การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (7)


มีภาพตัวแทนอะไร สร้างความความจริงในหนังสือเรียน

ดังที่กล่าวในคราวที่แล้วว่า สามารถหาความจริงผ่านภาษาและเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องของหนังสือเรียนของชาติอื่น ๆ ในประเด็นของสตรี ต่อมามาเรียนรู้ของไทยกันบ้าง ผ่านงานของวิสันต์ สุขวิสิทธ์ (2554) ได้เปิดเผยถึงอุดมการณ์ที่แสดงผ่านภาษา อุดมการณ์ก็คือ ระบบความคิด ความเชื่อ การให้คุณค่าในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านกลวิธีทางภาษา

วิสันต์  สุขวิสิทธ์ (2554) ได้ศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2503-2544 : การศึกษาตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ ในวิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ดังที่เขียนไว้ในบทคัดย่อดังนี้  

หนังสือเรียนเป็นวาทกรรมที่มีผลต่อสังคมในวงกว้าง เนื่องจากเป็นวาทกรรมที่ทุกคนที่เข้าศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐจำเป็นต้องใช้ งานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาอุดมการณ์ที่ประกอบสร้างและสื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503-2544 จำนวน 4 หลักสูตร ตามแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ โดยอาศัยกรอบมิติทั้งสามของวาทกรรมของแฟร์คลาฟ (Fairclough, 1995) และศึกษาเปรียบเทียบอุดมการณ์ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนแต่ละหลักสูตรดังกล่าว ผลการศึกษาตัวบทพบกลวิธีทางภาษาที่หนังสือเรียนใช้สื่ออุดมการณ์ต่างๆ ทั้งสิ้น 15 กลวิธี กลวิธีทางภาษาที่ตัวบทหนังสือเรียนใช้เป็นหลักเพื่อสื่ออุดมการณ์ ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้ประโยคแสดงเหตุผล การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยโครงสร้างประโยค การใช้ความเชื่อที่มีอยู่ก่อน และการใช้เสียงที่หลากหลาย กลวิธีทางภาษาเหล่านี้สื่ออุดมการณ์ต่างๆ ไปสู่ผู้อ่านทั้งสิ้น 10 ชุดความคิด อุดมการณ์เด่นซึ่งพบในหนังสือเรียนทุกเล่มคือ อุดมการณ์เด็กและอุดมการณ์ความเป็นหญิงและความเป็นชาย ผลการศึกษาเปรียบเทียบอุดมการณ์ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนแต่ละหลักสูตรพบว่า ความคิดย่อยของอุดมการณ์บางชุดเป็นความคิดอุดมการณ์ที่ปรากฏซ้ำอย่างต่อเนื่องในหนังสือเรียนทุกหลักสูตร เช่น ความคิดที่สื่อว่า เด็กดีคือสมาชิกที่ดีของสังคมและพลเมืองดีของชาติ และประเทศไทยคือประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรืองและสงบร่มเย็น และความคิดย่อยของอุดมการณ์บางชุดเป็นความคิดที่ปรากฏในหนังสือเรียนบางหลักสูตร เช่น ความคิดย่อยที่สื่อว่า เด็กดีเป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งปรากฏในหนังสือเรียนหลักสูตร พ.ศ. 2544 และเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเป็นผู้ที่เป็นมิตรกับประชาชน ซึ่งปรากฏในหนังสือเรียนหลักสูตร พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2544 ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่า หนังสือเรียนเป็นวาทกรรมที่ผลิตขึ้นโดยการควบคุมของหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ เพื่อใช้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งประชาชนทุกคนต้องเข้ารับการศึกษา และมีครูซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมไทยให้ความเคารพเป็นผู้ถ่ายทอดสู่นักเรียน หนังสือเรียนจึงเป็นวาทกรรมที่มีสถาบันรับรอง ได้รับการตีความในฐานะของความรู้ที่เชื่อว่าถูกต้อง เหมาะสม ทั้งยังสามารถเข้าถึงประชาชนทุกระดับในสังคม อุดมการณ์ที่อยู่ในหนังสือเรียนจึงสามารถส่งผลต่อสังคมได้ในวงกว้าง ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรม พบว่า อุดมการณ์ต่างๆ ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความคิดและค่านิยมในสังคมหลายประการ ได้แก่ ความคิดเรื่องความอาวุโส ความคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์ ความคิดทางพระพุทธศาสนา ความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ รวมถึงแนวคิดและนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัย ขณะเดียวกันอุดมการณ์ต่างๆ ที่สื่อผ่านหนังสือเรียนนั้นก็อาจส่งผลต่อระบบความคิด ความเชื่อของผู้อ่านรวมถึงสังคมในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ การนิยามความหมายของสมาชิกที่พึงประสงค์ของสังคมไทย การนำเสนอภาพอุดมคติของบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ในสังคม และการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม งานวิจัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่า หนังสือเรียนนั้นเป็นวาทกรรมที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ของรัฐและผู้มีอำนาจในสังคม เพื่อเตรียมเด็กให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตามที่รัฐและผู้มีอำนาจในสังคมเห็นว่าเหมาะสม แต่บางครั้งอุดมการณ์เหล่านั้นอาจสื่อภาพที่ไม่เป็นกลางของบุคคลและสิ่งต่างๆ ในสังคมไปสู่ผู้อ่าน จนอาจสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลในสังคมได้ในที่สุด (วิสันต์ สุขวิสิทธ์,2554: บทคัดย่อ)

จากข้อค้นพบของวิสันต์ ได้สรุปไว้ว่า มีการใช้กลวิธีทางภาษาหลายวิธีเพื่อสร้างความจริง ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้ประโยคแสดงเหตุผล การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยโครงสร้างประโยค การใช้ความเชื่อที่มีอยู่ก่อน และการใช้เสียงที่หลากหลาย  การสร้างความจริงผ่านการสื่อภาพที่ไม่เป็นกลางของบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ไปยังคนอ่าน และสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ก็ชัดเจนมาก ๆ ว่าไม่มีตำราแบบไหนที่มองโลกแบบเป็นกลาง แบบวิทยาศาสตร์ และระบบความคิดหรืออุดมการณ์ที่พบก็ได้แก่ อุดมการณ์เด็กดี และอุดมการณ์ความเป็นหญิงและความเป็นชาย  ความคิดเรื่องความอาวุโส ความคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์ ความคิดทางพระพุทธศาสนา ความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ รวมถึงแนวคิดและนโยบายของรัฐในแต่ละยุค ตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกัน เพราะระเบียบสังคมเป็นอย่างไร ระบบการศึกษาก็เป็นเช่นนั้น  สรุปเรื่องเล่า วรรณกรรม ที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนแต่มีตัวอุดมการณ์ และวาทกรรม ซึ่งก็เป็นตัวสร้างความไม่เสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งระบบสังคมเราเป็นอย่างไร วรรณกรรมทุกแบบก็เป็นเช่นนั้น 

หมายเลขบันทึก: 665127เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท