ลัทธิเทวสิทธิ์กับแนวคิดธรรมราชา


             สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากกรณีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งไทยรับเอาโบราณราชประเพณีนี้มาจากอาณาจักรขอมโบราณ ประเพณีนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามคติของพราหมณ์นั้น พระมหากษัตริย์เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ พระนารายณ์หรือพระวิษณุจะอวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อปราบอธรรมและปกป้องฝ่ายธรรมะ  ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามในรามายณะ และอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะในมหาภารตยุทธ์ ดังนั้นศาสนาพราหณ์จึงถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์ที่มีพลังอำนาจพิเศษที่เกิดจากการอวตารของพระนารายณ์  พูดง่าย ๆ ก็คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่บนโลกเพื่อปกครองมนุษย์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะปกครองประเทศ เพราะพระองค์เป็นอวตารของพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า แนวคิดนี้ถูกเรียกว่าลัทธิเทวสิทธิ์ (divinity theory) ของตะวันออก ซึ่งแนวคิดนี้ออกจะตรงกันข้ามกับพระพุทธศาสนาที่ถือว่าพระราชาได้รับอำนาจอันชอบธรรมมาจากประชาชน คือประชาชนเป็นผู้เลือกบุคคลที่ทรงคุณธรรมขึ้นมาเป็นผู้ปกครองอาณาประเทศ แนวคิดนี้ถูกเรียกว่าธรรมราชา (ราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม) อาณาจักรขอมโบราณนับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน  อาณาจักรเจนละ  อาณาจักรพระนครที่สืบทอดอารยธรรมมานับพันปี ทั้งหมดเป็นรัฐที่ยึดถือลัทธิเทวสิทธิ์โดยสมบูรณ์ ดังนั้นพระกษัตริย์ของอาณาจักรเหล่านี้ทุกพระองค์ถูกยกขึ้นเป็นเทพเจ้า 

            เมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑,๘๐๐ อาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่คืออาณาจักรสุโขทัย  อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นแนวคิดการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยนั้นเป็นแบบธรรมราชา  กษัตริย์หลายพระองค์เป็นพุทธมามกะและทรงทศพิธราชธรรมไม่ว่าจะเป็นพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พระมหาธรรมราชาลิไท หลังยุคสุโขทัยอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาคืออาณาจักรอยุธยา  การปกครองของอยุธยามีทั้งแบบเทวสิทธิ์ของพราหมณ์และแบบธรรมราชาของพระพุทธศาสนา แต่จะเน้นหนักให้ความสำคัญกับลัทธิเทวสิทธิ์ของพราหมณ์   จากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ของอยุธยาถูกยกขึ้นมาให้เป็นเทพเจ้าอีกครั้ง ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นระบบแนวคิดความเชื่อแบบศาสนาพราหมณ์  แต่เมื่อพระองค์ปฏิบัติต่ออาณาประชาราษฎร์ในอาณาจักร พระองค์ทรงใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 

        จนกระทั่งอยุธยาถูกอาณาจักรพุกามของพม่าตีแตก ต่อมาจึงเกิดอาณาจักรของคนไทยในยุครัตนโกสินทร์ แนวคิดทางการเมืองของรัตนโกสินทร์ใช้ทั้งสองรูปแบบคือลัทธิเทวสิทธิ์และคติธรรมราชา แต่จะเน้นคติธรรมราชาของพระพุทธศาสนามากกว่าลัทธิเทวสิทธิ์ของพราหมณ์ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะพยายามฟื้นฟูลัทธิเทวสิทธิ์ของพราหมณ์ขึ้นมาดังจะเห็นได้จากที่ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ลัทธิเทวสิทธิ์  แต่ก็ได้รับการยอมรับคตินี้เฉพาะในกลุ่มราชวงศ์และข้าราชบริพารไม่เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มประชาชน  จนกระทั่งแนวคิดแบบธรรมราชาของพุทธศาสนาปรากฎชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระองค์ได้รับการหล่อหลอมจากพระพุทธศาสนามากกว่า ๒๗ ปี บทบาทของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นธรรมราชาปรากฎชัดเจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จนพระองค์ได้รับการขนานพระนามว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"  และยิ่งเด่นชัดขึ้นมาอีกในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ที่ทรงใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่าง ทศพิธราชธรรมมาปกครองประเทศควบคู่ไปกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ปัจจุบันเราจึงเห็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์หรือลัทธิเทวสิทธิ์เฉพาะในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น แต่ในการปกครองบ้านเมือง การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับอาณาประชาราษฎร์จริง ๆ นั้น  แนวคิดแบบธรรมราชาจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีกว่านั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 661547เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2019 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2019 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท