ชีวิตที่พอเพียง 3472. เพราะเครียดจึงกินหวาน



บทความเรื่อง Why Do We Crave Sweets When We’re Stressed? (๑) เขียนโดยนักวิจัยสมองและโรคเบาหวาน หัวหน้าทีมวิจัย Selfish Brain ที่มหาวิทยาลัย Luebeck    ลงพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒   บอกว่าความอยากกินหวานมากับสภาพที่สมองต้องการพลังงาน   

เขาบอกว่า เด็กมีธรรมชาติชอบกินของหวาน เพราะเด็กมีสมองใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัว    จึงต้องการพลังงานไปเลี้ยงสมองมาก    และพลังงานที่พร้อมใช้คือคาร์โบไฮเดรท โดยเฉพาะน้ำตาล   

ในผู้ใหญ่ สมองมีน้ำหนักเพียงร้อยละ ๒ ของน้ำหนักตัว  แต่ใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรทถึงครึ่งหนึ่งของร่างกาย    ยิ่งเมื่อเครียด สมองจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒   เป็นเหตุให้เมื่อคนเราเครียดมักหาของหวานกิน   

มีผลการทดลองบอกว่า คนที่เครียดสมองทำงานลดลง แต่สมองจะกลับไปทำหน้าที่ปกติหลังกินอาหาร   

เมื่อคนเราหิว เครือข่ายใยสมองของทั้งสมองจะถูกกระตุ้น    และหากส่วนหนึ่งของสมองจับได้ว่า สมองขาดกลูโคส มันจะปิดช่องทางการสื่อสารจากทั้งร่างกายมาสู่สมอง     เป็นเหตุให้เวลาหิวสมองตื้อ    และคนเราจะอยากกินของหวานๆ    ทั้งๆ ที่ขณะนั้นส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้รับพลังงานเป็นปกติ   

ผู้เขียนทดลองในคน ๔๐ คน    ให้พูดนำเสนอเรื่องต่อคนแปลกหน้า ๑๐ นาที    แล้ววัดความเครียดโดยเจาะเลือดดูระดับ cortisol  และ adrenaline    และในอีกโอกาสหนึ่ง ในคน ๔๐ คนกลุ่มเดียวกัน เจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนความเครียด    พบว่าการเสนอเรื่องต่อคนแปลกหน้าสร้างความเครียดอย่างชัดเจน    เขาลองใหม่ จัดอาหารบุฟเฟ่ต์ให้แก่ผู้ถูกทดลองกินเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง    พบว่าหลังพูดเสนอเรื่อง ผู้ถูกทดลองกินอาหารคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ ๓๔ กรัม   

ความเครียดเรื้อรัง ทำให้สมองต้องการพลังงานเพิ่ม  หากไม่กินอาหาร สมองก็จะแย่งกลูโคสจากร่างกาย ที่เป็นกลูโคสสำหรับกล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน    ซึ่งจะมีผลให้หลั่งฮอร์โมนเครียดออกมามากขึ้น    นำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคซึมเศร้า     หรือมิฉะนั้นสมองก็อาจเลือกชะลอการทำงาน  ทำให้ขาดสมาธิ และความสามารถในการปฏิบัติงานลดลง   

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือลดความเครียด   สำหรับผม วิธีง่ายที่สุดคือออกกำลังแบบแอโรบิก   

วิจารณ์ พานิช  

๖ มิ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 662648เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท