ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในชนบท


              พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือจาริกบุญ จารึกธรรม เอาไว้ว่าการล่มสลายของของพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พระพุทธศาสนาในชนบทถูกปล่อยปละละเลย วัดถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการเหลียวแล แม้ว่าในสมัยนั้นจะมีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา มหาวิทยาลัยโอทันตปุรี การที่พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มุ่งเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือเพื่อแสวงหาความเจริญก้าวหน้าทางคณะสงฆ์ ทำให้พระพุทธศาสนาในชนบทถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้นำทางจิตใจและสติปัญญาให้แก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ได้โอกาสเข้าไปเป็นที่พึ่งและให้ความหวังกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พระพุทธศาสนาอ่อนแอก็มีนักปราชญ์ของฮินดูอย่างศังกราจารย์ได้เข้าไปศึกษาพุทธปรัชญาแล้วเที่ยวสอนศาสนาแก่ชาวบ้านในชนบทและเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวัดของฮินดูขึ้นเพื่อเลียนแบบวัดในพระพุทธศาสนาเรียกว่า มัธ (Math) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในอินเดียใต้ เรียกว่าใช้กลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง นอกจากนั้นศังกราจารย์ยังเที่ยวโต้วาทีกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจนไม่มีใครกล้าขึ้นโต้วาทีด้วย และในยุคนั้นเองก็เกิดแนวคิดเรื่องพุทธาวตารขึ้น ซึ่งสอนว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางที่ ๙ ของพระนารายณ์ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาก็เป็นเพียงนิกายหนึ่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั่นเอง ที่กล่าวมาทั้งหมดคือต้องการแสดงให้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในชนบท ซึ่งผมเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะมั่นคงเข้มแข็งได้นั้นจะต้องมีฐานรากที่มั่นคง ถ้าหากเราจะเปรียบพระพุทธศาสนาเป็นพระเจดีย์ พระพุทธศาสนาในชนบทหรือพระพุทธศาสนาของชาวบ้านคือส่วนที่เป็นฐานรากของเจดีย์ ส่วนพระพุทธศาสนาที่อยู่ในเมืองคือพระพุทธศาสนาเชิงปริยัติ ที่เน้นหลักธรรม คำสอน แนวคิดและทฤษฎี เป็นพระพุทธศาสนาแบบปัญญาชนนั้นก็เปรียบเหมือนส่วนที่เป็นองค์เจดีย์ ที่จะก้าวไปสู่ยอดของเจดีย์คือพระพุทธศาสนาที่เป็นปฏิเวธสัทธรรมนั่นเอง

            ความสำคัญพระพุทธศาสนาต่อวิถีชุุมชนชนบทนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า เป็นพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรม เป็นพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตชีวา วัดเป็นศุนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง พระสงฆ์เป็นผู้นำทางความคิด จิตวิญญาณของชาวบ้าน พระสงฆ์มีบทบาทในการควบคุมจริยธรรมของชุมชน เป็นวิถีชีวิตแบบพุทธที่เรียบง่ายและงดงาม ซึ่งไม่เหมือนกับพระพุทธศาสนาในสังคมเมืองที่วัดไม่ค่อยมีอิทธิพลหรือบทบาทต่อสังคมสมัยใหม่ จึงน่าคิดว่าเราต้องร่วมกันสร้างและสนับสนุนพระสงฆ์ที่มีคุณภาพในสังคมชนบท เพราะถ้าพระพุทธศาสนาในสังคมชนบทเข้มแข็ง พระพุทธศาสนาในสังคมไทยก็ย่อมจะเข้มแข็งไปด้วย ด้วยเหตุว่าพระพุทธศาสนาในสังคมชนบทนั้นเปรียบเหมือนฐานอันมั่นคงของพระเจดีย์นั่นเอง


หมายเลขบันทึก: 660416เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2019 06:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2020 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท