บันทึกสะท้อนคิด ประสบการณ์ออกชุมชนกับนักศึกษาปี 3 ของ ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์



ผมได้รับ อีเมล์ จาก ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์  แนบบันทึกนี้มาให้อ่าน   อ่านแล้วติดใจในท่วงทำนองการใคร่ครวญสะท้อนคิดของผู้เขียน    และกระบวนการฝึกงานที่ช่วยให้นักศึกษาเกิด holistic learning  และ  transformative learning   โดยจริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับบันทึกที่ลงเมื่องันที่ ๗ มีนาคม   แต่บันทึกนี้มีรายละเอียดความในใจมากกว่าอย่างมากมาย    จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

“ผมออกชุมชนกับนักศึกษาปี 3 ระหว่างวันที่ 12-22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ในการออกชุมชนครั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาร่วมกับชุมชนค้นหาปัญหาสุขภาพและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับชุมชน โดยลงชุมชนเดิมที่เคยไปศึกษาสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพเมื่อต้นปี 2

ทุกครั้งที่จะออกชุมชนหลาย ๆ วัน ผมมักเป็นห่วงครอบครัวผมที่อยู่ทางบ้านทั้ง ๆ ที่เขาสามารถดูแลจัดการด้วยดีก็ตามที แต่ก็ยังห่วงตามนิสัยขี้กังวลของผมอยู่ดี ครั้งนี้ผมก็มีความรู้สึกดังกล่าว แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าทุกครั้งที่ออกชุมชนก็จะได้รับพลังใจกลับมาจากชุมชนและจากนักศึกษา แต่ครั้งนี้ เนื่องจาก ตั้งแต่ปีใหม่มามีความรู้สึกเชิงลบครอบงำมากกว่า ทำให้รู้สึกเนือยๆ และไม่อยากออกชุมชนด้วยซ้ำไป

ดังนั้นพอเริ่มเปิดเรียนรายวิชานี้ในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ผมก็เข้าไปในกลุ่มย่อยกับนักศึกษาเหมือนปกติทั่วไป พอเริ่มผมให้นักศึกษาพูดถึงความคาดหวังที่จะได้จากการเรียนรู้รายวิชานี้ นักศึกษาหลายคนบอกว่าปีนี้อยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ เพราะ ครั้งที่แล้วได้แต่ไปคุยและถามชาวบ้าน รบกวนชาวบ้าน โดยที่นักศึกษาบอกว่าไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน แต่จริง ๆ แล้วการที่นักศึกษาเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุนั้น ทำให้ชาวบ้านสูงอายุเหล่านั้นมีความสุข ชุ่มชื่นหัวใจที่มีคนมาคุยด้วยอยู่แล้ว

เมื่อฟังนักศึกษาพูดว่าอยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ ผมก็เกิดความรู้สึกตื้นตันใจขึ้นมา ที่นักศึกษาที่ดูเหมือนจะสนใจเรื่องเรียนเป็นหลัก (ด้วยนิสัยฝังลึกของผมที่มักคิดมโนไปเอง) มีความตั้งใจทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น จริง ๆ แล้วผมเชื่อว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาในรายวิชานี้ และกลุ่มอื่น ๆ ในปีนี้ก็คงคิดเหมือนกันที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์จริง ๆ ทุกคนอยากทำสิ่งที่ดีให้กับคนรอบข้างอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกหรือไม่ การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าจะชั้นพรีคลินิก หรือคลินิก จึงควรจัดให้นักศึกษาได้เรียนรู้เนื้อหาและทักษะควบคู่กับการให้เขาและเธอเห็นว่าความรู้ ทักษะ เหล่านั้นเกิดประโยชน์จริงต่อคนไข้ในอนาคตอย่างไร จะได้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา เพราะ ผมเชื่อว่าก่อนเข้ามาเรียนแพทย์นักศึกษาทุกคนย่อมมีความคิดที่อยากช่วยเหลือคนไข้อยู่แล้ว แต่เมื่อการเรียนรู้ผ่านไปโดยไม่ได้เชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวให้เห็นชัด นักศึกษาก็จะเรียนไปแบบหุ่นยนต์ ลืมเลือนความตั้งใจดั้งเดิม

ว่าจะเขียนเรื่องการออกชุมชนครั้งนี้ แต่อดไม่ได้ที่จะเขียนออกนอกเรื่อง พอพูดถึงมุมนักศึกษาข้างบนแล้ว ในมุมอาจารย์ผมก็เชื่อว่าอาจารย์ทุกคนมีความตั้งใจที่จะให้นักศึกษามีความรู้ ทักษะที่เพียงพอที่จะจบไปเป็นแพทย์ที่ดูแลคนไข้ได้อย่างดี แต่บางครั้งอาจารย์บางท่านอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องการบูรณาการความรู้สึก แรงบันดาลใจของนักศึกษาเข้าไปด้วย เพราะ คิดว่าเนื้อหา ทักษะ มีความสำคัญ และอาจารย์เองก็เคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นและรอดมาได้ ผมเชื่อว่าอาจารย์เหล่านั้นไม่ผิดที่คิดอย่างนั้น เพราะ สมัยก่อนการเลี้ยงดูและสังคมแตกต่างจากปัจจุบัน คนสมัยก่อนจึงมีลักษณะนิสัยแตกต่างจากปัจจุบัน แต่ที่ผมเชื่อก็คือไม่ว่าคนรุ่นก่อนหรือรุ่นปัจจุบันก็มีปณิธานแน่วแน่ก่อนเข้าเรียนแพทย์ว่าอยากจบไปเป็นแพทย์ที่ดูแลคนไข้ได้ดีเหมือนกัน

กลับเข้าเรื่องอีกครั้ง นอกจากนักศึกษาพูดถึงเรื่องอยากทำประโยชน์ให้เกิดกับชุมชนจริง ๆ แล้วนักศึกษายังอยากที่จะให้ผมช่วยแนะแนวทางการทำงานมากกว่าการตั้งคำถาม ผมสัญญาไปว่าผมจะทำเท่าที่ทำได้ โดยไม่ให้เสียบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ประจำกลุ่มที่เป็น facilitator เพราะ ในใจผมยังยึดเรื่อง PBL (Problem-based learning) อยู่มาก ผมอยากให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทำด้วยตัวเอง ผิดบ้างพลั้งบ้าง หากไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้ และนักศึกษาจะมีความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ทำไปตามที่ผมบอกเท่านั้น และอีกอย่างสติปัญญาผมคนเดียวหรือจะไปสู้สติปัญญารวมหมู่ของนักศึกษา 11 คนได้

พอเริ่มเข้าเนื้อหา นักศึกษาได้โจทย์ว่าหากต้องไปทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพโดยมีส่วนร่วมกับชุมชนต้องทำอย่างไรบ้าง เป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือเนื้อหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมจริงในชุมชน และผมได้บอกกับนักศึกษาว่า ผมจะไม่ยอมนักศึกษาลงมือทำจริงโดยไม่มีความรู้ในเรื่องที่ทำก่อน เป็นความยึดติดของผมในเรื่องนี้เหมือนกันที่ว่าหากเรียนรู้หลักการ ทฤษฎีก่อนน่าจะเกิดประโยชน์กับชุมชนได้มากกว่าการลงไปทำแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย

นักศึกษาเข้ากลุ่มย่อย 3 ครั้งก่อนออกชุมชน ก็ยังไม่สามารถได้เนื้อหาเพียงพอที่ผมจะยอมให้เข้าไปชุมชนได้ ผมจึงบอกว่าวันแรกที่เข้าชุมชน กลุ่มเรายังไม่ต้องเข้าชุมชน ให้นั่งคุยกันให้เรียบร้อยก่อนถึงจะเข้าชุมชนในวันต่อไปได้ ผมรับรู้ถึงความผิดหวังของนักศึกษาที่ว่ากลุ่มเราจะทำได้ช้าไปหรือไม่ หากไม่ได้เข้าไปทำตั้งแต่แรก แต่ผมก็ใจแข็ง วันแรกที่เข้าชุมชน ทุกกลุ่มเข้าไปในหมู่บ้านกันหมด กลุ่มผมยังคุยกันอยู่ที่วัด โดยผมให้นักศึกษาคุยกันเองก่อน และผมตามเข้าไปตอนบ่ายสาม (เนื่องจาก ผมแอบมีประโยชน์ทับซ้อนพาภรรยาและลูก ๆ ไปกิน MK มื้อเที่ยงวันเด็กก่อนเดินทางตามเข้าไป นอกเรื่องอีกแล้วครับ) พอไปถึงนักศึกษาเตรียมเรื่องที่จะเข้าไปคุยกับชาวบ้าน และวิธีการในการที่จะค้นหาปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนไว้แล้ว ผมบอกว่าแล้วการที่เราคิดว่าจะทำอะไรในการค้นหาปัญหาเข้าไปก่อนนี่จะถือว่าเป็นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือ เนื่องจาก ในกลุ่มตกลงกันก่อนเข้าชุมชนแล้วว่าจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากการที่นักศึกษาไปจัดให้และชาวบ้านแค่เข้าร่วมเพียงพอย่างเดียว

พอผมบอกออกไปเช่นนั้น ผมสังเกตเห็นความกระอักกระอ่วนใจของนักศึกษา นักศึกษาคิดว่าแค่นี้ก็ช้ากว่ากลุ่มอื่นแล้ว หากไม่เตรียมอะไรไปเลยจะยิ่งช้าไปอีกมากหรือไม่ ผมบอกนักศึกษาว่าผมเข้าใจถึงความกังวลเรื่องเวลา เนื่องจาก นักศึกษาไม่เคยทำมาก่อน แต่ผมให้ความมั่นใจว่าอย่างไรเสียก็ทำทัน (จริง ๆ ทุกปีที่ผ่านมาผมก็บอกแบบนี้ แต่นักศึกษามักจะไม่ได้ยิน เพราะ ความกังวลว่าต้องการให้งานสำเร็จจากนิสัยเดิมของนักศึกษาเหล่านี้ที่เป็นเด็กดี ทำให้ต้องให้สำเร็จ จึงสร้างความเครียดให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว) ในที่สุดนักศึกษาก็ไปดูเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการค้นหาปัญหาสุขภาพ และเตรียมการที่จะไปเล่าเรื่องวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวให้ผู้นำชุมชน อสม. และ ผอ. รพสต. ฟังในวันรุ่งขึ้น และให้เขาเลือกกันว่าจะใช้วิธีไหนดี

วันรุ่งขึ้น นักศึกษาไปที่ รพสต. บ้านต้นนา ที่นัด ผอ. รพสต.  ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ให้มานั่งคุยกัน เมื่ออธิบายวิธีการให้ฟัง พี่ต้อม ผอ. รสพต. ได้แนะนำให้เลือกวิธีประชาคม และแนะนำขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญ ต้องขอบคุณพี่ต้อมมากที่ช่วยให้นักศึกษาผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อรู้ว่าชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่านักศึกษา

วันประชุมประชาคมครั้งแรก นักศึกษาเตรียมตัววิธีการต่าง ๆ มาอย่างดี นักศึกษากลุ่มนี้ต้องบอกว่าละเอียดมาก ๆ จนกระทั่งผมเหนื่อยแทน เพราะ ผมเป็นคนไม่ใส่ใจรายละเอียดขอให้งานสำเร็จก็พอ นักศึกษาเตรียมรายละเอียดวิธีการต่าง ๆ มาอย่างดี   แม้แต่ก่อนหน้าประชาคมก็มีการประกาศเสียงตามสายเชิญชวนคนมาร่วมประชาคม ตอนทำประชาคม นักศึกษาทุกคนก็ทำได้ดี และชุมชนก็มีส่วนร่วมเสนอข้อมูลต่าง ๆ อย่างดี   พอเลือกปัญหาที่จะทำโครงการร่วมกันออกมาเป็นปัญหาเด็กแว้นเป็นอันดับแรก   ผมแอบดีใจมากที่จะได้ทำปัญหาสุขภาพที่ไม่ใช่สุขภาพกายโดยตรง   แต่นักศึกษากระวนกระวายใจว่าแล้วจะทำอย่างไร ผมจึงต้องแอบจัดการกลุ่มโดยบอกให้สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มไปสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่ดำเนินรายการว่า   หากจะทำหรือไม่ทำเรื่องดังกล่าวต้องให้ประชาคมตกลงตัดสินใจกันตอนนั้นเลย ตอนนั้นผมเข้าใจความอึดอัดของนักศึกษาที่ผมใช้เป็นสื่อกลาง ต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วย ครั้งนี้ตอนแรกผมตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าจะไม่ใช้วิธีนี้ เพราะ จะเป็นการกดดันคนกลาง แต่ผมก็ไม่กล้าที่จะเป็นคนออกไปพูดกับชุมชนเอง เพราะ จะกลายเป็นความคิดของผมเอง ไม่ใช่ของนักศึกษา   ในที่สุดก็ได้พี่ต้อม ผอ. รพสต. ช่วยให้นักศึกษารอดมาได้   แทนที่จะต้องทำโครงการเด็กแว้นที่เป็นอันดับที่ 1 ที่เลือกกันมา   หรือเรื่องปัญหารายได้ อันดับ 2   พี่ต้อมช่วยพูดว่าแล้วนักศึกษาจะทำได้หรือ ในที่สุดประชาคมจึงเห็นด้วย   และเลือกเรื่องปัญหาเบาหวานซึ่งเป็นอันดับ 3 แทน   จากนั้น นักศึกษานัดชาวบ้านมาประชุมประชาคมครั้งที่ 2 วันต่อไป เพื่อมาคุยกันว่าจะทำประเด็นอะไรเกี่ยวกับเบาหวาน

ก่อนเข้าประชาคมครั้งที่ 2 นักศึกษาก็ต้องมาคุยกับผมถึงเนื้อหาพรีคลินิก คลินิก และการส่งเสริมป้องกันที่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน   เพื่อดูว่าจะไปคุยกับประชาคมแง่มุมไหนบ้าง ผมแปลกใจมากนักศึกษารุ่นนี้ความรู้พรีคลินิกดีมากจริง ๆ นะครับ ภูมิใจแทนอาจารย์พรีคลินิกทุกท่านและอาจารย์คลินิกที่มาช่วยจัดการเรียนรู้ด้วย

ประชาคมครั้งที่ 2 นักศึกษาเตรียมเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวานทั้งความเสี่ยง อันตราย มาพูดให้ประชาคมฟัง   จากนั้นให้ประชาคมร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาของเบาหวานชุมชนว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และในที่สุดประชาคมตัดสินใจจะทำเรื่องออกกำลังและกินเพื่อป้องกันการเป็นเบาหวาน   เนื่องจาก ใช้เวลาตอนเย็นจนค่ำของชาวบ้านมามากแล้ว   และตอนแรกนักศึกษาบอกว่าจะนัดประชาคมกันอีกเพื่อคุยกันว่าจะทำอะไร   ด้วยความที่ผมเกรงใจว่าชาวบ้านเขาใจดีมาร่วมกับนักศึกษาตั้งหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้คงต้องคุยให้ได้เบื้องต้นว่าจะทำอะไร ผมจึงถือโอกาสเข้าจัดการกระบวนการของนักศึกษาอีกครั้ง   บอกว่าให้หาคนที่จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้ในชุมชนให้ได้ จะได้คุยวางแผนกับคน ๆ นั้นในวันต่อไปแทน   นักศึกษามีความกระอักกระอ่วนใจอย่างมาก แต่ทนแรงกดดันจากผมไม่ได้ จึงถามในประชาคม   และได้อาจารย์ยินดีเสนอตัวเอง และขึ้นมาเสนอว่าควรจัดตั้งเป็นชมรม   และอาจารย์ยินดีตกลงรับเป็นประธานชมรมให้   หลังเลิกประชาคม นักศึกษาก็คุยวางแผนกับอาจารย์ยินดี อสม. และผู้นำชุมชนว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง เนื่องจาก ประชาคมต้องการให้จัดกิจกรรมในอีก 2 วันถัดไป กระบวนการดูจะพลิกผันไปมา   แต่การทำงานกับชุมชนไม่สามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งไว้ทุกอย่าง ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ นักศึกษาพูดคุย after action review ว่าถึงแม้กระบวนการดูผ่านไปอย่างไม่ได้ตั้งใจแต่ก็รู้สึกดีที่ได้เกิดชมรม และมีประธานชมรม

ช่วงการเตรียมกิจกรรมออกกำลังและอาหารป้องกันเบาหวาน นักศึกษาคิดละเอียดมากจริง ๆ ขอนับถือความละเอียดลออของกลุ่มนี้จริง ๆ ในที่สุดนักศึกษาได้ออกแบบการเดินวิ่ง 1.1 กิโลเมตรในหมู่บ้านตามที่อาจารย์ยินดีได้แนะนำไว้ และนั่งคุยกันรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้การเดินวิ่งนั้นได้ขนาดการออกกำลังปานกลาง 30 นาที ตามที่เป็นข้อแนะนำในการป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน ในที่สุดก็ตกลงว่าจะบอกชาวบ้านว่าจริง ๆ แล้วต้องออกกำลังนาน 30 นาที แต่เนื่องจาก เพิ่มเริ่มต้นจะให้ลอง 10 นาที ก่อน และให้ไปลองออกกำลัง 10 นาที 3 ครั้งต่อวัน พอคุ้นชินแล้วก็ให้ทำ 30 นาทีต่อวัน  สำหรับเรื่องความแรงระดับปานกลางนักศึกษาใช้วิธีการจัดเดินวิ่งเป็นกลุ่ม หากชาวบ้านเดินวิ่งตามกลุ่มของนักศึกษาได้ทันก็แปลว่าได้ระดับความแรงปานกลาง โดยตัวนักศึกษาที่นำกลุ่มจะทำ walk test ของตัวเองเพื่อดูว่าตัวเองได้ขนาดความแรงปานกลางจริง    สำหรับกิจกรรมเลือกอาหารก็จัดเป็นฐาน 5 ฐาน ให้ชาวบ้านเลือกอาหาร 2 อย่างในแต่ละฐานระหว่างอาหารที่ดีและไม่ดีต่อสุขภาพในการป้องกันเบาหวาน วิธีการที่จะให้ชาวบ้านเลือก เพื่อเอามานับและประเมินผลได้ว่าชาวบ้านเลือกได้มากน้อยเท่าไร นักศึกษากลุ่มนี้ก็คิดละเอียดมาก จนกระทั่งในที่สุดเลือกใช้วิธีให้ชาวบ้านนำคูปองไปใส่กล่องหน้าอาหารที่ตนเองเลือก ลงรายละเอียดมาก ๆ เลยครับ ผมอยากเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเยอะ

พอวันจัดกิจกรรมจริง นักศึกษาเตรียมการมาอย่างดี แต่ไม่วายลืมของที่ต้องใช้ในกิจกรรมไว้ที่ ๆ พัก (ห่างจากหมู่บ้านระยะเวลา 20 นาทีขาเดียว)   จึงตัดสินใจกันให้นักศึกษาคนหนึ่งติดรถกลับไปและขึ้นรถตู้อีกคันกลับมา กลุ่มนี้น่าจะได้ชื่ออีกชื่อว่า กลุ่มขี้ลืมและกลุ่มแก้ปัญหาฉับพลันทันใดได้ดี    ผมเพิ่งมารู้ตอนอ่านบันทึกชุมชนของนักศึกษาแต่ละคนว่า การที่ชาวบ้านมาร่วมงานประมาณ 20 คน ทำให้นักศึกษาใจแป้ว เพราะ วันก่อนหน้านักศึกษาได้ออกเดินวิ่งในหมู่บ้านชักชวนให้มาร่วมกิจกรรม และหลายคนตอบรับว่าจะมาแต่ก็ไม่มา   จริง ๆ แล้วจำนวนมีความสำคัญจริงไหม และชาวบ้านคนที่ไม่ได้มาร่วมเขาก็มีสิ่งสำคัญที่เขาต้องทำด้วยหรือไม่

กิจกรรมเดินวิ่งผ่านไปด้วยดี เริ่มด้วยการนำเหยียดยืดกล้ามเนื้อ และเริ่มออกกำลังเบา ๆ ก่อนจากนั้นจึงปล่อยตัวแต่ละกลุ่ม ซึ่งวันนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม   สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่ง คือ อาจารย์ยินดีได้เสนอให้มีจุดแวะพักดื่มน้ำที่หน้าบ้านอาจารย์ยินดีด้วย ทำเหมือนรายการแข่งขันวิ่งเลยครับ   ตลอดการเดินวิ่งสนุกสนานกันมาก ผมอยู่กลุ่มแรกเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ก็ใจสู้เดินเร็วจนเข้าเส้นชัยกันทุกคน กลุ่มที่สองผมเห็นจากรูปภายหลังมีการ selfie กันด้วย   เสร็จจากเดินวิ่งก็มาเหยียดยืดกล้ามเนื้อต่อ จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมการเลือกอาหาร ทั้งที่มีกิจกรรมแต่ด้วยความห่วงใยที่เพื่อนมีต่อเพื่อน นักศึกษาก็คิดถึงเพื่อนมากกว่างานของตนเอง แต่ก็สามารถทำให้งานเลือกอาหารผ่านไปด้วยดี เมื่อจบกิจกรรมเลือกอาหาร ก็มีการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่นักศึกษาไปจ้างชาวบ้านในชุมชนทำโดยเป็นเมนูผักอินทรีย์ต้ม ปลาทูนึ่ง น้ำพริกกะปิไม่เค็มเกินไป และแกงจืดเต้าหู้ หลังจากนั้นกล่าวสรุปกิจกรรมและตกลงกันเรื่องการดำเนินการต่อไปของชมรม ปรากฏว่าชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ช่วงเย็นวันเสาร์ และจะเริ่มครั้งแรกคือเย็นวันรุ่งขึ้นนั้นเอง โดยทางชมรมจะเป็นคนจัดเตรียมเอง โดยที่นักศึกษาเป็นผู้เข้าร่วม

ผมต้องตัดสินใจอย่างหนัก เพราะ ตอนแรกผมตั้งใจว่าช่วงบ่ายวันเสาร์หลังคุยกลุ่มย่อยกับนักศึกษาเสร็จจะกลับบ้าน พักผ่อนหย่อนใจและกลับมาเช้าวันอาทิตย์ ผมตัดสินชั่งใจว่าหรือจะอยู่จนงานเลิกแล้วถึงกลับบ้าน แต่มันก็จะเย็นเกินไป   ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเลือกกลับบ้าน โดยฝากให้คุณโอ๋คนขับรถเช่าเหมาที่มาช่วยขับประจำมานานกว่า 14 ปีช่วยดูแลนักศึกษาให้ด้วย ช่วงเย็นผมจะดู FB live ของคุณโอ๋ถ่ายภาพกิจกรรมของนักศึกษามาตลอดเวลา   ชาวบ้านมาจำนวนมากกว่าวันก่อน จูงลูกเด็กเล็กแดงมาด้วย แต่งตัวชุดออกกำลังกายมาแบบจัดเต็ม นักศึกษาบอกว่ามากัน 30 กว่าคน และทางชมรมเตรียมจัดน้ำดื่มและอาหารเอาไว้ให้ด้วย   พอเสร็จกิจกรรม นักศึกษาก็ร้องเพลงและกล่าวขอบคุณชาวบ้าน น่าประทับใจมาก เสียดายที่ผมไม่ได้อยู่ด้วย

ตัดกลับมาที่ผมหลังกลับถึงบ้านตอนบ่ายแก่ ๆ ผมก็ต้องติดต่องานสำคัญกว่าจะเสร็จก็ต้องปิดโทรศัพท์นอนตอน 4 ทุ่ม เพราะ ต้องตื่นนอนตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อขับรถกลับไปที่วัดที่พัก ผมหงุดหงิดใส่ภรรยาและลูกนิดหนึ่ง   เพราะหมกมุ่นกับงานที่ติดต่อ แต่ก็ขอโทษเขาและเธอหลังจากนั้น ต้องขอบคุณอีกครั้งที่เข้าใจและเป็นกำลังใจให้ตลอด   รุ่งเช้าวันอาทิตย์ผมขับรถกลับวัดที่พักใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อขึ้นรถคณะกลับมาที่คณะเพื่อปฏิบัติภารกิจที่คั่งค้างติดต่อจากเมื่อวานให้สำเร็จ แล้วกลับเข้าไปวัดที่พักอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทำให้ลุล่วงไปด้วยดี

เมื่อกลับถึงที่พัก ก็พานักศึกษาไปทัศนศึกษาและกินอาหารเย็น และร้องเพลงผ่อนคลาย เนื่องจาก ผมเข้าใจว่านักศึกษาต้องเครียดทั้งกับเรื่องงาน และเรื่องเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นมา   นักศึกษาแต่ละคนมีความห่วงใยเพื่อนเป็นอย่างมาก ถึงแม้ไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง แต่ทุกคนก็สามารถทำงานลุล่วงและดูแลจิตใจเพื่อนไปด้วยได้ในตัว    เพียงแค่ 10 วันนิด ๆ นักศึกษากลุ่มนี้เติบโตทั้งความคิดและภายในได้อย่างก้าวกระโดดมากอย่างไม่น่าเชื่อ จริง ๆ แล้วเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่ปลูกฝังมาจากคุณพ่อคุณแม่ของนักศึกษาอยู่แล้ว ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ งอกงามได้แม้ในยามคับขัน

ยังไม่จบแค่นั้น ร้องเพลงเสร็จต้องไปเอาป้ายไวนิลที่สั่งทำให้ที่ร้านเพื่อไปติดตั้งที่ศาลาในหมู่บ้าน เป็นป้ายให้ความรู้เรื่องกินและออกกำลังป้องกันเบาหวาน แต่เนื่องจากเวลาค่ำแล้ว และนักศึกษาไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ติดตั้งไปด้วย จึงแวะไปมอบป้ายดังกล่าวไว้ที่บ้านอาจารย์ยินดี และกลับที่พัก   เมื่อกลับที่พักผมเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้นักศึกษาฟัง และคุยงานเตรียมนำเสนอ จนท. รพสต. และ อบต. ฟังที่โครงการที่ทำ และปรากฏว่าต้องคุยงานและทำให้เสร็จส่งทัน 4 ทุ่มวันนั้น ด้วยความเร็วเหนือ the flash หรือ quicksilver ดี ก็สามารถคุยเรียนรู้วิธีการเขียนและเขียนออกมาได้ทันเวลา

รุ่งขึ้นนำเสนอที่ รพสต. นักศึกษาเตรียมการนำเสนอแต่เช้า และไปนำเสนอตอนบ่าย   มีการเตรียมความแปลกใจไว้ตอนท้ายด้วยการขอ clip สรุปที่คุณโอ๋ที่และตัดต่อไว้ของงานทั้ง 2 วัน มาเปิดให้ดู และไม่ลืมที่จะลงคำขอบคุณคุณโอ๋ที่ช่วยถ่ายทำและช่วยเหลือมาตลอด   คืนนั้นเราได้นั่งคุยกันแบบเปิดใจภายใต้ดวงจันทร์เต็มดวง (โชคดีไม่มีใครแปลงร่าง)   มีสายเรียกเข้ามาร่วมคุยด้วย บรรยากาศเป็นกันเองและเปิดใจกันคุยได้ดีมาก   เช้าวันรุ่งขึ้นเก็บของเตรียมตัวเดินทางกลับ พอกราบลาเจ้าอาวาสวัดหนองปรือ พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา เสร็จผมก็ขับรถกลับก่อน เสร็จสิ้นการออกชุมชนครั้งนี้

ว่าจะเขียนแทรกเกี่ยวกับนักศึกษากลุ่มนี้ในระหว่างเล่าเรื่อง   แต่พอเขียนไปเขียนมาปรากฏว่า มันออกมาแบบข้างบน ก็เลยเอามาเขียนตอนนี้นะกัน กลุ่มนี้ปีที่แล้วผมเห็นความสดใสร่าเริงดีมากตอนออกชุมชนต้นปี 2   แต่พอมาเข้ากลุ่มครั้งแรกของปีนี้ดูความสดใสลดไปมาก   ผมถามดูก็บอกว่าการเรียนที่ผ่านมาทำให้ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง และที่เรียนไปก็ไม่รู้ว่าเอาไปใช้อะไร   เรียนไปเพื่อสอบ   จริง ๆ นักศึกษาเองไม่ใช่อยากเรียนไปเพื่อสอบผ่านเท่านั้น   แต่ต้องการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย แต่พอเรียนไปแล้วมันไม่เห็นชัดเจนว่ามีประโยชน์อย่างไร ก็เรียนไปเพื่อให้สอบผ่าน ๆ ไปเท่านั้นเอง   ตรงนี้ในฐานะอาจารย์คงต้องมาย้อนคิดดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ย้ำอีกครั้ง ผมเชื่อว่าอาจารย์ทุกท่านมีความปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ในรูปแบบที่ตนถนัด

ว่าจะเขียนเรื่องนักศึกษากลุ่มนี้วกออกนอกเรื่องอีกแล้ว   เวลาเข้าประชุมกลุ่มย่อย แรก ๆ กลุ่มนี้จะพูดเสนอความคิดกันอย่างพรั่งพรูมาก  ไม่ค่อยมีใครฟังใคร และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยคุยปรึกษากันเรื่อย   ผมใจเย็นไม่ว่าอะไร จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่ต่างคนต่างพูดไม่ฟังกัน   ผมจึงระเบิดอารมณ์ออกไป พูดให้ฟังถึงเรื่องการรับฟังกันและกันที่จะสามารถนำไปใช้ได้เมื่อจบไปเป็นแพทย์ว่าเป็นประโยชน์อย่างไร หลังจาก   ระเบิดอารมณ์ไปแล้ว ผมก็เสียใจ ตามนิสัยคนขาดสติเป็นระยะ ทำอะไรไม่คิดก่อน มาเสียใจตอนหลัง ก็เลยส่งข้อความไปขอโทษที่ระเบิดอารมณ์ออกไป แต่ยืนยันว่าเนื้อหาที่ต้องการสื่อออกไปไม่ผิดพลาด เพียงแต่ท่าทางและอารมณ์ที่ใช้อาจรุนแรงไป

เช้าวันรุ่งขึ้นตัดสินใจนั่งรถไปกับนักศึกษากลุ่มที่ไป รพสต. เพราะ ต้องการคุยกับนักศึกษาคนหนึ่งที่ไป รพสต. ผมเห็นว่านักศึกษาคนดังกล่าวเป็นคนที่มีความตั้งใจดี แต่ด้วยความตรง และสื่อสารออกไปด้วยความแข็ง ทำให้คนฟังอาจรู้สึกได้ ตอนแรกผมไม่กล้าคุยตรง ๆ กลัวนักศึกษาเสียใจ พอคุยไปซักระยะ ก็พบว่านักศึกษาสามารถเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเองดี นักศึกษาคนนี้เมื่อจบรายวิชามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจมาก   ฟังเพื่อนมากขึ้น สื่อสารให้เพื่อนฟังนุ่มนวลมากขึ้น งอนผมน้อยลง และเป็นโชคดีของผมที่ได้คุยกับนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ไปที่ รพสต. ด้วย   ทำให้ผมได้ทบทวนตัวเองถึงอดีตที่ผ่านมาของผม นักศึกษาอีกคนได้มีโอกาสคุยกับผมอีกโอกาสบนรถตู้ได้กล่าวถึงสิ่งดี ๆ ของเพื่อนแต่ละคนในกลุ่ม และบอกว่าผมเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ให้กับเขา ต้องขอบคุณนักศึกษาทั้ง 3 คน ที่ไป รพสต. ด้วยกัน ตลอดจนสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ทำให้ผมได้ทบทวนตนเองเป็นอย่างมาก ผมได้เรียนรู้และเกิดความสดชื่นมีชีวิตชีวาอย่างมาก

ตอนแรกผมเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเด็กธรรมดา ๆ ที่สามารถต่อกรกับ Thanos อย่างผมได้ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้เป็นตัวละครแต่ละตัวใน Lord of the rings แต่ละคนมีความสามารถ มีจุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกัน แต่เมื่อร่วมกันก็สามารถทำงานได้ลุล่วงด้วยมิตรภาพที่มีต่อกันไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน.

เขียนเกินจำนวนหน้าที่ให้นักศึกษาเขียนมาตั้งหลายหน้า ขอจบเพียงแค่นี้ ขอบคุณครับ”


หมายเลขบันทึก: 660429เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2019 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2019 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for sharing this one of the most candid story on community movement. I do recommend it as a ‘must read’ for anyone wishing to engage in real ‘public work’.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท