เรียนรู้ ปศพพ. ด้วยการดูคลิป ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการฟังคลิปบรรยายและคลิปรายการต่างๆ ของ "อ.ยักษ์" ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ฟังตลอดการเดินทาง ฟังทั้งกลางวันและกลางคืน ยิ่งฟังยิ่งมีพลังที่จะขับเคลื่อน ปศพพ. มากขึ้นๆ ยิ่งฟังยิ่งรู้ว่าตนเองยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" อีกมาก โดยเฉพาะภาคปฏิบัติ

ก่อนจะสรุปความเข้าใจตามสไตล์ของตนเอง  ขอแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการฟังด้วยตนเอง  ตามลำดับจากคลิปต่อไปนี้

๑) ฟังคลิปบรรยายแบบเต็มๆ ที่ท่านไปพูดที่ ม.เกษตรฯ จะรู้ว่าท่านกำลังขับเคลื่อนอะไร ขับเคลื่อนไปไหน เป้าหมายคืออะไร ให้ดูคลิปชุดนี้ เชิญครับ  (คลิปแรกนาทีที่ ๑๑.๓๐ เป็นต้นไป)

๒) ทำอย่างไร ให้ดูคลิปชุดนี้

๓) ฟัง อ.ยักษ์ สอนเรื่องข้าว ตาม ๒ คลิปนี้ครับ ... ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นลูกชาวนา  ตั้งใจว่าจะกลับไปเป็นชาวนาแบบก้าวหน้าต่อไป

๔) วิชาระเบิดจุลินทรีย์ แก้น้ำเสีย

๔) ตัวอย่างการปฏิบัติที่สำเร็จ "โคก หนอง นา โมเดล"  ฟังการจัดการน้ำตามคลิปนี้

๕) การพัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย

แนะนำเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ...  ความจริงดูมากกว่านี้มากนัก แต่เท่าที่จัดมาคือ สรุปส่วนที่ท่านอธิบายได้ดีมาก ๆ  ประทับใจ ... เสียดายที่หลายคลิปภาพไม่ชัด ...

ผมแนะนำว่า สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ควรจะทำรายวิชาที่ท่านสอนนี้ขึ้นบนระบบ MOOCs ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ ... บุญนิยมเริ่มมาแล้วทั่วโลก

Learning Reflections

หลังจากดูคลิปนี้ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่หลายเรื่อง ที่สำคัญๆ มีดังนี้ครับ ท่านบอกว่า

  • การพูดถึง ปรัชญาของเศรฐกิจพอเพียงด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ นั้น ไม่ถูกต้องนัก หลายครั้งจะทำให้ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนได้ลึกซึ้งเพียงพอ เช่น ต้องเน้น ๒ เงื่อนไข มากกว่า ๓ ห่วง  ท่านบอกว่า ๓ ห่วงนั้น เป็นเหมือนผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่เน้นไปที่ ๒ เงื่่อนไข เช่น 
    • เงื่อนไขคุณธรรม ที่สำคัญที่สุดคือ "ความเพียร" คือ การลงมือทำ คือการกระทำ  ถ้าไม่ทำ ไม่มีทางที่จะเข้าใจ เข้าถึง สิ่งที่พระองค์ทรงสอนได้  จะพูดไป คิดไป ฟุ้งไปใน ๓ ห่วงเพียงใด หากไม่ลงมือทำ ก็ไม่เข้าใจ 
    • เงื่อนไขความรู้ ต้อง รอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง สิ่งที่เป็นทักษะที่ต้องประกอบขึ้นหรือได้มากจากการลงมือศึกษา ลงมือทำให้มาก 
    • สิ่งที่พระองค์สอนนั้นกว้างขวาง ลุ่มลึกมาก ทฤษฎีใหม่นั้นมีมากกว่า ๔๐ ทฤษฎี ไม่ใช่เฉพาะ เกษตรทฤษฎีใหม่เท่านั้น 
    • ทุกอย่างเชื่อมโยงผูกสัมพันธ์กัน ดังนั้นการลงมือทำทุกสิ่งอย่างต้อง พิจารณาอย่าง "รอบรู้ รอบคอบ และ ระมัดระวัง" เช่น  การวางแผนทำแปลงเกษตร ต้องพิจารณาให้รอบด้านทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ พืช สัตว์ และ คน  
      • ดวงอาทิตย์ คือ ไฟ พลังงานทั้งหมดมาจากดวงอาทิตย์ 
      • คนสังเคราะห์แสงเองไม่ได้  รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่ได้  จึงต้องกินพืช พืชสามารถสังเคราะห์แสงสะสมพลังงานของแสงอาทิตย์ไว้ได้ 
      • สัตว์มากินพืชด้วย และถ่ายมูลหรือตายกลายเป็นปุ๋ยต่อไปให้เป็นอาหารของพืช พืชและสัตว์จึงพึ่งพาอาศัยกัน 

      • ลม ไฟ น้ำ ดิน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและจำเป็นเชื่อมโยงกันหมด  เราต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้มาก  เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้  เช่น หากจะออกแบบแปลงเกษตร ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เช่น 
        • ไฟ คือทิศทางของพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก หน้าหนาวพระอาทิตย์วิ่งอ้อมกองข้าว ฯลฯ  การปลูกพืชบังแดด บังให้บ้านร่มเย็น และการปลูกเรือนที่อยู่อาศัย ต้องคำนึงถึงทิศทางของแดด 
        • ลม  ลมหนาวพัดจากตะวันออกเฉียงเหนือลงมาตะวันตกเฉียงใต้ ลมร้อนและลมฝนพัดขึ้นจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นทางตะวันออกเฉียงหนือ 
          • ควรขุดบ่อวางน้ำไว้ทางทิศต้นลม หน้าร้อน ลมจะพัดไอน้ำผ่านเข้ามา ทำให้ชุ่มชื้นเย็น 
          • ควรปลูกไม้กันลมพายุไว้ทิศลมเข้า เพื่อป้องกันความเสียหายจากแรงลม 
          • ควรปลูกป่าไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไว้กันลมหนาวที่จะพัดเอาความแห้งแล้งเข้ามา
          • ฯลฯ

    • หลักปรัชญา(ของ)เศรษฐกิจพอเพียง เป็นคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงสอน เป็นพระราชดำริ การนำไปเผยแพร่ ต้องระวังการ "ไปดำริเอง" อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการปฏิบัติ ในหลวงก็ทรงสอนไม่ให้ติดตำรา ดังนั้น จึงอาจคิดเพิ่มเติมจนเกินแนวปฏิบัติต่างๆ ได้ แต่ต้องให้ชัดเจนว่าใครคิด  
    • ณ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ที่ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี) ท่านมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้ 
      • คติพจน์สำคัญของการทำการเกษตรคือการ "เลี้ยงดิน ให้เดินเลี้ยงพืช" หรืออีกคำคือ "คืนชีวิตให้แผ่นดิน"
      • ๙ ขั้นตอนสู่ความ "พอเพียง" ได้แก่ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น บุญ ทาน เก็บรักษา ขาย และสร้างเครือข่าย  ตามแผนภาพนี้ 

    ขอจบเท่านี้ก่อนครับ ....

    หมายเลขบันทึก: 655926เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2018 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2018 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท