ศาสตร์พระราชา "การออกแบบและจัดการพื้นที่" (ที่ชัดเจนที่สุดเท่าทีเคยฟังมา)


คลิปด้านล่างนี้ เป็นคลิปที่อธิบายการนำศาสตร์พระราชา (ในหลวง ร.๙) มาใช้ในการจัดการพื้นที่ ได้อย่างละเอียดและชัดเจนที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมา ... ผมตั้งใจว่า จะถอดบทเรียนจากการฟังคลิปนี้ นำไปเสนอกับอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ในบทที่เกี่ยวกับ "โคก หนอง นา" เผื่อว่าท่านจะเห็นดีด้วยว่า ควรจะนำไปบรรจุไว้ในรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่

เป็นคลิปการถอดบทเรียนตนเองและถ่ายทอดโดย อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์  ผู้บุกเบิกและพัฒนาศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก 

การออกแบบและจัดการพื้นที่ มีหลักการสำคัญ ๆ ๖ ข้อ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ป่า(พืช) และคน (ผมเคยถอดบทเรียนจากคลิป อ.ยักษ์ไว้ที่นี่

๑) การจัดการดิน

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสอนว่า "ถึงแม้ว่าดินจะมีหินและทราย แต่หินและทรายมีธาตุอาหารสำหรับพืชพอสมควร เพียงแต่ไม่มีจุลินทรีย์ มาช่วยกันทำให้ดินมีจุลินทรีย์โดยการอย่างปอกเปลือกเปลือยดิน ให้ห่มดิน" ทรงมีรับสั่งเรื่องนี้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ทรงสอนว่า ให้ทำให้ดินมีจุลินทรีย์ด้วยการห่มดิน การห่มดินก็คือการคลุมดินด้วยเศษวัสดุอินทรีย์จากการเกษตร เป็นวัสดุอินทรีย์อะไรก็ได้ที่มีอยู่ตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ทางภาคเหนือปลูกข้าวโพดเยอะ ให้ใช้ซังข้าวโพด ภาคใต้ใช้กากกาฟ ทะลายปาล์มหรือใบปาล์ม ภาคกลางภาคอีสานใช้ฟางข้าว แตกต่างกันไป หรืออาจใช้เศษใบไม้ที่มีอยู่ เมื่อดินถูกห่มไว้ ไม่ให้แสงแดดเผาดิน ดินจะร้อนละชื้น เหมาะสมให้จุลินทรีย์ที่อาศัยในอากาศมาอาศัยอยู่ แบ่งตัวขยายพันธุ์กันและอาศัยอยู่ในดิน

เหตุผลที่พืชจำเป็นต้องพึ่งพาจุลินทรีย์ เพราะพืชไม่สามารถที่จะย่อยอาหารเองได้ ดินไม่ใช่อาหารของพืช จุลินทรีย์จะอาศัยอยู่ตามปลายรากของพืช ทำหน้าที่ย่อยสารอินทรีย์ต่าง ๆ กลายเป็นอาหารของพืช

(ผมแนะนำให้ดูคลิป "ชีวิตในดิน" ซึ่งผู้รู้หลายท่านใช้ประกอบในการอบรม)

ประโยชน์ของการห่มดิน ๔ ประการ ที่สำคัญ ได้แก่

  • เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ... ดังที่ได้กล่าวไป 
  • เก็บความชื้นและป้องกันการระเหยของน้ำในดิน  ... ยิ่งแล้งให้ยิ่งห่มให้หนา 
  • เมื่อสิ่งที่ใช้ห่มดินเน่าเปื่อย จะกลายเป็นอาหารของสัตว์หน้าดินที่ช่วยพรวนดินและถ่ายมูลเป็นปุ๋ย เช่น ใส้เดือน แมลงแกลบ กิ้งกือ ฯลฯ  สัตว์เหล่านี้จะกินของเน่าเปื่อย 
  • เมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุดินทรีย์จะได้ฮิวมัส ซึ่งก็คือปุ๋ยชั้นดี ปุ๋ยก็คืออาหารพืชนั่นเอง  ลักษณะของฮิวมัสจะมีสีดำ ดังนั้นจะเห็นว่าดินในป่าในที่อุดมสมบูรณ์จะเป็นดินสีดำ ซึ่งก็เกิดจากจากการย่อยสลายหินนั่นเอง

แต่ก่อนโลกเราไม่มีดิน ดินเกิดจากหิน ใช้เวลาหลายล้านปี หินจึงกลายเป็นดินหนาขึ้น ๆ นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า พลังงานที่มาจากดวงอาทิตย์ไม่ได้ศูนย์หายไปไหน (ตามกฎการอนุรักษ์พลังงาน) พืชใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสง สะสมกลายมาเป็นกิ่งก้านใบเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เมื่อสิ่งมีชีวิตตายไป ก็ถูกย่อยสลายกลายมาเป็นดิน ... โดยสรุป รากฐานของชีวิตในโลกไม่ใช่ต้นไม้ แท้จริงแล้วคือจุลินทรีย์ที่สร้างต้นไม้ ... จึงควรจะเข้าใจให้ถูกว่า จุลินทรีย์ต่างหากที่เป็นผู้สร้างโลก

ประโยชน์ของจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ มี ๕ ประการ ดังนี้

  • ช่วยตรึงในโตรเจนในอากาศ ... จุลินทรีย์ในอากาศมี ๗๘ เปอร์เซ็นต์ จุลินทรีย์บางกลุ่มจะช่วยตรึงในโตรเจนในอากาศลงมาไว้ให้เป็นอาหารของพืช  
  • ช่วยย่อยเศษซากพืชซากสัตว์ 
  • ช่วยย่อยแร่ธาตุจากหิน ลูกรัง ทราย เช่น เหล็ก สังกะสี แมงกานิส แคลเซี่ยม 
  • ช่วยสร้างฮอร์โมนให้พืช เช่น ไซโตไคนิน จิบเบอริลิน อ๊อกซิน 
  • สร้างสารป้องกันโรคพืช

อ.ปัญญา ยกตัวอย่าง ให้ลองนึกถึงความแตกต่างของสีใบพืชระหว่างการรดน้ำธรรมดาที่เราใช้น้ำในบ่อในสระหรือน้ำบาดาล กับสีของใบพืชหลังฝนตก  จะพบว่า หลังฝนตกใบพืชจะสีเขียวกว่า  เหตุก็เพราะน้ำฝนพาเอาในโตรเจนในอากาศลงมาเป็นอาหารพืชนั่นเอง

จุลินทรีย์กลุ่มราขาว จะทำหน้าที่ป้องกันโรคพืช  จะชอบสภาพดินที่เป็นด่าง ถ้าเราห่มดินรดน้ำให้ชื้นอ ทำให้ดินเป็นด่าง ราดำที่เป็นอันตรายต่อพืชซึ่งชอบสภาพดินเป็นกรดจะเข้าพื้นที่ไม่ได้  จะเกิดราขาวขึ้นทำหน้าที่เหมือทหารผู้พิทักษ์ 

ดินทุกสภาพปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการห่มดิน ทั้งดินเปรี๊ยว ดินเค็ม ดินดาน ดินหิน ฯลฯ  ยิ่งแล้งมากยิ่งต้องห่มให้หนา

๒) การจัดการน้ำ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า "น้ำฝนทุกหยด ต้องเก็บไว้ใช้" เก็บไว้ในพื้นที่ของของ ต้องจัดการพื้นที่ให้สามารถเก็บน้ำฝนได้ทั้งหมด  โดยมีหลักการคำนวณและออกแบบสระเก็บน้ำดังนี้

  • คำนวณปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ของเราในแต่ละปี  
    • ให้สืบค้นข้อมูลใน Google โดยใช้คำสำคัญว่า "ปริมาณน้ำฝน" ตามด้วยชื่อ อำเภอ จังหวัด เช่น  ปริมาณน้ำฝนที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม จะอยู่ที่ ๑,๘๒๕.๒ มิลลิเมตร/ปี หรือ ๑.๘๒๕๒ เมตร/ปี
    • เอาขนาดพื้นที่ของเราคูณด้วยปริมาตรน้ำฝน จากสูตร จำนวนไร่คูณ ๑,๖๐๐ คูณปริมาตรน้ำฝน เช่น   สมมติที่ดินที่อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม  ๑๐ ไร่ จะได้ ๑๐ คูณ ๑,๖๐๐ คูณ คูณ ๑.๘๒๕๒  เท่ากับ ๒๙,๒๐๓.๒๐๐ ลูกบากศ์เมตร/ปี นั่นเอง 
  • ประมาณการความต้องการใช้น้ำตามภูมิสังคมของตน เช่น 
    • จะทำนา ๑ ครั้งต่อปี กี่ไร่ ( ๑ ไร่ ใช้น้ำ ๑,๐๐๐ ลบ.ม.) 
    • จะปลูกผัก ผลไม้ กี่ไร่ (๑ ไร่ ใช้น้ำประมาณ ๑,๐๐๐ ลบ.ม.)
    • มีสมาชิกครอบครัว คนใช้น้ำกี่คน  (ผู้ใหญ่ ๑ คนใช้ประมาณ ๑๓๐ ลบ.ม. เด็กประมาณ ๖๕ ลบ.ม.) ถ้ามีคน ๖ คน ผู้ใหญ่ ๔ เด็ก ๒ ก็จะใช้อยู่ที่ ๖๕๐ ลบ.ม.
    • จะเลี้ยงสัตว์ ทำปศุสัตว์ เท่าใด (อาจประมาณไว้ที่ ๑,๐๐๐ ลบ.ม.)
    • มีพื้นที่มากหรือไม่ ดินมีลักษณะอย่างไร อุ้มน้ำได้หรือไม่ หากพื้นที่ไม่มากอาจต้องขุดลึก เป็นต้น 
    • ตัวอย่างที่ ๑๐ ไร่ ถ้าออกแบบตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ จะทำนา ๓ ไร่ ผักผลไม้ ๓ ไร่ อาจต้องใช้น้ำประมาณ  ๓,๐๐๐ + ๓,๐๐๐ + ๑,๐๐๐ + ๖๕๐ = ๕,๖๕๐ ลบ.ม.  ซึ่งเป็นไปได้  ไม่เกินปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ 
  • ออกแบบขนาดของสระเก็บน้ำ 
    • ออกแบบว่า สระควรกว้าง ยาว ลึก เท่าใด  โดยต้องไม่ขนาดใหญ่กว่าปริมาตรน้ำฝนที่ตกในพื้นที่  
    • ในหลวง ร.๙ สอนว่า  ๑ วัน น้ำลด ๑ เซ็นฯ คือ ในหนึ่งวันที่มีแดดร้อน น้ำจะระเหยไป ระดับน้ำในสระจะลดลงไป ๑ เซ็นติเมตร  ในหนึ่งปีมีแดด ๓๐๐ วัน น้ำจะระเหยไปลงไป ๓ เมตร  หากสระกว้างยาวมาก พื้นที่รับแดดจะเยอะ ปริมาณน้ำที่ระเหยจะมากด้วย 
    • ดังนั้น ถ้าขุด ๓ เมตรพอดี ถ้าไม่มีน้ำซับ (น้ำใต้ดิน) น้ำจะระเหยหมด ต้องขุดลึกกว่า ๓ เมตร 
    • เช่น ถ้าออกแบบที่จะขุดสระตามเกษตรทฤษฎีใหม่ในกรณีมีพื้นที่ ๑๐ ไร่ ณ อำเภอกันทรวิชัย จังมหาสารคาม ซึ่งจะเป็นพื้นที่สระน้ำ ๓ ไร่ ถ้าขุดลึก ๔ เมตร จะเก็บน้ำได้ ๓ คูณ ๑,๖๐๐ คูณ ๔ เท่ากับ ๑๙,๒๐๐ ลบ.ม.  ซึ่งส่วนใหญ่อาจระเหยไป มีน้ำเหลือใช้ประมาณ ๓,๖๐๐ ลบ.ม.  ซึ่งอาจยังไม่พอใช้ บางส่วนของสระจึงควรจะต้องขุดให้ลึก ๕ หรือ ๖ เมตร เพื่อให้มีน้ำพอใช้คือ ๕,๖๕๐ ลบ.ม. ดังที่คำนวณไว้ 
    • รูปทรงของบ่อไม่ควรเป็นเป็นเส้นตรง หรือ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม (ธรรมชาติไม่มีเส้นตรงแบบนั้น) ควรออกแบบให้มีส่วนโค้งเว้าไปมา เพื่อให้มีตะลิ่ง เพราะนอกจากจะสวยกว่าแล้ว ยังเป็นประโยชน์เป็นแหล่งอาหารและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ 

    • รูปทรงลึกของบ่อ ต้องมีชานบ่อ หรือ ชาวบ้านเรียก พักบ่อ ดังรูป เพื่อให้แสงแดดส่งถึงพื้น ซึ่งจะเกิดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นอาหารของสัตว์น้ำ แพลงตอนต่าง ๆ เช่น ไรแดง สัตว์หน้าเลน ฯลฯ 

    • ชานบ่อควรจะลึกจากคันบ่อไม่เกิน ๒ เมตร เพราะ แสงจะส่องลงไปลึกได้ไม่เกิน ๒ เมตร  
    • ชานบ่อควรจะกว้างอย่างน้อย ๒ เมตร  ฤดูแล้ง เมื่อน้ำลด สามารถปลูกผักได้ 
    • คันบ่อควรจะกว้างอย่างน้อย ๒ เมตร เอาวันปลูกผัก ปลูกไม้ผล หากมีพื้นที่มากอาจเอาไว้ปลูกป่าได้  
    • สรุปแล้วการขุดบ่อให้มีชานบ่อนี้ จะมีประโยชน์ ๓ อย่าง ได้แก่ ป้องกันการพังทลายของคันบ่อ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ  และเอาไว้ปลูกผักตอนหน้าแล้ง 
    • ควรขุดบ่อไว้หลาย ๆ ที่ ไม่ควรเป็นบ่อเดียว (ถ้ามีพื้นที่เพียงพอ) แนะนำให้ขุดบ่อหนึ่งไว้ที่สูงสุด และขุดอีกบ่อไว้ที่ต่ำสุด
  • ขุดบ่อ   ในหลวง ร.๙ สอนว่า เวลาขุดบ่อต้องตักหน้าดิน (ลึก ๕๐ เซนติเมตร) กองแยกไว้ก่อน แล้วนำมากลบหน้าดินคืนเมื่อขุดเสร็จ 
  • ป้องกันการซึมของน้ำ
    • ในกรณีพื้นที่ใด ดินไม่เก็บน้ำ เป็นดินทราย  
    • ดีที่สุดคือให้ใส่มูลสัตว์ตอนขุดบ่อ ให้รถแมคโฮบด กด คลุกเคล้า มูลสัตว์กับดินก้นบ่อเลย  
    • ดีมาก ๆ คือ ใช้มูลวัวควายสด ๆ  คนอีสานเรียก "ฝุ่น" เพราะมีเม็ดละเอียดมาก สามารถป้องกันการซึมของน้ำได้  
    • ดังมีตัวอย่างการนำมูลวัวควายสดไปใช้ในหลาย ๆ กรณี เช่น ทำลานตีข้าว ลานตากข้าว ชันตะกร้าไม้ไผ่ไว้ตักน้ำ ฯลฯ 
  • ป้องกันการพังทลายของคันบ่อ 
    • ปลูกหญ้าแฝก
    • คนสมัยก่อนปลูกตะไคร้ หรือพื้นที่จะปกคลุมดินไว้ ไม่ให้เม็ดฝนกระทบลงพื้นโดยตรง 
  • ขุดคลองใส้ไก่ เพื่อลำเลี้ยงน้ำจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่ง และรักษาความชุ่มชื้นของดิน 
๒) การจัดการลม

ประเทศไทยอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มี ๓ ฤดู ฝน หนาว และร้อน มีลมหนาวพัดลงมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีลมฝนและลมร้อนขึ้นมาทางตะวันตกเฉียงใต้  ดังภาพ 


หลักการสำคัญในการจัดการลม มีดังนี้ เช่น 
  • เวลาสร้างบ้าน บ้านควรหันหน้าบ้านรับลมฝน โดยทำชานบ้านให้ยาวเพื่อป้องกันฝนสาด ในหน้าร้อนลมจะพัดเข้าบ้านทำให้เย็นสบายไม่ร้อนมาก โดยเฉพาะถ้าทำบ่อน้ำไว้หน้าบ้าน เวลาลมผ่านจะพัดเอาความชื้นมาด้วย ช่วยเย็นสบายมากขึ้น ... ไม่ต้องเปลืองแอร์ 
  • หันหลังบ้านซึ่งไม่มีหน้าต่าง ไว้ป้องกันลมหนาว 
  • อย่าสร้างคอกสัตว์ ปศุสัตว์ อยู่ในแนวเหนือลม  โดยเฉพาะถ้าสร้างไว้ในทิศทางต้นลมหนาว กลิ่นจะมารบกวนจนทนไม่ได้ 
  • เตาเผาถ่านก็เช่นกัน ห้ามไปจัดวางไว้ในแนวต้นลมกับบ้าน 
  • ให้ปลูกดอกไม้ พืชมีกลิ่นหอม หรือกิจกรรมใดที่มีกลิ่นหอม ไว้ตำแหน่งต้นลม
  • ให้ปลูกพืชที่มีลำต้นใบ มีรสขม ฝาด เฝื่อน ซึ่งโดยมากจะเป็นไม้ป่า (ไม้ป่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ จะมรสขมจึงแข็งแรงกว่าไม้ผลจะมีรสฝาด) พืชเหล่านี้จะมีสารแทนนิน (Tannin) ช่วยป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียที่อยู่ปนในอากาศ  ถ้าปลูกพืชเหล่านี้ไว้ต้นลม คนในบ้านจะมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง 

๓) การจัดการไฟ (แสงแดดและแสงจันทร์)
แสงแดดมีผลต่อพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน พืชไร่เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด ต้องการแสงมาก พืชผักสวนครัวต้องการแสงน้อยกว่า พืชบางชนิดเกิดใต้ต้นไม้ได้ เกิดในป่าได้ ดังนั้นการออกแบบแนวการปลูกต้นไม้ หรือการกำหนดพื้นที่ปลูกป่าจึงเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็น  โดยมีหลักสำคัญ ๆ คือ  ต้องไม่ปลูกต้นไม้ตามแนวขวางตะวัน  



  • หากมีแปลงพืชไร่ เช่น ขาว อยู่ใกล้ต้นไม้ ต้องปลูกต้นไม้ให้อยู่แนวตะวันออก-ตะวันตก ดังภาพ
  • แสงจันทร์มีผลต่อการกระตุ้นการลอกคราบของสัตว์บางชนิด เช่น ถ้าจะเลี้ยงกุ้งต้องไม่ปลูกต้นไม้ในทิศแนวขวางแสงจันทร์ไม่ให้ตกลงบนบ่อกุ้ง เป็นต้น   (งูจะลอกคราบเมื่อมีแสงจันทร์ งูจะลอกคราบในเดือนข้างขึ้นเท่านั้น)
  • ถ้าไม่ได้พิจารณาตามหลักการนี้  เมื่อต้นไม้ใหญ่จนร่มเงาส่งผลกระทบ แปลงนาจะไม่ได้ผล ไม่ออกรวง ถ้าเป็นแปลงผัก ผักก็จะแคระแกร็น ไม่ได้ผล ... ต้องต้นไม้ทิ้ง ... ต้องเลือกระหว่างต้นไม้กับนา 
  • อย่าปลูกไม้ใหญ่ใกล้น้ำมาก อย่างน้อยไม้ใหญ่ให้ไกลน้ำ ๕ เมตร เพราะเมื่อไม้โตขึ้น ลมมา ต้นไม้จะล้มโค่นดินขอบบ่อทั้งหมด... เสียดายมาก
๔) การจัดการพืช (ป่า)
 
ให้ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ได้แก่ 
  • ป่าพออยู่  คือไม้เนื้อแข็งไว้สร้างบ้านหรือทำเครื่องเรือนต่าง ๆ เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ตะเคียนทอง ไม้พยุง เป็นต้น 
  • ป่าพอกิน คือ ไม้ผล หรือพืชผัก หรือไม้กินใบต่าง ๆ 
  • ป่าพอใช้ คือ ไม้โตเร็ว เอามาทำถ่าน ทำฟืน เช่น กระถิน สะเดา ฯลฯ 
  • ประโยชน์ที่สี่ก็คือ ความร่มรื่น ร่มเย็น 
๕) การจัดการคน

คือการพัฒนาคน ควรมีการศึกษาทฤษฎีให้เข้าใจในเบื้องต้น สืบค้นหาความรู้ และลงมือปฏิบ้ติ ต้องฝึกฝนฝึกตนให้มีความเพียร ขยัน อดทน ถ่อมต้น
  • ควรไปอบรมตามศูนย์ต่าง ๆ  
  • ฝึกตน ตื่นเช้า ไม่ดื่มเหล้า  ไมเที่ยวกินไร้สาระ 
  • ฯลฯ 
ท่านที่สนใจมีตัวอยางมากมายครับ สืบค้นได้ไม่ยากเลยทางอินเตอร์เน็ต ....  สำคัญคือ ต้องไปลงมือทำ แล้วค่อยมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันนะครับ 
หมายเลขบันทึก: 662750เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท