การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ


"การเมือง" เป็นเรื่องของ "อำนาจ"
ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดก็ตาม
สุดท้ายอำนาจก็จะตกอยู่ในมือของใคร
คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ดี

ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์...
เช่น ซาอุดีอาระเบีย บรูไน กาตาร์ โอมาน ฯลฯ
กษัตริย์เป็นผู้ทรงพระราชอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
หากมีกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมและเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
บ้านเมืองก็จะสงบร่มเย็นและมีแต่ความเจริญ
แต่หากมีกษัตริย์ที่ลุแก่อำนาจ จิตใจโหดเหี้ยม
บ้านเมืองก็จะลุกเป็นไฟ ชาวประชาทุกข์ใจทุกหย่อมหญ้า
และในที่สุดก็จะถูกโค่นล้มอำนาจ
แล้วเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่หรือเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่

ในระบอบเผด็จการ...
เช่น จีน เกาหลีเหนือ ลาว เวียดนาม ฯลฯ
อำนาจเบ็ดเสร็จจะอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งอาจจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ได้
โดยปกติแล้ว อำนาจของเขามักจะได้มาจาก...
การยึดอำนาจมาจากกษัตริย์อีกต่อหนึ่ง
เรามักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คณะปฏิวัติ"
ซึ่งจะทำหน้าที่ใช้อำนาจที่ได้มาในการบริหารประเทศ
ถ้ามีผู้นำที่ดี...
ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า
แต่ถ้าได้ผู้นำที่ไม่ดี...
คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นใหญ่
ประชาชนจะถูกข่มเหงและประเทศชาติก็จะมีแต่เสื่อมถอย
และมักจะมีการปฏิวัติกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจเสมอ

ในระบอบประชาธิปไตยอันมี...
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
เช่น ไทย ภูฏาน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ
อำนาจส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของประชาชน
ซึ่งประชาชนสามารถใช้อำนาจของตนได้โดยอิสระ
ด้วยการเลือกนักการเมืองที่ตนไว้วางใจ
เข้ามาเป็น สส. หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "การเลือกตั้ง"
เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภา
โดยจะต้องทำหน้าที่ร่วมกับ สว. หรือสมาชิกวุฒิสภา
ซึ่งจะทำหน้าที่ในการร่างกฎหมาย
บริหารราชการแผ่นดิน
และคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้น บรรดา ส.ส.และ สว.
ก็จะช่วยกันเลือกบุคคลขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
แล้วนายกรัฐมนตรีก็จะแต่งตั้ง...
คณะรัฐมนตรีเพื่อมาช่วยบริหารประเทศ
และหากเกิดคดีความทางการปกครอง
ก็จะมีศาลปกครองทำหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีอีกชั้นหนึ่ง
โดยพระมหากษัตริย์จะมีการใช้อำนาจร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ดังนั้นการใช้อำนาจส่วนใหญ่จึงตกอยู่ที่คณะรัฐบาล
โดยมีพรรคฝ่ายค้านและสว.ทำหน้าที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

ในระบอบนี้ อำนาจส่วนใหญ่จะถูกถ่ายโอนไปอยู่ที่ "รัฐบาล"
หากรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ
แต่หากรัฐบาลมีการทุจริตและประพฤติมิชอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวง
ประชาชนจะเดือดร้อนและประเทศชาติพินาศย่อยยับ
ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป...
ประชาชนก็จะไม่เลือกบุคคลเหล่านั้นกลับมาทำหน้าที่อีก
หรืออาจจะถูกประชาชนขับไล่หรือถูกรัฐประหาร
จนต้องพ้นอำนาจไปในที่สุด

ส่วนในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ...
เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ
อำนาจทั้งหมดจะอยู่ในมือของประชาชน
โดยประชาชนจะใช้อำนาจในการเลือกผู้นำประเทศ
ซึ่งอาจจะเป็น "ประธานาธิบดี" หรือ "นายกรัฐมนตรี"
แล้วผู้นำประเทศก็จะใช้อำนาจของตนที่ได้รับจากประชาชน
ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อมาบริหารประเทศต่อไป
หากได้ผู้นำที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง
แต่ถ้าได้ผู้นำที่ไม่ดี ทุจริตคอรัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ก็ย่อมสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้เช่นกัน

และระบอบอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งในทุกระบอบการปกครองที่มีอยู่บนโลกใบนี้
ล้วนมีทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จและประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหา

ดังนั้น จึงไม่มีระบอบการปกครองใดที่ดีที่สุด
ทุกระบอบการปกครองล้วนมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น
ส่วนการปกครองในระบอบใดจะเหมาะสมกับประเทศใด
เราคงต้องพิจารณาบริบทและปัจจัยต่างๆของประเทศนั้นๆ เป็นที่ตั้ง
เช่น การศึกษา วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดก็ตาม
หากมีผู้นำที่ดี ย่อมใช้อำนาจนำพาประเทศให้เจริญรุดหน้าได้
แต่ถ้าได้ผู้นำที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตาม
ย่อมใช้อำนาจไปในทางที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ทั้งสิ้น
ดังคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ที่เตือนสติพวกเราไว้ว่า..."คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง"

24 มีนาฯ ได้เวลาชี้ชะตาประเทศไทย!
ช่วยกันเลือก "คนดีมีความสามารถ" เข้าสภาเยอะๆ นะครับ
ไม่สำคัญหรอกครับ ว่าจะเป็นนักการเมือง "เก่า" หรือ "ใหม่"

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเขาเป็น "คนดีมีความสามารถ" ?
เราก็แค่ดู "ความเก่งและความดี" ในตัวของเขาไงครับ

การที่จะดูว่าเขาเป็น "คนเก่ง" หรือไม่
เราก็ดูจากผลงานเชิงประจักษ์ที่เขาได้สร้างไว้ในอดีต
ซึ่งในโลกของข้อมูลข่าวสารเช่นทุกวันนี้
เราคงหาหลักฐานได้ไม่ยากกระมังครับ

ส่วนการที่จะดูว่าเขาเป็น "คนดี" หรือเปล่า
เราก็คงต้องดูอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านซักหน่อยนะครับ โดยดูว่า...
ที่ผ่านมา เขามีความซื่อสัตย์สุจริตเสมอต้นเสมอปลายหรือไม่
รักษาสัจจะ พูดในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่พูดหรือไม่
ส่วนเรื่องนโยบายหาเสียงนั้น
ใครจะเขียนให้สวยหรูแค่ไหนก็เขียนได้ครับ
แต่การที่จะนำไปปฏิบัติให้ได้จริงตามนั้น...มันก็อีกเรื่องนึงนะครับ!

ดังนั้น ถ้าท่านไม่อยากให้ประเทศไทย
ต้องกลับไปสู่วัฏจักรการเมืองแบบเดิมๆ แล้วล่ะก็!
ต้องพิจารณาให้ดีนะครับว่าจะเลือกใครและพรรคใด
ให้มาทำหน้าที่แทนเราในสภาฯ
เพราะตลอด 4 ปีข้างหน้า ชาวประชาจะเริงร่าหรือซึมเศร้า
ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกของพวกเราในคราวนี้

ถ้ามันหาที่ "ดีและเก่ง" ไม่ได้จริงๆ
ก็ขอให้เลือกที่ "ดี" ไว้ก่อนก็แล้วกันนะครับ
เพราะไอ้ที่ "เก่งแต่โกง" เราก็รู้ซึ่งถึงรสชาติกันมาแล้ว
ว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้มากขนาดไหน
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ว่า...
" หากนักการเมืองหยุดโกงเพียง 2 ปี
ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังทำได้ "


อนาคตประเทศไทยอยู่มือของทุกท่านแล้ว
24 มีนาคมนี้ อย่าลืมไปทำหน้าที่พลเมืองดีกันนะครับ
มาทำให้คำทำนายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำเป็นจริงกันเถอะครับ...

" ศิวิไลซ์จะบังเกิดในสยาม                หลังฝนคร้ามลั่นครืนจะยืนได้
จะเข้าสู่ยุคมหาชนพาไป                    เปลี่ยเมืองใหม่ศักราชแห่งประชา
คนชั่วจะถูกปราบราบคาบสิ้น              แผ่นดินเดือดสูญหายไร้ปัญหา
ประเทศชาติผ่านวิกฤตด้วยศรัทธา      ยามเมื่อฟ้าศรีทองผ่องอำไพ "


นิวัฒน์ ลีวงศ์วัฒน์
13 มีนาคม 2562

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.khaosod.co.th

หมายเลขบันทึก: 660428เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2019 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2019 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หากไม่มีคำว่าประเทศ การเมืองก็จะลดบทบาทลงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท