ไม่ได้มีแค่เพลงแร็พ #ประเทศกูมี เยาวชน Triple H Music เรียนรู้สังคมด้วยบทเพลง


พลังเพลง พลังปัญญา

      ดนตรีแร็พ สะท้อนปัญหาสังคมที่โด่งดังและสร้างเสียงวิพากษ์ วิจารณ์มากที่สุดในเวลานี้เห็นจะไม่พ้น ประเทศกูมี ความโด่งดังของกลุ่มนักดนตรีแร็พ สวนทางกับปรากฏการณ์ ดนตรีเพื่อสังคม ที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซบเซาอย่างเห็นได้ชัด

        “ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการสร้างสรรค์เพลงที่โดดเด่นจนมีอิทธิพล ต่อสังคม หรือวัยรุ่นในยุคนี้มีไม่มากนัก” รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ผู้จัดการโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ “พลังเพลง พลังปัญญา” อาสานำพาสุขสู่สังคม Triple H Music บอกให้สังเกตง่ายๆ ถ้านึกถึงเพลงที่มีปรากฏการณ์และมีอิทธิพลกับคนในยุคนี้จะต้องนึกนานสักหน่อย

        “สมัยผมเป็นวัยรุ่น เพลงที่มีอิทธิพลจะเป็นเพลงเพื่อชีวิต อย่าง คาราวาน คาราบาว พงษ์สิทธิ หรือน้องๆ รุ่นหลังๆ มาหน่อยเพลงที่มีอิทธิพลก็จะเป็น “ตูน บอดี้สแลม” แต่น้องๆ ในสมัยนี้หาเพลงที่มีอิทธิพลที่เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันได้ยากขึ้น” เขา ว่า

        ด้วยเหตุผลการสร้างสรรค์ดนตรีที่สะท้อนปัญหาหรือปรากฏการณ์ทางสังคมมีน้อยลง ทำให้โครงการดนตรีสร้างปัญญา นำพาสุขสู่สังคม Triple H Musicซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามปลุกเร้า และดึงวัยรุ่นในโรงเรียนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์งานดนตรี

        ปีนี้ เป้าหมายต่างจากปีที่ผ่านมา (2560) Triple H Music และ สสส. เปิดรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยม เข้ามาร่วมโครงการ โดยมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงพื้นที่ไปเรียนรู้ปัญหาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง และให้ออกแบบเพลง และการแสดง เพื่อสะท้อนปัญหาเหล่านั้น

          รัชพงศ์ บอกว่า อยากเห็นและฟังเพลงที่มากกว่าความบันเทิง แบบที่กำลังฮิตๆ ในปัจจุบัน เช่นเพลง “ครางชื่ออ้ายแน” แต่อยากเห็นดนตรีที่ช่วยสร้างสรรค์สังคม เพราะเชื่อมาตลอดว่าอิทธิพล เพลง ดนตรีช่วยทำให้สังคมดีขึ้น เพื่อให้บทเพลงสร้างสรรค์สังคม โจทย์ของปีนี้จึงยังเป็นเรื่องของการเรียนรู้ปัญหาสังคม แต่ลดขนาดจากเดิมที่ต้องสร้างสรรค์เนื้อหาและทำนอง มาเป็นการออกแบบโชว์การแสดงเพื่อสะท้อนปัญหา

        “โครงการนี้คล้ายๆ กับการประกวดดนตรี แต่เรามีหลักคิดที่แตกต่างจากการประกวดทั่วไป คือ นอกจากจะฝึกทักษะดนตรีและการแต่งเพลงแล้ว เราต้องการพาเยาวชนไปเรียนรู้โลกกว้าง และเรื่องจริงของสังคม โดยให้กลุ่มนักดนตรีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ นำประสบการณ์ที่เรียนรู้ปัญหามาผลิตงานเพื่อจัดแสดงโชว์ดนตรี ซึ่งเป็นการสร้างความสุขทางปัญญานอกเหนือไปจากเพลงส่วนใหญ่ที่มักเน้นเรื่องอารมณ์ความรักเพียงอย่างเดียว” รัชพงษ์ บอก

          โครงการเสนอผ่านไปยังโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศเพื่อเชิญชวนนักเรียนที่สนใจดนตรีเข้าร่วม โดยมีทั้งหมด 5 สถาบันใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก อยุธยา กทม. เพชรบูรณ์ สุราษฏร์ธานี รวมผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 35 คน

        “นักเรียนที่สนใจดนตรียังมีมากเหมือนเดิม แต่เรียนดนตรีมีน้อย เพราะบางส่วนติดเกม บางส่วนอาจจะเรียนจากยูทูป ซึ่งทำให้ดนตรีที่จะเชื่อมโยงสู่ปัญหาสังคมยิ่งมีน้อยลง” รัชพงศ์ จึงหวังว่า นักเรียนที่ผ่านการอบรมในช่วง 3  เดือนจะเรียนรู้สังคมจากดนตรี และเรียนรู้ตัวเองจากดนตรี และสามารถจัดแสดง เพื่อสร้างความสุขให้กับชุมชนและสังคมได้

          เขมชาติ ไชยจันทร์ จากโรงเรียนคลองชนวน อ.เวียงสระ จ.สุราษฏร์ธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ บอกว่า เคยเข้ามาร่วมเมื่อปีที่แล้วและเห็นว่าโครงการมีประโยชน์ เมื่อเรียนจบไปทำงานเป็นครูสอนดนตรี จึงอยากพานักเรียนในโรงเรียนมาเรียนงานดนตรีเพื่อสังคม

        “เด็กในโรงเรียนชอบดนตรี ทำให้เด็กบางส่วนที่เคยติดเกมมาสนใจดนตรีด้วย” เขมชาติ บอก

          แม้เด็กๆ ที่โรงเรียนคลองชนวนจะสนใจดนตรี แต่ก็มีน้อยคน ที่จะเรียนรู้สังคมผ่านดนตรี เขมชาติ บอกว่า อยากเห็นนักเรียนที่เข้าเรียนดนตรี ได้รู้จักดนตรีและชุมชนของตัวเอง ไปพร้อมๆ กัน

        ขณะที่ นฤเบส เยาวเรศ อายุ 19 ปี หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ บอกว่า สนใจเล่นดนตรีมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เริ่มจากการเป่าทรัมเป็ต กระทั่งเริ่มมาเล่น เบสอย่างจริงจังตอนอายุประมาณ 17-18  ปี และได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวงดนตรีชื่อ Until I Fall

          ตอนนี้ สิ่งที่นฤเบส ตั้งใจมากที่สุดคือการยึดถือ การเล่นดนตรีเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยเฉพาะการเข้าไปเป็นโปรดิวเซอร์เพลง

        “ผมคิดว่า ดนตรีช่วยสะท้อนปัญหาสังคมและช่วยทำให้สังคมดีขึ้นได้ เพราะบางครั้งคนที่กำลังท้อถอย ก็มีกำลังใจได้จากเพลง หรือบางครั้งเพลงก็ช่วยทำให้คนเข้าใจกันได้” นฤเบส ว่า

       เหล่านี้คือปรากฏการณ์แห่งความหวังต่อเยาวชนที่ได้ใช้ศิลปะดนตรีเชื่อมโยงสู่เรียนรู้สังคม เพื่อจะได้สะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 659871เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท