การพัฒนาภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้


บทสรุปผู้บริหาร

ความก้าวหน้าของการพัฒนาภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

...............

ความสำคัญของการพัฒนาภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

  ภาษาไทยเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารของคนในชาติอีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  หาความรู้ ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ และใช้ในการประกอบวิชาชีพ   

      พระราชปณิธานที่ให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถพูดภาษาไทยได้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9  ได้พระราชทานพระราชดำรัสในคราวเสด็จฯเยี่ยมราษฎรจังหวัดยะลา  ณ คุรุสัมมนาคาร ภาคศึกษา ๒(สำนักงานศึกษาธิการภาค ๘ ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ ๒๓  มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒  ตอนหนึ่งว่า “.....การศึกษาที่นี่สำคัญมากให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนักเพียงแต่พอรู้เรื่องกันก็ยังดี เท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทยต้องใช้ล่ามแปล ควรให้พูดเข้าใจกันได้ เพื่อสะดวกในการติดต่อซึ่งกันและกัน.....”   ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ในการติดต่อกับทางราชการหรือทางราชการจะใช้ข่าวสารไปถึงประชาชนก็ต้องใช้ล่ามแปลกันเป็นเรื่องสำคัญ

       รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี  กำหนดนโยบายในบริหารประเทศในทุกด้านและขับเคลื่อนงานสร้างการรับรู้ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๒  แผนพัฒนาการศึกษาในระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐)เพื่อให้การพัฒนาประเทศ เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาอันส่งผลไปสู่ “ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”ในที่สุด  

    พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้     พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้นำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนงานการศึกษา การกีฬา คุณภาพชีวิตในสังคมทุกมิติการลดความเลื่อมล้ำและนำนโยบายของรัฐไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยการกำกับ ติดตาม ประเมินผลงานและบูรณาการการทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพเพื่อสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่   

      การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพภาษาไทยในพื้นที่พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชาชน ได้ใช้ภาษาไทย ทั้งในด้านการพูด การอ่านการเขียน และการฟัง ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นเครื่องมือในการสอบเข้าทำงานราชการหรือเอกชนเพราะภาษาไทยจะเป็นวิชาที่ต้องสอบเป็นวิชาหลัก และหากภาษาไทยของเด็กเยาวชนในพื้นที่มีคุณภาพแล้ว จะนำไปสู่การเรียนในกลุ่มสาระอื่นๆได้ดี และจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตามไปด้วย         

     กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มี ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต) หรือกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าและกำหนดให้มี “ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้”ขี้น  ทำหน้าที่ด้านวิชาการ ภายใต้การกำกับงานของศปบ.จชต. เน้นการพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่ บูรณาการการศึกษาทั้งภาครัฐเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดการเรียนการสอนภาษาไทยระดับชั้นเรียนระดับโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีการกำกับติดตามความสำเร็จเป็นห้วงๆ โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีมาตรฐาน จากสถาบันภาษาไทยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๔ ครั้งในแต่ละปีการศึกษาพร้อมกับการรายงานผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถนำผลการสอบวัดไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาได้ถึงระดับชั้นเรียนและนักเรียนรายบุคคล          

      หลักการทำงานโดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นทิศทางในการทำงาน โดยมีแผนงานโครงการกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติภายใต้แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ ๒๐ ปี(พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) โดยศูนย์พัฒนาการการเรียนการสอนภาษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดแผนระยะกลาง ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๔) เพื่อให้การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยมาเป็นเรื่องเฉพาะเร่งด่วนให้เห็นผลในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมในระยะสั้นและพัฒนาไปสู่การทำงานที่เป็นระบบในระยะกลางและระยะยาวต่อไป              

       การจัดเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยระยะ ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔)ภายใต้วิสัยทัศน์ “การยกระดับการใช้ภาษาไทยให้มีคุณภาพ มุ่งเน้นการพูด การฟังการอ่าน การเขียน และ   ใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ตั้งแต่ก่อนระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป เพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข”

 

ความก้าวหน้าในการพัฒนาภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          แนวทางในการทำงานในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยระยะ ๔ ปี(พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๔) ได้กำหนดเป้าหมายไว้เป็นระยะๆ และในปีการศึกษา ๒๕๖๑ มีผลงานที่ประสบความก้าวหน้าในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมประกอบด้วย         

๑.)ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ภาษาไทยขึ้นในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/อำเภอใน ๕จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน กำกับและติดตามประเมินผลการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาของรัฐเอกชน และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อย่างจริงจังโดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานเป็นประธานและศึกษานิเทศก์หรือนักวิชาการศึกษาเป็นเลขานุการขับเคลื่อนงานในรูปแบบคณะกรรมการศูนย์ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยเป็นคณะทำงานด้วย        

  ๒.)ได้จัดงานแสดงผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อคัดเลือกสื่อนวัตกรรมการสอนภาษาไทยที่ดีมีประสิทธิภาพในพื้นที่ จำนวน ๕๐นวัตกรรม และแสดงผลงานให้ผู้บริหาร ครูผู้สอนภาษาไทยในพื้นที่ และผู้สนใจเข้าชมผลงานและนำไปประยุกต์ใช้ที่ชั้นเรียนผ่านสื่อนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ โดยมีผู้มาเยี่ยมชม จำนวน ๓,๐๐๐ คน ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่  จังหวัดสงขลาพร้อมกับจัดพิมพ์เอกสารผลงานนวัตกรรม เผยแพร่ไปยังสถานศึกษาและสาธารณชน จากการประเมินผลโรงเรียนได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในชั้นเรียนเกิดนวัตกรรมด้านภาษาไทยในพื้นที่จำนวนมาก          

   ๓.)ได้ดำเนินการประกวดการเขียนเรียงความนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาโดยกำหนดแนวทางการเขียนเรียงความเพื่อส่งเสริมภาษาไทยและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติเป็นประจำทุกเดือนเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผลงานดีเด่นจะได้รับเกียรติบัตรและทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้เป็นการนำนโยบายและแนวทางให้นักเรียนได้มีทักษะตั้งแต่ระดับชั้นเรียนระดับโรงเรียน ระดับหน่วยงาน เพื่อให้ครูได้นำกิจกรรมประกวดเรียงความไปขับเคลื่อนภาคปฏิบัติพร้อมๆกันที่โรงเรียน และคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด ส่งเข้ารับรางวัลระดับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้สนใจและร่วมกิจกรรมจำนวนมากและผลงานที่เข้าประกวดระดับชนะเลิศจะได้รับการเผยแพร่ เป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านลายมือ และการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารที่ถูกต้อง         

  ๔.)ได้มีการสอบวัดความรู้ภาษาไทยนักเรียนชั้น ป.๑-๓ ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ทุกโรง  จำนวน ๑,๔๗๑โรง รวม ๑๓๐,๑๖๗ คน จำนวน ๔ ครั้ง ในปีการศึกษา๒๕๖๑ ด้านทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน เพื่อทดสอบความสามารถนักเรียนรายบุคคล ในการนำข้อมูลไปพัฒนาให้ตรงกับทักษะที่กำหนดตามแผนพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๔) จะลดจำนวนการอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องให้มีระดับปรับปรุงน้อยลง  ดังนี้        ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๑ นักเรียนชั้น ป.๑-๓ จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง ไม่เกินร้อยละ ๕๐       ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๒ นักเรียนชั้น ป.๑-๓จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง ไม่เกินร้อยละ ๓๐      ภายในปีการศึกษา๒๕๖๓ นักเรียนชั้น ป.๑-๓ จะมีนักเรียนระดับปรับปรุง ไม่เกินร้อยละ๑๐       และในปีการศึกษา ๒๕๖๔ จะต้องไม่มีนักเรียนระดับปรับปรุงในพื้นที่          ทั้งนี้การสอบวัด จะใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ผ่านการรับรอง จากสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ ทำการทดสอบ๔ ครั้งแต่ละครั้งจะเป็นข้อมูลให้ครูผู้สอนนำข้อมูลไปพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลทั้งด้านทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนโดยมีผลการสอบแต่ละครั้งแสดงข้อมูลแบบออนไลน์ ผ่านระบบมือถือและ เวปไซต์เพื่อให้ครูได้ทราบผลการสอบทันทีผ่านการวิเคราะห์ประมวลผลด้วยโปรแกรมที่ได้ทำขึ้นที่

http://www.yala1.go.th/e-read_e-write/admin/ 

              จากการวิเคราะห์ผลการสอบวัดทั้ง ๔ ทักษะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๑-๓ปีการศึกษา๒๕๖๑  มีระดับผลการเรียนดีขึ้น มีระดับดีมาก เพิ่มขึ้นทุกทักษะและมีระดับปรับปรุงลดลง โดยมีนักเรียนกลุ่มระดับปรับปรุงด้านอ่านออกเสียงเพียงร้อยละ ๑๐.๒๕ การอ่านรู้เรื่อง ร้อยละ๕.๔๗ การเขียนคำร้อยละ  ๒๐.๗๒ ด้านการฟังร้อยละ ๕.๑๑ และการพูดร้อยละ ๘.๐๙ เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายวางไว้ร้อยละ ๕๐ ซึ่งแสดงว่าสามารถพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยได้ดีมีประสิทธิภาพเหลือนักเรียนที่ต้องปรับปรุงจำนวนไม่มากอันจะเป็นข้อมูลให้ครูได้พัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลต่อไป ผลการเปรียบเทียบที่ 

http://www.yala1.go.th/e-read_e-write/admin/compare_sum_type_report.php 

          ผลการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓นี้ จะเป็นการส่งต่อให้ครูผู้สอน ผู้บริหาร  รู้ผลการพัฒนาภาษาไทยของนักเรียนรายบุคคล รายชั้นรายโรงเรียนและรายหน่วยงาน ผู้เรียนที่ได้เลื่อนชั้นในปีการศึกษา ๒๕๖๒ จะได้ส่งเสริมสนับสนุน หรือพัฒนาต่อยอดต่อไปและหน่วยงานจะได้มีการพัฒนาครูที่มีนักเรียนระดับปรับปรุง ให้มีทักษะการสอนวิธีการสอนหรือการใช้สื่อนวัตกรรม ให้มีประสิทธิภาพต่อไป อันจะส่งผลต่อเป้าหมายในปีการศึกษา ๒๕๖๒ บรรลุต่อไป   

       ๕.)มีการพัฒนาครูผู้สอนภาษาไทย จำนวน ๓,๐๐๐คนในปีการศึกษา ๒๕๖๑ โดยศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยได้สำรวจข้อมูลนักเรียนในโรงเรียนที่มีผลการสอบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ อยู่ในระดับปรับปรุงในโรงเรียนที่มีความถี่สูงสุด จากการสอบครั้งที่ ๑ และครั้งที๒สมควรที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะต้องได้รับการพัฒนา ด้านแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยแบบแจกลูกสะกดคำ และการสอนแบบ Active learning  โดยยึดหลัก “สอนเต็มที่ เต็มเวลาเต็มความสามารถ” ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้พัฒนาครูชั้นประถมศึกษาปีที่๑-๓ ไปแล้ว จำนวน ๓,๐๐๐ คนทำให้ครูได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการสอนภาษาไทยเพิ่มขึ้นและผลการสอบวัดครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ มีระดับดีมากเพิ่มขึ้นและระดับปรับปรุงลดลง  เพราะจุดเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน อยู่ที่ชั้นเรียนเป็นหลัก         

       ๖.)การจัดตั้งทีมนิเทศอาสา ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.)ได้แต่งตั้งคณะนิเทศอาสา จำนวน ๒๙๐ คน จากผู้บริหารและครูในพื้นที่จชต.และนอกพื้นที่ จชต.ลงไปนิเทศ ติดตามและ ให้คำปรึกษาแก่ครูภาษาไทยในพื้นที่ ร่วมกับศูนย์ภาษาไทยแต่ละหน่วยงาน ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำผลการนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน       ณ สถานศึกษา มาวิเคราะห์ปรับปรุงพัฒนาในแต่ละปีการศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาครูผู้บริหารในการยกระดับคุณภาพภาษาไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด          

      ๗.) การประเมินและพัฒนาห้องสมุดที่มีอยู่แล้วให้เป็น”ห้องสมุดคุณภาพ” โดยมีเป้าหมายใน ปี ๒๕๖๔ โรงเรียนสังกัด สพฐ.การศึกษาเอกชนและโรงเรียนสังกัด ตชด.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องผ่านการประเมินห้องสมุดคุณภาพ ตามเกณฑ์ ที่ ศปบ.จชต.กำหนด โดยในปี ๒๕๖๑ สามารถประเมินและมอบโล่และเกียรติบัตรโรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้ว๑๔๐ โรง และให้โรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้ว เป็นโรงเรียนแม่ข่ายขยายไปอีกโรงเรียนละ ๑๐ โรง ภายในปี ๒๕๖๔ จะต้องมีห้องสมุดคุณภาพครบทุกโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้      

    จากผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินผลการดำเนินงาน ถึงการพัฒนา จนประสบความสำเร็จและเกิดความก้าวหน้ามาเป็นลำดับอันเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ชุมชน ผู้นำศาสนาผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ผู้บริหารสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และครูผู้สอนภาษาไทยทุกสังกัด   โดยมีการพัฒนาร่วมกันอย่างมีเป้าหมายความสำเร็จที่ระบุไว้ชัดเจน ผู้บริหารระดับสูงได้ติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญ และเน้นพิเศษในการพัฒนาคุณภาพในพื้นที่ในหลายมิติควบคู่กันไป เพื่อให้ไปตามเป้าหมายที่วางไว้ติดตามผลการดำเนินงาน ตามแผนที่วางไว้ทุกกิจกรรม จนในปีการศึกษา ๒๕๖๑ ผลการสอบวัดคุณภาพภาษาไทยสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทุกด้าน  มีนักเรียนใช้ภาษาไทยได้ดี มีคุณภาพ ผ่านกิจกรรมชั้นเรียนและห้องสมุดที่มีคุณภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีทีสุดในโรงเรียนครูได้รับการพัฒนาตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ ActiveLearning ผ่านกระบวนการ PLC และกิจกรรมBBL จึงมีผลให้ครู นักเรียน สถานศึกษาชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีการใช้ภาษาไทยได้ดีมีคุณภาพตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลสอดรับการกำหนดให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และจังหวัดสตูล เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรม  นับเป็นความก้าวหน้าด้านการพัฒนาภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 660205เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2019 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2019 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท