คนไม่อยู่กับร่องกับรอย



ยังอยู่กับหนังสือ How Emotions Are Made : The Secret Life of the Brain (1) นะครับ    เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ อากาศที่บ้านผมเย็นสบาย    มีลมโชยพอดี    ผมถือ iPad mini ไปอ่านหนังสือในสนามหญ้าหน้าบ้าน    สุขใจหาใดเทียม    ทั้งบรรยากาศรอบตัว    และบรรยากาศในหนังสือที่กำลังอ่านบทที่ ๒ In Search for Emotion ‘Fingerprint’    ที่ถึงตอนสรุปว่า “อารมณ์ไม่ใช่สิ่งของ  แต่เป็นประเภทของเหตุการณ์    และอารมณ์แต่ละประเภท มีความแตกต่างหลากหลายมาก”    สะกิดใจผมอย่างแรง

ที่จริงชื่อบันทึกนี้ จงใจตั้งให้มัน “เว่อร์”    เพื่อจะบอกว่า ในหลายกรณี การ “อยู่กับร่องกับรอย” มันปิดกั้นปัญญา     นักวิจัยต้องกล้าออก “นอกรอย” หรือ “นอกกรอบ”    และวิธีหนึ่งคือ “เถียงทฤษฎี”    วิธีนี้น่าจะใช้ได้ผลดีเป็นพิเศษในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์   

ทฤษฎีต่างๆ มักสร้างขึ้นโดยใช้หลักการ reductionism    คือ “กลั่น” เอาไว้เฉพาะ “แก่น” เอา “องค์ประกอบ”  หรือ “บริบท”  ออกไปหมด   คนที่ติดหรือยึดมั่นถือมั่นกับทฤษฎีจึงมักเป็นคนแคบ    คนเราต้องกล้าและหมั่นเถียงทฤษฎี จึงจะประเทืองปัญญา ยิ่งเป็นนักวิจัย ยิ่งต้องกล้าเถียง

ไม่ใช่เถียงแบบเอาสีข้างเข้าถูนะครับ    Lisa Feldman Barrett บอกว่า    ท่านเถียงโดยใช้ meta-analysis    แต่คนก็ไม่เชื่ออยู่ดี    เพราะมันไม่ตรงกับความเชื่อเดิม

Meta-analysis คือวิจัยซ้อนวิจัย    สมัยนี้มีผลงานวิจัยมากมาย    จะทำวิจัยเรื่องอะไรต้องค้นความรู้เดิมของโลกเสียก่อน    จะได้ไม่ทำวิจัยตอบโจทย์ที่โลกมีความรู้ชัดเจนแล้ว    ซึ่งจะเปลืองชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์    จึงต้องเริ่มการวิจัยด้วย systematic review   ตามด้วย meta-analysis

ผมเคยเผชิญความกดดันด้วยคำถามแบบ reductionism ในศาล    และเคยเล่าในที่ต่างๆ หลายครั้งหลายโอกาส    เพื่อจะบอกว่า การเรียกร้องเอาเฉพาะ “แก่น” ความจริง นั้น    มันนำมาสู่ “ความจริง” ที่ลำเอียง หรือไม่ครบถ้วน    ในชีวิตจริง  “ความจริง” มันซับซ้อน   ใส่แว่นสีเดียวมอง ไม่เห็นความจริงทั้งหมด   

ราวๆ ๓๐ ปีมาแล้ว ผมไปขึ้นศาลที่จังหวัดสงขลา ในฐานะพยานโจทย์    ฟ้องบริษัทรับเหมา     ถึงคราวพยานจำเลยซักค้าน    เขาตั้งคำถามว่า “.............. ใช่หรือไม่”     ผมนึกในใจว่า คำตอบคือใช่    แต่มันมีความจริงส่วนที่ไม่ใช่อยู่ด้วย    ตอบว่าใช่ก็ได้ แต่ก็มีส่วนที่ไม่ใช่อยู่ด้วย    ถ้าตอบว่าไม่ใช่ มันก็มีส่วนที่ใช่อยู่ด้วย    และถ้าตอบว่าใช่มันให้ประโยชน์จำเลย    ถ้าตอบว่าไม่ใช่มันให้ประโยชน์แก่โจทย์    เรื่องแบบนี้มันซับซ้อน ต้องอธิบาย    ผมก็เริ่มอธิบาย    ทนายขัดจังหวะทันที  “คุณหมอฟังคำถามเป็นหรือเปล่า  ผมให้ตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ เท่านั้น”    แถมผู้พิพากษายังสำทับมาอีกว่า "เอ้า คุณหมอตอบ"

เทพยดาดลใจ (คนมีบุญก็อย่างนี้แหละ) ให้ผมตอบทันทีว่า “ใช่ครึ่งหนึ่ง”    ทนายแสดงท่าทีโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง    และร้องว่า ใช่ครึ่งหนึ่งมีด้วยหรือ    ผมจึงตอบว่า จะให้ผมอธิบายไหม    ผู้พิพากษารีบตอบ “เอ้า คุณหมออธิบาย”     เป็นโอกาสให้ผมได้บอก “ความจริงทั้งหมด” แก่ศาล

ผมมาคิดได้ทีหลังว่า ทนายพยายามตะล่อมให้พยานบอก “ความจริงบางส่วน”  เฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ลูกความของตน แก่ศาล    

ในฐานะมนุษย์ ที่มีนิสัยตรงไปตรงมา (แม่บอกว่า ผม ‘เหลาซิก’ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม  เป็นคนตรงไปตรงมา)    ผมคิดว่าในการให้การในศาล ผมต้องให้ "ความจริงทั้งหมด" แก่ศาล     ไม่ใช่เลือกให้เฉพาะส่วนที่มีคุณแก่ฝ่ายโจทย์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ผมเป็นพยานโจทย์          

มีคนเล่าให้ผมฟังภายหลังว่า รศ. ดร. หริศ สูตะบุตร อดีตอธิการบดี มจธ.  ซึ่งมีส่วนอยู่ฝ่ายจำเลย ไปนั่งฟังการเบิกพยานในวันนั้นด้วย     และกลับมาบอกใครต่อใครว่า  “ไอ้หมอวิจารณ์มันตรงไปตรงมาจริงๆ”    เป็น เกราะบัง ให้ผมไม่โดนท่านโกรธรุนแรง เมื่อผมเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์คัดค้านการให้ทุนส่งคนไปเรียนปริญญาเอกโทในต่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงขีดความสามารถภายในประเทศ  และคุณค่าต่อการยกระดับวิชาการของประเทศ  ที่ท่านมีส่วนสำคัญ        

 บันทึกนี้ เขียนแบบ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย”  ตามชื่อบันทึก    เพราะตั้งใจเล่าเรื่องการอ่านหนังสือ  และเรื่องวิจัย    กลับลงท้ายที่การไปขึ้นศาล    เพราะมันเป็นคนละเรื่องดียวกัน    คือ เล่าเรื่องของความซับซ้อน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๖๒
      

หมายเลขบันทึก: 660830เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2019 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2019 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท