การศึกษาแพทย์ที่ผูกพันกับชุมชน



ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ กรุณาส่งข้อเขียนเชิงสะท้อนคิดเรื่อง Community-Engaged Medical Education มาให้    จึงนำมาเผยแพร่ต่อ ดังต่อไปนี้

ประชุมพัฒนาหลักสูตรและวิจัย Community-Engaged Medical Education (CEME) ครั้งที่ 1/2562

เมื่อวานนี้ผมได้ไปร่วมประชุมพัฒนาหลักสูตรและวิจัย Community-Engaged Medical Education (CEME) ครั้งที่ 1/2562 ที่จัดโดยคณะกรรมการอำนวยการแพทยศาสตรศึกษา กสพท. โดยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการของเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (MedResNet) และมูลนิธิส่งเสริมวิจัยทางการแพทย์ ร่วมกับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แค่ฟังชื่อผู้ร่วมจัดแล้วยาวเป็นหางว่าวเลยดูแปลก ๆ แต่หากรู้เบื้องหลังแล้วผมว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในการร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยที่ช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาแพทย์โดยเฉพาะอาศัยการวิจัยแพทยศาสตรศึกษาเป็นเครื่องมือ

ไหน ๆ เล่าแล้วก็ขอเล่าที่มาที่ไปของหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงานก่อนนะกันครับ (ผมชอบนอกเรื่องประจำ) คณะกรรมการอำนวยการแพทยศาสตรศึกษา กสพท. เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน ผมจำปีได้ไม่ชัดเจนนะครับ จากการที่ อ สุธีร์ รัตนะมงคลกุล (เจ้าพ่อ assignment ตามที่ อ วรรณดีกล่าวถึงในการประชุมครั้งนี้ สำหรับผมจะเรียกว่าเป็นจอมเจ้ากี้เจ้าการก่อให้เกิดการดีครับ) ได้เสนอกับทางเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (MedResNet) และมูลนิธิส่งเสริมวิจัยทางการแพทย์ ว่าจะไปเสนอทาง กสพท. ขอทุนสันบสนุนการทำวิจัยแพทยศาสตรศึกษา หลังจาก กสพท อนุมัติจึงเกิดเป็นคณะกรรมการอำนวยการแพทยศาสตรศึกษา กสพท. ซึ่ง ศ.กิติคุณ นพ. เฉลิม วราวิทย์เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ และท่านอาจารย์เฉลิมได้เข้าร่วมประชุมเสมือนหนึ่งเป็นคณะทำงานด้วย ท่านทำงานเหนื่อยมากจริง ๆ สำหรับงานนี้ ในคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดเดิมมีตัวแทนรองคณบดีคณะแพทย์ จาก 2-3 แห่ง ผู้อำนวยการ สบพช. ในขณะนั้น (อ. รายิน อโรร่า) และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน และมีการตั้งคณะทำงาน โดยมี อ สุธีร์ อ กฤษณะ สุวรรณภูมิ และผมเป็นคนทำงานหลัก (จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าคนทำงานหลักจริง ๆ คือ อ กฤษณะ อ สุธีร์อย่าโกรธผมนะครับที่เล่าความจริง) และภายหลังได้มีการตั้งคณะทำงานจัดการความรู้ขึ้นมามีพี่ทวีศักดิ์ นพเกษร  เป็นประธาน ได้พี่ไพโรจน์ บุญลักษณ์ศิริ และพี่นิภา หลิมรัตน์ผู้ผลักดันเรื่องงานวิจัยแพทยศาสตรศึกษาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และอ เทิดศักดิ์ ผลจันทร์ กับ อ กนกวรรณ ศรีรักษา มาร่วมงานกับคณะทำงาน 3 คนแรก คณะทำงานชุดนี้ผลิตผลงานออกไปหลาย ๆ ชิ้น เช่นการถอดความ AMEE guide เกี่ยวกับการวิจัยแพทยศาสตรศึกษา และจัด workshop วิจัยแพทยศาสตรศึกษา เล่ายาวเริ่มกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อไปเสียแล้ว

พอครบกำหนดรายงานทุนแก่ กสพท. และจะขอทุนรอบใหม่มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการอำนวยการใหม่ โดยท่านอาจารย์เฉลิมยังเป็นประธาน มีการทบทวนเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะการเผยแพร่งานวิจัยที่ทำไปแล้ว และการจะเปิดรับขอทุนวิจัยรอบใหม่จาก กสพท. ทาง กสพท. สนับสนุนวิจัยเกี่ยวกับ simulation education และ Community-Engaged Medical Education (CEME) คณะทำงานจึงคุยกันว่าน่าจะมีการจัดพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ Community-Engaged Medical Education (CEME) เพื่อหาโจทย์วิจัยด้วย พอดีกับทาง อ รายิน ที่ไปรับตำแหน่งใหม่เป็นรองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสนอว่าทาง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์มีนโยบายสร้างเครือข่ายด้านการศึกษาแพทย์อยู่แล้ว เลยเสนองบประมาณจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงเกิดการประชุมเมื่อวานที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น

เล่ามาซะนานยังไม่เข้าเรื่องเลย ขอผมไปประชุมตัดเกรดแล้วมาเล่าต่อนะครับ ขอบคุณครับ

ประชุมพัฒนาหลักสูตรและวิจัย Community-Engaged Medical Education (CEME) ครั้งที่ 1/2562 (ต่อ)

หลังจากสนุกสนานเคล้าน้ำตากับงานมาตลอดเมื่อวาน ฟื้นตัวเสร็จ ขอเล่าต่อนะกันครับ

ผมได้รับ link google drive สำหรับเอกสารประกอบการประชุมเช้าวันประชุม (https://drive.google.com/drive/folders/1payaOzm_E3abdDIwKf3Z7ucFU0463W_3?usp=sharing) จาก อ. สุธีร์ 50 นาที ก่อนที่ผมจะไปตรวจคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอก ผมเปิดออกดูและอ่านดูทั้ง 3 รายการ วิทยากรทั้ง 3 คนเตรียมตัวแบบจัดเต็มมาก โดยเฉพาะพี่ไพโรจน์ได้เตรียมเรื่องการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ Community-Engaged Medical Education และ Community-อื่นๆ Medical Education มาอย่างละเอียดมาก ผมต้องสารภาพผมต้องอ่านแบบผ่าน ๆ ในส่วนเอกสารวิจัยที่พี่ไพโรจน์ทบทวนมา แต่ได้ความรู้มากโดยเฉพาะความหมายของ Community-Engaged Medical Education ว่าจะต้องเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพของชุมชน และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการดังกล่าว ยิ่งมาฟังพี่ไพโรจน์พูดย้ำตอนบ่ายว่า CEME ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนของเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นของทุกอณูทางการเรียนรู้ (อันนี้ผมเขียนเองให้ดูอลังการ)

เอกสารของ อ รายิน สั้น กระชับ ผมมโนว่าตอน อ รายินบรรยาย น่าจะทรงพลังเหมือนทุกครั้ง ที่น่าสนใจจากเอกสารคือ การที่ อ รายินชักชวนให้คนเข้าร่วมตั้งคำถามวิจัยผ่าน 10 คำถามในการออกแบบการเรียนรู้ของ Prof. Ronald M Harden น่าสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับ อ วรรณดี ฟังอาจารย์แต่ละครั้งผมประทับใจกับลีลาอันนุ่มนวลแต่เปี่ยมด้วยพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สมกับเป็นคนเดือนตุลา (ผมโมเมหรือป่าวไม่รู้) ที่ใช้กระบวนการ transformative learning ของ Mezirow ในชีวิตและการสอนอย่างแท้จริง “สร้างความหมายใหม่ (โลกใบใหม่) แก่เรื่องราวเดิมในโลกใบเก่า” ผมอ่านเอกสารของ อ วรรณดี แล้วโอ้ เสียดายไม่ได้ไปฟังจากปากอาจารย์เอง แต่ผมโชคดีครับไปถึงตอนบ่ายโมง เดินเข้าไปในห้องประชุมของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ปรากฏว่า อ วรรณดี เพิ่งพูดไปได้ครึ่งหนึ่งของที่อาจารย์เตรียมไว้

ผมนั่งฟังอาจารย์วรรณดีพูดจนจบ ได้รับความรู้ใหม่จากโลกใบเดิม เห็นการขยับขับเคลื่อน การปะทะสังสรรค์กันระหว่างกรอบแนวคิดเดิมของแต่ละคน และการขยับขับเคลื่อนทางความคิดของแต่ละคนผ่านกระบวนการพูดคุย ผมไม่ใช้คำว่าสุนทรียสนทนา เพราะ ขอพูดตามจริง มันเป็นการสนทนาที่ไม่ได้สุนทรียะ (ตามเข้าใจของผม) แต่เป็นการสนทนาที่แต่ละคนต้องการให้ได้ตามสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ ซึ่งผมก็เห็นว่าไม่เห็นแปลก ไม่เห็นต้องทำตาม Mezirow บอกเลย พูดคุยกันแบบนี้แหละ ดูสมจริงดี ถึงแม้ไม่ใช่สุนทรียสนทนา แต่ก็ไม่ถึงขั้นตบตีกัน (อันนี้ผมพูดให้ดูเว่อร์ไปนะครับ)

พอ อ วรรณดี พูดเสร็จ อ สุธีร์ก็ให้ผู้เข้าร่วมลองเล่าเรื่องราวของสถาบันตนเอง แต่ละสถาบันไม่ว่า มข มอ แม่ฟ้าหลวง สระบุรี มทส พะเยา วพม มธ มศว (หากผมเล่าตกไปต้องขอโทษด้วย) เล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้ที่เป็น CEME ของตนเอง ซึ่งแต่ละที่มีความงดงามของตนเอง ผมได้เสนอไปว่าหากจะทำการวิจัยเรื่องนี้ อาจลองใช้ขั้นตอน research-based learning ที่ อ วรรณดีพูดถึงมาใช้ด้วยเลยก็ดี คือ ค้นหาปัญหา/ความต้องการ หาช่องว่างในการพัฒนา วางแผนแก้ไขปัญหา/อุดช่องว่าง ดำเนินการ และประเมินผล โดยเริ่มจากให้แต่ละสถาบันไปถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนของตนเอง ซึ่งผมเห็นว่าแค่ไปถอดสิ่งที่ตนเองสอน ดูการเขียนสะท้อนของผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องแล้ว จะได้ชื่นชมกับความงดงามเป็นพลังใจให้ตนเองโดยเบื้องต้นอย่างแน่นอน เรามักมองจุดเสียอันน้อยนิดเพื่อพัฒนาต่อไป จนอาจละเลยชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่มากมาย หลังจากถอดบทเรียนตนเองเสร็จแล้ว ครั้งหน้านำมาพูดคุยกันแลกเปลี่ยน ก็จะเริ่มเห็นช่องว่างที่จะนำมาทำเป็นโจทย์วิจัยได้ ครั้งที่ 2 ใครไม่มาต้องเสียดายแน่ (แอบโฆษณา tie-in)

ในระหว่างการพูดคุยมีความกระวนกระวายของผู้จัดอย่างเห็นได้ชัด บางคนอยากได้คำถามการวิจัย บางคนแค่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็พอแล้ว การตัดปิดประชุมอย่างฉับพลันทันใดทำให้ผู้เข้าร่วมอาจงงงวย แต่ผมเชื่อว่าผู้เข้าร่วมได้อะไรไปจากการพูดคุยนี้ไม่มากก็น้อย และถึงแม้ อ สีขาว จาก มทส บอกว่างง ๆ ไม่รู้จะทำวิจัยต่อหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ อ เขาทำมาดีมากอยู่แล้ว ยังไง ๆ อ เขาก็ทำต่อแน่นอน

นึกว่าจะจบแล้วลืมไป ผมแอบถามอาจารย์ที่เข้าไปตอนเช้า เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นกันด้วยการให้แนะนำตัว อ สุธีร์ เล่าอย่างชื่นชมกับแต่ละคนโดยเฉพาะ อ ชานนท์ นันทวงศ์ จากสระบุรี อย่างมาก เสียดายผมไม่ได้ฟังว่าเป็นอย่างไร และบรรยากาศตอนเช้าก็มีการบรรยายสลับกับการแลกเปลี่ยนอย่างมีสีสันจาก อ เนสินี จาก มข ถึงแม้จะเลยเวลา (ซึ่งเป็นสิ่งสมมติท่ผมยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างมาก) แต่ทุกคนก็ปลื้มปลิ่ม

เรื่องสุดท้ายที่ผมไม่มีโอกาสพูดในที่ประชุม เกี่ยวกับที่พี่ไพโรจน์และ อ รายิน ย้ำว่า CEME ไม่ใช่เฉพาะเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ครอบครัวนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าแม้แต่ช่วงเวลาที่นักศึกษาฝึกตรวจคนไข้นั้น สำหรับผมแค่ผู้ป่วยและญาติก็ถือเป็นชุมชนประเภทหนึ่ง การให้โอกาสแก่ผู้ป่วยและญาติในการร่วมตัดสินใจแนวทางในการรักษาของตนเองก็ถือเป็น CEME อย่างหนึ่งตามความคิดของผมหรือไม่

ขอบคุณสำหรับสิ่งดี ๆ ที่ทำให้เรามาพบกันครับ และขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการจัดทุกคนครับ ทำได้ดีเยี่ยมมากครับ พบกันใหม่ 4 มิย 62 ครับ.   


หมายเลขบันทึก: 661476เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2019 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2019 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท