กระบวนการและขั้นตอนการศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมัทราส


รายละเอียดขั้นตอนกระบวนการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก (Ph.D.)

สาขาวิชาปรัชญา (Philosophy)

มหาวิทยาลัยมัทราส (University of Madras) ประเทศอินเดีย

รายงานโดย ดร.บรรพต  แคไธสง

หัวข้อวิทยานิพนธ์ “Existence and Enlightenment : A Study of Metaphysics and Ethics of Abhidhamma and Nikayas of Theravada Buddhism”

************************

วัน/เดือน/ปี

การดำเนินงาน/กิจกรรมการเรียนการสอน

       รายละเอียด

             การเรียนรู้

14/05/2006

ติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษา (Guide & Supervisor)

ผู้รายงานเข้าไปที่ภาควิชาปรัชญา (Department of Philosophy) มหาวิทยาลัยมัทราสเพื่อขอพบศาสตราจารย์ ดร.อาร์ โคปาลกฤษณัน (Prof. Dr. R. Gopalakrishnan) หัวหน้าภาควิชาปรัชญา (Head of Department) เพื่อขอให้ท่านรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (Guide & Supervisor) ซึ่งผลปรากฏว่าศาสตราจารย์ ดร. อาร์  โคปาลกฤษณันมีความยินดีที่จะรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและประธานกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์

การติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้จะเข้าศึกษาต้องแสดงตนเองว่ามีความเหมาะสม โดยการแนะนำประวัติการศึกษาของตนเองและหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่วางแผนจะทำการศึกษาวิจัย ซึ่งผู้รายงานได้ระบุว่าจะทำวิจัยเรื่อง “Existence and Enlightenment : A Study of Metaphysics and Ethics in Abhidhamma and Nikayas of Theravada Buddhism”

29/06/2006

ยื่นใบสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมัทราส

ผู้รายงานเข้าไปที่ฝ่าย D.2 Section เพื่อกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมัทราส ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะขอเอกสารหลักฐานประกอบ

เอกสารหลักฐานที่สำคัญก็จะประกอบไปด้วย Eligibility Certificate (ออกให้โดยมหาวิทยาลัย), Convocation Certificate (ปริญญาบัตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทพร้อมกับใบแสดงผลการศึกษา)

16/07/2006

สอบเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมัทราส

การสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สอนข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ สอบข้อเขียน 3 วิชา คือ ปรัชญาตะวันตก (Western Philosophy) ปรัชญาอินเดีย (Indian Philosophy) และพระพุทธศาสนา (Buddhism) ส่วนการสอบสัมภาษณ์นั้นมีคณะกรรมการสอบ ๓ ท่าน คือ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ภายในคณะและอาจารย์จากภายนอกคณะ

ผลการสอบปรากฏว่าสอบผ่านทั้งสองส่วน คือ สอบผ่านการสอบข้อเขียนและสอบผ่านการสอบสัมภาษณ์ด้วยคะแนนระดับดี

19/09/2006

ยื่นขออนุมัติทำวิจัยไปที่กรมอุดมศึกษา กระทรวงทรัพยากรมนุษย์

ยื่นรายงานการวางแผนทำการศึกษาวิจัยในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมัทราส โดยการส่งโครงร่างงานวิจัย (Synopsis) ไปที่กรมอุดมศึกษา (Department of Higher Education) กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Human Resource Development) กรุงนิวเดลี

รัฐบาลกลางของอินเดียโดยกรมอุดมศึกษา กระทรวงทรัพยากรมนุษย์จะทำการตรวจสอบก่อนว่างานวิจัยที่นักศึกษาต่างชาติจะทำการศึกษาวิจัยนั้นเป็นงานที่กระทบต่อวัฒนธรรมและความมั่นคงของอินเดียหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่กระทบก็จะอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยได้

22/11/2006

ได้รับหนังสือตอบรับ (Admission) เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมัทราส

หลังจากยื่นใบสมัครที่ฝ่าย D.2 Section และผ่านการสอบคัดเลือก ภาควิชาปรัชญาก็จะส่งผลสอบไปที่สำนักดุษฎีบัณฑิตศึกษา (Ph.D. Section) ซึ่งสำนักดุษฎีบัณฑิตศึกษาก็จะมีหนังสือตอบรับเข้าเป็นนักศึกษา (Admission to Ph.D. Programme) ของมหาวิทยาลัยมัทราส

หนังสือตอบรับ (Admission) เป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้ยื่นต่อมหาวิทยาลัย เพื่อขอลงทะเบียนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมัทราส

29/12/2006

ได้รับจดหมายอนุมัติให้ทำการวิจัยจากรัฐบาลกลาง (no-rejected letter)

ได้รับจดหมายเลขที่ R.P.805/2006-U.4 ซึ่งออกให้โดยกรมอุดมศึกษา กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลกลางของอินเดีย โดยจดหมายระบุว่าอนุญาตุให้ผู้รายงานทำการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว

เอกสารการอนุญาตุให้ทำวิจัยมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเอกสารสำคัญที่จะต้องนำไปยื่นต่อมหาวิทยาลัยเพื่อลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกและยื่นต่อสถานทูตของอินเดียเพื่อขอวีซ่าสำหรับการทำวิจัย (Research Visa)

10/04/2007

ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก  มหาวิทยาลัยมัทราส

หลังจากได้รับเอกสารตอบรับให้เข้าศึกษา (Admission) จากมหาวิทยาลัย และหนังสือรับรองการทำวิจัยจากรัฐบาลกลางเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปยื่นเอกสารเพื่อลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในวันที่ 10 เมษายน 2550

การลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกนั้น จะต้องยื่นเอกสารทางการศึกษาที่สำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใบปริญญาบัตรพร้อมใบแสดงผลการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท, หนังสือตอบรับ (Admission), หนังสืออนุญาตุทำวิจัยจากรัฐบาลกลางพร้อมแสดง Research Visa  โดยเอกสารทั้งหมดจะต้องเป็นเอกสารฉบับจริงเท่านั้น (ป้องกันนักศึกษาเรียนหลายหลักสูตรพร้อมกัน) และจ่ายค่าลงทะเบียนตามอัตราที่มหาวิทยาลัยกำหนด

10/04/2007- 10/04/2008

เรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัย และรายวิชาต่าง ๆ

ในปีแรกของการเป็นนักศึกษา พวกเราจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) โดยเข้าเรียนร่วมกับนักศึกษาระดับอนุปริญญาเอก (M.Phil.) และวิชาปรัชญาตะวันตกและวิชาพุทธปรัชญา

ก่อนที่ผู้วิจัยจะเริ่มลงมือเขียนงานวิทยานิพนธ์ ผู้วิจัยต้องเรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัย และวิชาพื้นฐานทางปรัชญา หลังจากเรียนครบ 1 ปีการศึกษา  มหาวิทยาลัยก็จะกำหนดสอบวิชาระเบียบวิธีวิจัย เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับอนุญาตุให้ลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์

10/04/2007-    10/04/2010

ค้นคว้าข้อมูลสำหรับการเขียนงานวิจัยและการดำเนินการวิจัย

เมื่อได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก (Research Scholar) แล้วผู้วิจัยต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 3 วัน ต่อสัปดาห์ตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารในห้องสมุดและเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา

ผู้วิจัยลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกแบบเต็มเวลา (Full-Time Student) เพราะฉะนั้นต้องอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย และต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยประจำเพื่อค้นคว้าข้อมูลและเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา

23/08/2007

เข้าร่วมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ จัดโดยมหาวิทยาลัยมัทราส

เข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ (Science Seminar) เรื่อง พื้นฐานวิทยาศาสตร์ :  ขอบข่ายและความหวัง (Basic Science : Scope and Hope) จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมัทราส

ผู้รายงานได้รับความรู้จากการประชุมครั้งนี้มากพอสมควร แม้ว่าหัวข้อการประชุมอาจจะไม่ตรงกับงานวิจัย  แต่ก็ได้รับข้อมูลและประสบการณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้

วันที่ 25 ของทุกเดือน

2007-2010

สัมมนาประจำเดือน (monthly seminar)

ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมัทราส ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการประจำเดือนในวันที่ 25 ของทุกเดือน ซึ่งนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกตลอดทั้งคณาจารย์ทุกคนจะต้องเข้าร่วมสัมมนา

พวกเรานักศึกษาไทยได้เรียนรู้ทั้งในด้านภาษาและองค์ความรู้ทางด้านปรัชญาและศาสนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมัทราสเชิญมาบรรยาย มีทั้งนักวิชาการชาวอินเดีย นักวิชาการจากยุโรปและอเมริกา

30/06/2008

สอบประมวลองค์ความรู้ (Collective Examination) และวิชาระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

ภาควิชาปรัชญาจัดให้สอบประมวลความรู้ 2 รายวิชา คือ วิชาปรัชญาทั่วไป (General Philosophy) (รวมทั้งปรัชญาตะวันตกและปรัชญาอินเดีย) และวิชา พุทธปรัชญา (Buddhist Philosophy)  นอกจากนั้นก็สอบวิชาระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

ผลการสอบปรากฏว่าผู้รายงานสอบผ่านทั้ง 3 รายวิชา ซึ่งหมายความว่าภาควิชาปรัชญา อนุมัติให้ผู้รายงานเริ่มกระบวนการทำวิจัยโดยสมบูรณ์แบบ เพื่อการนำเสนอรายงานเป็นวิทยานิพนธ์ต่อไป

04/01/2009

รายงานความก้าวหน้าการเขียนวิทยานิพนธ์ (Six month report) ครั้งที่ 1

หลังจากอนุมัติให้ทำวิจัยแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนรายงานความก้าวหน้าของการทำวิทยานิพนธ์ในรอบ 6 เดือน

การเขียนรายงานความก้าวหน้าของการทำวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 1 ผู้วิจัยได้ระบุรายละเอียด การเขียนวิทยานิพนธ์บทที่ 1 และการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยเดลี (University of Delhi)

06/06/2009

รายงานความก้าวหน้าการเขียนวิทยานิพนธ์ (Six month report) ครั้งที่ 2

รายงานความก้าวหน้าการวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 2 ระบุเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ในบทที่ 2 และบทที่ 3

วิทยานิพนธ์บทที่ 2 และบทที่ 3 ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น เบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท และกฏแห่งกรรม

16/12/2009

รายงานความก้าวหน้าการเขียนวิทยานิพนธ์ (Six moth report) ครั้งที่ 3

รายงานความก้าวหน้าการวิจัยและการเขียนวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 3 ระบุเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ในบทที่ 4 และบทที่ 5

วิทยานิพนธ์บทที่ 4 และบทที่ 5 ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับจริยศาสตร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น นิพพาน และอริยมรรคมีองค์ 8

29/05/2010

รายงานความก้าวหน้าการเขียนวิทยานิพนธ์ (Six month report)ครั้งที่ 4

รายงานความก้าวหน้าของการวิจัยและการเขียนวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 4 ระบุเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ในบทที่ 6

วิทยานิพนธ์บทที่ 6 สรุปเนื้อหาและข้อเสนอแนะ ในส่วนข้อเสนอแนะนั้นเป็นการประยุกต์หลักพุทธธรรมในบทที่ 1-5 เข้ากับการแก้ปัญหาในโลกยุคปัจจุบัน

10/06/2010

ยื่นโครงร่างวิทยานิพนธ์ฉบับสรุป (Synopsis) ต่อมหาวิทยาลัยมัทราส

นักศึกษาจะต้องยื่นโครงร่างวิทยานิพนธ์ ฉบับสรุป (Synopsis)  ก่อนที่จะยื่นวิทยานิพนธ์ (Thesis) ฉบับสมบูรณ์ อย่างน้อย 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน

การยื่นโครงร่างวิทยานิพนธ์ ฉบับสรุปต่อมหาวิทยาลัยเป็นการแสดงความพร้อมของนักศึกษาที่จะยื่นวิทยานิพนธ์ เพราะโครงร่างวิทยานิพนธ์ก็คือเนื้อหาโดยสรุปของแต่ละบทของวิทยานิพนธ์ที่ทำเสร็จแล้ว  (สังเกตว่าจะมีการยื่นโครงร่างวิทยานิพนธ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกยื่นต่อกรมอุดมศึกษา ที่กรุงนิวเดลีเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าเราจะวิจัยเรื่องอะไร ครั้งที่ 2 ยื่นต่อมหาวิทยาลัยมัทราส เพื่อแสดงว่างานวิทยานิพนธ์ของเราเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะยื่นวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์และขอสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ต่อไป)

10/09/2010

ยื่นวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ (Submission of Thesis) ต่อมหาวิทยาลัยมัทราส

นักศึกษาจะต้องยื่นวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ (Thesis) ต่อมหาวิทยาลัยจำนวน 5 เล่ม โดยยื่นที่สำนักดุษฎีบัณฑิตศึกษา (Ph.D. Section) โดยผ่านภาควิชาปรัชญา

วิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ 3 เล่ม จะถูกส่งไปให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้น จำนวน 3 ท่าน (1.นักวิชาการอินเดียภายนอกมหาวิทยาลัยมัทราส 2.นักวิชาการอินเดียในมหาวิทยาลัยภายนอกรัฐทมิฬนาฑู 3.นักวิชาการต่างประเทศ) วิทยานิพนธ์อีกเล่มจะถูกเก็บไว้ที่ห้องสมุดภาควิชาปรัชญา และอีกเล่มจะถูกเก็บไว้ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยมัทราส

31/12/2010

ได้รับหนังสือตอบรับจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน

คณะกรรมการผู้เชียวชาญตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบไปด้วยนักวิชาการอินเดียของมหาวิทยาลัยภายในรัฐทมิฬนาฑู  นักวิชาการอินเดียของมหาวิทยาลัยภายนอกรัฐทมิฬนาฑู และนักวิชาการต่างประเทศ (ยุโรปหรืออเมริกา) รวมเป็น 3 ท่าน

ผลของการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน วิทยานิพนธ์ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับที่ดีมาก แต่ยังมีข้อผิดพลาดบางส่วนที่ต้องปรับแก้เล็กน้อย

31/01/2011

ปรับแก้วิทยานิพนธ์และส่งฉบับสมบูรณ์ที่ปรับแก้แล้วคืนมหาวิทยาลัย

การปรับแก้วิทยานิพนธ์เป็นไปตามการคอมเมนต์ของคณะกรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ทั้ง 3 ท่าน

จุดที่ปรับแก้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการแก้คำศัพท์ หรือประโยคบางประโยค ไม่ได้แก้เนื้อหาของงานวิทยานิพนธ์

10/03/2011

สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Public Viva-Voce Examination)

การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมัทราส เป็นการสอบแบบ Public Viva-Voce มีลักษณะเป็นการนำเสนอด้วยการบรรยายต่อผู้เข้าร่วมรับฟังที่มีทั้งคณะกรรมการควบคุมการสอบ คณาจารย์และนักศึกษาภายในคณะและภายนอกคณะ

การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในวันนั้นผ่านไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 25 คน โดยมีการนำเสนอ 40 นาที และเป็นการซักถามโดยคณะกรรมการควบคุมการสอบและคณาจารย์ที่เข้าร่วมรับฟังประมาณ 20 นาที รวมเวลาในการสอบ 1 ชั่วโมง

18/04/2011

ได้รับหนังสือแจ้งผลการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Award Letter) อย่างเป็นทางการ

มหาวิทยาลัยมัทราสได้แจ้งผลการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์อย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการสอบทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์ที่ปรึกษา  กรรมการภายในมหาวิทยาลัย กรรมการสอบที่มาจากภายนอกมหาวิทยาลัย

ผู้รายงานสอบผ่านระดับดีในการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์

04/11/2011

ได้รับปริญญาบัตรระดับดุษฎีบัณฑิตหรือปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมัทราส

มหาวิทยาลัยมัทราสได้มอบปริญญาบัตร (Convocation Certificate) ระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อเป็นการรับรองว่าผู้รายงานสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมัทราส

เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Philosophy) สาขาวิชาปรัชญา (Philosophy) จากมหาวิทยาลัยมัทราส (University of Madras) ประเทศอินเดีย หัวข้อวิทยานิพนธ์ “Existence and Enlightenment : A Study of Metaphysics   and Ethics in Abhidhamma and Nikayas of Theravada Buddhism”

หมายเหตุ : รายงานขั้นตอนและกระบวนการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมัทราสนี้ เป็นรายงานที่ทำขึ้นเพื่อประกอบการยื่นเรื่องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาพิจารณาคุณวุฒิ Doctor of Philosophy in Philosophy จาก University of Madras สาธารณรัฐอินเดีย ว่าเทียบเท่าคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งคณะกรรมการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 11/2559 เมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2559 ได้พิจารณาคุณวุฒิดังกล่าวแล้วมีมติว่าเป็นคุณวุฒิของต่างประเทศที่เทียบได้เท่ากับคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ของกระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 665050เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2020 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมจึงจำกระบวนการและขั้นตอนการเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมัทราสได้ แม้กระทั่งมีการระบุวันเดือนปีด้วย เป็นการมโนเอาหรือเปล่า ต้องเรียนตามตรงครับว่าข้อมูลที่เขียนขึ้นมาทั้งหมดเป็นความจริงเพราะผมเก็บเอกสารทุกฉบับที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมัทราสเอาไว้ในแฟ้มเป็นอย่างดี เพราะเอกสารแต่ละฉบับกว่าจะได้มาต้องเดินเรื่องเป็นเดือน ๆ อย่างเช่น Eligibility Certificate,Admission Letter, Registration Letter, Joining Report, No-rejected Latter, Research Visa, Submission of Thesis and Synopsis, Award letter, Provisional Certificate, Convocation Certificate เป็นต้น เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เขียนขึ้นจึงเป็นการเขียนจากหลักฐานเอกสารที่เก็บเอาไว้ทั้งหมดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท