นักศึกษาปี 4 คณะแพทย์ มธ. (เรื่องเล่าของ ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์)


โปรดสังเกตว่า นักศึกษามีศักยภาพในการทำงานและเรียนรู้เพียงใด หากเขามีแรงบันดาลใจในการเรียน

 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ก.พ. 2562 – 15มี.ค. 2562) เป็นช่วงเวลาที่มีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม3 สำหรับนักศึกษาปีที่ 4    โดยรายวิชานี้เน้นเรื่องระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิและฝึกเขียนโครงร่างวิจัย   โดยเป็นนักศึกษากสพท. ทั้งหมด 61 คน นักศึกษาที่สังกัดศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก (สระบุรีฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี และชุมพร)แยกย้ายกันไปเรียนชั้นคลินิกรวมถึงรายวิชานี้ที่จัดโดยศูนย์แพทย์ฯ แต่ละแห่งเองซึ่งแต่ละแห่งจัดกันตามบริบทของตนเองแต่สอดคล้องตามแนวสังเขปรายวิชาที่ร่วมกันตั้งไว้แต่ละแห่งจัดการเรียนรู้ได้ดีมาก

 

ตามธรรมเนียมของคนขี้บ่นอย่างผมก่อนเขียนถึงคนอื่นต้องบ่นเกี่ยวกับตนเองก่อน   จริง ๆ แล้วมีกัลยาณมิตรของผมอย่างน้อย 2คนแล้วบอกว่าการทบทวนตนเองอย่างสม่ำเสมอทำให้เราเข้าใจตนเอง และจะเข้าใจตนเองมากขึ้นเป็นส่วนที่ควรกระทำ   เสียดายผมทบทวนตนเองกะปริบกะปรอย  ช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาผมสอนรายวิชานี้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการสอนนักศึกษาที่OPD ศูนย์แพทย์ปฐมภูมิฯ คูคตของคณะแพทย์ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมง  โดยให้นักศึกษาสังเกตผมตรวจผู้ป่วยก่อน 1ชั่วโมง อีก 2ชั่วโมงให้นักศึกษาฝึกตรวจผู้ป่วยรายอื่นเองโดยผมคอยสังเกตและให้คำแนะนำเป็นระยะ เนื่องจากรายวิชานี้เป็นรายวิชาสุดท้ายของปี 4 นักศึกษาผ่านการเรียนในชั้นคลินิกมาเกือบครบ 1ปีแล้ว  นักศึกษาต่างคิดว่ารายวิชานี้เป็นรายวิชาพักผ่อนเพราะ ไม่ต้องอยู่เวร ไม่ต้องตื่นเช้าไป round ward และไม่ต้อง round ward เสาร์-อาทิตย์  พอผมได้ยินได้เห็นนักศึกษาพูดเขียนเกี่ยวกับรายวิชานี้ผมหงุดหงิดในอารมณ์ ได้คุยกับนักศึกษากลุ่มย่อยที่เรียนกับผมในครั้งแรกถึงความรู้สึกของผมต่อเรื่องนี้นักศึกษาจึงเล่าให้ฟังถึงการเรียนในชั้นคลินิกที่เขาและเธอรู้สึกถึงความไม่มีประโยชน์ของตนเอง(อันนี้ผมย้ำว่านักศึกษาคิดไปเองพออ่านจบบันทึกนี้จะเห็นว่านักศึกษาเหล่านี้มีศักยภาพและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง)

เล่าออกนอกเรื่องตามแบบของผมอีกแล้ว   มีเรื่องประทับใจในการสอนนักศึกษาที่ OPDคือมีกลุ่มหนึ่งพอผมตรวจผู้ป่วยให้นักศึกษาสังเกตเสร็จก็เริ่มให้นักศึกษาลองฝึกสัมภาษณ์และตรวจร่างกายโดยสัมภาษณ์นอกเหนือจากโรคแล้วยังรวมถึงความเจ็บป่วยและปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมอื่นๆ ด้วย   ก่อนเริ่มฝึกผมได้สอบถามผู้ป่วยว่าสะดวกจะให้นักศึกษาฝึกด้วยหรือไม่ใช้เวลาอย่างน้อยคนละ1 ชั่วโมง (เนื่องจาก นักศึกษาเหล่านี้ยังไม่ได้ฝึกสัมภาษณ์และตรวจผู้ป่วยอย่างครบวงจรด้วยตนเองจริงตลอดการเรียนชั้นปี4 ที่ผ่านมา)   นักศึกษาฝึกสัมภาษณ์และตรวจร่างกายผู้ป่วยรายแรกได้อย่างดีถึงแม้ขาดประสบการณ์ใช้เวลาไป1 ชั่วโมงกว่า   พอถึงรายที่ 2พอผู้ป่วยเข้ามาผมก็ขอโทษที่ผู้ป่วยต้องรอนานและสอบถามผู้ป่วยว่ายินดีให้นักศึกษาฝึกหรือไม่ผู้ป่วยหน้าตาไม่สบอารมณ์ที่ต้องรอนาน แต่ยังบอกว่ายินยอมให้นักศึกษาฝึก   ตอนนั้นผมและนักศึกษาสังเกตท่าทางของผู้ป่วยแล้วเข้าใจได้ว่าผู้ป่วยคงไม่พึงพอใจมากแต่ผมยังดื้อดึงให้นักศึกษาฝึกต่อ เนื่องจาก ผู้ป่วยอนุญาตแล้ว   นักศึกษาได้สัมภาษณ์รายละเอียดต่าง ๆด้วยความนุ่มนวลและใส่ใจ จนกระทั่งท่าทีของผู้ป่วยเริ่มผ่อนคลายลงยอมเล่ารายละเอียดการใช้ชีวิต การทำงานของตนเองที่สัมพันธ์กับอาการที่มาหาให้ฟังและท้ายสุดก็มีรอยยิ้มให้กับนักศึกษา   อันนี้เป็นสิ่งแรกที่ทำให้เห็นว่าแม้เป็นนักศึกษาปี4 ก็สามารถมีประโยชน์ได้ ด้วยความนุ่มนวลตั้งใจดูแลสุขภาพของผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าใจและรับรู้ได้

ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มให้นักศึกษาฝึกด้วยตนเองปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ให้นักศึกษาสังเกตอาจารย์โดยไม่ได้ลงมือฝึกเอง   ผมใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆใจหนึ่งก็อยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้อีกใจหนึ่งก็กลัวเป็นการรบกวนผู้ป่วยมากเกินไป แต่ก็ผ่านไปด้วยดี   หลังจากฝึก 1สัปดาห์ให้นักศึกษาเขียนสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ มีสิ่งที่ประทับใจผม คือนักศึกษาคนหนึ่งเขียนว่าตอนที่เขาสังเกตอาจารย์ตรวจผู้ป่วยในรายวิชาอื่นผู้ป่วยพูดถึงเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสิทธิ์การรักษาพยาบาลหลายครั้ง   ผมประทับใจที่นักศึกษาปี 4มีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งและห่วงใยผู้ป่วยนอกจากโรค (เขียนไปเขียนมากลายเป็นบ่นเรื่องตัวเองผสมไปกับบรรยายเรื่องนักศึกษาไปด้วยเลยแต่เขียนแบบนี้ก็ดี เขียนต่อแบบนี้เลยนะครับ)

 

กิจกรรมที่สองไปดูงานหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. และปทุมธานี   ตอนไปศูนย์บริการสาธารณสุขใน กทม.ผมไม่ได้ไปด้วย เนื่องจาก ติดออกตรวจผู้ป่วยที่ OPD และมีอาจารย์ท่านอื่นไปกับนักศึกษาอยู่แล้ว   ได้รับคำชมจากอาจารย์ที่ไปกับนักศึกษาว่านักศึกษาตั้งใจถามเป็นอย่างดีสำหรับตอนไปดูงาน รพสต. ในจังหวัดปทุมธานี ผมไปด้วยที่ รพสต. เฉลิมพระเกียรติ 6รอบ พระชนมพรรษา ต.คูคต อ.ลำลูกกา ซึ่งต้องชมว่าผู้อำนวยการทั้งคนเก่าและคนใหม่(ย้ายมาไม่ถึง 6 เดือน)และเจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งเต็มที่ภายใต้ขอจำกัดของจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอและการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านงบประมาณสิทธิ์บัตรทองจากหน่วยบริการประจำที่ไม่สนับสนุนเวชภัณฑ์แล้วยังจ่ายค่าตรวจผู้ป่วยนอกครั้งละ20/40 บาท ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ละครั้ง(เล่าเรื่องนี้แล้วของขึ้น บอกว่าจะพัฒนาปฐมภูมิแต่ไปกี่ปีกี่ปีก็เหมือนเดิมต้องดิ้นรนกันเอง)   นักศึกษาก็ตั้งคำถามได้ดีและช่วงบ่ายที่นักศึกษาไปเรียนรู้กระบวนการเยี่ยมบ้านของ รพสต.โดยไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง นักศึกษาก็แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างดี   หลังจากกิจกรรมนี้มีงานให้นักศึกษาทั้งชั้นทำเป็นกลุ่มย่อยคือ นำเสนอโดยรูปแบบการแสดงให้เห็นภาพของระบบบริการสุขภาพใน กทม.และปทุมธานีในปัจจุบัน และภาพในอนาคต ซึ่งนักศึกษาแต่ละกลุ่มทำได้ดีทั้งเนื้อหาจินตนาการ (ถึงภาพในอนาคต) และความคิดสร้างสรรค์ (ในการออกแบบการแสดง)

 

กิจกรรมต่อไปเป็นการฝึกเขียนโครงร่างวิจัยในช่วง2 สัปดาห์หลัง ผ่านกระบวนการ 2 workshops (ครั้งละ 3ชั่วโมงครึ่งแต่พอจัดจริง ๆเลยไปเป็น 4-4 ชั่วโมงครึ่งด้วยความเมามันไม่ยอมลดละของนักศึกษาทำให้ภรรยาผมต้องรอผมที่ปั๊มน้ำมันเป็นชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่งเพื่อกลับบ้านด้วยกันขอบคุณภรรยาผมที่เป็นกำลังกายและใจให้ผมเสมอมา...เริ่มออกนอกเรื่องมาก) และ 1 คาบ resourceperson (ตามตาราง 3 ชั่วโมง แต่จัดจริงใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง)ที่ให้นักศึกษามาเล่าโครงร่างวิจัยที่เกือบสมบูรณ์และอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอจริง

หัวข้อที่ใช้ในการฝึกเขียนโครงร่างวิจัยเริ่มจากการให้นักศึกษาแต่ละคนคิดหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตนเองมาคนละหัวข้อแล้วร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเลือกมาเพียง 1 หัวข้อ เพื่อนำมาฝึกเขียนโครงร่างวิจัย   หัวข้อที่นักศึกษาคิดในกลุ่มผมมีตั้งแต่การแต่งตัวของแพทย์กับความเชื่อใจของผู้ป่วย การไม่ต้อง roundวันอาทิตย์กับประสิทธิภาพการทำงานของนักศึกษาแพทย์ปี 4 ชั่วโมง   การนอนหลับกับประสิทธิภาพการทำงานของนักศึกษาเป็นต้น   ที่เลือกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆใกล้ตัว สืบเนื่องมาจากแต่ก่อนใช้ OPD card ของคนไข้   เรื่องที่ทำวิจัยก็ออกมาแข็ง ๆและดูนักศึกษาไม่อินกับเรื่องเหล่านั้น   พอเปลี่ยนมาเป็นเรื่องใกล้ตัวดูมีจินตนาการเปิดกว้างและทำอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น

เรื่องที่กลุ่มอื่น ๆเลือกฝึกเขียนในครั้งนี้ มีสิ่งที่ทำให้ประทับใจคือนักศึกษาทุกกลุ่มตั้งใจกันทำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่จำกัดทำออกมาได้ดีมากบางกลุ่มตอนชั่วโมง resource persons ยังไม่สมบูรณ์อยู่มากแต่วันนำเสนออีก 2 วันต่อมากลับทำได้สมบูรณ์แบบภายใต้เงื่อนเวลาอันจำกัด   เสียดายไม่ได้นำโครงงร่างวิจัยเหล่านี้ไปทำจริงเพราะ การทำวิจัยอยู่ในปี 6ตอนไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนเรื่องจึงเป็นเกี่ยวกับในโรงพยาบาลแต่ทักษะที่ได้จากการฝึกเขียนโครงร่างวิจัยนี้ทำให้ตอนปี 6สามารถไปคิดและทำวิจัยเรื่องใหม่ได้ภายในเวลา 3 สัปดาห์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนหลักสูตรใหม่จะพยายามปรับให้ทำวิจัยจากโครงร่างวิจัยที่เขียนในปี 4แต่จะได้หรือไม่ต้องดูต่อไป   ที่ประทับใจมากๆ คือ ท้ายคาบนำเสนอ เนื่องจาก ในแบบฟอร์มให้คะแนนมีการให้คะแนนตอบคำถามด้วยซึ่งได้คุยกับอาจารย์ที่ร่วมทำ workshop ว่าไม่น่าจะมีคำถามเกี่ยวกับโครงร่างวิจัยให้ถามแล้วจึงใช้คำถามว่านักศึกษาจะประยุกต์เรื่องที่ตนเองเขียนกับงานบริการปฐมภูมิอย่างไร  ถามนักศึกษาว่าใช้เวลาคุยกันในกลุ่มเพื่อตอบคำถามนี้นานเท่าไรนักศึกษาบอก 10 นาที   แต่พอ 10นาทีผ่านไปนักศึกษายังคุยกันไม่เสร็จต้องขยายเวลาออกไปอีก 10-15 นาที   ดูเอาจริงเอาจังมากและคำตอบของแต่ละกลุ่มก็ประทับใจมาก ๆ สามารถนำไปใช้ได้จริง

 

ท้ายคาบนำเสนอนั้นผมจึงบอกนักศึกษาทั้งชั้นว่า อย่าคิดว่าตัวเองเป็นแค่นักศึกษาปี 4 แล้วมีความสำคัญหรือประโยชน์อะไรในชั้นคลินิกอย่าคิดว่าตนเองไม่มีความสามารถหรือศักยภาพ เพราะดูซิเพียงเวลาไม่เท่าไรพวกเขาสามารถเขียนโครงร่างวิจัยออกมาได้อย่างดีและในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงพวกเขาตั้งใจหาคำตอบมาได้อย่างดีเยี่ยมทำได้จริงและผมบอกนักศึกษาว่าถึงระบบทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าแต่จงจำประสบการณ์วันนี้ไว้ว่าตนเองมีศักยภาพเพียงไหน

 

อยากจะเขียนเกี่ยวกับกลุ่มย่อยอีก 7ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมง แต่ต้องรีบตัดจบ เพื่อไปงานอื่นต่อเดี๋ยวมาเล่าถึงกลุ่มย่อยของผมต่อไป ขอบคุณครับ.   

สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์  

 

 

 

 

 

 


หมายเลขบันทึก: 660494เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2019 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2019 05:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท