ชีวิตที่พอเพียง 3379. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยความรู้


ทริส จัดงาน สัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้(Thailand KM Network Forum 2019)  “Unlocking the Value of Knowledge Management”  ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ที่โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ สุขุมวิท   และเชิญผมไปร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยความรู้”   โดยอภิปรายร่วมกับ ศ. ดร. ปรัชญา เวสารัชช  และ รศ. ดร. สมชาย ภคภาศน์วิวัฒน์    โดย รศ. ดร. พีรเดช ทองอำไพ  (ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมอง) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย   โดยเขาให้ประเด็นคำถามดังต่อไปนี้ 

คำถามที่ ๑   อยากให้ท่านช่วยพูด ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังว่า การบริหารจัดการความรู้นั้น จะช่วยเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร   

คำถามที่ ๒   ท่านคิดว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการที่ประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการความรู้ที่ดีได้

     คำถามที่ ๓  ถ้าเราจะเริ่มทำเรื่องการบริหารจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร/องค์การ ท่านจะแนะเคล็ดหรือแนวทางอะไรบ้างง่ายๆ   ให้นำไปปฏิบัติ

     คำถามที่ ๔  ขอให้ท่านกล่าวอะไรที่อยากจะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังเป็นพิเศษ

     

    

จึงนำคำอภิปรายที่ผมเตรียมไว้ มา ลปรร. ในบันทึกนี้  ดังนี้

ประเด็นคำถามที่ ๑  โยงไปสู่การทำความเข้าใจว่า KM คืออะไร    คำถามนี้ตอบได้เป็นร้อยคำตอบก็ยังไม่จบสิ้น (๑)    แต่ในบริบทของการอภิปราย    KM คือเครื่องมือทำให้คนในองค์กรทุกคนเป็น knowledge worker   ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยของการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบันอย่างยิ่ง    นอกจากนั้น KM ที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะทำให้องค์กรเป็น Joyful Organization ดังที่ Richard Sheridan เขียนไว้ในหนังสือ Chief Joy Officer : How Great Leaders Elevate Human Energy and Eliminate Fear (2018)   ทำให้การทำงานเป็นความสนุกสนานและได้มิตรภาพ   เพราะคนในที่ทำงานมีความเอื้ออาทรต่อกัน   จากการร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายงานที่ทรงคุณค่าร่วมกัน   

สภาพดังกล่าวจะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Learning Nation    มีการเรียนรู้บูรณาการอยู่ในการทำงานและการใช้ชีวิต    เรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    เรียนเป็นทีม   ซึ่งก็คือ KM

ประเด็นคำถามที่ ๒   ตอบได้ง่ายๆ ว่า ต้องไม่หลง “ทำ KM”   ไม่หลงทำ KM เพื่อเอาคะแนนประเมิน    ต้องใช้ KM เพื่อการบรรลุเป้าหมายสำคัญขององค์กร    ต้องใช้ KM เป็นเครื่องมือเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จาก hierarchical เป็น flat organization    เปลี่ยนวัฒนธรรมไซโล  วัฒนธรรมหวงความรู้   เป็นวัฒนธรรมร่วมมือข้ามแดนหน่วยงาน และแดน business unit    เป็นวัฒนธรรมแชร์ความรู้    ต้องใช้ KM อย่างเหมาะสมตามบริบทขององค์กร    มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน

ประเด็นคำถามที่ ๓   เป็นเรื่องของการเริ่มประยุกต์ใช้ KM    คำตอบคือไม่มีสูตรตายตัว    ต้องทำความเข้าใจสภาพขององค์กรในขณะนั้น   ทำความเข้าใจวิสัยทัศน์, core values, และ corporate culture ขององค์กร   คำแนะนำเชิงหลักการคือ ให้คิดยุทธศาสตร์ change management   เน้นใช้ positive psychology   คือนำเอา SS (Success Story) มาแชร์กัน เป็น SSS (Success Story Sharing)    เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการเปลี่ยนแปลง    คำแนะนำอีกประการหนึ่งคือ ผู้นำระดับต้นๆ ขององค์กรต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ Chief Change Officer   เพื่อใช้ KM ให้ส่งผลตรงเป้าหมายสำคัญ 

KM ในยุคปัจจุบัน ต้องใช้ ICT อย่างชาญฉลาด    ให้การเข้าสู่คลังความรู้ขององค์กร  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำได้ Anytime, Anywhere   

ประเด็นคำถามที่ ๔   ข้อแนะนำคือ ให้ร่วมกันฝัน หรือจินตนาการ ว่า หากมีการใช้ KM อย่างได้ผลจน KM ฝังอยู่ในการทำงานและบริหารงานตามปกติแล้ว  องค์กรจะมีลักษณะอย่างไร    แล้วช่วยกันดำเนินการสู่เป้าหมายนั้น  

ข้างบนนั้นคือสาระที่ผมเตรียมไว้ก่อนการอภิปรายจริง

ในช่วงอภิปรายจริงสนุกมาก   เพราะการอภิปรายดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ    เริ่มจาก ศ. ดร. ปรัชญา เวสารัชช ในฐานะนักบริหาร กล่าวนำเรื่องประวัติและโครงสร้างของการจัดการความรู้ บอกว่า “การจัดการความรู้ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน”    โดยที่หน้าที่และสาระของการบริหารจัดการคือ (๑) จัดระบบวางระเบียบ  (๒) กำหนดเป้าหมายและวางยุทธศาสตร์  (๓) จัดรูปแบบวิธีการ  (๔) กำหนดมาตรฐาน  (๕) ปรับปรุงพัฒนา  (๖) ใช้ประโยชน์  

ท่านฉายแผ่นใสบอกว่า การจัดการในองค์กร ประกอบด้วย ๗ ด้านคือ  (๑) ระบบ โครงสร้าง กระบวนการ   - Organization management  (๒) ทรัพยากรมนุษย์  - Personnel / Human resource management  (๓) ทรัพยากรการเงิน  - Financial management  (๔) อาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ – Inventory / supply management  (๕) เทคโนโลยี  (๖) ข้อมูลข่าวสาร  (๗) การจัดการความรู้

 

ท่านบอกว่า การจัดการความรู้เป็นเรื่องคนและสารสนเทศ  ประกอบด้วยองค์ประกอบคือ  (๑) เสาะหา  (๒) สร้าง/พัฒนา  (๓) รวบรวม/จัดระเบียบ  (๔) ศึกษา/วิเคราะห์  (๕) ประยุกต์และใช้ประโยชน์  (๖) เผยแพร่ถ่ายทอด  (๗) ลด/กำจัดการต่อต้าน  (๘) ส่งเสริมสนับสนุน  (๙) สร้างบรรยากาศ  (๑๐) สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้

โดยมีเงื่อนไขความสำเร็จคือ  (๑) บุคลากร (โดยเฉพาะผู้บริหาร) ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ความรู้ในการนำองค์กร  (๒) ผู้นำ สนับสนุน/ส่งเสริม การหา พัฒนา และใช้ความรู้  (๓) วัฒนธรรมการเรียนรู้ / การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง / การเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้และใช้ความรู้  (๔) มีผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้  (๕) มีคลังความรู้ / ระบบเผยแพร่ / ความสะดวกในการเข้าถึงความรู้  

 เป็นการปูพื้นความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วน   ตามด้วยข้อแย้งว่ายุคปัจจุบันไม่ใช่ยุค ๔.๐  แต่เป็นยุค ๕.๐ หรือยุค personalization   

ตามด้วย รศ. ดร. สมชาย ภคภาศน์วิวัฒน์ให้ความเห็นเรื่อง “การจัดการความรู้ที่มีมากล้น”    ในสภาพ IOKO (information overload, knowledge overload) เกินกำลังสมองที่เล็กนิดเดียว    โดยเสนอให้ตั้ง KV (Knowledge Vision) ไปข้างหน้า    ให้สอดรับกับ Organization Vision    และหัวใจสำคัญคือ Systems Thinking   ซึ่งผมตีความว่าหมายถึงการคิดแบบเห็นปฏิสัมพันธ์เชิงพลวัตที่ซับซ้อนของปัจจัยที่หลากหลาย    รวมทั้งขีดความสามารถในการแยกแยะระหว่างความรู้ที่ถูกต้องกับความรู้ที่ผิด หรือเป็นความลวง     ท่านเอ่ยถึง systems thinking และ personal mastery ด้วย    

ดร. พีรเดช ตั้งคำถามว่า เคล็ดลับความสำเร็จของ  คืออะไร    ดร. ปรัชญาตอบว่า คือ architecture of KM ได้แก่  critical knowledge คืออะไร   ทำให้เกิดอย่างไร   ใครรับผิดชอบ  วัดผลอย่างไร    คำตอบของ ดร. สมชายคือ เคล็ดลับในการขับเคลื่อนตนเอง  ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  ตนชอบอะไร  นำมาเลือก  และเชื่อมโยงกับงค์กร     ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่เข้าถึงคุณค่าแท้  ไม่ใช่ตามแห่ไปตามกระแส     

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ม.ค. ๖๑

ห้อง ๔๕๒๒  โรงแรมเซนทารา  แกรนด์

หมายเลขบันทึก: 660214เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2019 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2019 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Ummh, we need to pay more attention to this “…systems thinking และ personal mastery…”. It could be just buzz words. System thinking can be “thinking in a box” (confined by ‘system architecture/design’ or systematic processes) and personal mastery can lead to vanity (and egotism). Together they are common among “dictators”.

;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท