จาก “ต้นไม้สารภาพ” ถึง “นกกระดาษหลากสี” กิจกรรมอบอุ่นชวนวัยรุ่นห่างจอมือถือ


เราต้องปลูกฝังจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทำงานเพื่อสังคม ให้เด็กเรียนรู้ร่วมกัน รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง รู้จักชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองสังคม นำมาซึ่งความอบอุ่นในครอบครัว อันจะส่งผลดีต่อชุมชนต่อไปในอนาคต

        ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนติดโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของชุมชนไปแล้ว สร้างความไม่สบายใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่น้อย เพราะปัญหานี้นำมาซึ่งผลกระทบที่มีต่อตัวเด็กโดยตรง คือขาดพัฒนาการทางด้านสังคม อารมณ์และสติปัญญา และเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือความรุนแรงจากสื่อที่ไม่เหมาะสม

            ที่บ้านป่าเป้า ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน แม้จะเป็นชุมชนคนชนบทที่ห่างไกล ที่นี่ก็ประสบปัญหาเด็กติดโทรศัพท์มือถือเช่นกัน

            ปัญหาที่บ้านป่าเป้าอาจจะพิเศษกว่าพื้นที่อื่น เพราะหลังจากที่กรมพัฒนาชุมชน ได้คัดเลือกให้หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำอำเภอนาหมื่น โดยสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีคอมพิวเตอร์ให้เพื่อการเรียนรู้และเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ซึ่งมุ่งหวังให้ชาวชุมชนนำความรู้ทางด้านไอทีไปยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

            เมื่ออินเตอร์ไร้สาย (ไวไฟ) สาธารณะ ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน แทนที่จะมีประโยชน์ กลับเป็น “ดาบสองคม” เมื่อเด็กๆ มามั่วสุมเล่นสมาร์ทโฟนทุกเช้า-เย็น จนถึงดึกดื่น ไม่ยอมกลับบ้าน

            “หากปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไป คงจะไม่ดีกับเด็กในชุมชนในระยะยาวต่อไปแน่นอน เพราะเด็กพวกนี้ก็เหมือนลูกหลาน เป็นอนาคตของชุมชน ดังนั้นเราจึงต้องทำอะไรสักอย่าง” อำนวย สารเถื่อนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเป้า เอ่ยถึงสาเหตุที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเด็กติดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

            ทางผู้ใหญ่อำนวยจึงได้นำปัญหาดังกล่าว เข้าหารือสภาผู้นำของหมู่บ้าน เพื่อหาทางออก ซึ่งในที่สุดก็สรุปตรงกันว่าจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ผ่านความเข้มแข็งของครอบครัว ด้วยเชื่อว่าถ้าพ่อแม่ลูกและสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ทอดทิ้งใครคนใดคนหนึ่ง ครอบครัวจะเข้มแข็ง ช่วยกันบอกกล่าวดูแล ให้เด็กๆ จัดสรรเวลาได้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรมและกระบวนการสานสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

            ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเป้า กล่าวด้วยว่า การจะแก้ปัญหาได้ทุกคนจะร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน หรือพ่อแม่จะต้องให้เวลากับลูกให้มากๆ มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ได้พูดคุย ได้สร้างความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะถ้าไม่มีอะไรให้ทำ เด็กก็จะกลับไปเล่นโทรศัพท์มือถืออีก โดยทุกวันจันทร์ทางหมู่บ้านจะมีกิจกรรมผู้นำพบปะเยาวชน โดยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะมาพูดคุย มาให้คำปรึกษากับเด็ก เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าผู้ใหญ่ในชุมชนยังรักและสนใจในตัวเขา เวลาทำพูดเวลาเตือนอะไรไปเด็กๆ ก็จะเกรงใจ

            “เราต้องปลูกฝังจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทำงานเพื่อสังคม ให้เด็กเรียนรู้ร่วมกัน รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง รู้จักชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองสังคม นำมาซึ่งความอบอุ่นในครอบครัว อันจะส่งผลดีต่อชุมชนต่อไปในอนาคต” ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเป้า กล่าว

            ภายในบ้านของแต่ละครัวเรือน ทางสภาผู้นำยังกระตุ้นให้ทุกหลังคาเรือนทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นกิจกรรมตัวหนังสือแทนเรื่องเล่า ถือเป็นหนึ่งในวิธีจัดการปัญหาด้วยเชิงสัญลักษณ์ ด้วยเชื่อว่า บางครั้งเด็กมีปัญหาก็จะปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะกลัวโดนดุ แต่ถ้าคนในบ้านแสดงบทบาทเป็นได้ทั้งพ่อแม่และเพื่อนที่สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง เด็กก็จะกล้าเปิดใจ แม้จะไม่กล้าพูดตรงๆ ก็ให้เด็กๆ เขียนปัญหาหรืออยากจะเล่าเรื่องอะไรให้พ่อแม่ฟังลงบนกระดาน“ต้นไม้สารภาพ” วิธีการนี้พ่อแม่จะได้รับรู้ปัญหาและให้คำปรึกษากับเด็กได้ หรือกิจกรรมจดหมายถึงตัวเอง ให้เด็กได้เขียนในสิ่งที่อยากเขียน อยากจะระบายความในใจ เพื่อเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ในใจของพวกเขาเอง

            ส่วนกิจกรรม “นกกระดาษสามสี” ได้แก่ สีชมพู แทนเรื่องส่วนตัว สีเหลือง แทนการเรียน และสีฟ้า แทนเรื่องเพื่อน เมื่อลูกมาพูดคุยกันทุกๆ วัน มีเรื่องไหนบ้างก็ให้พ่อแม่หย่อนนกระดาษสีตามเรื่องที่ได้รับฟังลงโหลแก้วไว้ เมื่อครอบหนึ่งเดือน ก็นำมาดูกัน ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ลูกมีปัญหาด้านไหนที่สุด เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและอยู่ใกล้ชิดลูกมากยิ่งขึ้น

            บุณยวีร์ กาวีน ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า การเปลี่ยนเล่นเป็นเรียนรู้ ยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีกิจกรรม ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับพ่อแม่ หรือด้วยของเล่นที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ เสริมทักษะ และสร้างปัญญา โดยจะมีอุปกรณ์ของเล่นที่มีประโยชน์เพื่อให้เด็กๆ ยืมไปเล่นที่บ้านกับพ่อแม่ หรือเพื่อนๆ ได้ เกมบิงโก โดมิโน่ เกมเศรษฐี เป็นต้น พ่อแม่ก็จะบันทึกกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับลูกของตนเอง

            “เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน ว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวที่อบอุ่นช่วยแก้ปัญหาได้หลายๆ อย่าง ความอุ่นในครอบครัวนี้เองจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เด็กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัยก่อน 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุ่มเสี่ยงในหลายๆ อย่าง” บุณยวีร์ กล่าว

            เมื่อลงไปสัมผัสถึงกิจกรรมภายในครอบครัว อย่างเช่นครอบครัว “สายยืน” ทุกๆ เย็น พยอม สายยืน ผู้เป็นแม่จะมานั่งพูดคุยถามไถ่ อมลวรรณ สายยืน ลูกสาวขณะนั่งทำการบ้านอยู่เสมอ โดยมีนกกระดาษสามสีอยู่วางอยู่บนโต๊ะด้วย

            พยอม บอกว่า กิจกรรมนกกระดาษสามสีทำให้ได้รู้ปัญหาของลูก ว่าลูกไปโรงเรียนแล้วเจอปัญหาอะไรมาบ้าง เวลากลับมาบ้านก็จะมาเล่าให้ฟัง ส่วนเธอก็จะหยอดนกกระดาษไว้ เพื่อจะได้บันทึกว่าลูกมีปัญหาอะไรบ้าง

            “เวลาเขาอยากปรึกษาอะไรเขาก็จะกล้าเปิดใจคุยกับเรา เราไม่ได้ไปดุไปว่า เราคุยเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้เขา ทำให้บรรยากาศครอบครัวอบอุ่นขึ้นมากๆ” พยอม ว่า

            เช่นเดียวกับ ยุพิน สารเถื่อนแก้ว หนึ่งในครอบครัวตัวอย่าง เล่าว่า ได้ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ ทุกเย็นก็จะมานั่งเล่นกับลูก มีเกมเล่นร่วมกัน วันหยุดก็จะให้เวลากับลูกไปเที่ยวไปทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ก็ช่วยดึงให้ห่างจากโทรศัพท์มาได้บ้าง

          การบังคับให้เด็กหยุดเล่นโทรศัพท์มือถือ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างน้อย มันก็มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพียงแต่ว่าจะใช้มันเพื่อประโยชน์ด้านไหน  สิ่งสำคัญที่สุด คือ ครอบครัวที่อบอุ่นซึ่งจะเป็นเกราะคอยคุ้มกันให้เขาพ้นผ่าน และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพของสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 659811เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท