คุณยายไฮโดรโฟนิก


“อาจารย์ ก้อยทำชาเย็นมาฝาก ร้อนๆอยู่เลย” เสียงของลูกน้องดังมาจากหน้าร้าน

“แล้วตกลง เธอทำชาเย็นหรือชาร้อนมาให้ฉัน” ผมงง

“ชาเย็นค่ะ เพิ่งทำเสร็จร้อนๆเลย อาจารย์เอาไปแช่เย็นก่อนนะคะ” 

“ออ ชาเย็นกำลังร้อนๆ” ผมทวนเพื่อทำความเข้าใจของตัวเองพร้อมยื่นมือออกไปรับชาเย็นร้อนๆ ๒ ขวดนั้นมา

“มันเข้มนะคะ ระวังตาค้าง” เธอเตือน ซึ่งผมยังจำได้ดีว่าอาการตาค้างจากการดื่มไปเมื่อคราวก่อนเป็นเช่นไร 

ถ้าผมจำไม่ผิด เธอเคยบอกว่า พ่อเธอนำเข้าชาผงมาจากอินโดนีเซีย มันเป็นชาชั้นดีเลยทีเดียว

แล้วผมก็จากเธอมา 

๒ ทุ่มแล้วนี่ครับ 

ปิดร้าน

เมื่อถึงบ้านก็ตัดสินใจบรรจงบิดฝาเกลียวขวดนั้น กลิ่นจากไอน้ำที่ระเหยออกมาช่างรัญจวน จากนั้นยกขวดขึ้นสูง ค่อยๆเทชาในขวดนั้นให้ลงกระทบแก้วด้านล่าง ผมอยากให้มันเกิดฟองอย่างที่ร้านโปรดทำ “ชาชัก” ให้กิน ชาใส่นมที่ผ่านการเทไปเทมาโดยใช้ความสูงของระยะทางระหว่างแก้วทำให้เกิดการกระทบจากแรงโน้มถ่วงจนเกิดฟองฟอดทึ่ผิวน้ำ

แต่ของผมไม่มีฟอง 

คงมีแต่เศษน้ำชากระเด็นออกนอกแก้วเล็กน้อย ผมต้องรีบเช็ดเพราะกลัวเมียบ่น

“อึม...” ผมรำพึงออกมาเบาๆ หลังจิบชาอุ่นๆ 

“หวานไม่มาก ขมติดปลายลิ้นเล็กน้อย และมันหอม” รสชาติมันกลมกล่อมใช้ได้เลยทีเดียว

“ชีวิตที่ได้ ดม ดื่ม มีรสสัมผัสติดลิ้น มันดีจริงๆ” ผมนึกเช่นนี้ เพราะจู่ๆก็นึกถึงคุณยายท่านนั้นขึ้นมา

...................

“ยาย เป็นยังไงบ้าง” 

เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องพักผู้ป่วย ยายกำลังนอนพักอยู่บนเตียงอย่างอ่อนเพลีย

ลูกสาวเล่าให้ฟังว่า “แม่ดูอาการไม่ค่อยดี สองคืนที่ผ่านมาพี่กลัวว่าแม่จะจากไปจังเลย” 

สตรีวัยชราที่ว่านั้น ชราแค่ไหนเหรอ

อายุอานามของยายก็เลย ๙๐ ปีมากว่า ๓ ขวบ

“อีก ๒ เดือนก็จะครบ ๙๔ แล้วนะหมอ” แกพูดเบาๆออกมา ดูเหนื่อยล้าแต่ยังอารมณ์ดี

ยายดูเพลีย แกกินไม่ได้มานานหลายวัน มันทำให้เกลือแร่ในร่างกายเริ่มมีความไม่สมดุลย์ โปรตีนในเลือดก็ลดลงจนน้ำเริ่มไหลออกจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในท้อง ทีมแพทย์เริ่มให้โปรตีนทางหลอดเลือดมาระยะหนึ่งแล้ว

“พี่ไม่แน่ใจ ว่าพี่ควรพาแม่กลับบ้านดี หรือว่าควรจะให้หมอใส่สายให้อาหารทางจมูกดี” ในวันนั้นลูกสาวเธอมาปรึกษา เนื่องจากคงกำลังสับสนในใจ

“ครับ ก็ปรึกษากับลูกๆคนอื่นๆให้ดีนะพี่ ยายแกบ่นว่าอยากกลับบ้านไม่ใช่เหรอ” ผมเพียงแค่พยายามสนับสนุนความคิดของลูกสาวโดยไม่เอาตัวเองเข้าไปก้าวก่ายมากนัก

แล้ววันนั้นแกก็ถูกใส่สายให้อาหารทางจมูก

อาหารเหลวถูกคำนวณปริมาณสารอาหารที่จำเป็น พลังงานที่ควรจะได้ในแต่ละมื้อแต่ละวัน มันถูกนำมาให้ราว ๓ มื้อต่อวัน

จากนั้น ยายดูสบายขึ้น ดูมีเรี่ยวมีแรง และเช้าวันนี้แกลงมานั่งบนเก้าอี้ข้างเตียงได้

“สบายขึ้นแล้ว นี่ถ้าไม่ได้ลูกสาวดูแล ยายคงตายไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันก่อน มันเพลียมาก” แกทักทายด้วยเรื่องเล่าเร้าใจ ยายใช้คำว่า “ตาย” กับตัวเองได้อย่างไม่กระดากปาก

“แล้วนี่อยู่โรงพยาบาลเสียหลายวัน มีใครมาชวนไปบ้างแล้วยัง” ผมยังคงเย้าคนแก่

“ยายฝันเห็นตา” แกเว้นจังหวะเพื่อหายใจ แกพูดถึงชายคู่ชีวิตที่จากไปก่อนระยะหนึ่งแล้ว

“ตามาบอกว่า แกไปมีเมียใหม่อยู่บนสวรรค์แล้ว แกไม่ได้ลงมาชวนยายไปอยู่ด้วย” แล้วแกก็หัวเราะออกมา

“แล้วคนอื่นที่ไม่ใช่ตาล่ะ มีมั้ย แบบว่าชวนให้ไปกับเค้าสักที” ยัง ผมยังไม่เลิก

“ไม่มีสักคน” ยายตอบ

“งั้นก็ดี แสดงว่าการตัดสินใจให้ยายกินทางสายแบบนี้ทำให้ต่ออายุยายไปได้อีกนาน นี่คงใกล้จะได้กลับไปอยู่บ้านจริงๆแล้ว สบายเลย” ผมสรุป

“ถึงเวลาให้อาหารแล้วค่ะ” เสียงน้องพยาบาลเดินเข้ามาพร้อมแก้วยาเล็กๆในมือ

“ต้องให้ยาก่อนอาหารนะคะ” เธอบอก พลางเอามือหนึ่งเปิดปลายสายยางแล้วต่อด้วยไซริ้งส์ จากนั้นค่อยๆบรรจงเทยาน้ำสีใสๆลงไป ยกปลายสายสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วงเข้าไปในสายยางและไหลลงกระเพาะอาหาร รออีกพักหนึ่ง เธอก็น้ำอาหารเหลวสีขาวขุ่นข้นเดินเข้ามาแล้วทำแบบเดิม

“ดีจัง ไม่ต้องเคี้ยว ไม่ต้องนึกว่าจะกินอะไร ถึงเวลาเค้าก็เอาอาหารมาใส่ให้ทางสายยาง ดูๆไปก็เหมือนให้ปุ๋ยเลยนะยายนะ” ผมเปรยแบบติดตลก แกพยักหน้าเบาๆแล้วยิ้ม

เวลาได้ดูภาพการดูแลคนไข้อย่างอ่อนโยนของใครสักคน ผมรู้สึกมีความสุขใจ

คนแก่คนหนึ่ง เขาจะต้องการอะไรมากไปกว่าการดูแลจากคนรอบข้างอย่างใส่ใจ หลายเรื่องที่ผมได้สัมผัสจากการดูแลคนไข้หลายๆคนที่ผ่านมา มันแสดงให้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างนั้นหาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

“เห็นยายกินแบบนี้ นึกถึงผักไฮโดรโฟนิกส์ รากไม่ต้องไชไปตามดินเพื่อหากิน ไม่ต้องเคี้ยว อาหารมันมาพร้อมน้ำที่ผสมมาเรียบร้อย แล้วยายก็จะเจริญเติบโตต่อไป ว่าทำไมช่วงนี้ปากอมชมพูเชียว สงสัยได้ปุ๋ยดีนี่เอง” ผมบอกกับทั้งคู่ แล้วเราทั้ง ๓ คนก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมา

“เสียอย่างเดียว ไม่ได้เคี้ยว ไม่รู้รส” ยายพึมพัมแล้วแหงนหน้าดูการไหลของอาหารเหลวข้นที่กำลังไหลลงไปหล่อเลี้ยงชีวิตของเธอ

..............

ผมรู้สึกโชคดีที่ยังคงมีลิ้นที่รับรู้รส มีจมูกที่ช่วยทำให้ทราบว่า รสหอมหวานนั้นเป็นเช่นไร

ชาอุ่นๆที่คนทำอยากให้กินเป็นชาเย็นที่เพิ่งจิบเพิ่งดื่มเข้าไปเมื่อหัวค่ำมันอร่อยนุ่มชุ่มลิ้นมันดีต่อใจ

แต่เออว่ะ 

คำเตือนของเธอนั้น ผมลืมไปได้อย่างไร

“มันเข้มนะคะ ระวังตาค้าง” 

และมันก็เป็นเช่นนั้น

ผมหันไปหาคนข้างกายที่กำลังอ่านหนังสือนิยายก่อนนอน

“ยาย” ผมเรียกเธออย่างอ่อนโยน แต่แฝงไว้ด้วยสุ้มเสียงของความเจ้าเล่ห์

“บ้าเหรอพ่อ เรียกแม่ว่ายายทำไม” เธอตีผมเบาๆที่ต้นแขนด้วยมือ (ดีนะ ที่ไม่ได้ใช้สันหนังสือ)

ผมมองหน้าเธอแล้วยิ้ม

“ดื่มชาเข้าไปเมื่อหัวค่ำน่ะยายจ๋า” ผมแกล้ง

“แล้วไง” ผมจำลักษณะแววตาคู่นั้นได้ไม่ผิด เมียผมคงเริ่มรำคาญ เธอคงยังอยากอ่านนิยายต่อไป

“ตาแข็งจ๊ะ ยายจ๋า”

ธนพันธ์ ชูบุญดื่มชาจนตาแข็ง

๑๙ ธค ๖๑ เกือบ ๕ ทุ่มแล้วสินะ

หมายเลขบันทึก: 659166เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2019 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2019 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท