ความเชื่อถือดั้งเดิมและศาสนาของชนชาติไทย


               

   ชนชาติไทยมีความเชื่อเดิมไม่ต่างไปจากชนชาติอื่นๆ  นั่นคือการเริ่มนับถือธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมก่อน  โดยเข้าใจว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์  คนไทยจึงนับถือธรรมชาติเพราะความกลัว  และต่อมาก็เชื่อผีสางเทวดา เพราะคิดว่าในธรรมชาติแต่ละอย่างมีวิญญาณสิงอยู่  วิญญาณเหล่านั้นคือผีสางเทวดานั่นเอง  ดังนั้นคติผีสางเทวดาจึงฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนไทย ยากที่จะลบเลือน  เพราะแม้ภายหลังที่คนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อในผีสางเทวดาก็ยังคงอยู่

      ลัทธิถือผีสางเทวดาหรือลัทธิวิญญาณนิยมที่ชนชาติไทยนับถือมี 4 ประเภทคือ

     1.การนับถือเทวดาอารักษ์  ได้แก่ รุกขเทวดา  อากาศเทวดา  เจ้าทุ่ง  เจ้าท่า  เจ้าป่า  เจ้าเขา  ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการบูชาธรรมชาติ(Nature Worship)

     2. การนัยถือผีบรรพบุรุษ(Ancestor Worship) ได้แก่ ผีปู่ ย่า  ตา  ยาย  เป็นต้น

    3. การนับถือผีวีรบุรุษ(Hero Worship) เช่น เจ้ากวนอู เป็นต้น

    4. การนับถือผีร้าย(Demon Worship) เช่น  ผีห่า เป็นต้น

    การนับถือผีสางเทวดาของชนชาติไทยมิใช่เรื่องแปลก  เพราะวิถีชีวิตของคนไทยแต่ดั้งเดิมรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านและอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ  หมู่บ้านแต่ละแห่งมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า "หอผี" เป็นที่อยู่อาศัยของผีสางเทวดา เพื่อว่าผู้คนในหมู่บ้านจะได้ประกอบพิธีบูชาในเทศกาลประจำปีหรือเมื่อมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น

      ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย  ชนชาติไทยก็รับนับถือพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล  เมื่อคนไทยรับพระพุทธศาสนามานับถือแล้วก็มิได้ละทิ้งความเชื่อในผีสางเทวดา

      ภายหลังเมื่อไทยมีการติดต่อกับชนชาติขอม ก็รับศาสนาฮินดูมานับถือด้วย  ดังนั้นความเชื่อถือของคนไทยจึงมีลักษณะที่ซ้อนกันอยู่  ประดุจรูปเจดีย์ คือผีสางเทวดาเปรียบเหมือนเป็นพื้นของเจดีย์  ถัดขึ้นไปก็เป็นศาสนาฮินดูซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และสูงสุดก็คือพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเหมือนยอดเจดีย์

       คนไทยสามารถผสมผสานความเชื่อทั้ง 3 นี้ให้คละเคล้าปะปนกันไป  การจะนับถืออย่างใดมากกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล  โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องกำหนด  สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ คนไทยรู้จักแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมให้เข้าได้กับความต้องการของตน จนในที่สุดความเชื่อทั้ง 3 ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้  จะเห็นได้ชัดในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  ตามประเพณีไทย จะมีทั้งพิธีสงฆ์  พิธีพราหมณ์ และบัตรพลีผีสางเทวดาปนกัน

  (ธเนศ ขำเกิด ประมวลสรุปจากหนังสือพื้นฐานวัฒนธรรมไทย  ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2555)

หมายเลขบันทึก: 663505เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2019 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2019 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท