๙๖๐. ออกแบบ..


แท้จริงแล้ว..ปัญหาและความต้องการไม่ได้เป็นเรื่องสากล คนทำงานก็ไม่เท่ากัน งบประมาณก็ไม่เท่ากัน บริบทหรือภูมิสังคมก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงไม่น่าจะคิดออกแบบการจัดการแทนกันได้

ผมชอบคำว่า”ออกแบบ”มันมีความหมายเชิงสร้างสรรค์ เกี่ยวข้องกับการวางแผนและน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับการบริหารจัดการก็ว่าได้..

การออกแบบเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนเพียงแต่เราไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัว ถ้าเราได้ดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทางตามที่เราได้ออกแบบไว้ อย่างที่เราอยากให้เป็น

ไม่ว่าจะยากดีมีจนเช่นไร ทุกชีวิตมีสิทธิออกแบบเส้นทางเดิน ฝันใกล้ไกลอย่างไร?ก็ขึ้นอยู่ต้นทุนของฐานความคิดและบริบทของชีวิตที่เป็นอยู่..

เราจะพบอยู่เสมอว่า..”ผู้พิการ”ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ ไม่รู้จักคำว่าย่อท้อต่อโชคชะตา เพราะเขาและเธอรู้จักที่จะออกแบบการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ทุกวัน..

เช่นเดียวกันกับความรัก..ไม่มีใครที่ไม่เคยออกแบบ..ความรักจึงมีความหลากหลาย ต่างกันไปตามความรู้สึกว่าจะรักแบบใด ถ้าออกแบบผิด ความรักจะกลายเป็นความทุกข์ทันที..จึงเป็นที่มาของที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

ผมคิดว่าเราน่าจะใช้คำว่า”ออกแบบ”ทางการศึกษามากขึ้น เพราะการศึกษาต้องใช้เวลาและการลงทุน ตลอดจนเกี่ยวข้องกับอีกหลายชีวิต..

ทุกวันนี้..ไม่มีสัญญาณอันใดที่ส่อให้เห็นว่า..โรงเรียน..จะออกแบบการบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่..เราต้องทำตามคำบอก..กรอกเอกสารที่เขาหยิบยื่นให้ ซึ่งเป็นแบบที่คนนอกโรงเรียนออกแบบไว้ทั้งสิ้น..

มันน่าแปลกตรงที่..แผนการศึกษาชาติและนโยบายทางการศึกษาก็มีอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องมาออกแบบให้เราเดิน เพิ่มเติมจุดเน้นมากมายก่ายกองให้เราปฏิบัติ..

ทุกเขตพื้นที่ฯและโรงเรียนในทุกภูมิภาค แทบไม่ได้คิดอะไรเลย ส่วนกลางออกแบบมาทั้งหมด ตั้งแต่คิดปัญหา แต่งตั้งคณะทำงาน จัดทำหลักสูตร ออกแบบเครื่องมือและจัดอบรมครู...ทำแบบนี้มานานมากกว่าครึ่งศตวรรษ

แท้จริงแล้ว..ปัญหาและความต้องการไม่ได้เป็นเรื่องสากล คนทำงานก็ไม่เท่ากัน งบประมาณก็ไม่เท่ากัน บริบทหรือภูมิสังคมก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงไม่น่าจะคิดออกแบบการจัดการแทนกันได้

ทุกวันนี้..ครูและนักเรียนทั่วประเทศ จับต้องข้อสอบชุดเดียวกัน อบรมเหมือนกัน ต้องทำงานที่ไม่อยากทำ ที่ต้องทำเพราะถูกบังคับว่ามันเป็น “จุดเน้น”

ผมคิดว่า..ถ้าโรงเรียนมีอิสระที่จะได้ออกแบบการบริหารคุณภาพ วันนั้นครูคงจะเดินอยู่บนเส้นทางการศึกษาได้อย่างมีความสุข..คือเดินในแบบเรา..แต่ถึงเส้นชัยเหมือนกัน

อาจเดินถึงเป้าหมายได้เร็วกว่า ประหยัดเงินและเวลามากกว่า เพราะบนถนนและสองข้างทางสวยงาม ไม่มีสิ่งกีดขวางให้คอยฉุดรั้งชั่งใจ มีเวลาเต็มที่กับการมุ่งมั่นตั้งใจ

เรามี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาที่เก่งๆ แต่ผมไม่แน่ใจว่าได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาการศึกษามากน้อยแค่ไหน..เท่าที่เห็นก็ยังคงทำงานตามสพฐ.ทุกเรื่อง

เรามีผอ.โรงเรียนที่คัดสรรแล้ว ผ่านการอบรมและประเมินประสิทธิภาพจนน่าเชื่อถือ แต่พอกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียน จะได้มีเวลาออกแบบงานบริหารได้มากน้อยแค่ไหน?

สพฐ.ศธ. ควรเปิดโอกาสให้โรงเรียนคิดสร้างงาน..แบบนักตะกร้อ.ที่ต้องออกแบบตั้งแต่วิธีเซ็ตลูก จนถึงกระโดดตบ..เพราะโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ย่อมเข้าใจงานตลอดแนว

วิธีปฏิบัติที่ดี อยู่ที่การทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ และทำให้ง่าย จนรู้สึกว่าบังเกิดผลดี ทำให้เกิดเป็นความเคยชินที่จะให้ดีต่อไป..แต่จุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบทั้งสิ้น

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๐  กรกฎาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 662825เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท