การรุกรานอินเดียของชาวอารยัน


 

           ชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นบ่อเกิดของศาสนาสำคัญของโลกถึง 4 ศาสนาด้วยกัน คือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน และศาสนาซิกข์ เพราะความเป็นแหล่งอารยธรรมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมหาศาลนี้เองจึงทำให้อินเดียหรือภารตประเทศถูกรุกรานจากต่างชาติถึง 4 ครั้งใหญ่ ๆ ด้วยกัน ซึ่งชาวต่างชาติที่เข้ามารุกรานอินเดียก็จะเรียกตัวเองว่า อารยัน หรือ ชนชาติที่มีความเจริญมากกว่า 

            การรุกรานครั้งแรกเกิดชึ้นเมื่อ 1,500-1,000 ปี ก่อนพุทธกาล ชาวอารยัน ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณเอเชียตะวันออกกลาง ปัจจุบันคืออิหร่านและเรียกชนพื้นเมืองที่อยู่ในชมพูทวีปว่ามิลักขะ ในทางมนุษยวิทยาคือพวกทราวิท หรือ ดราวิเดียน เนื่องจากชาวอารยันเป็นชนเผ่านักรบจึงสามารถเอาชนะพวกดราวิเดียนที่เป็นชนพื้นเมืองได้ (หลักฐานคือการล่มสลายของเมืองหารัปปาและโมเหนโจดาโรในลุ่มแม่น้ำสินธุ) ผลดีที่เกิดจากการบุกรุกของชาวอารยันครั้งนี้คือกำเนิดของคัมภีร์พระเวทอันเป็นที่มาของศาสนาพราหมณ์ เป็นปรัชญาความเชื่อของชาวอารยันผู้ปกครองอินเดีย ในขณะเดียวกันก็มีชาวอารยันในวรรณะกษัตริย์ที่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทและได้รับอิทธิพลจากปรัชญาความเชื่อของชาวดราวิเดียน (ข้อมูลจากหนังสือ The Tree of Bodhi) ไม่ยอมรับคำสอนของพวกพราหมณ์ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ตรงกันข้ามศาสนาพราหมณ์ นั่นคือพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน เหล่านี้เป็นผลที่เกิดจากการรุกรานของชาวอารยันในยุคแรก

            การรุกรานอินเดียครั้งที่สองเกิดขึ้นในยุคหลังพุทธกาลประมาณ 150 ปี เป็นการรุกรานโดยกองทัพกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงทำสงครามเอาชนะพระเจ้าดาริอุสแห่งอาณาจักรเปอร์เซียอันเกรียงไกร พระองค์ก็นำกองทัพมารุกรานอินเดียในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เมารยะ แม้ว่าการรุกรานของพระองค์จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะตีได้แค่บริเวณที่เป็นประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดียภาคเหนือบางส่วน แต่ผลที่เกิดขึ้นในด้านอื่น ๆ นั้นมีมากพอสมควรไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่เห็นได้ชัดคือเกิดการปะทะในเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากรีกและปรัชญาอินเดีย ในพระพุทธศาสนาก็เกิดระบบความคิดที่เรียกว่าพุทธปรัชญา เกิดสำนักปรัชญา เกิดคัมภีร์มิลินทปัญหา ในส่วนที่เป็นศิลปวัฒนธรรมก็ทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปศิลปะคันธาระที่งดงามประดุจเทพเจ้ากรีก 

        การรุกรานอินเดียครั้งที่สามเกิดจากกองทัพชาวเติร์กที่ต้องการเผยแผ่อุดมการณ์ทางศาสนาของชาวอาหรับ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1500 กองทัพมุสลิมสามารถตีปากีสถานและภาคเหนือบางส่วนของอินเดียได้ แต่ไม่สามารถรุกคืบเข้ามาในภารตประเทศได้เพราะได้รับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากกษัตริย์ราชบุตร กองทัพมุสลิมต้องใช้เวลาถึง 50 ปี จึงสามารถตีอินเดียภาคเหนือทั้งหมดได้ และต้องใช้เวลาถึง 100 ปี จึงสามารถครอบครองอินเดียทั้งประเทศ ผลที่เกิดขึ้นจากการรุกรานครั้งนี้ทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม ระหว่างวัฒนธรรมเปอร์เซียกับวัฒนธรรมอินเดียอันยิ่งใหญ่ ทำให้เกิดศาสนาซิกข์ที่พยายามประนีประนอมคำสอนของศาสนาอิสลามและศาสนาฮินดู สังคมวรรณะถูกขจัดออกไป มีเพียงชนชั้นปกครองและประชาชนเท่านั้น
            การรุกรานอินเดียครั้งที่สี่เกิดจากลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษ การเข้ามาของอังกฤษทำให้การปกครองอันเข้มงวดของเจ้าผู้ปกครองชาวมุสลิมอ่อนกำลังลง ผลที่เกิดจากการรุกรานครั้งนี้ทำให้อินเดียก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเจริญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ อังกฤษนำความเจรฺิญทางวิทยาการ การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจมาสู่อินเดียยุคใหม่

         แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าอินเดียจะถูกรุกรานจากต่างชาติ 4 ระลอกใหญ่ ๆ แต่อินเดียก็สามารถปรับตัวรับเอาการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาอัตลักษณ์ตัวตน รักษาอารยธรรมอันยิ่งใหญ่เอาไว้ได้อย่างงดงาม

หมายเลขบันทึก: 663438เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2019 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2023 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท