การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก : 4. จากปฏิวัติวัฒนธรรม สู่ปฏิรูปการศึกษา : เรียนรู้จากจีน


หนังสือ A World-Class Education : Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) (1) เขียนโดย Vivien Stewart   แนะนำ ๕ ประเทศ สำหรับเป็นแบบอย่างการพัฒนาระบบการศึกษาที่ดี คือ สิงคโปร์  แคนาดา  ฟินแลนด์  เซี่ยงไฮ้ (จีน)  และออสเตรเลีย    ในบันทึกนี้จะเล่าเรื่องการศึกษาของจีน โดยตีความจากหนังสือดังกล่าว หน้า ๖๔ – ๗๒



จากซากปรักหักพังสู่อันดับหนึ่งของโลก

ผลพวงจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966 – 1976) ระบบการศึกษาถูกทำลาย ต้องฟื้นขึ้นใหม่    แต่จีนก็เรียนรู้เร็ว ใน PISA 2009 จีนเข้ารับการทดสอบเป็นครั้งแรก    โดยส่งเฉพาะมณฑลที่การศึกษาก้าวหน้าที่สุดเข้ารับการประเมิน    คือมณฑลเซี่ยงไฮ้ (ประชากร ๕๐ ล้าน)     ผลคือโลกตลึง    เพราะจีนได้อันดับหนึ่งของโลก ในการทดสอบทั้ง ๓ วิชา  คือ การอ่าน  วิทยาศาสตร์  และคณิตศาสตร์    

คำถามคือ จีนทำอย่างไร จึงพลิกฟื้นระบบการศึกษาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ภายในเวลาเพียง ๒๐ ปีกว่าๆ    

คำตอบคือ มุ่งปฏิรูปชั้นเรียน เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ ยุคศตวรรษที่ ๒๑    ซึ่งมีตัวอย่างดีๆ ในโลกมากมาย    เอามาดำเนินการในบริบทจีน (มณฑลเซี่ยงไฮ้)    หัวใจไม่ใช่หลักการหรือความรู้  แต่เป็นการประยุกต์หลักการหรือความรู้ให้เกิดผลที่นักเรียน    ย้ำว่า เป้าหมายต้องเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   

จุดแข็งของจีนคือวัฒนธรรมให้คุณค่าต่อการเรียน    เชื่อว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับฐานะในสังคม

การปฏิรูปการศึกษาเริ่มจากการออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี  ในปี ค.ศ. 1988    ซึ่งหมายความว่าบังคับจนจบมัธยมต้น    แต่ด้วยความกระหายการศึกษาของคนจีน  การศึกษาระดับมัธยมปลายก็ขยายตัวเอง โดยไม่ต้องบังคับ    การศึกษาระดับมัธยมปลายนี้ มีทั้งสายอาชีวะ และสายวิชาการคู่กัน    เพื่อสนองการขยายตัวของภาคการผลิต   

ขณะนี้ ระบบการศึกษาของจีนใหญ่ที่สุดในโลก    มีนักเรียนระดับประถมและมัธยม ๒๐๐ ล้านคน    คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของโลก    ในขณะที่จีดีพีของจีนเป็นเพียงร้อยละ ๑๐ ของโลก    การขยายตัวของการศึกษาจีนรวดเร็วทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

การปฏิรูปหลักสูตรเริ่มในปี 2001  หลังจากศึกษาตัวอย่างของกว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลก    โดยเริ่มดำเนินการเชิงทดลองในบางมณฑล  แล้วจึงขยายไปทั่วประเทศในปี 2007    หลักสูตรใหม่เน้นเรียนจากการปฏิบัติ  ซึ่งเป็นการเรียนรู้สหวิทยาการ หรือบูรณาการวิชา     เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นเรียนเป็นรายวิชา  เรียนจากการท่องจำตามที่ครูสอน    และการสอบก็เปลี่ยนไป จากสอบความรู้ เป็นสอบความสร้างสรรค์ และการประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา   

การศึกษาดั้งเดิมของจีนเน้นที่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์     วิชาบังคับระดับมัธยมคือ ชีววิทยา  เคมี  ฟิสิกส์  พีชคณิต  และเรขาคณิต    ในหลักสูตรใหม่เพิ่มการเน้นด้านศิลปะ และมนุษยศาสตร์    และเน้นเรียนจากการปฏิบัติ

ในปี 2001 โรงเรียนทั่วประเทศเริ่มสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป. ๓   เพื่อเตรียมพลเมืองจีนให้เป็นพลเมืองโลกด้วย   

การริเริ่มปฏิรูปการศึกษา ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ    ซึ่งหมายความว่า เป็นการขับเคลื่อนจากส่วนกลาง     แต่ในปัจจุบัน มีการกระจายอำนาจตัดสินใจเรื่องหลักสูตรไปที่ท้องถิ่น    เพื่อให้หลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น  



ยุทธวิธีของเซี่ยงไฮ้

นครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางความทันสมัย  ศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางความเป็นนานาชาติ ของจีน    แต่มณฑลเซี่ยงไฮ้มีส่วนที่เป็นชนบทด้วย     จีนใช้มณฑลเซี่ยงไฮ้เป็นกองหน้าในการปฏิรูปการศึกษา     โดยเปิดหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนให้กว้างขึ้น    โดยเปิดวิชาเลือกจำนวนมาก   และจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรให้นักเรียนได้ฝึกเรียนรู้จากตั้งคำถาม ตามด้วยการปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ของตน เช่น กิจกรรมวิทยาศาสตร์  การละคร  ชมรมผู้ประกอบการ

มีมาตรการลดความเครียดในการเรียนแบบแข่งขัน โดยดำเนินการยกเลิกโรงเรียนสำหรับเด็กเก่งที่แย่งกันสอบแข่งขันเข้าเรียน (ในชั้น ม. ต้น และ ม. ปลาย) และตั้งอยู่ในเมือง    ทดแทนด้วยโรงเรียนคุณภาพสูงที่กระจายอยู่ในพื้นที่     มีการยกระดับคุณภาพโรงเรียน โดยมาตรการ “จับคู่” โรงเรียนคุณภาพสูงกับโรงเรียนอ่อน    โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท

มีมาตรการกระจายครูสอนเก่ง (master teacher) ไปทั่วทั้งมณฑล    จัดวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในมณฑลเสียใหม่ ทดแทนการสอบระดับประเทศ (ที่สุดโหด)    โดยปรับการสอบให้เน้นทดสอบทักษะแก้ปัญหา และทดสอบความรู้แนวกว้าง 

ผมขอเพิ่มเติมเคล็ดลับของเซี่ยงไฮ้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของมณฑล โดยการทำงานร่วมกันเป็นทีมของครู    ช่วยกันเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน และให้ feedback แก่กันและกัน   โดยมีรายละเอียดในเอกสาร Chinese Lessons : Shanghai’s Rise to the Top of PISA League Tables (2)    เรื่องยุทธศาสตร์จัดเครื่องมือ feedback แก่ครูนี้ Bill Gates เคยพูด Ted Talk เสนอใช้เงิน ๕ พันล้านเหรียญ ซื้อกล้องวิดีทัศน์ขนาดเล็กติดหน้าห้องเรียนเพื่อถ่ายบรรยากาศพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนเป็น feedback แก่ครู ()    ซึ่งผมตีความว่า เป็นการใช้นักเรียนเป็น โค้ช แก่ครู      



ปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จของจีน

ปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาของจีน มี ๕ ประการคือ

  1. 1. วิสัยทัศน์ที่ท้าทายและระยะยาว    ก้าวสู่ผู้นำคุณภาพการศึกษาระดับโลกใน ๑๒ ปี    คือกำหนดเป้าหมายว่า ในปี ค.ศ. 2020 จีนมีการศึกษาพื้นฐาน ๑๒ ปี    มีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ๑๐๐ แห่ง     มีอุทยานวิทยาศาสตร์ ๑๐๐ แห่งเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่ตลาด    มีหลักสูตรทันสมัยที่ส่งเสริมความริเริ่มสร้างสรรค์  ทักษะในการใช้ความรู้  ทักษะในการใช้เทคโนโลยี  และทักษะภาษาอังกฤษ ของนักเรียน           
  2. 2. มาตรฐานและหลักสูตรแกนที่ท้าทาย    เน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์     มีครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สอนตั้งแต่ ป. ๑    สังคมให้คุณค่า รวมทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้น้ำหนักต่อวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์   
  3. 3. ระบบพัฒนาครูที่ดำเนินการอย่างจริงจัง    นักศึกษาครูมีความรู้ด้านสาระวิชาแข็ง  และได้มีประสบการณ์สังเกตการณ์การสอนของครูเก่ง ตั้งแต่เรียนปีแรก    เมื่อบรรจุเป็นครู จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครูที่จัดทุกสัปดาห์ นำโดยครูสอนเก่ง (master teacher) ของโรงเรียน    มีแรงจูงใจ การขึ้นเงินเดือน และการไต่บันไดอาชีพโดยผลงานการฝึกครูรุ่นหลัง  การตีพิมพ์  และการบรรยายในที่สาธารณะ     
  4. 4. วัฒนธรรมให้คุณค่าสูงแก่การศึกษา    คนจีนฝังใจกับระบบจอหวงน ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งพันปี ระหว่าง ค.ศ. 603 ถึง 1905   ซึ่งเป็นระบบให้คุณค่าแก่ความสามารถ (meritocracy)    และสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อในความขยันหมั่นเพียรมานะพยายาม ไม่ใช่ความฉลาด ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ    กระบวนทัศน์นี้ในปัจจุบันเรียกว่า กระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset)   ซึ่งตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง (fixed mindset)    เมื่อเทียบกับนักเรียนอเมริกัน นักเรียนจีนมีเวลาเรียนมากกว่าสองเท่า     เวลาในชั้นเรียนของจีนมากกว่า และนักเรียนจีนยังใช้เวลาเรียนนอกชั้นเรียนอีกมาก  
  5. 5. เน้นความเป็นนานาชาติ    ระบบการศึกษาของจีนหมั่นเทียบเคียงผลลัพธ์การเรียนรู้ กับมาตรฐานนานาชาติ อยู่ตลอดเวลา    ผมตีความเว่า เพื่อทำให้ได้ผลดีกว่า ดังกรณีของผลสอบ PISA 2009 ของมณฑลเซี่ยงไฮ้    นอกจากนั้นยังมีระบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องกับโรงเรียนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  



เส้นทางสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ในปี ค.ศ. 2010 นายกรัฐมนตรี หู จิ่น เทา ประกาศแผนปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาระยะปานกลางและระยะยาว ถึง ค.ศ. 2020   หลังการเตรียมยกร่างผ่านการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง รวมทั้งเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีคนให้ความเห็นหลายล้านความเห็น    แผนดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

  • จัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยเป็นเวลา ๑ ปี ทั่วประเทศ
  • เพิ่มอัตราจบการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี ให้ได้ร้อยละ ๙๕
  • เพิ่มอัตราเข้าเรียนชั้น ม. ปลาย เป็นร้อยละ ๙๐
  • ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาโดยรัฐบาลกลางเพิ่มการช่วยเหลือโรงเรียนที่อ่อนแอเป็นพิเศษ
  • ลดความแตกต่างของคุณภาพระหว่างโรงเรียนชั้นดี กับโรงเรียนที่อ่อนแอกว่า
  • ลดการบ้าน
  • จัดระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยให้มีความหลากหลาย
  • เพิ่มอัตราเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาให้ได้ร้อยละ ๔๐ ของกลุ่มอายุ
  • เพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลก  



ความท้าทายด้านการศึกษาของจีน

ความท้าทายหลักๆ มี ๓ ประการคือ

  1. 1. ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท
  2. 2. การสอบเข้ามหาวิทยาลัย  ที่มหาวิทยาลัยมีอิสระในการดำเนินการเอง และเน้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และความรู้วิชาการทันสมัย    มีผลย้อนกลับมายังโรงเรียนระดับมัธยมปลายให้ต้องเน้นการสอบวิชาความรู้    ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ
  3. 3. ขีดความสามารถ ในการรองรับการดำเนินการสนองนโยบายขยายตัว และยกระดับคุณภาพ     โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูเก่าๆ ที่เรียนมาในระบบการศึกษาแบบถ่ายทอดความรู้    ไม่คุ้นกับการจัดการเรียนรู้แบบ inquiry-based



ข้อเรียนรู้ต่อวงการศึกษาไทย

นี่คือการตีความของผมเอง ไม่ได้ระบุในหนังสือแต่อย่างใด   

ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาของจีนทั่วประเทศ ยังเป็นความท้าทาย    แต่จีนก็ทำได้สำเร็จในหลายด้าน    โดยยุทธศาสตร์สำคัญคือเลือกดำเนินการนำร่อง แล้วเรียนรู้จากการดำเนินการนั้น    เพื่อหาทางขยายผลไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว    หลักการสำคัญคือสร้างตัวอย่างความสำเร็จ เป็นตัวแบบให้เรียนรู้    ใช้ส่วนที่ทำได้ดีหรือสำเร็จเป็นพลังให้ส่วนที่เหลือดำเนินการได้ผลตามเป้าหมายด้วย    ผมตีความว่าเป็นการใช้พลังของ จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยากและซับซ้อน  

แนวทางเลือกดำเนินการนำร่องในบางพื้นที่  เป็นแนวทางที่ประเทศไทยกำลังใช้อยู่ในขณะนี้   คือการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    ข้อเรียนรู้จากจีนในการทำให้การดำเนินการพัฒนานำร่องประสบความสำเร็จ โดยมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการและกติกาที่ล้าหลัง    ก่อการเรียนรู้สำหรับนำเอาไปปรับใช้ทั่วประเทศ จึงมีความหมายมากสำหรับไทย       

ขอขอบคุณ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้   

วิจารณ์ พานิช

๔ ม..ค. ๖๒  ปรับปรุง ๖ ม.ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 659984เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2019 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2019 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท