เก็บตกวิธีปฏิบัติที่โดนใจ เมื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วม


  (บันทึกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562)

    หลังเกษียณได้ 9 ปี ผมมีโอกาสได้มาเป็นอาสาสมัครโครงการกองทุนการศึกษา(อสส.) เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ความที่เคยอยู่ในระบบราชการมานาน ที่ต้องทำงานตามสั่ง ตามนโยบาย พอเริ่มมาทำงานที่นี่ เห็นอาสาสมัคร(อสส.)รุ่นพี่ (ที่จริงอ่อนวัยกว่าผมเกินครึ่ง) เขาทำงานกันไป สนุกสนานกันไป ดูมีชีวิตชีวา ไม่เห็นมีอะไรเคร่งเครียด เคร่งครัด เหมือนตอนที่เราทำงานราชการ แต่ผลงานที่ออกมา เวลาเขาเล่านำเสนอให้ฟัง ดูช่างมีคุณค่า แต่ละคนนำเสนอ อย่างภาคภูมิใจ ด้วยหน้าตาที่เป็นสุข ต่างอิ่มอกอิ่มใจ ที่ได้ตอบแทนคุณของแผ่นดิน และสามารถสนองพระบรมราโชบายของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์

 ผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ล้วนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ให้เราได้เรียนรู้ ได้ซึมซับ อย่างไม่มีนิวรณ์ให้ลังเลใจ ท่านมีแต่ให้กำลังใจ ยกย่อง ให้เกียรติกัน คำน้อยเชิงตำหนิไม่เคยมีหลุดออกจากปากให้เราต้องชอกช้ำ อย่างนี้ไงเล่า อสส.ทั้งหลายจึงทุ่มเททำงานโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

   มาใหม่ๆก็ต้องพยายามเรียนรู้พระบรมราโชบายของในหลวงทุกพระองค์ จากทั้งเอกสาร จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ และดูจากผลงานเชิงประจักษ์ที่ได้พบเห็น แปลกใจเหมือนกันว่าความรู้ ความเข้าใจ ความลุ่มลึก เมื่อตอนทำงานราชการสนองพระบรมราโชบายเมื่อครั้งกระโน้น ทำไมไม่ซาบซึ้งกินใจเหมือนในครั้งกระนี้ ทั้งๆที่เป็นพระบรมราโชบายเดียวกัน ก็เพิ่งกระจ่างเองว่า เพราะการทำงานด้วยใจ มิได้ทำโดยคำสั่ง หรือทำตามหน้าที่ ย่อมมีพลังความสำนึกในคุณค่าที่ยิ่งใหญ่แตกต่างกัน จึงตั้งใจอยากจะทำงานเพื่อสนองคุณบ้านเมืองตามพระบรมราโชบาย และตามความสามารถของตนอย่างเต็มที่

ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมต่างๆกับคณะอาสาสมัครทั้งส่วนกลางและอาสาสมัครพื้นที่ในเวลาต่อมาหลายกิจกรรม เช่น การประชุมวางแผนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ การติดตามท่านองคมนตรีบางท่านไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนโครงการบางแห่ง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา และไปเยี่ยมโรงเรียนโครงการร่วมกับคณะ อสส.ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมจัดกิจกรรมสัมพันธ์ให้แก่นักเรียนผู้รับทุนพระราชทานประจำปี 2561 และครูผู้ดูแลโครงการ ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท นครนายก ได้ช่วยประสานงานเชิญวิทยากรบางท่าน ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น

แต่น่าเสียดายที่ต่อมาไม่นานสุขภาพของตนเองไม่เอื้ออำนวย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถทุ่มเท สนองงานโครงการเช่นเดียวกับ อสส.ท่านอื่นได้อย่างเต็มที่นัก แต่ด้วยความตั้งใจที่จะสนองคุณบ้านเมืองให้ได้มากที่สุดตามสภาพที่เอื้ออำนวย จึงพยายามเข้ามาช่วยเหลือในงานที่ตนเองพอถนัด คืองานด้านวิชาการ เช่น การเขียนหนังสือเผยแพร่ให้ความรู้ให้แก่ครู ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องทั้งโดยทางตรง และทางสื่อเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนโครงการกองทุนการศึกษาได้มากนัก แต่จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมประชุมสัมมนากับ อสส.ส่วนกลาง อสส.พื้นที่ และชาวโรงเรียนหลายครั้ง ได้พบเห็นกิจกรรมที่พวกเราทำร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการประยุกต์เทคนิควิธีการต่างๆมาดำเนินการอย่างเหมาะสมตามบริบทของแต่ละกิจกรรม ซึ่งผมถือว่าเป็นองค์ความรู้หรืออาจเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง สมควรบันทึกไว้และนำมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสืบสาน ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยผมขอตั้งหัวข้อเรื่องที่จะเล่านี้ว่า “เก็บตกวิธีปฏิบัติที่โดนใจ เมื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วม” สัก 3 วิธีปฏิบัติ คือ

    1. การระดมพลังสมองด้วยการใช้บัตร เพื่อสร้าง consensus(ความเห็นพ้องต้องกัน)

โดยคณะ อสส.ได้ดำเนินการในการประชุมโครงการถอดบทเรียนโครงการกองทุนการศึกษา พ.ศ. 2555 – 2561 วันที่ 19 – 20 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในมิติต่างๆ เช่น ผู้บริหาร ครู นักเรียน ด้านวิชาการ เป็นต้น

ประเด็นที่อยากจะเล่าคือ กิจกรรมนี้ได้มีการประยุกต์ เทคนิคการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน(concensus)ซึ่งพัฒนามาจาก KJ.Method ของ นายจิโร คาวาคิตะ(Jiro Kawakita) ชาวญี่ปุ่น และ Affinity Diagram

ในการระดมพลังสมอง เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกันที่คณะ อสส.เราทำกัน อุปกรณ์ที่ใช้คือกระดาษขนาด A4 พับครึ่ง และปากกาเมจิกสำหรับเขียนลงบัตร พร้อมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มความคิด บางกลุ่มอาจเป็นรูปดอกไม้ ผลไม้ สัตว์ หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่แตกต่างกัน จำนวนประมาณ กลุ่มละ 4-5 สัญลักษณ์ แล้วมี บอร์ด หรือผนังที่ใช้สำหรับติดกลุ่มสัญลักษณ์และติดบัตร นอกจากนั้นก็มีกาวเทปสำหรับติดบัตรและสัญลักษณ์ลงบนบอร์ดหรือผนัง แล้วจัดสถานที่สำหรับประชุม โดยจัดโต๊ะหรือเก้าอี้ล้อมวงครึ่งวงกลมหันหน้าสู่บอร์ดหรือผนังที่ติดสัญลักษณ์ไว้แล้ว เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้ระดมพลังสมองกันอย่างใกล้ชิด สมาชิกแต่ละกลุ่มก็มีประมาณ 6-7 คน เริ่มต้นโดย

    1.1 ประธานกลุ่มนำเสนอประเด็นที่จะระดมพลังสมอง และชี้แจงให้สมาชิกแต่ละคนคิดคำตอบและเขียนคำตอบลงในบัตร บัตรละ 1 คำตอบ คนหนึ่งจะเขียน กี่บัตรก็ได้ โดยมีกติกาการเขียนว่า เขียนด้วยปากกาเมจิกตัวโต ๆ เพื่อเวลาติดบอร์ดหรือผนัง ทุกคนจะได้มองเห็นชัด เขียนด้วยข้อความสั้น ๆ กะทัดรัดไม่ต้องขยายความ บัตรละ 1 คำตอบ ทุกคนสามารถเข้าใจข้อความที่เขียนได้โดยไม่ต้องอาศัยการตีความอีก แล้วสมาชิกแต่ละคนต่างเขียนคำตอบตามกติกาที่กำหนด

    1.2 เมื่อทุกคนเขียนคำตอบเสร็จแล้ว ประธานแต่ละกลุ่ม ต่างนำกลุ่มดำเนินการแตกต่างกัน  2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ให้สมาชิกแต่ละคนนำบัตรของตนเองไปติดที่บอร์ดหรือผนัง ตามกลุ่มสัญลักษณ์ที่เห็นว่าเป็นความคิดหรือคำตอบที่ใกล้เคียงกันกับของสมาชิกคนอื่น วิธีที่ 2 ประธานเก็บรวบรวมบัตรคำตอบของสมาชิกทุกคนแล้วอ่านคำตอบทีละบัตร และถามสมาชิกว่าควรอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์ใด แล้วนำไปติดในกลุ่มสัญลักษณ์นั้น ๆ (จากการสังเกตพบว่า วิธีที่ 1 นั้นจะช่วยให้สมาชิกมีส่วนร่วม โดยได้เคลื่อนไหวอิริยาบทได้มากกว่า วิธีที่ 2 )

         1.3 ประธานนำสมาชิกพิจารณาบัตรคำตอบและการจัดกลุ่มบัตรคำตอบแต่ละบัตรให้อยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์เดียวกัน ถ้าคำตอบใดซ้ำซ้อนกันก็เลือกคำตอบไว้เพียง 1 บัตร และถ้าคำตอบใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจก็ซักถามสมาชิกให้อธิบายเพิ่มเติมว่าสมควรคงไว้หรือเอาออก หรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไรจนกระทั่งสามารถจัดกลุ่มความคิดได้

          1.4 จากนั้นสมาชิกร่วมกันสังเคราะห์คำตอบแต่ละกลุ่มสัญลักษณ์  โดยสรุปเป็น “กลุ่มความคิดขนาดเล็ก” ที่ใช้ภาษาครอบคลุมทุกคำตอบ แล้วร่วมกันสังเคราะห์กลุ่มความคิดขนาดเล็ก ที่สามารถเข้ากันได้เป็น “กลุ่มคิดเห็นขนาดกลาง” จากนั้นก็ร่วมกันสังเคราะห์กลุ่มความคิดขนาดกลางเป็น “กลุ่มความคิดขนาดใหญ่” หากเห็นว่าสามารถรวมกันได้ ก็ทำให้ได้คำตอบที่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกัน
     
      2. การพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ด้วยการระเบิดจากข้างใน

      โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมนั้น มีวิธีการที่ดีหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปร่วมรับรู้และเกิดความประทับใจ จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็นวิธีที่ผมอยากเรียกว่า "การระเบิดจากข้างใน"

 โดยมีกระบวนการย่อๆดังนี้

     2.1 ผู้มีส่วนได้เสียในโรงเรียน(คณะกรรมการสถานศึกษา, ผู้บริหาร,ครู, นักเรียน,ผู้ปกครอง,ท้องถิ่น) เห็นความสำคัญและตั้งใจอยากร่วมกันปลูกฝังคุณธรรมในโรงเรียนของตน

    2.2 จัดสัมมนาผู้แทน 3 กลุ่มภายในโรงเรียนก่อน คือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน  แล้วแต่ละกลุ่มร่วมกันระดมพลังสมองเพื่อให้ได้บัญชีพฤติกรรม 2 ประเภท ได้แก่

            2.2.1 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จะต้องไม่เห็นอีกในโรงเรียนนี้ เช่น มาสาย กลับก่อนเวลา ลอกการบ้านเพื่อน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

            2.2.2  พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในโรงเรียนนี้ เช่น การช่วยงานบ้าน การช่วยติวให้เพื่อน เป็นต้น

        2.3 แต่ละกลุ่มระดมพลังสมองต่อเนื่อง โดยร่วมกันกำหนดคุณธรรมหลักที่กลุ่มเห็นว่า จะขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และจะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จำนวน 3 คุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และจิตอาสา เป็นต้น

        2.4 แต่ละกลุ่ม(ผู้บริหาร ครู และนักเรียน) ร่วมกันกำหนดนโยบายแต่ละคุณธรรมตามบทบาทของตน เช่น คุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ ผู้บริหารอาจกำหนดนโยบายว่า "ต่อไปนี้การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส" ครูอาจกำหนดนโยบายว่า "ต่อไปนี้ครูต้องไม่เบียดเบียนเวลาราชการ" และนักเรียนอาจกำหนดนโยบายว่า "ต่อไปนี้นักเรียนจะไม่ลอกการบ้านเพื่อน"

เป็นต้น

     2.5 แต่ละกลุ่มทำแผนดำเนินการตามนโยบายที่ตนเองกำหนดไว้ในแต่ละด้าน  แล้วแต่ละกลุ่มก็ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าตนเองจะทำอะไรบ้าง และต่างลงมือปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งโรงเรียน ระหว่างปฏิบัติก็จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นระยะๆ

 2.6 การประเมินผลมีทั้งการประเมินตนเอง และเชิญบุคคล  หน่วยงานภายนอก ผู้ปกครอง ชุมชน มาช่วยกันประเมิน และสรุป แล้วถอดบทเรียนนำไปสู่การพัฒนาคุณธรรมนั้นๆให้คงทนยั่งยืน และกำหนดคุณธรรมเรื่องอื่นๆเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินการต่ออีก

      3. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง(Story telling) และสุนทรียสนทนา (Dialogue)

      เป็นกิจกรรมที่คณะอาสาสมัครได้ทดลองดำเนินการในการประชุมสัมมนาครูผู้ดูแลนักเรียนทุนโครงการกองทุนการศึกษาประจำปี 2561 ที่ชลพฤกษ์รีสอร์ท โดยดำเนินการดังนี้

3.1 แบ่งกลุ่มครูผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มละไม่เกิน 10 คน เลือกผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการนำให้เกิดการพูดคุยในกลุ่ม

3.2 ใช้กระบวนการกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง(Story telling) และสุนทรียสนทนา (Dialogue) ในประเด็นต่อไปนี้

              3.2.1 โปรดรำลึกเหตุการณ์ที่ผ่านมาในการดูแลนักเรียนทุนโครงการของท่าน แล้วเล่าวิธีการดูแลนักเรียนทุนโครงการที่ท่านรู้สึกภูมิใจและประทับใจมากที่สุดอย่างย่อๆมาสัก 1 เหตุการณ์

              3.2.2 ยังมีเรื่องอะไรอีกไหมที่ตนคิดว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้อีก และคิดว่าจะทำอย่างไร

โดยให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มผลัดกันเล่าวิธีปฏิบัติที่ตนเองภาคภูมิใจ และประทับใจ ตามหัวข้อที่กำหนด เล่าอย่างเป็นธรรมชาติ ให้เล่าเพียงประเด็นเดียวต่อหนึ่งเรื่อง(1 รอบ) เล่าให้ได้ใจความ และเล่าสั้น ๆ ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที(อาจเล่าหลายรอบก็ได้)

        ผู้เล่า เล่าเฉพาะเหตุการณ์ บรรยากาศ ตัวละคร ความคิด ของผู้เล่าในขณะเกิดเหตุการณ์ ไม่ตีความระหว่างเล่า เล่าให้เห็น บุคคล พฤติกรรม การปฏิบัติ ที่คิดว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีของตน

        ผู้ฟัง ฟังโดยไม่พูดแทรก ฟังด้วยความตั้งใจ และฟังด้วยความเข้าใจ โดยไม่เสนอข้อแนะนำใดๆ เช่น ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ เป็นต้น แต่ซักถามในลักษณะอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้เมื่อเขาเล่าจบ

   3.3 เมื่อเล่าครบทุกคนแล้ว ให้ผู้อำนวยความสะดวกแต่ละกลุ่ม ชวนสมาชิกพูดคุยว่าชอบเรื่องเล่าของใครบ้าง และคิดว่าตนเองจะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร

   3.4 เลือกเรื่องเล่าที่กลุ่มประทับใจมากที่สุดมา 1 เรื่อง แล้วส่งผู้เล่าในเรื่องนั้นมานำเสนอเรื่องเล่าที่กลุ่มประทับใจในที่ประชุมกลุ่มใหญ่
       
       แม้เป็นห้วงเวลาไม่นานนักที่ผมมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการกองทุนการศึกษา  แต่ก็พอมองเห็นปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนโครงการกองทุนการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืนว่า  นอกจากผู้บริหาร ชุมชน ท้องถิ่น เครือข่ายสนับสนุนต่างๆแล้ว  ครูน่าจะเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด  โดยนึกถึงคำกล่าวของท่านพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ที่ท่านเคยให้นิยามครูไว้ 2 ประเภทคือ “อาชีพครู” และ “ครูอาชีพ”ว่า

      “อาชีพครู คือ ครูที่ประกอบอาชีพสอนวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหารายได้กับความก้าวหน้าในอาชีพ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ด้วยการดิ้นรน ขวนขวาย ยกระดับ ปรับวุฒิตนเองให้สูงยิ่งขึ้น รองรับฐานเงินเดือนและฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น ขอบเขตงานและเวลาในการสอนจะจำกัดเฉพาะเวลาในราชการเท่านั้น

ครูอาชีพ คือ ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก ตั้งใจและพร้อมที่จะเป็นครูในทุกๆด้าน ทั้งด้านความรู้ ความประพฤติ การวางตน การเอาใจใส่ดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู อุทิศตนให้แก่การสอนอย่างเต็มที่และเต็มเวลา มิได้คำนึงถึงรายได้กับความก้าวหน้าของตนเท่ากับบทบาทความเป็นครู บางขณะเป็นทั้งพ่อ แม่ เพื่อนไปพร้อมๆกัน และมีเวลาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง”

       หลายโรงเรียนที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสรับรู้  แม้จะเป็นโรงเรียนชายขอบ ห่างไกล  ครูและผู้บริหารมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากเพียงใด  แต่พวกเขาล้วนเป็น”ครูอาชีพ” ไม่หวั่นแม้งานและปัญหาจะมีมากเพียงใด ต่างมีความสุขกับความสำเร็จของงาน  จนทำให้เกิดบรรยากาศ “ครูรักเด็ก  เด็กรักครู” นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆด้าน ทั่วทั้งโรงเรียน  ...น่าประทับใจจริงๆครับ

หมายเลขบันทึก: 663560เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2019 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท