ระบบนิเวศน์การศึกษา



บ่ายวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลทิศทางการดำเนินงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒  ที่ สกว.   

สาระหลักของการประชุมคือการสะท้อนคิดกระบวนการเรียนการสอนแบบเพาะพันธุ์ปัญญา โดยครูที่ผ่านการต่อสู้ หรือผ่านการดำเนินการขยายผล จำนวน ๕ ท่าน กับเรื่อง PLC Online   แต่บันทึกนี้จะเล่าเฉพาะเรื่องที่เชื่อมโยงกับ การสะท้อนคิดของครู พพปญ. ๓ ท่านที่ผมได้ฟัง (ผมออกจากที่ประชุม ๑๕.๔๐ น. เพื่อกลับไปดูแลภรรยาซึ่งป่วย) 

ท่านแรกคือ ครูสุรีย์พร เย็นสนิท แห่งโรงเรียนศาลาตึกวิทยา  จ. นครปฐม   ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง - เล็ก อยู่ในชุมชนไร่อ้อย    เข้าร่วมโครงการ พพปญ. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖   และร่วมกับผู้อำนวยการในปี ๒๕๖๐ จัดการเรียนรู้แบบ พพปญ. บูรณาการ ๕ หน่วยสาระในปี ๒๕๖๑   โดยครูใหญ่จัดให้มีคาบ PLC ครู และจะจัดบูรณาการทั้ง ๘ หน่วยสาระในปี ๒๕๖๒   จะเห็นว่าโรงเรียนนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน  ต่อยอดจากโครงการ พพปญ.  

ท่านที่ ๒ ครูทิพวัลย์ สัจจาพันธุ์  โรงเรียนสามบ่อวิทยา  อ. ระโนด  จ. สงขลา    เป็นครูที่ต้องต่อสู้กับระบบที่แข็งตัว    โดยดำเนินโครงการ RBL แยกออกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ    มักต้องทำกิจกรรมนอกเวลา    โดยครูทิพวัลย์ต้องรับผิดชอบดูแลเด็กและส่งเด็กกลับบ้าน    และหลายครั้งต้องออกเงินค่าใช้จ่ายเอง    เข้าร่วมโครงการ พพปญ. มาตั้งแต่ต้น คือปี ๒๕๕๖   จึงเห็นผลชัดเจนว่าเด็กที่ผ่านการเรียนแบบนี้มีภาวะผู้นำ คิดเป็น มีความสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก   ทั้งพ่อแม่และครูเห็นพ้องกันว่ามีผลดีต่อเด็กมาก    ตัวผู้อำนวยการโรงเรียนเองบอกว่า การเรียนแบบ พพปญ. เท่านั้นที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนแบบศตวรรษที่ ๒๑ ได้     ฟังแล้วเห็นชัดเจนว่าการต่อสู้ของครูทิพวัลย์กำลังจะนำไปสู่การขยายผลทั้งโรงเรียน

การขยายผล RBL แบบ พพปญ. ออกไปทั่วทั้งโรงเรียนได้จากการนำเสนอของครูมนัสวี อุตรภาศ  โรงเรียนท่าฉางวิทยา สุราษฎร์ธานี ที่เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก   นักเรียน ม. ต้น ๑๕๙ คน  ม. ปลาย ๗๙ คน   ครู ๑๗ คน  ผู้อำนวยการ ๑   ใช้ RBL หนึ่งกิจกรรมโครงงาน ได้คะแนนทุกวิชา    ทำให้นักเรียนชอบมาก เพราะภาระการเรียนลดลง และเรียนสนุก    ที่ทำเช่นนี้เพราะผู้อำนวยการ เข้ามาใช้ภาวะผู้นำเอง   

ผมไม่ได้อยู่ฟังเรื่องของครูมนัสวีจนจบ   แต่ก็คิดว่านี่คือกรณีตัวอย่างที่น่าจะมีการเข้าไปหนุน    เพราะการทำหนึ่งโครงงาน ได้คะแนนทุกวิชา เป็นเรื่องท้าทายมาก    หากทำได้สำเร็จ   พิสูจน์ผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จริง    จะเป็นการค้นพบวิธีการที่เป็นนวัตกรรมซ้อนนวัตกรรม  

ระบบนิเวศน์ในโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของศิษย์ คือ ผู้อำนวยการทำตัวเป็นผู้นำเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก   ทั้งสามโรงเรียนที่กล่าวถึง มีระบบนิเวศน์นี้             

วิจารณ์ พานิช        

๑๔ ก.พ. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 660550เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2019 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2019 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this good news.

I hope we can hear more of this development in education —งเห็นผลชัดเจนว่าเด็กที่ผ่านการเรียนแบบนี้มีภาวะผู้นำ คิดเป็น มีความสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ทั้งพ่อแม่และครูเห็นพ้องกันว่ามีผลดีต่อเด็กมาก—

I believe that ‘knowledge society’ is based on these qualities ภาวะผู้นำ คิดเป็น มีความสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท