ออร์เคสตร้า มอ.ว.


ครั้นเมื่อวาทยากรเดินขึ้นมาบนเวที เค้าหันหลังให้ผม แน่นอนล่ะ เค้ากำลังจะเริ่มงาน

เสียงเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ค่อยๆดังขึ้น ผมลุกขึ้นยืนพร้อมๆกับคนอื่นในหอประชุม ภาพบนจอใหญ่หน้าเวทีเป็นภาพของในหลวงรัชกาลที่เก้าและสมเด็จพระราชินีของท่าน ผมยืนด้วยใจสงบนิ่งระลึกถึงพระองค์พลางพร่ำบ่นในใจ “คิดถึงเหลือเกิน”

ผมหลงใหลในเพลงสรรเสริญพระบารมีมานาน นานตั้งแต่จำความได้ด้วยซ้ำ ฟังเมื่อครั้งยังเด็กก็เพราะถูกสั่งให้ยืน บังคับให้ร้องให้เป็น คือว่ารองจากเพลงชาติก็เพลงนี้นี่แหละ

แต่มันยังไงล่ะ ไม่อินสักนิด ถูกร้องเพราะครูสั่ง

เมื่อโตขึ้นกลับรู้สึกได้ว่า เพลงมันเพราะ ไม่รู้สิ มันเพราะจริงๆนะ บางครั้งผมเลือกที่จะฟังเสียงเครื่องดนตรีเฉพาะตัว เช่น อยากฟังท่อนที่มีเสียงทรัมเป็ต (แยกได้ด้วยเหรอวะ) แต่ว่าก็ว่าเถอะ คือในเมื่อมันเพราะทั้งเพลง ผมจึงเลือกฟังเป็นจุดๆ ช่วงๆ เพื่อหาสุนทรีย์เฉพาะตน และที่ผมลุ้นและหัวใจพองโตทุกครั้งคือ การตีกลองแต๊ก และฉาบ ในเพงนี้

แต๊ก แต๊ก ตะแร็ก แตร๊ก แตรรรรร๊ก

หูย...มันสุดยอดมาก

ผมเชื่อว่า ในท่อนนั้น กลองแต๊กเป็นพระเอกจริงๆ เพราะมันเด่นอยู่เครื่องเดียว แล้วมาเพิ่มเสียงฉาบเข้าไปอีก ทำให้เพลงมันอลังการเพิ่มขึ้นอีกมาก

..............…......

“พ่อ จ้าต้องไปรำในงานแสดงออเคสตร้าของโรงเรียนด้วย” ช่วงเย็นของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าลูกสาวคนเล็กได้แจ้งข่าวนี้กับเรา

สำหรับผมก็คงรู้สึกเฉยๆ แต่เจ้าตัวดูภูมิใจตัวพองจนคับรถ

“จากนี้ไป จ้าคงต้องซ้อมบ่อยมากนะพ่อ บางวันอาจจะได้กลับบ้านหกโมง” นั่นคือแผนกิจกรรมที่ดูเหมือนกับการมีความรับผิดชอบต่องานสูงมาก ผมหัวเราะในใจ อันที่จริงก็ภูมิใจในตัวลูกมากเหมือนกันนะ ไม่ได้ภูมิใจที่ลูกต้องมาแสดง แต่ภูมิใจที่ลูกได้รับรู้ถึงความสุขที่ได้ร่วมงานส่วนรวม

ข่าวเรื่องการฝึกซ้อมและกิจกรรมในช่วงซ้อมนั้น มันถูกปล่อยออกมาเรื่อยๆ ดูเจ้าตัวมีความสุขมากทุกครั้งที่ได้เล่าแล้วมีคนฟัง

“จ้าต้องรำเพลงกระต่ายเต้นกับพม่าเขวนะพ่อ” 

โปรดเชื่อเถิด ว่าหลังจากนั้น ผมก็ต้องฟังไอ้สองเพลงดังกล่าวบ่อยมาก บางครั้งก็มีท่ารำถูกปล่อยออกมาเป็นชุดๆ บางทีก็มีคลิปที่เธอนำมาให้ดู

........................

เมื่อคืนครับ วันคือวันที่ ๑๙ มค ๖๒ ผมและแม่ของเธอจึงได้มาดูลูกแสดงจริงๆสักที หลังจากเห็นเป็นส่วนๆมานานราวเกือบ ๔ เดือน

เค้ามีชื่องานว่า “The 4th PSU WIT Orchestra วิพิธทัศนา มอ.ว.พาเพลิน สืบสานศิลปวัฒนธรรม” 

มันจะยาวไปไหนนักหนา แต่นะ มันก็ชัดเจนดีในความหมาย “วิพิธทัศนา คือการแสดงที่หลากหลายถูกนำมาแสดงไว้ที่เดียว” ครูอธิบายความหมายให้ฟัง

หลังจากเปิดการแสดงด้วยเพลงสรรเสริญฯแล้ว ตามขนบธรรมเนียมอันดีงามของสยามประเทศ ก็คือการกล่าวเปิดงานของผอ.โรงเรียน

ผมนี่นั่งฟังจนเคลิ้ม ครูใหญ่คงเป็นอย่างนี้ทุกคนในประเทศไทย

พิธีกรในงานคือครู ๒ ท่าน ซึ่งทำงานได้เข้าขากันดี จะมีตกหล่นก็จะมีคนคอยเก็บมุกให้ นั่นคือเจ้ากลองชุดตึ่งโป๊ะ ที่มันคอยแซวอาจารย์เหมือนตลกคาเฟ่ น่ารักดี

“พ่อรู้มั้ย นักดนตรีหลายคน ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อนเลยนะพ่อ” เธอเคยบอกเมื่อครั้งก่อนนู้น

“เฮ้ย จริงดิ แล้วครูจะเอาอยู่เหรอลูก แบบว่ามาหัดเล่นในงานแสดงหลักที่เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียนเลยเนี่ยนะ” ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ และทำให้คิดไปว่า การแสดงดนตรีของโรงเรียนน่าจะกระหร่องก๊องแก๊ง เพราะพวกเค้ามีเวลาแค่ ๔ เดือนเท่านั้นเอง

แต่เอ๊ะ ก็ในเมื่อเพลงสรรเสริญฯเมื่อครู่มันทำให้ผมตาชื้นกลืนน้ำตาด้วยความตื้นตันได้ งานนี้ผมคงคาดเดาอะไรบางอย่างผิดไปแน่ๆ

แล้วก็มาถึงการแสดงชุดแรก

หึหึ ชุดนี้เป็นของนางเอกของผม

เธอมาอยู่ข้างเวทีใหญ่แล้ว ทำหน้าเหมือนเด็กมองหาพ่อแม่ในทีวี แล้วลุ้นว่าพ่อแม่มาไหม นั่นไง เธอเห็นเราแล้ว สีหน้าโล่งใจถูกแสดงให้พ่อมันเห็นอย่างไม่ปิดบัง

“กระต่ายเต้น”ต่อด้วย “พม่าเขว” ที่ฟังยังไงมันก็คือ ช้างช้างช้าง น้องเคยเห็นช้างรึเปล่า นั่นเอง และจบด้วย “พม่ากลองยาว”

เจ้าจ้าแต่งตัวชุดไทยสีม่วงแขนยาว มันตัวเล็กนิดเดียว จึงถูกจับให้อยู่หน้าสุด ปากแดงแจ๋ง แต่เจ้าตัวยิ้มไม่สุด

“คุณหมอ ลูกคุณหมอยิ้มสวยมาก ยิ้มที่ไม่เหมือนใคร” คุณแม่ท่านหนึ่งที่ดูในรอบบ่ายบอกมา แต่อย่างไอ้ที่เห็น มันยิ้มสวยยังไงวะ

“จ้ารำคาญลิปสติกมากเลยพ่อ มันเหนียว ลิปตลาดแบบนี้ จ้าแหยะมาก” อ้าว เป็นงั้นไป เธอบอกเมื่อเสร็จการแสดง แต่เอาเหอะ มันก็ยังเป็นยิ้มสวยๆ ถึงแม้บางทีจะดูเหมือนสาวญี่ปุ่นหน้าขาวสวมกิโมโนแล้วทาปากให้ดูหดเล็กเหลือเพียงติ๊ดเดียวก็ตาม

ผ่านไปได้ด้วยดี เพลงไทยที่ถูกนำมาเล่นด้วยวงออเคสตร้าที่มีคนร่วมเล่นราวเกือบ ๒๐๐ คนบนเวที มันถูกปรุงแต่งให้ออกมาได้อย่างงดงาม

ในช่วงรอยต่อของเพลงพม่าเขว จู่ๆก็มีการนำจะเข้ขึ้นเวที แล้วครูกฤษฎิ์ ครูดนตรีไทย และยังเป็นครูประจำชั้นน้องจ้า ก็บรรเลงไปพร้อมกับวงใหญ่นั่น มันพีคมากในสายตานักดนตรีไทยอย่างผม (เอ๊ะ...)

ทึ่งครับ ผมประเมินความสามารถของพวกเขาต่ำไปนิด 

..............................

ก่อนหน้าที่จะมีการแสดงของเมื่อวานนั้นไม่นานนัก สมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ ได้เสด็จมาทรงงานในเขตภาคใต้ตอนล่าง และพระองค์มีหมายกำหนดการในการเสด็จมาที่ศูนย์ประชุมด้วย 

“พ่อ วงออเคสตร้าได้แสดงถวายด้วย จ้าลุ้นมาก ว่าเค้าจะเลือกการแสดงชุดของจ้าด้วยมั้ย” เสียงเธอตื่นเต้นสุดชีวิต

“ลูกอย่าตั้งความหวังไว้มากเกินไปนะลูก พระองค์เสด็จมา ใครๆก็อยากแสดงถวายทั้งนั้น” แต่อันที่จริงพ่อก็ลุ้นนะ

แล้ววันหนึ่งเมื่อเธอขึ้นมาบนรถ

“พ่อจ๋า จ้าขอกรี๊ดหน่อยนะ” แล้วเธอก็กรี๊ดออกมาเสียงดัง

“พ่อรู้มั้ย ชุดการแสดงของจ้าถูกเลือกด้วย ทำไงดี จ้าดีใจจนไม่รู้จะบอกยังไงแล้ว”

ผมก็ได้แต่หัวเราะ เพราะนี่คืออาการปกติของเจ้านี่ 

แต่เมื่อเราขับรถออกจากโรงเรียนไม่ทันจนพ้นประตูของมหาวิทยาลัย เธอก็ดูเงียบไป

“พ่อ เมื่อกี๊ครูไลน์มาบอกว่า เค้าไม่เอาแล้ว มีโขนของมหาวิทยาลัยมาแสดงแทน เค้าทำอย่างนี้ทำไมอ่ะพ่อ” แล้วลูกสาวตัวน้องของผมก็นั่งมองออกไปนอกรถ ไม่พูดไม่จาอีกเลยจนกระทั่งถึงบ้าน

........................

การแสดงในชุดที่สองเริ่มขึ้น

ชุดนี้เป็นการร้องเพลงจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส 

พี่เปียโน ประธานนักเรียนคนเก่งออกมาร้องเป็นคนแรก เสียงดี ทุ้มนุ่มหู

พี่น้ำหวาน คนนี้ทั้งสวย ทั้งเสียงเต็มออกแนวสาว 

พี่หลุยส์ หนุ่มร่างเล็ก รายนี้ทำเอาผมแทบคลั่ง เพราะเสียงเค้าใส กังวาน และมีลูกเอื้อนระดับเทพ

ชุดนี้จบด้วยครูมาร้องเพลงสัญญากาสะลอง

........................

“พ่อ นักแสดงลีลาศขาดไปคนนึง ครูเลยบอกให้จ้ามาเต้นในชุดนี้ด้วย” วันหนึ่งในช่วงราวเดือนพฤศจิกายน เธอได้แจ้งข่าวนี้ให้ผมทราบ

“แล้วลูกจะเปลี่ยนชุดทันเหรอครับ” เพราะแต่ละชุดท่าทางจะรุงรัง

“ทันนะพ่อ เพราะมีช่วงรอยต่อ ครูยืนยันว่าทัน” นั่นคือประโยคบอกเล่า พ่อคงเป็นเพียงผู้ฟังและเก็บเกี่ยวความสุขรายทาง

“พรหมลิขิต ชื่นชีวิต และสุขกันเถอะเรา” เพลงที่พ่อผมได้ฟังตอนแกหนุ่มๆ ใครนะ ช่างเลือกเพลงมาให้เด็กๆแสดง ช่างใจร้ายนัก 

ผมนึกขำกับความคิดของตัวเอง ทำไมมันจึงชอบปรุงแต่งอะไรไปเสียมากมาย

“จ้าต้องฝึกเต้นบิกิน หนึ่ง สอง สาม ชิด” เธอทำท่าให้ดู

“พ่อช่วยซ้อมให้เอามั้ย พ่อน่ะเต้นเก่งมาตั้งแต่ประถมนะ เป็นคู่เต้นกับครูเลยล่ะ” ผมคิดถึงคุณครูจาระนัย ครูแสนดุที่ชอบเรียกผมไปเป็นคู่เต้นรำในคาบเรียนเมื่อชั้นป.๖

“ซีเรียสนะพ่อ พ่อจะรู้ได้ยังไงว่าจ้าเต้นแบบไหน” ฮั่นแน่

“เฮ้ย บิกินน่ะ อยู่ในเลือด ลูกส่งมาพ่อรับได้หมด” แล้วเธอก็หัวเราะออกมา

“ตอนเรียนหมอปี ๑ อยู่ พ่อก็ลงเรียนลีลาศนะลูก ตอนนั้นพ่อต้องเต้นคู่กับแม่ด้วย” จ้าหันหน้ามามอง และผมก็เพียงยักไหล่ส่งกลับไปให้

................

การแสดงในชุดที่สามก็คือ “ลีลาศ” โดยมีเจ้าจ้าสวมชุดกระโปรงป่องๆ พองๆ สีขมพูหวานเจี๊ยบ

มันพริ้วน่าเอ็นดู รอบนี้เธอเผลอยิ้มออกมาสวยพริ้ง แต่เมื่อปากเริ่มเหนียวก็จะทำท่ายิ้มปากจู๋เช่นเดิม

“พ่อว่าคู่เต้นของจ้ามันโชคดีนะแม่” ผมกระซิบ

ตัวมันเบาหวิว เวลาท่าที่ต้องมีการยกตัว เจ้าหนุ่มนั่นยกลูกเราได้อย่างสบายเลย

ผมมองไปทางด้านหลังของเวที ทางด้านมุมซ้ายนั้น เป็นที่ยืนของเหล่าบรรดาคอรัสชายหญิงหลายคน 

ผมนึกไปถึงคลิปที่น้องจ้าเอามาให้ดูในช่วงที่ฝึกนักร้องกลุ่มคอรัสกลุ่มนี้

มันน่ารักมาก เพราะบางคนไม่เคยแสดงแบบนี้มาก่อน เพียงแค่หากคิดว่าเสียงดีและครูเห็นว่าเสียงดีจริง พวกเขาจึงได้มาเป็นคอรัสอยู่ในวันนี้ ที่ผมขำมากก็คือ ในช่วงฝึกซ้อมนั้น บางคนยังไม่สามารถเต้นให้เข้าจังหวะเลยด้วยซ้ำ 

เฮ้ย ในการแสดงจริง พวกเขาดูดีมากๆ

.......................

ในวันซ้อมใหญ่คือคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

“พ่อมารับจ้าทุ่มนึงนะ กลับบ้านไปอาบน้ำ แล้วจ้าจะต้องมานอนที่โรงเรียน”

“ทำไมต้องนอนที่โรงเรียนล่ะลูก” ผมยวน

“ก็ต้องแต่งหน้าไง” เธอบอก

“แม่ก็แต่งได้” อันที่จริงก็ให้มานอนนั่นแหละ เพราะลึกๆแล้ว การนอนที่โรงเรียนกับพี่ๆเพื่อนๆนั้น มันสนุกกว่านอนที่บ้านอย่างเดียวดายนัก

“พ่ออออออ” นั่นคือเสียงที่เธอใช้ตัดบท

และค่ำนั้น ผมก็ไปรับลูก และมีสาวน้อยอีกคนขอติดรถมาอาบน้ำที่บ้านด้วย เพราะบ้านเธออยู่ที่สงขลานู่น

เมื่อถึงเวลาไปส่งลูกกลับโรงเรียน เวลานั้นก็ล่วงไปราวสามทุ่มเกือบครึ่ง ผมมีสาวๆอยู่ในรถจำนวน ๕ คน พวกเธอเป็นเด็กม.๑ ถึง ๓

การแสดงที่ถูกจัดขึ้นนี้ มันเป็นการรวมเด็กในชั้นต่างๆ มาให้ทำงานด้วยกัน คละพี่คละน้อง ดังนั้นเจ้าจ้าจึงมีเพื่อนรุ่นพี่เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย

“พวกเราไม่อยากให้ผ่านวันพรุ่งนี้ไปเลย” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมา

“เอ๊า ทำไมล่ะลูก” เอาเป็นว่า ในรถนี่เป็นลูกสาวของผมทุกคน

“ก็ซ้อมกันมาตั้งแต่ตุลาคม หลังจากแสดงครั้งนี้ก็จะไม่มีการซ้อมแบบนี้อีกแล้วค่ะ มันเศร้า” เธอคนนั้นตอบ

เออ จริงสิ 

ในเมื่อลูกเราสนุกและมีความสุขล้นเหลือเสียขนาดนั้น เด็กคนอื่นๆก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกันมั้ง ผมคิดเอาเอง

......................

การแสดงในชุดที่ ๔ เป็นการร้องเพลงสากลครับ

เป็นคิวของพี่แพรว พี่วีซ่า และเบรน เจ้า ม.๑ ที่ตัวเล็กจิ๋ว (เมื่อเทียบกับพี่ๆบนเวที)

How do I live เพลงนี้ผมชอบมาก เพราะเป็นเพลงที่ผมเลือกใช้ในวันแต่งงานเมื่อ ๒๑ ปีกับอีก ๒ เดือนเศษที่แล้ว

เสียงของสาวน้อยทั้งคู่เมื่อร้องเพลง Too much heaven มันทำให้ผมใจระรัว 

อย่างแรกเป็นเพราะว่า เพลงนี้มันติดหู อย่างที่สองคือการประสานเสียงของทั้งคู่มันเด็ดดวง 

มาปิดท้ายด้วย Set fire to the rain ที่เบรนทำออกมาได้อย่างลงตัว เป๊ะมาก

...................

“จ้าตื่นยัง” ผมส่งข้อความไปหาลูกราว ๗ โมงเช้า

“ตื่นแล้ว เมื่อคืนแทบไม่ได้นอน มันตื่นเต้นมากเลยพ่อ” ว่าแล้วเชียว

“เดี๋ยวก็หน้าสดตายเลยลูก ไม่ได้นอน แล้วมันจะสดชื่นตรงไหน” ผมตำหนิไปก่อน

พวกเค้ามีกำหนดในการซ้อมใหญ่ตอน ๘ โมงเช้าเป็นรอบสุดท้าย จากนั้นเราจะติดต่อกันไม่ได้ไปอีกจนกว่าจะถึงเวลาพักจากรอบการแสดงช่วงบ่ายแก่ๆ

“พวกจ้าดีดมากเลยพ่อ”

“หือ..ดีด” ผมงง

“แบบว่ามันรื่นเริงมากเลย สงสัยผัดเครื่องแกงเค้าใส่กัญชานะพ่อ” แหม่ นะ ทำยังกะมันเคยกินมาก่อน

...................

การแสดงชุดสุดท้ายคือการร้องเพลงไทย แต่อายุเขยิบขึ้นมาทันสมัยนิดหนึ่ง แบบของนีโน่ ของพี่เบิร์ด 

ผมนี่ขำ มันบอกรสนิยมคนเลือกเพลงชัดๆ

แต่เค้าทำออกมาได้โมเดิร์นมาก นักร้องสามารถเล่นเสียง ประสานเสียงได้อย่างฟรุ้งฟริ้ง

คือผมก็ไม่รู้ว่าจะบรรยายความรู้สึกได้อย่างไร มันแอ๊บพรีชิเอจมากๆ

การแสดงชุดนี้เป็นชุดสุดท้าย จบได้สนุก

“พ่อ พวกจ้านี่เครียดมาก” เสียงแจ้วมาเมื่อช่วงบ่ายตอนพักการแสดง

“ทำไมล่ะลูก”

“คนดูเค้าเงียบมากเลย เราเลยไม่รู้ว่าเค้าชอบไหม อยากให้คนดูสนุก จ้าว่าน่าจะมีแต่คนแก่ๆมาดูแน่เลยพ่อ” ดูมัน ถ้าคนอื่นแก่ แล้วพ่อมันจะเรียกว่าอะไรวะ

“ท่านผู้ชมครับ พิธีกรขอเสียงหน่อย เราจะมีเพลงสุดท้ายที่ไม่ได้อยู่ในสูจิบัตร” เค้าบอกว่า ขอกำลังใจ

ในหอประชุมแบ่งที่นั่งเป็น ๔ ล็อค เค้าให้ปรบมือแข่งกัน แล้วดูว่าล็อคไหนดังที่สุด

ล็อคแรกก็ดูดี ล็อค ๒ ก็เหมือนดัง ผมเริ่มเข้าใจลูก ล็อคที่ ๓ ก็เกือบสุด แล้วมาที่ล็อคผม เมื่อสิ้นสุดสัญญาณ ผมนำกรี๊ดสิครับ เมื่อมีคนนำ ก็จะมีคนตาม

แล้วเพลงสุดท้ายจริงๆ ก็เพลงของลุงเบิร์ดอีกนั่นแหละ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” นักแสดง คนทำงานเบื้องหน้า เบื้องหลัง ได้ออกมาเต้นรำ ทั้งเต้นบนเวที เต้นในพื้นราบ วิ่งมาข้างๆผู้ชม 

ผมเข้าใจกิริยา “ดีด” ที่ลูกสาวว่ามาได้ในทันที

ดีจังเลยนะครับ 

ผมนี่อยากให้โรงเรียนได้ทำอะไรแบบนี้มากๆจังเลย ลูกๆเราได้ทำงาน ได้เรียนอย่างมีสุนทรีย์ พวกเค้ามีความสุขจริงๆ

ลองหันกลับไปดูอีกโรงเรียน นักเรียนต้องเรียนในวันจันทร์ถึงเสาร์ เรียนตั้งแต่ก่อนแปดโมงยันทุ่ม จัดห้องเรียนพิเศษตามโปรแกรมต่างๆ มีโปรแกรมเตรียมแพทย์ เตรียมวิศวะ แต่ไม่ยักมีเตรียมเป็นคนสุนทรีย์ เตรียมเป็นคนดี

เอาเหอะ ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง ผมรู้เพียงแต่ว่า ลูกผมมีความสุขกับการมาเรียนหนังสืออย่างเต็มเปี่ยม มันสุขถึงขั้น “ดีด” เลยด้วยซ้ำ

เอ๊ะ หรือว่ามันเมากัญชา

ธนพันธ์ ชูบุญดีดดิ้น

๒๐ มค ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660525เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท