การจูงใจ (Motivation) สำหรับคนรุ่นใหม่


การจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่

การจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่ (อ้างถึง ดร.พสุ เดชะรินทร์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “มองมุมใหม่” 23มิถุนายน 2558)


             หน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารทุกระดับคือการที่จูงใจและขับเคลื่อนผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานต่างๆ ด้วยความทุ่มเทและมุ่งมั่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาด้วยวิธีการคิดที่แตกต่างจากบรรดาผู้บริหารองค์กรในปัจจุบัน ทั้งที่มีทฤษฎีและหลักการจูงใจต่างๆ ออกมามากมาย แต่หลักการและทฤษฎีเหล่านั้นล้าสมัยและไม่สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ได้ ตามหลักของ If-then เชื่อว่าถ้าทำงานหนักและทุ่มเทจะได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน แต่จากงานวิจัยล่าสุด ทั้งทางด้านการแพทย์และการจัดการ จะพบว่าการจูงใจแบบ if-then จะใช้ได้กับงานบางประเภทเท่านั้นเอง และเป็นงานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้กระบวนการทางความคิดมาก และเป็นงานระยะสั้น

              นอกจากนี้ นักคิดบางคนยังบอกด้วยว่าการจูงใจแบบ if-then เหมาะกับงานในศตวรรษที่แล้ว คนรุ่นใหม่นั้นใส่ใจกับเรื่องของเงินมากขึ้น แต่เงินกับการจูงใจนั้น จะสามารถใช้ได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง คือมีเงินพอแล้ว เงินจะไม่ใช่ปัจจัยจูงใจอีกต่อไป แล้วถ้าเงินไม่ใช่ปัจจัยในการจูงใจ แล้วอะไรคือสิ่งที่จูงใจคนรุ่นใหม่ได้ ปัจจัยที่จะใช้ในการจูงใจคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบันกับคนรุ่นใหม่ ปัจจัยสามอย่างที่สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ได้ดี คือ Autonomy หรือความเป็นอิสระ Mastery หรือความอยากที่จะเก่ง และ สุดท้ายคือ Purpose หรือ จุดประสงค์ ( อ้างถึง Dan Pink ) แนวคิดของคุณ Pink นั้น เขาเน้นที่แรงจูงใจหรือแรงขับเคลื่อนในการทำงาน ดังนั้น ปัจจัยทั้งสามประการจึงเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นหลัก 

               ปัจจัยประการแรกคือ Autonomy นั้นคือความอิสระ เนื่องจากมองว่าในการทำงานปัจจุบันพนักงานจำนวนมากไม่ได้เกิดความผูกพัน (Engage) กับองค์การ รูปแบบการบริหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นรูปแบบการบริหารที่เน้นการควบคุม และการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ แต่ในการทำงานยุคปัจจุบัน จะเน้นการทำงานที่ให้อิสระกับผู้ทำงานมากขึ้น (คล้ายกับหลัก Holacracy) และการที่บุคลากรได้ทำงานอย่างอิสระก็จะยิ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้พนักงานได้เกิดทั้งความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น และอยากจะทำงานดีๆ มากขึ้น แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ ถ้ามั่นใจว่ามีพนักงานที่ดี มีความสามารถ คนที่ดีและมีความสามารถย่อมอยากจะทำในสิ่งที่ดี ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารคือให้การสนับสนุนคนดีและคนมีความสามารถเหล่านั้น ปัจจัยประการที่สองคือ Mastery หรือความอยากที่จะเก่ง ก็คือความอยากของคนที่จะก้าวหน้า พัฒนาในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น หรือในสิ่งที่ตนเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น และจะพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลานั้น ปัจจัยประการที่สามคือ Purpose หรือจุดประสงค์ การทำงานเพื่อกำไรนั้น ไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดแรงผลักดันในการทำงานได้อีกต่อไป เราจะต้องสามารถให้สาเหตุหรือเหตุผลในการทำงานที่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะให้เขามีแรงขับเคลื่อนในการทำงานต่อไป ดังนั้นตัวที่จะขับเคลื่อนให้คนรุ่นใหม่ทำงานได้ดีนั้น ขึ้นกับปัจจัยสามปัจจัย คือ การได้ทำงานโดยปราศจากการควบคุมบังคับ การได้พัฒนาตนเองในสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา และการทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายของการทำงานที่ชัดเจน

       
คำสำคัญ (Tags): #การจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 659961เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2019 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2019 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท