ความสุขทางพระพุทธศาสนา



    ความสุขทางพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น  2 ประเภทคือ
   1.โลกียสุข  เป็นความสุขของปุถุชน  หรือฆราวาสผู้ครองเรือน ซึ่งยังคงพัวพันหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติและวัตถุต่างๆ 
    2. โลกุตตรสุข  เป็นความสุขของผู้สิ้นกิเลส  ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติหรืออารมณ์ใดๆเป็นความสุขของผู้สำเร็จอรหัตผลแล้ว
จะเห็นได้ว่าแม้พระพุทธศาสนาจะสอนเรื่องความสุขที่สูงกว่าเศรษฐกิจ แต่พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามโลกียสุข  ซึ่งเป็นความสุขทางเศรษฐกิจของฆราวาสผู้ครองเรือน 
ทางพระพุทธศาสนานอกจากจะยอมรับความสุขทางเศรษฐกิจหรืออามิสสุขแล้ว    ยังได้แนะนำให้รู้จักสุขอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เจือด้วยอามิส  ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการบรรเทาความต้องการและความทะยานอยากให้น้อยลง  เป็นความสุขที่เกิดจากการเสียสละ  คือแทนที่จะแสวงหาสิ่งของมาบำบัดความต้องการที่ไม่รู้จักพอ  ก็หันมาหาความสุขจากการดับความต้องการ  และแทนที่จะหาความสุขจากการแสวงหาทรัพย์ ก็หันมาหาความสุขจากการเสียสละทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์หรือช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก
     ในทางเศรษฐกิจเศรษฐีมีทรัพย์ย่อมมีความสุขมากกว่ายาจกที่ยากไร้  แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยาจกอาจมีความสุขมากกว่าเศรษฐีก็ได้  ในทางพระพุทธศาสนาผู้มีทรัพย์หรือยากไร้ อาจหาความสุขได้เท่าเทียมกัน หากรู้จักควบคุมจิตใจและความอยากของตน
     จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ให้ความสุขกว้างขวางกว่าเศรษฐกิจมาก  พระพุทธศาสนามีความสุขที่จะให้แก่คนทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะมีทรัพย์หรือยากไร้  โดยต้องมีธรรมะเป็นเครื่องป้องกันและแก้ไขมิให้จิตใจเป็นทาสของความโลภ โกรธ หลง จนเกินไป
    (ธเนศ ขำเกิด ประมวลสรุปจากหนังสือพื้นฐานวัฒนธรรมไทย  ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2555)

หมายเลขบันทึก: 663545เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2019 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2019 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท