มีประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างไร



           นี่คือคำถามที่ผุดขึ้นในใจผมเมื่ออ่านเอกสารประกอบการประชุมสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะประชุมในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑    โดยที่สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดให้มีสภาวิทยาเขต ช่วยทำหน้าที่แทนสภาใหญ่ด้านการดูแลกลั่นกรองเรื่องงานวิชาการ    ซึ่งเรื่องที่นำมาเข้าที่ประชุมเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องหลักสูตร    และส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรเมื่อดำเนินการมาครบ ๕ ปี ตามที่ สกอ. กำหนด  

ผมมีข้อสังเกตจากเอกสารว่า วิญญาณของการเตรียมเอกสารเป็นวิญญาณพิธีกรรม    ไม่ใช่วิญญาณยุทธศาสตร์คุณภาพบัณฑิต และการใช้หลักสูตรเป็นเครื่องมือหรือกลไกสร้างวิชาการแห่งศตวรรษที่ ๒๑    ผมไม่เห็นประเด็น “ประโยชน์ต่อนักศึกษา” แฝงอยู่ในเอกสาร    ไม่เห็นนวัตกรรมการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ แฝงอยู่    เห็นแต่การปฏิบัติตามข้อกำหนดของ สกอ.

หรือผมตาถั่วก็ไม่ทราบ

หลักสูตรระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรับปรุง (วาระที่ ๖.๑) ที่เอามาเสนอขออนุมัติ   มีลักษณะปรับปรุงแบบเสริมสวย    ไม่ได้ปรับปรุงในระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาวิชาการแห่งอนาคต   ผมตีความว่า การปรับปรุงนี้อยู่บนฐานของความเชี่ยวชาญวิชาการของคณาจารย์    ไม่ได้นำเอาความต้องการของประเทศในปัจจุบันและอนาคตเข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเลย    ใจผมอยากจะไม่อนุมัติ    ให้กลับไปคิดใหม่โดยเอาความต้องการของประเทศเป็นตัวตั้ง     ผมเขียนบันทึกช่วงนี้บนเครื่องบินระหว่างเดินทางไปประชุม    แล้วจะได้เห็นว่าทางฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการเขาคิดอย่างไร   

พอดีที่ในวาระการประชุมหมวดการนำเสนอเชิงนโยบาย เป็นเรื่อง PSU Education 4.0  เป็นหัวข้อที่ sexy มาก    จึงเกิดคำถามในใจผมว่า ฝ่ายบริหารจะมี management platform เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการจัดการหลักสูตรต่างๆ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก อย่างไร    หากเอาหลักสูตรระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรับปรุง ดังกล่าว เป็นตัวตั้ง  จะมีการจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง  เปลี่ยนอะไรก่อนหลัง  

ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับ ในสายตาของผม ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือ    เขาเข้าสู่การทำงานได้อย่างมั่นใจ  ทำงานได้ผลเป็นที่พอใจของนายจ้าง (หากไปทำงานเป็นลูกจ้าง)    และสามารถพัฒนาตนเองอยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงในศาสตร์นั้นๆ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้    เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของงานที่ยอดคลื่นยิ่งสูงกว่า และถาโถมยิ่งกว่า ได้     แปลความว่า นักศึกษาจะได้รับการฝึกให้ทำงานในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนได้   

ในหลักสูตรดังกล่าว ผมไม่เห็นภาพความร่วมมือกับ EP (Engagement Partners) ในด้านการผลิตบัณฑิต และด้านการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์เลย ทั้งๆ ที่ศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ขาดแคลนกำลังคนที่มีความสามารถสูงอย่างยิ่ง    และประเทศต้องการกำลังคนในสาขานี้อย่างมากมาย    มีคนบอกผมว่า ในเวลา ๒๐ ปี ประเทศไทยจะต้องการกำลังคนในสาขานี้หลายแสนคน (แต่เป็นระดับปริญญาตรี หรือต่ำกว่า เป็นส่วนใหญ่)

ผมมีความเห็นว่า สำหรับหลักสูตรในศาสตร์ที่มีพลวัตสูงมาก  และเป็นความเป็นความตายของประเทศอย่างยิ่ง   ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยควรมีการจัดการแบบพิเศษ   เน้นใช้เป็นหัวขบวนของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และ working platform    ให้สอดคล้องกับสภาพของศตวรรษที่ ๒๑    สอดคล้องกับหลักการ Higher Education 4.0    เพื่อทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0   



บันทึกหลังการประชุม

ในการประชุม มีการอภิปรายกันมากในเรื่องการเปลี่ยน platform ของการศึกษา หรือการจัดการหลักสูตร    ที่เปลี่ยนจาก diffusion model   สู่ engagement model    มีการอภิปรายกันว่า วิชานี้เน้นการวิจัยแบบ algorithm-based  ไม่ใช่แบบ application-based    การผลิต PhD กับการผลิตนวัตกร (innovator) เป็นคนละเรื่อง    ควรเน้นให้มีความรู้พื้นฐานแน่น ค่อยไปต่อยอดความรู้ภายหลัง    ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีคิดแบบเดิม ที่เป็น academic mode หรือ diffusion mode    เป็นวิธีคิดแบบ inside-out หรือ supply-based    ในขณะที่ในปัจจุบัน ต้องการอุดมศึกษาที่ยึดแนวคิด outside-in หรือ demand-based   ซึ่งเป็น engagement mode

ในที่ประชุม ท่านรองอธิการบดี แจ้งว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยในวันรุ่งขึ้น (๒๔ พฤศจิกายน) มีวาระเรื่องแผนบริหารจัดการด้านการศึกษา (๒๕๖๑ - ๒๕๖๕) ที่เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติ  หลักสูตรนี้จะต้องปรับใหญ่ให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว    โดยที่ยังมีเวลาถึงกลางปีหน้าในการดำเนินการปรับปรุง

ท่านอธิการบดี ผศ. ดร. นิวัติ แก้วประดับ มีแนวคิดใช้ engagement mode   ในการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัย    ซึ่งผมได้ชี้ให้เห็นว่า    คุณค่าที่นักศึกษาหรือบัณฑิตจะได้รับคือ    ได้เรียนรู้ตามแนวทางการเรียนรู้สมัยใหม่ คือเรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อคิดอย่างจริงจัง (critical reflection)    นำไปสู่ transformative learning

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ย. ๖๑

บนเครื่องบินจากหาดใหญ่กลับกรุงเทพ

 

หมายเลขบันทึก: 658980เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท