การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (3)


การนำเสนอภาพของมนุษย์ในวรรณกรรม

เรื่องเล่าในวรรณกรรม ได้นำเสนอภาพของมนุษย์ในฐานะภาพสะท้อน ที่เชื่อว่าสะท้อนความเป็นจริง เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งประพันธกรก็คือผู้เล่า เล่าชีวิตตนเอง มีคำถามว่าการเล่าเรื่องตนเองนั้นสะท้อนความเป็นจริงได้แค่ไหน และน่าจะเป็นการนำเสนอภาพมนุษย์ด้วยการประกอบสร้างภาพตนเองเสียมากกว่า ในวรรณกรรมการเล่าเรื่องตนเอง การสร้างภาพลักษณ์ของตนเองผ่านภาษา นั้นมีความอ่อนไหวสูงมีโอกาสที่จะตัดเรื่องที่เป็นจริงบางอย่างออกไป เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีภาพลักษณ์ที่ดี เช่นเดียวกับวรรณกรรมที่เล่าเรื่องบุคคลที่สาม ในฐานะอัตชีวประวัติเล่าโดยคนใกล้ชิด ก็จะปรากฎในฐานะของการประกอบสร้าง เนื่องจากไม่ว่าจะใกล้ชิดทุกแง่ทุกมุมอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถอยู่ในการจ้องมอง (gaze) อยู่ตลอดเวลา และสถานะตำแหน่งของผู้เล่ากับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่นเป็นลูก เป็นลูกศิษย์ เป็นศาสนิก ก็มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของบุคคลมีความแตกต่างกันเข้าไปอีกตามสถานภาพความสัมพันธ์ในเรื่องเล่านั้น  ในขณะที่ตำแหน่งของผู้เล่านั้นเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในฐานะผู้เสียผลประโยชน์ ก็จะมีส่วนในการทำให้ภาพลักษณ์ของบุคคลที่ความแตกต่างกันไปอีก ถ้าคิดตามก็จะพบความเอนเอียงอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดในข้อเขียน  ในการเล่าเรื่องเทพปกรณัม ตั้งแต่เทพองค์แรกคือเคออส แล้วก็พัฒนาการมาเป็นนางธรณี หรือ ไกอา ต่อมาไกอา ได้สร้างเทพแห่งท้องฟ้าคือ อูรานอสขึ้นมา เสร็จแล้วก็เสกสมรสกัน จากนั้นเคออส ก็สร้างเทพแห่งทะเล จากนั้นก็สร้างการเชื่อมโยงกับเทพอื่น ๆ การนำเสนอภาพเทพของกรีกแสดงออกมาในรูปวาดของมนุษย์ และรูปปั้นตามแบบของมนุษย์ ภาพลักษณ์ของเทพจึงไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์เท่าไรนัก รูปวาดและรูปปั้นแสดงออกมาไปตามคติแบบกรีก ของอินเดียภาพลักษณ์ของเทพ จะนำเสนอเป็นเทพเพศชายมีอำนาจหลายมือถืออาวุธน่ายำเกรงเสียส่วนใหญ่ เรื่องเล่าของเทพก็สะท้อนเรื่องของคน ภาพลักษณ์ของคน ในรามายาณะ ก็แสดงถึงภาพลักษณ์ของมนุษย์ในลักษณะชนเผ่าต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น อารยันที่เป็นผิวขาวจมูกโด่ง คือ กลุ่มผู้นำ ก็จะเป็นการนำเสนอภาพมนุษย์รูปงาม กลุ่มศรัตรูก็จะเป็นกลุ่มฑราวิตหรือดาร์วิเดียน ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมอยู่ในลุ่มน้ำสินธุ ใข้นำเสนอภาพเป็นยักษ์   ส่วนอีกกลุ่มสายพันธ์หนึ่งคือการนำเสนอสายพันธ์ลิงเช่นหนุมาน ซึ่งน่าจะเป็นชนเอเซียผิวเหลือง หมายความว่า อารยันก็ไม่ได้ยอมรับกลุ่มลิง เป็นกลุ่มคน จึงนำเสนอความด้อยกว่าเป็นแค่ลิงรับใช้ ไม่ว่าหนุมานจะเก่งกว่าเท่าไรก็ตามแต่ก็มีตำแหน่งของผู้รับใช้ ภาพลักษณ์ของมนุษย์ที่นำเสนอในวรรณกรรมนอกจากที่จะแสดงอัตลักษณ์ตัวตนเป็นมนุษย์ธรรมดาแล้ว ยังแสดงอัตลักษณ์เป็นบุคลาธิฐาน ที่เป็นเทพ ยักษ์ ลิง ภูตผี ปีศาส ได้ตามการเล่าเรื่องเหล่านั้น ขึ้นอยู่ประพันธกรจะสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างไร ซึ่งเมื่อวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องก็จะทราบว่า ผู้ประพันธ์ให้ความหมายในภาพลักษณ์ของมนุษย์เป็นอย่างไร มนุษย์ตามปกติที่มีทั้งดี เลว เป็นปกติ เมื่อผ่านการเขียนวรรณกรรม อาจมีสถานะที่ดีสุดกู่หาความเลวไม่ได้  หรือ เลวสุดด้านไม่มีดี ที่ถูกนำเสนอในละครโทรทัศน์ ก็เป็นไปได้ทั้งนี้ก็เพราะว่าวรรณกรรมนั้นเป็นการประกอบสร้าง

วรรณกรรมเรื่องเล่า “อัตชีวประวัติ”

ใครที่อ่านอัตชีวประวัติของ คานธี ที่ท่านได้เขียนชีวประวัติของตนเองโดยใช้มุมมองของตนเอง ซึ่งการบอกเล่าอัตชีวประวัติของท่านนั้นอาจมีบางเรื่องที่ข้ามไปไม่ได้เล่า ที่เล่าเรื่องก็เป็นสิ่งที่อยากบอกกับคนอ่านมากกว่า การสร้างตัวตนของตนเองในวรรณกรรมย่อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง ในจุดยืน วาทกรรม เรื่องเล่าอัตชีวประวัติ จะมีความสนุกมากขึ้นถ้าใช้วิธีการทางภาษาแบบคู่ตรงกันข้ามกัน (binary opposition) เช่นชาตินิยมอินเดีย กับ เจ้าอาณานิคม การเล่าอัตชีวประวัติของคานธี จึงดำเนินไปในลักษณะของคู่ตรงกันข้ามแบบนี้ ซึ่งผลของการปลดแอกอินเดียออกจากเจ้าอาณานิคม ทำให้อินเดียชนะ ทำให้อัตชีวประวัติของคานธีเป็นผู้ชนะไปด้วย วรรณกรรมเล่าเรื่องแบบนี้ต้องเชื่อมโยงกลุ่มคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวรรณกรรม ทำให้วรรณกรรมได้รับความนิยม ในขณะที่หนังสืองานศพ เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างความจริง เพราะส่วนใหญ่จะมีไว้เพื่อสรรเสริญผู้เสียชีวิต บุคคลสำคัญต่าง ๆ ล้วนแต่มีเรื่องเล่าเชิงอัตชีวประวัติ เช่น ไม่โกง เป็นลูกกตัญญู ซึ่งได้รับความนิยมในสังคมไทย ผู้เขียนไปที่วัดแห่งหนึ่งที่มีห้องสมุด ก็ไปพบข้อเขียนเล่าประวัติของบุคคลที่ถือว่าเป็นเจ้าลัทธิ  เจ้าสำนัก หรือ แม้แต่บุคคลที่ปัจจุบันที่มีปัญหา ลาสิกขาเอง ถูกจับลาสิกขาไปแล้ว วรรณกรรมเรื่องเล่าชีวิตของเขามักถูกประกอบสร้างออกมาในฐานะผู้มีบุญบารมีและผู้วิเศษ ที่ใครก็ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เช่น เดินทางไปเยี่ยมนรก สวรรค์ เหาะไปปัดอะไรได้ เป็นพระอรหันต์ เป็นอะไรที่ยิ่งกว่าพระอรหันต์ก็มี การนำเสนอส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนที่สานุศิษย์เขียนเพื่อยกย่อง อาจารย์ตนเอง บางทีอาจารย์ตนเองเล่าเพียงนิดเดียว แต่นำมาขยายความกับความศรัทธาของตนเอง สอดคล้องกับโครงสร้างนิทานผู้วิเศษ อาวุธวิเศษ เรื่องเหนือธรรมชาติ  ทำให้ต้องพึ่งพิงผู้วิเศษอำนาจพิเศษอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นวรรณกรรมที่เป็นอัตชีวประวัติที่เขียนเอง หรือ คนอื่นเขียนให้ ทำให้อัตลักษณ์ของผู้ที่ถูกนำเสนอแบบเหนือจริง (surrealist) การตีความเชิงอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์ ความน่าสนใจของการเล่าเรื่องในเชิงนี้ก็คือ อำนาจของผู้อ่าน ผู้ฟัง ในการตีความยืนยันยอมรับในตัวบทเรื่องเล่านั้น จะเห็นได้ว่ามีผู้เลื่อมใสการเล่าเรื่องในแนวนี้เป็นจำนวนมากตามแบบฉบับ “ไม่เชื่อ แต่อย่า ลบหลู่” ดูจากคดีในศาลเกี่ยวกับคดีที่มีผลมาจากความเชื่อก็ต้องยอมรับว่ามีมาก คนที่เสียหายมีทุกระดับการศึกษา เรื่องเล่าทุกชนิดเป็นมายาคติแบบหนึ่ง ถ้าไม่แขวนมันไว้พิจารณาก่อนที่จะตีความตัวบทของเรื่องเล่า มีแนวโน้มว่าเราจะถูกมายาคติแบบนี้ครอบงำอยู่เรื่อยไป  

หมายเลขบันทึก: 664687เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2019 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2019 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท