สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๒. ข้อสรุป



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

แก่นของสาระในรายงานคือ ต้องยึด “การเรียนรู้” เป็นศูนย์กลาง

บันทึกที่ ๒ นี้ ตีความจากส่วน Overview ซึ่งอยู่ในรายงานหน้า ๓ – ๓๕    มีเอกสารอ้างอิงมากมาย แต่ผมจะตีความเชิงสรุป เพื่อให้กระชับและอ่านง่าย  

สาระทั้งหมดของรายงานนี้ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลก บรรลุเป้าหมายที่แท้ของการศึกษา ให้จงได้   โดยเขาเสนอวิกฤติการเรียนรู้ ๓ ประการ

  1. 1. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcomes) : ต่ำ  ความเหลื่อมล้ำสูง  พัฒนาช้า     
  2. 2. สาเหตุที่เห็นชัด (Immediate causes)  มี ๔ ประการคือ  : นักเรียนไม่ได้รับการเตรียมตัวที่ดี    ทรัพยากรที่โรงเรียนได้รับไม่มีผลต่อการเรียนการสอน   การบริหารจัดการในโรงเรียนไม่มีผลต่อการเรียนการสอน  ครูขาดทักษะและแรงจูงใจ  
  3. 3. สาเหตุที่อยู่ลึก (Deeper causes) เป็นสาเหตุที่ดึงความสนใจออกไปจากเรื่องการเรียนรู้   ได้แก่  :  ปัจจัยด้านเทคนิคที่ทำให้การเปลี่ยนไปเอาใจใส่การเรียนรู้เป็นเรื่องยาก    กับ ปัจจัยด้านการเมืองที่ผู้มีบทบาทหลักไม่ต้องการให้ความสำคัญแก่การเรียนรู้ของนักเรียน      

เขาเสนอแนวทางกู้วิกฤติ ในเชิงนโยบาย ๓ ประการ คือ

  1. 1. ประเมินการเรียนรู้ (Assess learning)   เพื่อสร้างความเอาจริงเอาจังต่อการบรรลุเป้าหมาย    โดยต้องวัดและติดตามผลลัพธ์การเรียนรู้    และใช้ผลการประเมินเป็นตัวชี้ทิศทางการดำเนินการ

เขาแนะนำให้ประเมินโดยเลือกเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ    อย่าประเมินลงรายละเอียดแบบเปรอะ เพราะจะไม่ส่งผลต่อการปฏิบัติ    ใช้ผลการประเมินกระตุ้นความรับผิดรับชอบของผู้เกี่ยวข้อง 

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ผมไม่เห็นด้วยกับรูปในหน้า ๑๙ ของรายงาน    ที่แยกการเรียนรู้ออกจากผลลัพธ์อื่นๆ เช่น creativity, citizenship   ผมมีความเห็นว่า ต้องไม่ตีความ “ผลลัพธ์การเรียนรู้” แคบเฉพาะผลลัพธ์ด้านวิชาการ  ต้องตีความแบบครบด้าน (holistic)    ในลักษณะของ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

  1. 2. ดำเนินการตามข้อมูลหลักฐาน (Act on evidence)  เพื่อให้โรงเรียนทำหน้าที่จัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนทุกคน    ใช้ข้อมูลหลักฐานชี้ทิศทางการดำเนินการ และการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้

ข้อพึงระวังในการใช้ข้อมูลหลักฐานคือ   มาตรการที่ใช้ได้ผลในประเทศหนึ่ง เมื่อนำไปใช้ในประเทศอื่นอาจไม่ได้ผล    เพราะเรื่องการเรียนรู้ มีปัจจัยด้านบริบทอยู่ด้วย

เขาแนะนำหลัก ๔ ประการ ในการใช้ข้อมูลหลักฐาน  (๑) อย่าหลงใช้ข้อมูลหลักฐานจากผลงานวิจัยชิ้นเดียว   ให้ใช้หลายข้อมูลหลักฐาน นำมาพัฒนาเป็น “โมเดล” สำหรับทดลองใช้  (๒) จงเรียนรู้จากผลต่างระหว่างเป้าหมายจากข้อมูลหลักฐาน (ทฤษฎี?) กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินมาตรการ   นั่นคือ อิทธิพลของบริบท  (๓) พึงตระหนักในความบิดเบี้ยวหรือคติในการสร้างข้อมูลหลักฐาน    ที่มักสร้างจากสถานการณ์ที่ทำง่าย    ซึ่งอาจมีบริบทแตกต่างจากสถานการณ์จริงที่เรากำลังเผชิญ    ดังนั้นจึงควรเน้นสร้างนวัตกรรมจากบริบทของตนเอง  (๔) ข้อมูลหลักฐานชิ้นเดียวมักไม่เพียงพอต่อการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ    เพราะการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายหลากหลาย

จากข้อมูลหลักฐานมากมาย คณะผู้ยกร่างรายงานสรุปปัจจัยสำคัญ ๓ ประการที่ส่งผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน คือ 

(๑) เตรียมผู้เรียนให้พร้อมเรียน   โดยมีปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ คือ  (ก) วางฐานพัฒนาการเด็กที่ดี โดยดูแลเด็กเล็กด้านโภชนาการ  การกระตุ้นพัฒนาการ  และการเอาใจใส่ดูแล   (ข) ส่งเสริมให้พ่อแม่ส่งลูกเข้าโรงเรียนโดยลดภาระด้านค่าใช้จ่าย และมาตรการจูงใจอื่นๆ   (ค) สำหรับเด็กที่มีผลการเรียนรู้ล้าหลัง ต้องมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษ   

(๒) ทำให้การสอนส่งผลต่อการเรียนรู้มากกว่าที่เป็นอยู่   โดยมีมาตรการสำคัญ ๓ ประการคือ  (ก) ระบบผลิตครูที่มีคุณภาพ มีทักษะจัดการเรียนรู้ที่ได้ผล   (ข) เอาใจใส่เด็กทุกคนให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนด  (ค) สร้างแรงจูงใจต่อการทำหน้าที่ครูที่ดี (ที่เอาใจใส่หนุนเสริมให้ศิษย์ทุกคนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเกณฑ์) ทั้งแรงจูงใจทางการเงิน และแรงจูงใจด้านอื่นๆ     

(๓) โฟกัสปัจจัยอื่นๆ ทุกปัจจัยเพื่อการเรียนการสอน   โดยมีปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ  (ก) จัดทรัพยากรเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน ไอที ที่ช่วยสร้างความเข้มข้นในการทำหน้าที่ครู   ไม่ใช่ไปทดแทนครู  (ข) ดูแลว่า ระบบไอที และระบบสื่อสารที่จัดให้ ใช้การเพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้จริง  (ค) ปฏิรูประบบการจัดการในโรงเรียน และของหน่วยเหนือ ให้มีผลยกระดับปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน   

  1. 3. รวมพลังภาคีดำเนินการ (Align actors)    เพื่อให้ทุกส่วนของระบบ ทำงานเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก    ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนในระบบเป็นเป้าหมายหลัก    ต้องจัดการอุปสรรคด้านเทคนิค และด้านการเมือง ที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของนักเรียน (และของครู)    โดยต้องดำเนินการในลักษณะปฏิรูป ๓ ด้านหลัก ให้เกิดพลังเสริมกัน (synergy) ได้แก่  
  2. (๑) ระบบข้อมูลและการวัด (Information and metrics)   เน้นที่การวัดการเรียนรู้ สำหรับใช้สร้าง “พื้นที่ทางการเมือง” สำหรับสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้    โดยที่ระบบข้อมูลและการวัดเป็นหลักฐานบอก “ผลประกอบการ” (performance) ของระบบการศึกษา    เป็นตัวบ่งชี้ว่า ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาในมิติใดบ้าง
  3. (๒) สร้างแนวร่วมและระบบแรงจูงใจ (Coalitions and incentives)   เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับภาคีพัฒนาในพื้นที่    และมีระบบแรงจูงใจให้มีการปฏิบัติในแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมาย   และหาทางลดผลกระทบด้านลบต่อคนบางกลุ่ม อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบ  
  4. (๓) ส่งเสริมนวัตกรรมและความคล่องแคล่วในการปรับตัว (Innovation and agility)    โดยให้อิสรภาพแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน ในการใช้วิธีการแปลกใหม่ เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน       

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของ “วงจรยกระดับ” คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ของระบบการศึกษา เขาแนะนำวงจรที่มี ๖ ขั้นตอนต่อไปนี้

  • กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้เป็นถ้อยคำที่ชัดเจน และวัดได้    รวมทั้งดำเนินการวัด
  • สร้างแนวร่วมเพื่อเป็นพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการทดลองและสร้างนวัตกรรม
  • สร้างโมเดลการปฏิบัติงาน ที่จะก่อผลที่เห็นชัดเจนในเวลาไม่นาน ภายใต้บริบทนั้นๆ
  • วัดผลว่าโมเดลนั้นก่อผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตามที่คาดหวังหรือไม่
  • ขยายผลมาตรการส่วนที่ได้ผลดี  และยกเลิกมาตรการที่ไม่ได้ผล    เพื่อสร้างผลสำเร็จในเวลาอันสั้น
  • ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนแรก

บทบาทของภาคีนอกภาคการศึกษา หรือภาคีที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ 

ภาคีนอกภาคการศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมให้พื้นที่ทางการเมืองของการเปลี่ยนระบบการศึกษา เอื้อต่อการเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    โดยอาจให้ทุนสนับสนุนการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้    ให้การสนับสนุนการพัฒนาข้อมูลเป็น feedback loop เพื่อการปรับตัวของระบบ    ซึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า ต้องส่งเสริม double-loop learning ของระบบ    ไม่ใช่ single-loop learning

ทำให้พลังของการศึกษาคุณภาพสูงก่อผลจริง

ชื่อของ WDR 2018 คือ Learning to Realize Education’s Promise   ซึ่งหมายถึงการทำให้พลังของการศึกษาคุณภาพสูงก่อผลได้จริง    ผลดังกล่าวคือ ไม่เพียงยกระดับคุณภาพของพลเมืองเป็นรายคนเท่านั้น    แต่ยังมีผลต่อระบบสังคมของประเทศ  

ในระดับบุคคลและครอบครัว การศึกษาคุณภาพสูง นำไปสู่การเป็นกำลังคนคุณภาพสูง  ยกระดับโอกาสทางเศรษฐกิจ  ยกระดับสุขภาวะ  และเปิดโอกาสให้มีทางเลือกในชีวิต   

ในระดับสังคม  การศึกษาคุณภาพสูงขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ  ส่งเสริมการยกฐานะทางสังคม (social mobility)    และทำให้สถาบันต่างๆ ทำหน้าที่ได้ตามเป้าหมาย  

คุณภาพการศึกษาที่แท้ไม่ได้อยู่ที่การเข้าโรงเรียน (schooling)  แต่อยู่ที่การเรียนรู้ (learning)   ในหลากหลายประเทศ เด็กๆ ได้เข้าโรงเรียน แต่ไม่ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ  ไม่เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้    นั่นคือระบบการศึกษาที่จะต้องปฏิรูป  

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 664714เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2019 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2019 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Are clear goals of educating children set and made public?

Are we looking at education for economic development or health or sociopolitical/better social condition or …?

Goals and priorities for education in Thailand have been and are now quite fluid. Ask anyone - who knows what Thai education is for?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท