินการกระทำของมนุษย์ เพราะฉะนั้นหน้าที่จึงเป็นสิ่งสูงสุดนั่นเอง





           พระกฤษณะสอนอรชุนถึงความยิ่งใหญ่ของการทำหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีหน้าที่ และแต่ละคนก็มีหน้าที่มากมายดังนั้นมนุษย์จึงต้องใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์เลือกสรรว่าอะไรคือหน้าที่หลักและอะไรคือหน้าที่รอง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือมนุษย์จะต้องไม่ล่วงละเมิดหน้าที่ นั่นก็คือจะต้องกระทำเฉพาะหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเท่านั้น ในประเด็นนี้มีเหตุการณ์สำคัญในมหากาพย์มหาภารตยุทธ์ตอนหนึ่ง ก็คือ ในช่วงแรกของการทำสงครามฝ่ายปาณฑพไม่สามารถโค่นแม่ทัพของฝ่ายเการพได้เลย แม่ทัพของฝ่ายเการพคือภีษมะ บุตรแห่งพระแม่คงคา การต่อสู้ยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ ๑๐ พระกฤษณะเห็นความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่กองทัพฝ่ายปาณฑพแล้วทนไม่ได้ จึงตัดสินใจลงจากรถศึกแล้วไปคว้าเอากงล้อรถเพื่อไปสังหารภีษมะ แต่อรชุนได้เข้าไปห้ามเอาไว้ เพราะพระกฤษณะได้ลั่นคำสัตย์ว่าในสงครามครั้งนี้จะไม่ยอมจับอาวุธต่อสู้ จะขอทำหน้าที่เป็นสารถีให้กับอรชุนเท่านั้น จากเหตุการณ์ในมหากาพย์ตอนนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากไม่ใช่หน้าที่แม้ว่าเราจะมีความสามารถจะทำได้ก็ต้องไม่กระทำเป็นอันขาด เพราะจะผิดกฎของการทำหน้าที่ กฎของการทำหน้าที่คือคนทุกคนต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และจะต้องไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของบุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น การไม่กระทำหน้าที่ของตนเองก็ดี การละเมิดหน้าที่ของผู้อื่นก็ดีเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับกฎแห่งจริยธรรมอันสูงส่งนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 666212เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า การนำเสนอปรัชญาของฮินดูไม่ใช่เพื่อยกย่องว่าเหนือกว่าพุทธปรัชญา หรือยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธศาสนา แต่เป็นการนำเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในฐานะผู้ศึกษามาทางด้านปรัชญา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในระดับสมมติสัจจะหรือเรื่องโลก ๆ นั้น ปรัชญาอินเดียค่อนข้างจะมีประเด็นที่น่าสนใจ แต่ในแง่ของปรมัตถสัจจะนั้นพระพุทธศาสนาค่อนข้างจะมีคำสอนที่มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่อยู่แล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท