ถนนข้ามทางรถไฟ


ยุคแห่งการสิ้นสุดความถาวร

                                          ถนนข้ามทางรถไฟ
      ผมอยู่ต่างจังหวัด ในทุกๆวันต้องขับรถผ่านข้ามทางรถไฟวันละหลายๆครั้ง บางช่วงเป็นถนนลาดยางมาตรฐาน พาดผ่านข้ามทางรถไฟได้เลย  และหลายเส้นมีการเว้นช่วง คงเป็นถนนขรุขระทั้งสองข้างรางรถไฟ  กำลังขับเพลินๆ ต้องเสียความรู้สึกทุกครั้ง และเป็นแบบนี้มาหลายสิบปีแล้วครับ ไม่น่าเชื่อเลย

       ผมเข้าใจของผมเอง ว่าเจ้าของหน่วยงานผู้สร้างถนน และบำรุงรักษาถนนคงจะมีปัญหากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างใดๆในเขตรถไฟ แล้วเหตุใดจึงยังคงเป็นสภาพแบบนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย ส่งผลให้เกิดปัญหา ดังนี้

  1 ความไม่สะดวก ของผู้ขับขี่ยานพาหนะข้ามทางรถไฟ

  2 ผู้โดยสารรถไฟ ต้องผจญกับฝุ่นที่เกิดขึ้นจากถนนดินที่พาดผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะตู้โดยสารชั้นประหยัด ที่ไม่มีระบบปรับอากาศ

      กฎ ระเบียบต่างๆเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้น เมื่อเขียนได้ก็น่าจะลบได้ เปลี่ยนแปลงได้ ให้เหมาะกับยุคสมัย อยากจะให้ผู้มีอำนาจสั่งการได้มองเห็นความยากลำบากของประชาชนบ้าง แต่จริงๆแล้วผู้มีอำนาจก็ไม่ค่อยได้ขับรถบนถนนฝุ่นข้ามทางรถไฟ ส่วนมากจะนั่งเครื่องบิน


      ยุคนี้ ถือเป็นยุคแห่งความสิ้นสุดความถาวร ทุกองค์กรต้องฉับไวต่อความเปลี่ยนแปลง จะต้องปรับตัวให้รองรับความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหยุดอยู่กับที่ องค์กรจะล่มสลาย ตกยุค ตามเขาไม่ทัน ขาดทุน หรือสูญพันธุ์เหมือนไดโนเสาร์

      ถนนข้ามทางรถไฟ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็น่าจะทำได้ ผมคิดแบบตื้นๆแบบนี้ เช่นเปลี่ยนแปลงระเบียบใหม่ เช่นหน่วยงานใดจะสร้าง ถนนข้ามทางรถไฟ จะต้องใช้แบบแปลนมาตรฐานของการรถไฟฯ และมีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯเป็นกรรมการตรวจรับงานก่อสร้างด้วย เช่นเดียวกันกับการขอเชื่อมทาง ของกรมทางหลวงแผ่นดิน

     ผมเชื่อว่าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณสร้างถนนก็คงยินดีที่จะตั้งงบประมาณจัดสร้าง แบบเนื้อเต่ายำเต่า หรืออัฐยายซื้อขนมยาย  คือใช้เงินของรัฐสร้างทางรถไฟให้การรถไฟของรัฐ เอ๊ะ..หรือการรถไฟฯเป็นของพนักงานรถไฟ  พวกเขาเข้าใจแบบนี้หรือเปล่า ก็ไม่ทราบ

ไชยยงค์ ตงตรีแก้ว 8/12/2006

หมายเลขบันทึก: 65988เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาเล่าให้ฟัง
  • สบายดีนะครับพี่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท